เมื่อชาว แม่แจ่ม เปลี่ยนเขาหัวโล้นจากไร่ข้าวโพด เป็นผืนป่าและสวนวนเกษตรด้วย ‘ต้นไผ่’

แม่แจ่ม โมเดลพลัส โมเดลแก้ปัญหาป่าไม้และที่ดินบนดอย แม่แจ่ม ที่ตั้งเป้าลดพื้นที่ปลูกข้าวโพด คืนพื้นที่ป่าและสร้างเศรษฐกิจสีเขียว จากการปลูกพืชทดแทน ซึ่งในระยะแรกจะใช้ ‘ต้นไผ่’ เป็นไม้เบิกนำ

ในอดีตพื้นที่อำเภอ แม่แจ่ม คือผืนป่าต้นน้ำขนาดใหญ่ สมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณ จากการไหลผ่านของแม่น้ำ แม่แจ่ม จากจังหวัดแม่ฮ่องสอนออกสู่แม่น้ำปิงที่อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ แต่ถึงอย่างนั้น แม่แจ่ม มีพื้นที่ภูเขาอยู่ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ทำให้มีเพียงพื้นที่ส่วนบนและล่างเท่านั้นที่มีน้ำอุดม ส่วนบริเวณตอนกลางที่เป็นภูเขา น้ำเข้าไปไม่ถึง

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่ดินในผืนป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่มซึ่งโดยพื้นฐานจัดเป็นป่าลุ่มน้ำ ถูกนำมาใช้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในปี พ.ศ. 2556 อำเภอแม่แจ่มมีผลผลิตข้าวโพดรวมกว่า 100,000 ตัน กินพื้นที่ปลูกข้าวโพดเกือบ 150,000 ไร่ และส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิถือครองที่ดิน

ในช่วง 10 ปีเดียวกันนี้เองที่หมอกควันจากการเผาซากไร่ในแม่แจ่ม อำเภอใกล้เคียงและประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงหมอกควันจากไฟป่าในฤดูร้อน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวในเชียงใหม่ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาค ลดลงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ทุกคนจึงพุ่งเป้ามากล่าวโทษชาวไร่บนดอยอย่างไม่ต้องสงสัย

ปัญหามีรากลึกกว่าแค่ชาวบ้านปลูกพืชเชิงเดี่ยว ปัญหาเหล่านั้นคืออะไร และหนทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนที่กำลังเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปที่หน้าตาเป็นแบบไหน ถ้าพร้อมแล้ว ขึ้นดอยไปทำความเข้าใจ ‘แม่แจ่มโมเดลพลัส’ พร้อม ๆ กัน

จากป่าต้นน้ำ สู่มหกรรมไร่ข้าวโพด

รถกระบะของ ประพันธ์ พิชิตไพรพนา ผู้ประสานงานโรงงานสร้างป่า พาเราเดินทางลัดเลาะทิวเขา เบื้องหน้าคือไร่ข้าวโพดกว้างใหญ่ที่เพิ่งหมดฤดูเก็บเกี่ยว

แม่แจ่มเป็นอำเภอที่มีการปลูกข้าวโพดมากที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 100,000 ไร่

ข้าวโพดที่ปลูกในแม่แจ่ม ล้วนเป็นข้าวโพดอาหารสัตว์ ที่ส่งออกขายต่างประเทศ ความจริงน่าตกใจที่คนเมืองไม่เคยรับรู้คือ ในแต่ละปีสัตว์กว่า 7 แสนล้านตัวถูกบริโภคโดยมนุษย์ทั่วโลก และข้าวโพดคืออาหารหลักในการขุนพวกมันให้อ้วนท้วน พร้อมส่งเข้าโรงงานแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์ไส้กรอก เบคอนและสารพัดอาหารแปรรูปพร้อมรับประทานในซุปเปอร์มาร์เก็ต

ดังนั้นทั่วโลกจึงต้องการพื้นที่เกษตรกรรมมหาศาลเพื่อเพาะปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์เหล่านี้ รวมถึงไร่ข้าวโพดสุดลูกหูลูกตาตรงหน้าเราขณะนี้ด้วย

