ฉันใช้ ‘ถ้วยอนามัย’ หรือ Menstrual Cup มา 6 เดือนแล้ว เริ่มจากการอ่านรีวิวของเพื่อน ๆ หลายคนที่ทยอยเปลี่ยนมาใช้ถ้วยรองประจำเดือนจัดการกับวันนั้นของเดือนแทน ‘ผ้าอนามัย’ และอยากทดลองเองบ้าง
ผลลัพธ์คือ ฉันรักเจ้าถ้วยซิลิโคนเล็ก ๆ แต่ประสิทธิภาพเยี่ยมนี้อย่างถอนตัวไม่ขึ้น
แต่ละคนมีเหตุผลของตัวเอง เพื่อนที่เปลี่ยนมาใช้ถ้วยอนามัยส่วนใหญ่บอกว่ารู้สึกแย่ทุกครั้ง เวลาเห็นผ้าอนามัยใช้แล้วของตัวเอง เพราะมันคือขยะปนเปื้อนที่รีไซเคิลไม่ได้ และจะต้องไปนอนรอย่อยสลายในหลุมฝังกลบ ด้วยสภาพเลือดแห้งกรังแบบนั้นไปอีกหลายร้อยปี
และนี่คือ 5 เหตุผลที่ทำให้ฉันเปลี่ยนมาใช้ถ้วยรองประจำเดือน และไม่คิดจะกลับไปใช้ผ้าอนามัย (แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง) อีก นอกจากในอนาคตจะมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ทำให้ผู้หญิงอย่างเราจัดการประจำเดือนได้ง่ายและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้มากกว่านี้
ฉันไปค้นประวัติการรับมือกับเลือดประจำเดือนของผู้หญิงในประวัติศาสตร์ พบว่าในอดีต ก่อนศตวรรษที่ 20 ผู้หญิงใช้วัสดุหลากหลายที่มีคุณสมบัติดูดซับได้ ตั้งแต่เศษผ้าไปจนถึงแถบเปลือกไม้เนื้ออ่อน แต่มันก็แสนจะไม่สะดวกสบายและน่าอับอายเมื่อต้องนำเลือดที่แข็งตัวไปล้าง
“ทัศนคติว่าประจำเดือนเป็นเลือกพิษที่ทั้งสกปรกและน่าอับอาย มีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ จนถึงช่วงกลาง ค.ศ. 1800” Chris Bobel ผู้เชี่ยวชาญด้านการมีประจำเดือน จากมหาวิทยาลัย Massachusetts เมือง Boston ให้ข้อมูล
จนกระทั่ง ค.ศ. 1921 ผ้าอนามัยแผ่น (Sanitary Pads) ออกวางจำหน่ายครั้งแรกในร้านขายยาประเทศสหรัฐอเมริกา ผลิตด้วย Cellucotton วัสดุอินทรีย์ที่ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อเป็นผ้าพันแผลทางการแพทย์ และนับเป็นจุดเริ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์ซึมซับประจำเดือนแบบใช้แล้วทิ้ง ที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของสตรีทั่วโลก
ค.ศ. 1930 ผ้าอนามัยแบบสอด (Tampon) ก็ถูกนำเข้าสู่ท้องตลาด ส่วนใหญ่ผลิตจากผ้าฝ้ายเนื้อหนาหรือวัสดุคล้ายกระดาษ พร้อมติดเชือกสำหรับดึงออกจากช่องคลอด ผ้าอนามัยแบบสอดไม่เป็นที่นิยมในเมืองไทยเท่าแบบแผ่น ฉันคิดว่าคงเพราะค่านิยมและประเพณี ที่เราถูกปลูกฝังมาอย่างเข้มแข็งเรื่องของสงวนที่ห้ามแตะต้อง
ผ้าอนามัยแพร่กระจายไปทั่วโลก พร้อมแคมเปญการตลาด ‘ใช้ครั้งเดียวทิ้ง’ เพื่ออิสรภาพของสตรียุคใหม่ ที่แม้แต่ประจำเดือนก็ไม่อาจขวางกั้นการใช้ชีวิตเสรีของเราได้
