ผู้หญิงเสียเปรียบเรื่องสุขภาพอย่างไรบ้าง

ผู้หญิงเสียเปรียบเรื่องสุขภาพอย่างไรบ้าง

‘ความกังวลด้าน สุขภาพผู้หญิง ถูกเพิกเฉยและบิดเบือนเป็นเรื่องการเมือง’ แพทย์หญิงผู้เขียนบทความนี้กล่าว ใบสั่งยาของเธอเพื่อเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ก็คือ ผู้หญิงต้องก้าวออกมาพูดให้โลกรู้

ในฐานะแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990 ฉันดูแลรักษาผู้ป่วยมาแล้วทุกรูปแบบ ทั้งคนชราและคนหนุ่มสาว คนรวยและคนจน ผู้ชายและผู้หญิง นอกจากนี้ ฉันยังเฝ้าสังเกตผู้ติดตามที่มากับคนไข้ ขณะที่พวกเขารับมือกับวิกฤติทางสุขภาพ ท่ามกลางหน้าที่การงาน ครอบครัว และภาระผูกพันทางการเงิน บ่อยครั้งภาระเกือบทั้งหมดตกอยู่กับผู้หญิง ซึ่งรับหน้าที่เป็นสองเท่า สามเท่าหรือสี่เท่า ในการดูแลลูก คู่ครอง พ่อแม่ และผู้เป็นที่รักอื่น ๆ

ข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจหรือโออีซีดี (Organization for Economic Cooperation and Development: OECD) ระบุว่า ผู้หญิงทั้งโลกใช้เวลาปีละกว่า 1.1 ล้านล้านชั่วโมงในการดูแลเด็กและคนชรา โดยไม่ได้รับค่าจ้าง ขณะที่ผู้ชายใช้เวลาแค่ราวหนึ่งในสาม

ในบทบาทนักเขียน แน่นอนว่าฉันเป็นนักเล่าเรื่อง ฉันดัดแปลงเรื่องราวของผู้หญิงในโลกแห่งความเป็นจริง เพื่อแต่งเป็นเรื่องราวของตัวละคร ฉันเชื่อว่าหมอที่ดีจะต้องเป็นนักเล่าเรื่องที่ดีด้วย

ฉันยึดแนวปฏิบัติที่เรียกกันว่า เวชปฏิบัติเรื่องเล่า ซึ่งโดยแก่นแท้แล้วหมายถึงการรับฟังเรื่องราวของผู้ป่วยอย่างตั้งใจ การอ่านสัญญาณที่ร่างกายผู้ป่วยถ่ายทอดออกมาและการนำทั้งสองสิ่งนั้นมาสร้างเรื่องเล่าเพื่อวินิจฉัยและรักษาโรค

ดูอย่างเรื่องของเมริดิท เป็นต้น เธอเป็นศัลยแพทย์ เป็นแม่ม่ายมีลูกยังเล็กสามคน และไม่เพียงได้รับรางวัลเกียรติยศทางอาชีพ แต่ยังมีเวลาให้กับลูกและชีวิตทางสังคมด้วย เธอเข้าเรียนคณะแพทยศาสตร์ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ยุคที่นักศึกษาเข้าใหม่มีไม่ถึงครึ่งด้วยซํ้าที่เป็นผู้หญิง พอถึงปี 2018 ร้อยละ 52 ของผู้ลงทะเบียนเข้าเรียนเป็นผู้หญิงก้าวหน้าขึ้น! หรือโดยกว้างกว่านี้ เมื่อถึงปี 2017 ศูนย์สถิติทางการศึกษาแห่งชาติรายงานว่าร้อยละ 57 ของผู้ที่ได้รับปริญญาตรี ร้อยละ 59ของผู้ได้รับปริญญาโท และร้อยละ 53 ของผู้ได้รับปริญญาเอกในสหรัฐฯเป็นผู้หญิง นี่คือความก้าวหน้าอย่างแท้จริง เพราะองค์ประกอบอันดับแรกในการพัฒนาการให้บริการทางสุขภาพ คือการให้การศึกษาแก่ผู้หญิง

สุขภาพผู้หญิงแม้เมริดิทจะจบปริญญาขั้นสูงมา และแม้จะแนะนำตัวเองพร้อมตำแหน่งแพทย์ของเธอ สวมเสื้อกาวน์สีขาว และคล้องหูฟังแพทย์อยู่เห็น ๆ เธอยังถูกเรียกว่าพยาบาลเป็นประจำระหว่างทำธุระต่าง ๆ ในโรงพยาบาล และหากมีนักศึกษาแพทย์ชายอยู่ในห้องด้วยขณะเธอออกตรวจเยี่ยมไข้ ผู้ป่วยก็มักบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขากับนักศึกษาชายคนนั้นแทนที่จะเป็นเธอ การเหมารวมและอคติเป็นส่วนหนึ่งที่มีอยู่จริงในชีวิตผู้หญิง และอคติทางเพศก็เป็นปัญหาจริงในวงการแพทย์