กฎการทำไร่ข้าวโพดนั้นเรียบง่าย คือหลังเก็บเกี่ยวข้าวโพดเสร็จ ชาวไร่ต้องรีบกำจัดซากไร่ ตอซังข้าวโพดให้ไวที่สุดเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกรอบใหม่ ไร่ข้าวโพดอยู่สูงขึ้นไปบนดอย เดินทางแสนลำบาก ชาวไร่เองก็ไม่ได้มีทุนเหลือกินเหลือใช้ ดังนั้นหนทางที่ง่าย รวดเร็วและใม่ต้องใช้ทุนใด ๆ นอกจากไฟแช็กคือการเผาซากไร่ทิ้งเสีย

ปัญหาคือเมื่อพื้นที่เกษตรกรรม 150,000 ไร่ ถูกเผาซากไร่พร้อม ๆ กัน หมอกและควันปริมาณมหาศาลจึงโหมกระหน่ำขึ้น ขนาดของการเผามีใหญ่มากจนส่งผลกระทบต่อไปยังอำเภออื่น ๆ โดยเฉพาะตัวเมืองเชียงใหม่

ต้นข้าวโพดหลังฤดูเก็บเกี่ยวต้องถูกเก็บกวาด เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการปลูกฤดูกาลใหม่

ปลูกข้าวโพดแทบตาย ทำไมความยากจนไม่หายไป

เราได้พบกับ เดโช ไชยทัพ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) ประธานคณะทำงานด้านป่าไม้และที่ดินในพื้นที่ป่า เขาอธิบายว่าก่อนจะกล่าวโทษเกษตรกรไร่ข้าวโพดว่าบุกรุกผืนป่า และเป็นต้นเหตุของปัญหาหมอกควัน เราอาจต้องมาทำความเข้าใจรากของปัญหากันใหม่เสียก่อน

ขุดลึกลงไปยังต้นตอคือปัญหาเรื่องสิทธิของชาวบ้านในการจัดการป่าไม้และที่ดิน พื้นที่บนดอยมีวิถีของชาวไทยหลายชาติพันธุ์ผสมผสานกันเป็นขนบชีวิตกลางขุนเขา ชาวบ้านอาศัยอยู่ในพื้นที่มาหลายชั่วอายุคน ก่อนจะมีการประกาศกฎหมายป่าสงวน แต่เขาเหล่านี้กลับไร้ซึ่งสิทธิที่ดินทำกินตามกฎหมาย

หลายสิบปีที่ผ่านมาต่างอยู่และทำกินได้ตามสภาพ แต่เข้าไม่ถึงการพัฒนาอย่างที่ควรจะเป็น ติดขัดทั้งเรื่องถนน ไฟฟ้า ระบบน้ำ คุณภาพชีวิต รวมถึงโครงการส่งเสริมของหน่วยงานต่าง ๆ

การทำไร่ข้าวโพดจำเป็นต้องใช้พื้นที่โล่งกว้างที่ได้รับแสงแดด ต้นไม้เดิมในพื้นที่จึงถูกกำจัดทิ้งจนหมด

ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะสร้างระบบน้ำ องค์ประกอบสำคัญในการเพาะปลูก เมื่อต้นทุนชีวิตต่ำ แต่จำเป็นต้องกินต้องใช้ไม่ต่างจากคนทั่วไป ทางเลือกที่เป็นไปได้จริงและใกล้มือที่สุดคือ การปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างข้าวโพดอาหารสัตว์

ปลูกข้าวโพดใช้แค่น้ำฝน ปลูกแล้วแทบไม่ต้องดูแล ที่สำคัญมีตลาดรับซื้อผลผลิตแน่นอน เพราะอุตสาหกรรมปศุสัตว์นั้นใหญ่โตมาก ถึงหักลบต้นทุนกำไรแล้วเหลือไม่มากนัก แต่ก็พอประคองชีวิตต่อไปได้ แม้แลกกับปัญหาสุขภาพจากการใช้สารเคมีและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการรุกผืนป่าและเผาซากไร่ก็จำใจต้องยอม

วงจรชีวิตของชาวบ้านต้องการเงินก้อน หลังเก็บเกี่ยว เงินก้อนจากการขายผลผลิตจะถูกหมุนใช้ ทั้งจับจ่ายซื้อของใช้ในชีวิตประจำวัน และใช้หนี้ธนาคาร ใช้หนี้กองทุนหมู่บ้าน เป็นชีวิตหมุนหนี้วนเวียนแบบนี้ไปปีแล้วปีเล่า การเลิกปลูกข้าวโพดจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ข้าวโพดเป็นพืชที่ถึงแม้ว่าราคาต่ำเหลือ 4 บาท ก็ได้ขาย ไม่เน่าไม่เสีย อย่างไรก็ได้ขาย ชาวบ้านบอกว่าอย่างไรก็มีเงินก้อนกลับมาให้ชีวิตได้เดินต่อ