ผลลัพธ์คือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยอดขายผลิตภัณฑ์ประจำเดือนใช้แล้วทิ้งพุ่งสูงขึ้นลิบลิ่วทั่วโลก มาจนถึงทุกวันนี้
ค.ศ. 1960 นักเคมีประสบความสำเร็จ ในการพัฒนาพลาสติกที่มีความซับซ้อนและสารสังเคราะห์อื่น ๆ มากมาย แน่นอนว่าเหล่าผู้ผลิตต้องการเพิ่มตลาดในการขายวัสดุเหล่านั้น และตลาดผลิตภัณฑ์ประจำเดือนก็เป็นเป้าหมายของพวกเขา
นักพัฒนาสินค้านำ Polypropylene หรือ Polyethylene มาเป็นส่วนประกอบหลักของแผ่นรองที่ให้คุณสมบัติกันซึมเปื้อน นอกจากนี้ยังพัฒนากาวเหนียวที่ทำให้ผ้าอนามัยสามารถยึดเกาะกับกางเกงชั้นในได้เลย ไม่ต้องสวมพร้อมเข็มขัดอีกต่อไป
และในค .ศ. 1970 ผ้าอนามัยแบบมีปีกออกวางจำหน่ายพร้อม ๆ กับการพัฒนาเส้นใย Polyester ให้บางลงแต่ซับซ้อนขึ้น ทำให้การดูดซึมมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไปอีก แต่อย่างไรก็ตามยิ่งซับซ้อน ก็ยิ่งมีส่วนผสมของพลาสติกมาก
ทุกวันนี้ผ้าอนามัยทั้งแบบแผ่นและแบบสอด ทุกรูปแบบ ทุกยี่ห้อมีส่วนผสมของพลาสติก สัดส่วนมากน้อยแล้วแต่ยี่ห้อผลิตภัณฑ์ ไม่เฉพาะส่วนซึมซับเท่านั้น แต่แพคเกจล้วนเป็นพลาสติกทั้งสิ้น ตั้งแต่ห่อชั้นนอก ห่อชั้นใน แผ่นกาว ไปจนถึง Applicator ช่วยสอดใส่และเชือกดึง ในกรณีของผ้าอนามัยแบบสอด
และการจัดการกับปริมาณขยะพลาสติกที่มาจากผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับประจำเดือนนั้นเป็นเรื่องยากมาก
โดยเฉลี่ยผู้หญิงจะมีประจำเดือนทั้งสิ้น 40 ปีตลอดอายุขับ สมมติว่าแต่ละเดือนประจำเดือนมา 5 วัน แต่ละวันเปลี่ยนอย่างน้อย 2 ครั้ง เท่ากับว่าผู้หญิงหนึ่งคน จะใช้ผ้าอนามัย 5,000 ถึง 15,000 แผ่น เฉพาะที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ละปีมีผู้ซื้อผ้าอนามัยแบบสอดถึง 5.9 พันล้านแท่ง และหลังการใช้พวกมันแทบทั้งหมดจะไปลงเอยในหลุมฝังกลบ
ผ้าอนามัย 1 แผ่น อาจใช้เวลาย่อยสลายถึง 500 ปี และตลอดชีวิตเราต้องใช้มันหลายพันแผ่น
ผู้หญิงอย่างเรามีทางเลือกในการจัดการกับร่างกายตัวเอง โดยไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อมอย่างใจร้ายเกินไปนัก
จากการสำรวจความเห็นโลกโซเชียลมีเดีย ผู้หญิงไทยจำนวนไม่น้อยและฉันเองอยากลองใช้ถ้วยอนามัย แต่ไม่กล้า ทั้งกังวลเรื่องสุขอนามัย ถ้าต้องล้างในห้องน้ำสาธารณะ มันจะสะอาดไหม ตอนดึงออกมาล่ะเจ็บไหม เลือดจะหกออกมาจากถ้วยหรือเปล่า สารพัดคำถามเต็มไปหมด
ฉันเองหัดใช้ถ้วยอนามัยครั้งแรกตอนล็อกดาวน์ ทำงานจากที่บ้านเมื่อปีที่แล้ว และคิดว่าน่าจะเป็นช่วงที่ดีที่สุดในการทดลอง ดังนั้นช่วงนี้ที่เรากลับมาทำงานจากที่บ้านกันอีกครั้ง ใครที่สนใจอยากเปลี่ยนมาใช้ ฉันขอแนะนำให้เริ่มทดลองเลย!
