ตั้งแต่ ค.ศ. 2000 ถึง ค.ศ. 2015 ในขณะที่ประชากรโลกเพิ่มขึ้นหนึ่งในห้า การผลิตเสื้อผ้าก็เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตามรายงานของมูลนิธิ Ellen MacArthur โดยเป็นผลจากการเกิดขึ้นของ ‘Fast Fashion’ หรือรูปแบบการผลิตเสื้อผ้าที่เน้นความรวดเร็ว ในราคาต่ำที่สุด เพื่อให้ผู้ซื้อไม่รู้สึกเสียดายเงินที่จะใส่แค่ไม่กี่ครั้ง แล้วทิ้งไปซื้อตัวใหม่ต่อไป
ในแต่ละปีมีเสื้อผ้าถูกผลิตขึ้นบนโลกมากกว่า 150,000 ล้านชิ้น กระบวนการผลิตปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงประมาณ 1.2 พันล้านตันในทุก ๆ ปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่า Carbon Footprint ของเที่ยวบินระหว่างประเทศและขนส่งทางทะเลรวมกัน นอกจากนี้อุตสาหกรรมสิ่งทอยังเป็นตัวการสร้างน้ำเสียถึง 20 เปอร์เซ็นต์จากอุตสาหกรรมทั้งหมดในโลก
ไม่ใช่แค่การผลิตเท่านั้นที่ทำให้เกิดความเสียหาย การทิ้งเสื้อผ้าสิ่งทอก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมมากยิ่งกว่า
ปัจจุบันอุตสาหกรรมสิ่งทอถูกจัดให้เป็นอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก (รองจากอุตสาหกรรมน้ำมัน) ด้วย ‘วัฒนธรรมใส่แล้วทิ้ง’ ของเราที่เพิ่มมากขึ้น แต่ละปีจึงมีเสื้อผ้าสภาพดีจำนวนมหาศาลถูกทิ้งขว้าง ทั้งที่เพิ่งถูกสอยลงจากราวแขวนในห้างสรรพสินค้าได้ไม่นาน
ผลพวงจากกระบวนการทิ้งเสื้อผ้ามหาศาลนี้ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 3.3 พันล้านตันในแต่ละปี เท่ากับ 8 เปอร์เซ็นต์ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก หากเปรียบว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นประเทศ ประเทศแห่งนี้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณสูงเท่ากับทุกประเทศในยุโรปรวมกันเสียอีก
ขยะแฟชั่นมากกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลกถูกส่งไปทิ้งฝังกลบที่บ่อขยะ สารเคมีบนเสื้อผ้า เช่น สีย้อมจะถูกชะลงสู่พื้นดิน ทำให้เกิดการสะสมของสารเคมีในดิน และด้วยความยุ่งยากในการคัดแยก รวมถึงขั้นตอนอันซับซ้อน ทำให้มีน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก ที่ถูกนำไปรีไซเคิลเป็นเสื้อผ้าวางจำหน่ายชิ้นใหม่
1 เปอร์เซ็นต์ในการรีไซเคิลสิ่งทอที่ว่านี้เกิดขึ้นที่ไหน และใช้กระบวนการอะไรในการเนรมิตเสื้อผ้าจากขยะแฟชั่นได้เอี่ยมไฉไลเหมือนใหม่
เราพาคุณมุ่งหน้าสู่เมือง Prato ทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี ที่ถูกขนานนามว่าเมืองหลวงแห่งการรีไซเคิลสิ่งทอ ที่ขยะแฟชั่นจากทั่วโลกหลั่งไหลมาสร้างเม็ดเงิน แฟชั่นดีไซน์ และนวัตกรรมการผลิตเสื้อผ้ายั่งยืน
Jorik Boer ทายาทรุ่นที่ 3 ของบริษัท Boer Group ที่เริ่มกิจการซื้อขายของเก่าเมื่อ 100 ปีก่อน จากรถเข็นที่ตระเวนไปทั่วเมือง Rotterdam ประเทศเนเธอแลนด์ เพื่อเก็บรวบรวมเศษผ้า โลหะและกระดาษ ทุกวันนี้ตระกูลเป็นเจ้าของโรงงานรีไซเคิลหลายแห่งในเนเธอแลนด์ เบลเยี่ยม เยอรมัน และที่เมือง Prato ประเทศอิตาลีแห่งนี้ด้วย