แต่ละปี อำเภอแม่แจ่มมีปริมาณซังข้าวโพดเหลือทิ้ง จำนวน 1.2 ล้านตัน เปลือกข้าวโพด จำนวน 3.1 แสนตัน คิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิต

ทุกวันนี้ความอุดมสมบูรณ์ของดินนั้นเสื่อมสลายไปนานแล้ว เพื่อให้ได้ผลผลิตราคาที่เน้นขายปริมาณ ชาวไร่จะต้องประโคมยาและปุ๋ยพืชลงไปเรื่อย ๆ ต้นทุนยิ่งสูงขึ้นตามขวบปีที่ปลูกข้าวโพดมา จึงเป็นคำตอบว่าทำไมชาวไร่จึงมีฐานะยากจนไม่เปลี่ยนแปลง

ดังนั้นคนเมืองที่มองมาจากที่ไกล ๆ ย่อมพูดง่าย ว่าชาวบ้านที่นี่ต้องเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ไปทำมาหากินอย่างอื่น เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นควันอย่างเด็ดขาด แต่ความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนนั้นเกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีกลไกทดแทนมารองรับ

 แม่แจ่มโมเดลพลัส

แม่แจ่มโมเดลพลัส คือโมเดลในการแก้ปัญหาป่าไม้และที่ดิน ที่ตั้งเป้าลดพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพิ่มพื้นที่ป่าและสร้างเศรษฐกิจสีเขียวจากการปลูกพืชที่ยั่งยืนในระยะยาว แต่กระบวนการนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะมีหัวใจของการเปลี่ยนแปลง 2 ข้อหลักที่ต้องจัดการให้ได้

หนึ่ง การสร้างระบบน้ำสำหรับรูปแบบเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นโคกหนองนาโมเดล หรือสวนวนเกษตรใด ๆ ก็ตาม เราได้ขึ้นดอยมาดูความสำเร็จของ หมู่บ้านแม่วาก ในการสร้างระบบน้ำ ที่ชาวบ้านต้องต่อท่อลำเลียงมาจากต้นน้ำซึ่งอยู่ไกลออกไปถึง 8 กิโลเมตร และใช้เวลาถึง 5 ปี ในการวางแผนและดำเนินการสร้างน้ำ 26 บ่อ รอบพื้นที่ 1,300 ไร่ สำหรับให้ลูกบ้านใช้ทำเกษตรกรรมพืชทดแทน

ความสำเร็จในการสร้างระบบน้ำของกลุ่มเกษตรหมู่บ้านแม่วาก ผันน้ำจากแหล่งต้นน้ำมายังบ่อแม่ จากนั้นผันต่อสู่บ่อลูกและบ่อหลาน

ถ้ามีน้ำ การเปลี่ยนแปลงการผลิตบนดอยสูงจะเปลี่ยนไป พื้นที่แม่แจ่มอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติถึง 92 เปอร์เซ็นต์ จนถึงปัจจุบันชุมชนมีการจัดระเบียบแนวเขตที่ดินรายแปลง จนสามารถยุติการบุกรุกป่าได้อย่างเด็ดขาด เหลือเพียงภาครัฐปลดล็อกที่ดินที่ทำกินและแยกพื้นที่ป่า กับพื้นที่ทำกินและพื้นที่อยู่อาศัยให้ชัดเจน การเคลื่อนขบวนของภาคประชาสังคม เอกชน และภาคประชาชนจึงเดินต่อไปได้

สอง การเปลี่ยนจากพืชเชิงเดี่ยวไปเป็นพืชทดแทนที่ว่า คือพืชชนิดใด และเพราะพืชใด ๆ ก็ตาม ยังไม่มีตลาดแน่นอนตายตัวอย่างข้าวโพด ดังนั้นการที่ชาวบ้านสักคนจะพร้อมกระโจนออกจากการปลูกข้าวโพด มาทดลองปลูกอย่างอื่น ถือเป็นความเสี่ยงต่อปากท้องครอบครัว

ถ้าหาตลาดที่พร้อมรับซื้อผลผลิตทดแทนเหล่านั้นจากชาวบ้านได้อย่างมั่นคง ชาวไร่จะทยอยเปลี่ยนแปลงเอง