อีกตัวอย่างหนึ่งคือมิแรนดา หัวหน้าแผนกศัลยกรรมที่โรงพยาบาลของเธอ เธออยู่ในช่วงการแต่งงานครั้งที่สอง เพราะสามีคนแรกไม่สามารถเข้าใจข้อเรียกร้องทางการงานของเธอ (ซึ่งเป็นเรื่องซํ้าซากทั่วไปสำหรับผู้หญิงทำงาน) เธอไปโรงพยาบาลเพื่อขอตรวจอาการแบบไม่จำเพาะที่มักเป็นสัญญาณของอาการหัวใจล้มในผู้หญิง ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่แสดงออกไม่ชัดเจนเท่าในกรณีของผู้ชาย เช่น อาการเจ็บช่องท้องส่วนบน วิงเวียนศีรษะ หรืออ่อนเพลียผิดปกติ มิแรนดามั่นใจว่าเธอมีอาการหัวใจล้ม

แต่เมื่อผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงผิวสี แสดงความกังวลเรื่องสุขภาพและขอให้ตรวจสอบวินิจฉัย พวกเธอมีแนวโน้มสูงกว่าฝ่ายชายที่จะถูกผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพเพิกเฉย ไม่เชื่อ หรือกระทั่งหัวเราะเยาะจนไม่กล้าพูดอะไรอีก เลสลี เจมิสัน ผู้เขียนความเรียงเรื่อง “ทฤษฎีการรวมแรงครั้งใหญ่ของอาการเจ็บปวดของผู้หญิง” (Grand Unified Theory of Female Pain) บอกว่า อาการเจ็บปวดของผู้หญิงมัก“ถูกมองว่าคิดไปเอง หรือขยายให้ใหญ่โตเกินจริง” ดังนั้น อาการเจ็บป่วยของผู้หญิงจึงอาจถูกละเลย หรือได้รับการรักษาอย่างไม่แข็งขันเท่าที่ผู้ป่วยชายจะได้รับ

ทัศนคติเชิงเพิกเฉยนี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการรักษาความเจ็บป่วยของผู้หญิง แต่ยังกระทบถึงการวิจัยทางการแพทย์ ซึ่งจะนำไปสู่การรักษาในอนาคต ตามประวัติศาสตร์วิชาชีพแพทย์ (ซึ่งผู้ชายเป็นผู้ควบคุม) การทดลองทางคลินิกจะกระทำโดยใช้ผู้รับการทดลองเพศชาย เพราะถือว่าผู้ชายคือ “บรรทัดฐาน” และยึดการตอบสนองต่อยาใหม่ในผู้ชายเป็นตัวอย่างบ่งชี้ว่า ทั้งสองเพศจะตอบสนองอย่างไร ผู้หญิงในช่วงวัยเจริญพันธุ์จะถูกคัดออก “ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย”

ผู้หญิงโดยทั่วไปก็เช่นกัน ทั้งนี้เพื่อกำจัดความแตกต่างทางฮอร์โมนในฐานะปัจจัยหนึ่งในงานวิจัย เมื่อปี 1993 สถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐฯ เรียกร้องให้เพิ่มผู้หญิงในการทดลองทางคลินิกมากขึ้น ต่อมาในปี 2016 การวิเคราะห์โดยวารสารการแพทย์ฉบับหนึ่งพบว่า การทดลองทางคลินิกให้ผู้หญิงเข้าร่วมมากขึ้นแล้ว แต่จำนวนยังไม่มากพอที่จะถือเป็นตัวแทนของประชากรเพศหญิงได้ในทุกกรณี และยังพบว่าการวิจัยไม่ได้เกี่ยวข้องกับ “การวิเคราะห์แบบเจาะจงเพศในแง่ความปลอดภัยและประสิทธิผล”ของผลิตภัณฑ์เสมอไป