โดยในแต่ละวัน โรงงานของ Boer Group ทำการคัดแยกสิ่งทอมากกว่า 460 ตัน เพื่อส่งเสื้อผ้าที่ยังมีคุณภาพดีมากกลับสู่ท้องตลาด (Resell for Reuse) และส่งเสื้อผ้าที่วัสดุยังดีแต่ไม่สามารถขายได้อีก เข้ากระบวนการรีไซเคิลเพื่อผลิตเป็นสินค้าตัวใหม่
“คนส่วนใหญ่มีความเข้าใจผิด เกี่ยวกับการบริจาคเสื้อผ้าให้คนยากไร้” Boer กล่าว
Salvation Army ศูนย์บริจาคเสื้อผ้าแห่งเมือง New York ประเทศสหรัฐอเมริการะบุว่า ในจำนวนเสื้อผ้าที่ถูกนำไปบริจาคทั้งหมด แต่ละสัปดาห์จะมีเสื้อผ้าเกือบ 50 ตัน ที่ถูกปฏิเสธจากผู้รับบริจาค เนื่องจากสภาพของเสื้อผ้าไม่สามารถถูกใช้งานต่อได้
ถ้าวัสดุยังพอไปต่อได้ เสื้อผ้าเหล่านี้จะถูกส่งไปขายที่ทวีปแอฟริกาในราคาเพียง 15 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าสภาพมันย่ำแย่ยิ่งกว่านั้น พวกมันจะถูกส่งไปเผาหรือฝังกลบอยู่ดี
“สำหรับผม ถ้าเสื้อผ้าที่ถูกทิ้ง ถูกขายกลับสู่มือผู้สวมใส่ได้อีกครั้ง นั่นย่อมดีกว่า เพราะการรีไซเคิลหมายถึงพลังงานและวัสดุที่ต้องเติมเข้าไปในกระบวนการอีก”
กระบวนการรีไซเคิลจะทำให้เส้นใยของสิ่งทอ โดยเฉพาะเส้นใยสังเคราะห์หดสั้นลง ทำให้ปริมาณวัตถุดิบที่ได้น้อยลงตามไปด้วย ดังนั้นสำหรับผู้ประกอบการ มันจึงไม่ค่อยคุ้มทุนในเชิงกำไรนักหากนำเส้นใยจากการรีไซเคิลมาผลิตเป็นสิ่งทอชิ้นใหม่ เทียบกับราคาเส้นใยที่เพิ่งสังเคราะห์ขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีราคาถูกกว่า
สิ่งทอส่วนใหญ่จึงถูกหั่นชิ้นให้กลายเป็นผ้าเช็ดทำความสะอาด ฉนวนกันความร้อน หรือไม่ก็ฟูกที่นอน ยกเว้นสิ่งทอจากเส้นใยขนสัตว์ (Wool) ที่เมื่อผ่านกระบวนการรีไซเคิลแล้ว เส้นใยยังมีความยาวเพียงพอที่จะผลิตสิ่งทอขึ้นได้เหมือนเส้นใยใหม่
อุตสาหกรรมสิ่งทอในเมือง Prato เติบโตมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 และพวกเขาคิดค้นเทคนิคในการรีไซเคิลเส้นใยขนสัตว์จากเสื้อผ้าที่ไม่เป็นที่ต้องการ มาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 เนิ่นนานก่อนที่โลกจะบัญญัติศัพท์ ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ ขึ้นมาเสียอีก
ทุกวันนี้ ในเมือง Prato มีธุรกิจสิ่งทอขนาดเล็กประมาณ 7,000 แห่ง โดย 3,500 แห่งในนั้นเป็นธุรกิจสิ่งทอรีไซเคิลจากเสื้อผ้าที่ถูกทิ้งทั่วโลก ซึ่งมีการจ้างคนงานมากกว่า 40,000 คน สร้างเม็ดเงินกว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 15 เปอร์เซ็นต์ของการรีไซเคิลเสื้อผ้าของโลกหรือ 143,000 ตันต่อปี (จากการผลิตกว่า 100 ล้านตัน) เกิดขึ้นที่นี่
ตั้งแต่ขั้นตอนแรกที่ทรหดที่สุดนั่นคือการคัดแยกเสื้อผ้าออกเป็นหลากหลายโทนสีและประเภทวัสดุอย่างพิถีพิถัน ละเอียดยิบด้วยมือและสายตาที่เฉียบคม จากนั้นเสื้อผ้าที่คัดแยกแล้ว จะผ่านกระบวนการ Carbonization เพื่อขจัดสิ่งสกปรกจากเซลลูโลส ก่อนจะนำไปซักแห้งด้วยกรดไฮโดรคลอริก
จากนั้นเสื้อผ้าที่สะอาดเอี่ยมจะถูกส่งเข้าเครื่องหั่นแบบเปียกด้วยน้ำที่ใช้หมุนเวียนภายในโรงงานรีไซเคิล ในกระบวนการนี้กรงเล็บเหล็กจะฉีกผ้าออกจนกลายเป็นเส้นใยอีกครั้ง ก่อนจะส่งเส้นใยเหล่านั้นเข้าไปเป่าแห้งด้วยลมร้อน