ครั้งแรกที่ทดลองใส่ ฉันค้นพบว่าตัวเองแทบไม่รู้จักสรีระภายในของตัวเองเลย แม้จะเคยใส่ผ้าอนามัยแบบสอดมาแล้ว แต่ถ้วยอนามัยนั้นมีขนาดใหญ่กว่ามาก มันจึงเป็นเรื่องทางใจเสียครึ่งหนึ่งในการรวบรวมความกล้า และต้องใช้เวลาอีก 1-2 ครั้งของการทดลองใส่ถ้วยอนามัย ในการเรียนรู้ตำแหน่งช่องคลอดและปากมดลูก
โชคดีที่สวมใส่ที่บ้าน จึงมีพื้นที่ให้นั่ง ๆ ยืน ๆ ทดลองคลำหาตำแหน่งในการใส่ที่เข้ากับสรีระของตัวเองที่สุด
ลักษณะของถ้วยอนามัยในท้องตลาดตอนนี้ มีทั้งแบบนุ่มนิ่ม แรงยึดเกาะผนังมดลูกไม่แน่นมาก จนถึงรุ่นแข็งแรงกระชับ ที่ยึดเกาะเหนียวแน่นสำหรับคนที่เล่นกีฬา ในขณะเดียวกันความยาวถ้วยเป็นอีกสิ่งสำคัญที่ต้องประเมินสรีระของตัวเอง ถ้วยขนาดเล็กเหมาะกับผู้ที่มีปากมดลูกต่ำ ในขณะที่ถ้วยขนาดใหญ่เหมาะกับผู้ที่มีปากมดลูกสูงและประจำเดือนมามาก
ผู้หญิงที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ก็สามารถใส่ถ้วยอนามัยได้ไม่มีปัญหา เพื่อนฉันหลายคนประสบความสำเร็จมาแล้ว ถ้าคุณยังกังวล ถ้วยอนามัยบางยี่ห้อมีรุ่นเฉพาะเจาะจง สำหรับผู้ที่ยังไม่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ หรือยังไม่เคยคลอดลูกด้วยนะ เลือกแบบที่เหมาะกับเราที่สุด จะช่วยให้การสวมใส่ง่ายขึ้นผู้
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีภาวะ Pelvic Organ Prolapse อวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานหย่อน หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว หากต้องการใช้ถ้วยอนามัย ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทดลองใช้
ถ้วยอนามัยคือหนึ่งในทางเลือกเท่านั้น เป้าหมายคือการเลิกใช้ผ้าอนามัยแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ดังนั้นสาว ๆ ที่ไม่สะดวกใจจะต้องสอดถ้วยอนามัยเข้าไปในช่องคลอด ก็สามารถเลือกทางเลือกอื่น ๆ ได้ อย่างตอนนี้ในไทยมีผ้าอนามัยแบบซักได้หลายยี่ห้อให้ไปเลือกสรรค์ หรือใครอยากลองเย็บเอง ใน Youtube ก็มี Tutorial มากมายให้ทดลองทำตาม
ถ้วยอนามัยที่ได้มาตรฐานผลิตจาก ซิลิโคนเกรดการแพทย์ (Medical Grade Silicone) สีที่ใช้ผสมต้องเป็น Food Grade เท่านั้น จึงไม่ต้องกังวลไปก่อนว่าเมื่อสอดใส่เข้าไปในช่องคลอดแล้วจะเกิดอาการแพ้ ขอแค่ระมัดระวังเรื่องความสะอาด