สุขภาพผู้หญิงเรายังต้องการงานวิจัยที่เจาะจงสำหรับเพศหญิงโดยเฉพาะ เพื่อช่วยระบุความแตกต่างทางชีววิทยา และความคลาดเคลื่อนในผลลัพธ์ทางสุขภาพระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย ผู้หญิงมีแนวโน้มสูงกว่าที่จะถูกวินิจฉัยว่าเป็นหรือมีชีวิตอยู่กับโรคเรื้อรัง และ/หรือโรคภูมิคุ้มกัน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบส่งผลให้สมรรถภาพบกพร่องและสูญเสียชีวิตในเพศหญิงสูงกว่า ในเพศชาย (แต่กลับมีการให้ทุนมากกว่ากับงานวิจัยที่เจาะจงศึกษาโรคนี้ในเพศชาย) ยาและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกวางตลาดโดยอวดอ้างว่าเป็นประโยชน์สำหรับผู้หญิง แต่บางอย่างกลับเป็นภัยต่อผู้หญิง ในความเป็นจริง ซึ่งบ่งชี้ว่าจำเป็นต้องมีการวิจัยและการทดสอบมากขึ้น โดยให้ผู้หญิงมีบทบาททั้งในฐานะผู้รับการทดลองและผู้ตัดสินใจ

ในการแสวงหาสุขภาวะ ผู้หญิงต้องต่อสู้กับตัวแปรอย่างหนึ่งที่ผู้ชายไม่ต้องทำ นั่นคือระบบสืบพันธุ์ที่ออกแบบมาเพื่อให้กำเนิดทายาท ไม่ว่าจะเคยให้กำเนิดบุตรหรือไม่ ผู้หญิงส่วนใหญ่เกิดมาพร้อมองค์ประกอบที่ออกแบบมาเพื่อให้มีลูกได้ในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต ซึ่งอาจเป็นพรเป็นภาระ เป็นเกมทางการเมือง หรือเป็นปัญหาทางสังคม ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่สุดท้ายแล้วถือเป็นปัญหาสุขภาพส่วนตัวที่สุดของผู้หญิง

แอริโซนาเป็นกุมารศัลยแพทย์ที่รักเด็ก และอยากมีลูกของตัวเองกับคู่ครองเพศเดียวกัน โชคดีที่ทางเลือกมีหลากหลายสำหรับทั้งสอง รวมทั้งหญิงโสด และคู่สามีภรรยาอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือในการตั้งครรภ์ ซึ่งรวมถึงการอุ้มบุญ การบริจาคเอ็มบริโอ การบริจาคไข่ และการบริจาคสเปิร์ม ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ระดับโลกที่มีมูลค่าสูงถึงราวสี่พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แอริโซนากับคู่ครองของเธอตัดสินใจใช้การบริจาคสเปิร์ม โดยใช้วิธีฉีดเชื้อเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง และเธอมีความสุขมากเมื่อการทดสอบการตั้งครรภ์ให้ผลเป็นบวก แต่โชคร้ายที่ไม่พบการเต้นของหัวใจในการตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ครั้งแรก

ภาวะมีบุตรยาก หรือการไม่สามารถตั้งครรภ์ หรือไม่สามารถผดุงครรภ์ไว้ได้ เกิดกับผู้หญิงอเมริกันวัย 15 ถึง 44 ปี (ราว 6.1 ล้านคน) ประมาณร้อยละสิบ ตามสถิติของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแต่ข่าวดีสำหรับผู้ประสบภาวะมีบุตรยากก็คือ ความบกพร่องส่วนใหญ่สามารถรักษาให้หายได้โดยใช้การบำบัดแบบดั้งเดิม เช่น การผ่าตัดหรือการใช้ยา (และมีเพียงร้อยละสามที่จำเป็นต้องอาศัยการทำเด็กหลอดแก้ว) เรียกว่ามีความหวังสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับหลายทศวรรษก่อน

แล้วผู้หญิงที่ยังไม่อยากมีลูกล่ะ หรือที่ไม่อยากมีลูกเลยคริสตินาเป็นสตรีมุทะลุผู้ประกาศตนว่า “ไม่มีลูกโดยสมัครใจ” แม้เมื่อแต่งงานแล้วกับชายที่เธอรักสุดหัวใจ และเขาอยากมีลูก เธอก็ยังซื่อสัตย์ต่อความต้องการของตัวเอง (ที่ต้องจ่ายด้วยชีวิตแต่งงาน) เธอเป็นหนึ่งในคลื่นผู้หญิงที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งด้วยเหตุผลอันหลากหลายเลือกที่จะไม่มีลูกโดยสมัครใจ อันเป็นการตัดสินใจที่สมเหตุสมผลพอ ๆ กับฝ่ายที่อยากมี แล้วก็มีกลุ่มที่ขอเลื่อนไปก่อน ซึ่งได้แก่ผู้หญิงที่อยากรอมีลูกหลังประสบความสำเร็จทางอาชีพ หรือเหตุผลอื่น ๆ