เมื่อแห้งสนิท ผลลัพธ์ที่เห็นคือเส้นใยขนสัตว์รีไซเคิลละเอียดสีเดียวกลมกลืนกัน พร้อมนำมาปั่นเป็นเส้นด้าย เพื่อทอเป็นผ้าขนสัตว์เนื้อดีได้อย่างเส้นใยขนสัตว์บริสุทธิ์
Matteo Ward ผู้อำนวยการ Fashion Revolution ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรระดับโลกที่ก่อตั้งขึ้น เพื่อผลักดันความโปร่งใสและยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานแฟชั่น กล่าวชื่นชมกระบวนการรีไซเคิลเสื้อผ้าของเมือง Prato
“นี่คือกระบวนการสร้างเสื้อผ้าชิ้นใหม่ ที่ลดทั้งมลพิษและลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิต สามารถเกิดขึ้นซ้ำได้มากกว่าหนึ่งครั้ง โดยการแยกเสื้อผ้าขนสัตว์ออกจากกันตามเฉดสี ทำให้เส้นใยสามารถกลับเข้าสู่วงจรการผลิตได้โดยไม่ต้องย้อมสี ซึ่งเป็นกระบวนการที่สร้างผลกระทบต่อ สามารถเกิดขึ้นซ้ำได้มากกว่าหนึ่งครั้ง
“อีกประการที่สำคัญคือเป็นการเพิ่มสวัสดิภาพของสัตว์ที่ให้ขน อย่างเช่น เแกะ ซึ่งไม่ต้องถูกยัดเยียดความต้องการเส้นใยขนสัตว์มหาศาลจากอุตสาหกรรมแฟชั่นของมนุษย์”
จากนโยบายและการกดดันอันเข้มข้นจากภาคประชาสังคม ทุกวันนี้แบรนด์ Fast Fashion ขนาดใหญ่ของโลก อย่าง Zara และ H&M ต่างใช้เส้นด้ายรีไซเคิลจากเมือง Prato ในอุตสาหกรรมบางส่วนแล้ว แต่นั่นยังไม่เพียงพอ Boer แสดงความคิดเห็นว่าสหภาพยุโรปควรกำหนดให้การผลิตเสื้อผ้าใหม่ ต้องมีการใช้เส้นใยรีไซเคิลมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ได้แล้ว เพื่อเร่งความเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมแฟชั่นที่สร้างความเสียหายในปัจจุบัน
ในขณะเดียวกัน บริษัทสตาร์ตอัพทั่วโลก ต่างกำลังศึกษาเพื่อสร้างนวัตกรรมการรีไซเคิลเส้นใยสังเคราะห์อย่างขมักเขม่น ไม่ให้เสื้อผ้าที่ผลิตจากเส้นใยสังเคราะห์ต้องจบชีวิตลงแค่ที่ฉนวนกันความร้อนหรือฟูกที่นอน เพื่อกระตุ้นกลไกทางตลาดให้ผู้ประกอบการต่างอยากนำพวกมันมารีไซเคิลเป็นเสื้อผ้าชิ้นใหม่อย่างเส้นใยขนสัตว์ ที่เกิดขึ้นในเมือง Prato
เมื่อพูดถึงแฟชั่นที่ยั่งยืน อีกรูปแบบธุรกิจที่ส่งเสริมการหมุนเวียนในภาคธุรกิจตามรายงานของมูลนิธิ Ellen MacArthur คือการเช่าแล้วคืน เพื่อให้เสื้อผ้าชิ้นนั้น ๆ ถูกหมุนเวียนใส่จนคุ้นค่าได้อย่างไม่รู้จบ
Rent the Runway แพลตฟอร์มให้เช่าเสื้อผ้าออนไลน์ที่กำลังเติบโตและเป็นที่นิยมในประเทศสหรัฐอเมริกา คือตัวอย่างในการช่วยให้คุณสามารถตามเทรนด์แฟชั่น ไปพร้อม ๆ กับไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมโลกจนเกินไปนัก
อย่างไรก็ตาม Elizabeth Cline นักข่าวผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับ Fast Fashion กล่าวว่าการเช่ามีราคาทางสิ่งแวดล้อมจากการขนส่งที่ต้องจ่ายเช่นเดียวกัน ดังนั้นสวมใส่สิ่งที่คุณมีอยู่ในตู้เสื้อผ้าที่บ้าน น่าจะเป็นการแต่งตัวที่ยั่งยืนที่สุดในเวลานี้
สืบค้นและเรียบเรียง มิ่งขวัญ รัตนคช
ข้อมูลอ้างอิง
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : ชิ้นส่วนแห่งความแตกต่าง กระบวนการฟื้นชีวิตเศษผ้าสู่สินค้าหรูในจีน