ต้นน้ำ Organic Farm อีกหนึ่งโมเดลในการทำเกษตรกรรมอินทรีย์ ที่ปลูกพืชผสมผสานหลายสิบชนิด เน้นปลูกพืชตามฤดูกาล เขียวชอุ่มตลอดปี ไม่ต้องเผาซากไร่
การปลูกพืชเชิงเดี่ยวแบบ Contract Farming ชาวไร่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ทุกปี ต้นน้ำ Organic Farm บรรลุความมั่นคงทางอาหาร มีการคัดเมล็ดพันธุ์พืชผลของตนเองไว้ปลูกทุกปี
ผลผลิตของต้นน้ำ Organic Farm ขายตรงให้เชฟในเมืองที่ต้องการวัตถุดิบคุณภาพ ปลอดสารเคมี นอกจากนี้ที่นี่ยังวางแผนต่อยอดเป็นที่พักฟาร์มเสตย์ ให้ผู้ที่อยากสัมผัสเกษตรกรรมอินทรีย์มาเข้าพักและเรียนรู้วิถีชาวบ้านได้

บุญศรี กาไว ผู้ใหญ่บ้าน บ้านแม่วาก อธิบายว่าในการปลูกไม้ผลชนิดอื่น ๆ อย่างมะม่วง หรือไม้เศรษฐกิจอย่าง ไม้สัก กว่าผลผลิตจะงอกเงย ต้องใช้เวลา 3 ปีขึ้นไป ช่วงที่รอผลผลิตจากพืชทดแทนออกดอกผล ชาวบ้านยังปลูกข้าวโพดไปด้วย บางแปลงอาจปลูกฟักทอง แตงกวา กาแฟ หรือพืชระยะสั้น

เพื่อหลุดพ้นจากวงจรหนี้สิน ชาวบ้านต้องมีแหล่งรายได้ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทีละน้อย เนื่องจากพวกเขายังต้องการเงินมาเลี้ยงบางท้องในแต่ละวัน จะให้เปลี่ยนทั้งหมดทีเดียว เป็นไปไม่ได้

อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดคือ องค์ความรู้ แผนยุทธศาสตร์และการได้รับการสนับสนุนจากชุมชน ท้องถิ่นและนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่แค่ที่อำเภอแม่แจ่มเท่านั้น แต่สิ่งนี้ควรเกิดขึ้นทั่วประเทศ

ยุทธศาสตร์ไผ่ ไม้เบิกนำ

ในบรรดาพืชทดแทนหลากหลายชนิดพันธุ์ ‘ไผ่’ ถูกหยิบขึ้นมาเป็นไม้เบิกนำของแม่แจ่มโมเดลพลัส สำหรับให้ชาวบ้านปลูกผสมผสานร่วมกับพืชพรรณชนิดอื่น ๆ รวมถึงข้าวโพดในไร่เดิมของตนเอง

ทำไมต้องเป็นไผ่

เหตุผลแรก ไผ่เป็นพืชที่เติบโตรวดเร็ว งอกงามได้โดยไม่ต้องพึ่งปุ๋ยหรือยาฆ่าแมลง ที่สำคัญคือเป็นพืชที่ชาวบ้านในชุมชนนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว นอกจากหน่อที่เป็นแหล่งอาหารแล้ว ไผ่ยังสามารถนำมาแปรรูปได้แทบจะทุกส่วนโคนจรดปลาย ลำต้นนำไปสร้างบ้าน ทำเฟอร์นิเจอร์และงานหัตกรรม ใยนำไปทำเป็นอุปกรณ์ขัดผิว แม้แต่ขุยยังสามารถนำไปทำปุ๋ยได้

ต้นไผ่ที่เกษตรกรทดลองปลูกทดแทนข้าวโพด โดยคุณสมบัติพิเศษของไผ่คือความปลูกง่าย เลี้ยงง่ายและนำไปใช้ได้ทุกส่วน

เหตุผมต่อมา ไผ่เป็นพืชที่สามารถกักเก็บน้ำได้มาก แถมยังดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดี เมื่อไผ่ถูกปลูกบนพื้นที่ใด มันจะทำหน้าที่เสมือนเครื่องดูดซับน้ำจากใต้ดิน จากนั้นจึงคายน้ำออกมายังผิวดิน ทำให้ดินชุ่มชื่น ไผ่ยังมีระบบรากที่แผ่ขยายเป็นวงกว้าง จึงช่วยป้องกันการพังทลายของหน้าดิน และช่วยตรึงไนโตรเจนที่ช่วยปรังปรุงคุณภาพดิน นอจากนี้ใบไผ่ที่ร่วงลงมายังเป็นปุ๋ยชั้นดีให้ดินบริเวณนั้นอีกด้วย