ก่อนใช้งานครั้งแรก ตั้มถ้วยอนามัยในน้ำเดือดประมาณ 5 นาที ที่สำคัญต้องต้องตัดเล็บสั้น ล้างมือให้สะอาดก่อนทุกครั้ง จากนั้นพับปากถ้วยให้เล็กพอที่จะสอดเข้าช่องคลอดไปได้ มันจะมีความเสียดทานเกิดขึ้น เนื่องจากถ้วยใหญ่กว่าปากประมาณหนึ่ง ไม่ต้องกลัวเพราะช่องคลอดและปากช่องคลอดสามารถขยายตัวได้กว้างกว่าที่เราคิด
เทคนิคการพับมีหลายแบบ ส่วนตัวฉันบางครั้งใช้ 7-Fold บางครั้งใช้ Punch-Down อย่างที่บอกไปข้างต้น ถ้าเราสำรวจและทำความรู้จักสรียะภายในตัวเองแล้ว เราจะสามารถเลือกการพับที่เหมาะกับตัวเราที่สุดได้ บางคนนั่งใส่ บางคนยืนใส่ บางคนต้องทำท่าสควอชจึงจะใส่ถ้วยอนามัยได้
เมื่อสอดถ้วยเข้าไปจนลึกพอ ปากถ้วยที่พับอยู่จะดีดตัวเปิดออกแนบสนิทไปกับผนังมดลูก วิธีสังเกตง่าย ๆ ถ้าคุณรู้สึกไม่สบายตัว หน่วง ๆ ที่ปากมดลูก แสดงว่ายังสอดถ้วยอนามัยเข้าไปในช่องคลอดไม่ลึกพอ หรือถ้วยยังไม่คลายตัวออกเรียบร้อย เลือดประจำเดือนอาจซึมออกมาได้ อาจต้องลองขยับตัวและใช้นิ้วหมุนฐานถ้วยช้า ๆ อย่างนุ่มนวลดู
เวลาเอาออก เราต้องควานนิ้วเข้าไปในช่องคลอด เพื่อหาก้านหรือห่วง (แล้วแต่ยี่ห้องผลิตภัณฑ์) ค่อย ๆ คลำหาจนพบ จากนั้นดึงพร้อมบิดถ้วยออกมาจากช่องคลอดช้า ๆ จนถ้วยอนามัยหลุดออกมาจากปากช่องคลอด เทเลือดทิ้งในโถชักโครก ล้างด้วยน้ำและสบู่อ่อนโยนเบา ๆ จนคราบเลือดหายไปจนหมด จากนั้นใส่ต่อได้เลย
6 เดือนที่ผ่านมา ฉันไม่เคยมีปัญหาในการใส่-ถอด หรือทำเลือดประจำเดือดกระฉอกหกเลยแม้แต่ครั้ง
ถึงตรงนี้ หลายคนอาจส่ายหน้าและถอดใจไปแล้ว ‘ผ้าอนามัยแบบเดิมก็ดีอยู่แล้ว ไม่ต้องเหนื่อย ไม่ต้องพิชิตความกลัว’ ฉันยังอยากชวนทุกคนได้ทดลองดูก่อน เพราะเรามีสิทธิ์ที่จะมองหาทางเลือกใหม่ ๆ ให้ตัวเอง ลองแล้วชอบหรือไม่ชอบค่อยตัดสินใจอีกที
สำหรับฉัน เหตุผลเรื่องสิ่งแวดล้อมครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งคือเหตุผลเรื่องความสะดวกสบาย มันดูเป็นเรื่องใหญ่ น่ากังวลและน่าตื่นเต้นแค่ครั้งแรก ๆ ที่คุณลองใส่ถ้วยอนามัยเท่านั้นแหละ เหมือนตอนคุณอายุ 12 ปี และเรียนรู้ที่จะแปะผ้าอนามัยบนกางเกงชั้นในครั้งแรก พอใส่จนคล่องมือแล้ว มันง่ายมาก