ประพันธ์อธิบายว่า พันธุ์ไผ่ที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกแซมในไร่ช้าวโพด ในระยะแรกของแม่แจ่มโมเดลพลัสมีหลายชนิดขนาด แต่ที่เน้นเป็นพิเศษคือพันธุ์พื้นเมือง ‘ฟ้าหม่น’ ซึ่งมีแหล่งกำเนิดจากอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีคุณสมบัติคือใช้เวลาปลูกในระยะเวลาสั้นเพียง 2-3 ปี แล้วสามารถนำไปแปรรูปได้หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ตะเกียบชิ้นเล็ก ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์และบ้านทั้งหลัง

ความต้นไผ่เติบโต จนสามารถตัดออกเพื่อส่งขายหรือแปรรูปได้แล้ว หน่อไม้จะขึ้นมาแทนที่ต้นที่ถูกตัดออกไป

มองเลยเรือนยอดไผ่ออกไป ไร่ข้าวโพดยังกว้างใหญ่มหาศาลเกินกว่าจะเปลี่ยนภูเขาหัวโล้นให้กลับมาเป็นผืนป่าได้ในเวลาอันสั้น 4 ปีหลังจากการเกิดขึ้นของแม่แจ่มโมเดลพลัส

เดโชบอกว่าทุกวันนี้อำเภอแม่แจ่มมีพื้นที่ต้นไผ่แล้วประมาณ 2,000 ไร่ โดยแทรกอยู่ตามพื้นที่ไร่ข้าวโพด หลังฤดูเก็บเกี่ยวที่ต้นข้าวโพดแห้งกรอบเป็นสีน้ำตาล หย่อมเขียวชอุ่มของต้นไผ่จึงเห็นได้อย่างเด่นชัด โดยแผนหลังจากนี้คือขยายพื้นที่เพาะปลูกต่อไปเรื่อย ๆ และภายใน 3 ปี จะปลูกเพิ่มพื้นที่ปลูกไผ่เป็น 20,000 ไร่ให้ได้

เมื่อไผ่งอกงาม ผืนป่าก็จะค่อย ๆ กลับคืนมา

กล้าไผ่รอการลงปลูก

โรงงานสร้างป่า

สุดท้ายประพันธ์พาเราไปยังอาคารชั้นเดียวเปิดโล่งที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองแม่แจ่ม อาคารแห่งนี้คือ ‘โรงงานสร้างป่า’ หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่าโรงงานไผ่ ซึ่งมีไว้จัดเตรียมความพร้อมในการจัดส่งลำต้นไผ่ของชาวบ้านสู่มือผู้บริโภค รวมถึงเป็นพื้นที่ทำงานแปรรูปไม้ไผ่เป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่า แพราะอย่างที่อธิบายไปข้างต้น การปลูกพืชทดแทนต้องมีตลาดที่แข็งแรงยั่งยืนพอ กระบวนการเปลี่ยนแปลงจึงจะเกิดขึ้นได้

โรงงานสร้างป่า โรงงานแปรรูปไผ่ขนาดเล็กแห่งแรกในอำเภอแม่แจ่ม จัดการในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน เพื่อทดลองแปรรูปและหาตลาดที่ยั่งยืนให้ผลิตภัณฑ์ไผ่

โรงงานสร้างป่าคือหนึ่งในตัวการันตีจากหลากลายภาคส่วนการทำงานที่มีต่อชาวบ้าน ว่าพวกเขาจะไม่ถูกทิ้งให้ต้องหาตลาดเองกลางทาง ในอนาคตเมื่อพื้นที่ปลูกต้นไผ่มีมากขึ้น โรงงานไผ่เล็ก ๆ แบบนี้ควรถูกสร้างขึ้นกระจัดกระจายไปตามหุบเขาพื้นที่ปลูก เพื่อสร้างมูลค่าให้ชาวบ้านได้มากขึ้น