ถ้วยอนามัยสามารถรองรับประจำเดือนได้นานถึง 12 ชั่วโมง สำหรับคนที่ประจำเดือนมาปกติ ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย ไม่อึดอัด ไม่ไหลรั่วซึมเลอะเทอะ แบบผ้าอนามัยแบบแผ่นและแบบสอด ที่สำคัญคือคล่องตัวสุด ๆ ฉันใส่ถ้วยอนามัยไปปีนผาและดำน้ำมาแล้ว พบว่าแทบลืมไปเลยว่าเป็นวันนั้นของเดือน
ขอแค่อย่าใส่ถ้วยค้างไปนานข้ามวันข้ามคืนเท่านั้น เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากสารพิษของแบคทีเรียจนเกิดอาการท็อกซิกช็อก (Toxic Shock Syndrome) ซึ่งอย่าลืมว่าเวลาใส่ผ้าอนามัย เราก็ไม่ควรใส่ค้างไว้นานเกิดไปอยู่แล้ว ด้วยเหตุผลเดียวกัน
เลือดประจำเดือนไม่ใช่เลือดพิษน่ารังเกียจอย่างทัศนคติสมัยกรีกโบราณ ดังนั้นไม่ต้องอายที่จะสัมผัสสรีระภายใน และเห็นสิ่งที่ขับออกมาจากร่างกายตัวเอง
เหตุผลสุดท้ายเป็นเรื่องการเงินที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม
ถ้วยอนามัยแต่ละถ้วย มีอายุการใช้งานยาวนานถึง 10 ปี ขึ้นอยู่กับคุณภาพและวัสดุของแต่ละยี่ห้อ บางยี่ห้อราคาแพงเกิน 1,000 บาทเนื่องจากผลิตภายใต้มาตรฐานการแพทย์และนำเข้ามาจากต่างประเทศ บางยี่ห้อราคาย่อมเยาว์ลงมาหน่อย แต่ไม่ค่อยน่าไว้ใจในเรื่องมาตรฐานวัสดุและการผลิต ดังนั้นเลือกซื้อยี่ห้อที่น่าเชื่อถือ แม้ราคาแพงขึ้นหน่อย น่าจะดีที่สุด
เมื่อต้องจ่ายเงิน 1,000 บาท ความคิดแรกคือแพงจัง แต่พอคิดดี ๆ ผ้าอนามัยที่ซื้อกันอยู่ทุกวันนี้ ราคาตกอยู่ที่ชิ้นละประมาณ 5 บาท (มากหรือน้อยกว่า แล้วแต่ยี่ห้อ) ฉันเปลี่ยนวันละ 3 แผ่น เท่ากับทั้งชีวิตนี้ฉันต้องจ่ายค่าผ้าอนามัย 36,000 บาท และสร้างภาระให้โลกไปอีกหลายร้อยปี
ถ้วยอนามัยมีอายุการใช้งาน 10 ปี เท่ากับทั้งชีวิตต้องเปลี่ยนถ้วยอนามัยแค่อย่างน้อย 4 ครั้ง เพราะล้างทำความสะอาดและนำกลับมาใช้ใหม่ได้นับร้อยครั้ง ปริมาณขยะน้อยลงอย่างเทียบกันไม่ได้
ตัวฉันวิน โลกก็วิน แล้วทำไมจะไม่เปลี่ยนมาใช้ล่ะ จริงไหม
เรื่อง มิ่งขวัญ รัตนคช
ข้อมูลอ้างอิง
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : ผู้หญิงเสียเปรียบเรื่องสุขภาพอย่างไรบ้าง