พื้นที่โรงงานสร้างป่า ถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือโรงแช่น้ำยา โรงตากให้แห้งสนิทและโรงแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งหนึ่งในผลิตภัณฑ์แรก ๆ ที่ขายอย่างเป็นทางการคือ ‘หลังคาไผ่’ ที่พัฒนาร่วมกับ คมวิทย์ บุญธำรงกิจ แห่ง Chale’t Wood และตอนนี้มีลูกค้ารีสอร์ตหลายรายในเมืองไทยสั่งซื้อไปมุงหลังคา

การทดลองสร้างผลิตภัณฑ์ของนักออกแบบชาวบ้าน และหลังคาไผ่ สินค้าชนิดแรก ๆ จากไผ่แม่แจ่มที่ออกสู่ตลาด

กระบวนการคือ โรงงานสร้างป่ารับซื้อไผ่จากชาวไร่ จากนั้นจ้างงานชาวบ้านโดยเฉพาะกลุ่มสตรีและผู้อาวุโสไม่มีรายได้ให้มาจัดตอกและประกอบขึ้นเป็นไพหลังคา ไผ่ 1 ลำ จัดตอกได้ลำละ 2 กิโลกรัม และนำมาแปรรูปเป็นหลังคาไผ่ได้ 2 ไพ ทุกวันนี้ราคาขายหลังคาไผ่อยู่ที่ตารางเมตรละ 690 บาท (6 ไพต่อ 1 ตารางเมตร) นับเป็นประโยชน์สองต่อ เพราะนอกจากเป็นการส่งเสริมการปลูกพืชยั่งยืนแล้วยังเป็นการส่งเสริมทักษะยั่งยืนให้ชาวบ้านอีกด้วย

โรงแปรรูปมีลักษณะคล้ายสตูดิโอออกแบบ มีเครื่องจักรแปรรูปหลากหลายชนิด ทั้งเครื่องตัด เครื่องเหลา เครื่องขึ้นรูป นอกจากหลังคาไผ่ ตอนนี้โรงงานสร้างป่าอยู่ในช่วงทดลองเพื่อศึกษาคุณภาพของไผ่แต่ละชนิดว่าเหมาะกับการทำงานแบบไหน และให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันอย่างไร

เปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน

ล่าสุดทีมงานบ้านและสวนแฟร์เดินทางมาทำงานออกแบบ และศึกษาเรื่องไม้ไผ่กับชาวบ้านที่นี่ เพื่อที่จะใช้ไม้ไผ่แม่แจ่มในงานบ้านและสวนแฟร์ครั้งต่อ ๆ ไป โดยโจทย์สำคัญคือต้องออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้เหมาะกับการขนส่งทางไกลจากบนดอย และผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เมื่องานบ้านและสวนแฟร์จบ สามารถนำไปประกอบเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ได้อีก ไม่ได้จบแค่ใช้งานในงานแฟร์ครั้งเดียว

นักออกแบบมืออาชีพจากบ้านและสวนแฟร์ ลงพื้นที่เพื่อหารือและออกแบบผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่สำหรับใช้ในงานมหกรรมสินค้าประจำ พ.ศ. 2564

ภาพฝันในอนาคตคือการสร้างจุดแข็งทางงานออกแบบให้ผลิตภัณฑ์ไผ่จากแม่แจ่ม ถ้าขายเน้นราคาถูก ก็ต้องวนเวียนอยู่กับการกัดฟันเฉือนเนื้อตัวเองร่ำไป แต่ถ้าคนรุ่นใหม่ของแม่แจ่มมีความสามารถออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์  มีความคิดสร้างสรรค์พลิกแพลง สินค้าก็จะมีแต่เพิ่มมูลค่าสูงขึ้น

ไฟแห่งการเปลี่ยนแปลงในใจชาวบ้านถูกจุดติดขึ้นแล้ว อาจต้องใช้เวลาหลายสิบปีกว่าการเปลี่ยนแปลงจากแม่แจ่มโมเดลจะเห็นชัด และเมื่อวันนั้นมาถึง พื้นที่แสนกว่าไร่ในแม่แจ่มที่เคยเป็นทุ่งข้าวโพดหัวโล้นเพราะชาวบ้านไม่มีทางเลือกในการทำกิน จะกลับมาเขียวชอุ่มอีกครั้ง

ทัศนียภาพลำน้ำแม่แจ่ม หนึ่งในต้นน้ำแห่งเจ้าพระยา

เรื่อง มิ่งขวัญ รัตนคช
ภาพ อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม


ข้อมูลอ้างอิง


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : แคมปิ้งกลางนา เดินป่ากับช้าง

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.