คำแนะนำของฉันที่จะให้กับพวกเธอก็คือ ให้ดูผู้หญิงทำงานรุ่นพี่ในปัจจุบันนี้ว่า พวกเธอต้องเจอกับอะไรบ้าง ผู้หญิงที่รอนานเกินไปจะตั้งครรภ์ได้ยากขึ้นมาก (และราคาก็แพงขึ้นมาก การทำเด็กหลอดแก้วมีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยราว 12,000ดอลลาร์สหรัฐ) แม้จะรํ่าเรียนด้านการแพทย์มา ตอนฉันดูสถิติของวัยที่ผู้หญิงจะตั้งครรภ์ ฉันยังคิดว่าตัวเองเป็นข้อยกเว้น ฉันน่าจะเหมือนผู้หญิงในสื่อต่าง ๆ หรือตัวละครในโทรทัศน์ที่ฉันเขียนบทให้มากกว่าพวกเธอตั้งครรภ์กันได้ทันทีไม่ว่าจะอายุเท่าไร ซึ่งปรากฏว่าไม่จริงเลย!

ภาพวาดผู้หญิงความจริงก็คือวัยที่มีลูกได้ง่ายที่สุดของผู้หญิงคือในช่วงวัย 20 ภาวะเจริญพันธุ์จะค่อย ๆ เสื่อมลงในช่วงวัย 30 เมื่อทั้งคุณภาพและจำนวนไข่ลดลง แต่ละรอบเดือนที่พยายามจะตั้งครรภ์ สตรีอายุ 30 ปีที่แข็งแรงและไม่เป็นหมัน จะมีโอกาสทำสำเร็จแค่ร้อยละ 20 พอถึงอายุ 40 ปี โอกาสในแต่ละรอบเดือนลดเหลือไม่ถึงร้อยละห้า

ด้วยเหตุนี้ฉันจึงสนับสนุนการเก็บรักษาภาวะเจริญพันธุ์ โดยการแช่แข็งไข่หรือเอ็มบริโอ เพื่อหลีกเลี่ยงการตัดสินใจ “เป็นแม่เพราะความตื่นตูม” เช่น ยอมเลือกอยู่กับความสัมพันธ์ที่ไม่ดีเพียงเพราะจะมีลูก

อิสซี แพทย์ประจำบ้าน ผู้อยู่ระหว่างการต่อสู้เพื่อเอาชนะมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมาระยะที่สี่ ย้ายไข่ของเธอไปเก็บรักษาไว้เพื่อใช้ผสมในอนาคตหากรอดชีวิตจากการรักษาได้ ขณะที่ผู้หญิงรายอื่น ๆ ใช้เทคโนโลยีนี้ในสถานการณ์ที่ไม่ร้ายแรงเท่า จริงอยู่ การแช่แข็งไข่และเอ็มบริโอเป็นกระบวนการที่มีค่าใช้จ่ายสูง และไม่รับประกันว่าจะได้ผล แต่ก็ยังเป็นทางเลือกหนึ่ง ถือเสียว่าเป็นการลงทุนเพื่อชีวิตในอนาคต!

เช่นเดียวกับการเป็นส่วนสำคัญที่สุดเมื่อมีชีวิตใหม่ลืมตาดูโลก ผู้หญิงเป็นผู้พิทักษ์และเสาหลักเมื่อชีวิตที่อยู่มายาวนานล่วงถึงบั้นปลาย ผู้หญิงมักอายุยืนกว่าผู้ชาย (ผู้หญิงวัย 85 ปีหรือมากกว่ามีจำนวนสูงกว่าฝ่ายชายในอัตราส่วนสองต่อหนึ่ง) พวกเธอจำนวนมากประสบปัญหาการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้นสองเท่า เพราะต้องดูแลทั้งเด็กและคนแก่ด้วย

เอลลิสเป็นศัลยแพทย์ผู้เคยได้รับรางวัลในอาชีพ มีแรงขับสูงและสติปัญญาเฉียบแหลม เธออยู่ในจุดสูงสุดทางอาชีพตอนที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะสมองเสื่อมเนื่องจากโรคอัลไซเมอร์ ชนิดเกิดเร็ว ซึ่งทำลายอาชีพของเธอ และทำให้เธอเสียชีวิตในท้ายที่สุด โรคอัลไซเมอร์มีผลกระทบต่อผู้หญิงในอัตราส่วนที่แตกต่างกันมากกับฝ่ายชายในสองระดับ เกือบสองในสามของผู้ใหญ่วัย 65 ปีหรือมากกว่าที่ป่วยด้วยโรคนี้เป็นผู้หญิงและในหมู่ชาวอเมริกันกว่า 16 ล้านคนที่ให้การดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์หรือภาวะสมองเสื่อมอื่น ๆ โดยไม่ได้รับค่าจ้าง ร้อยละ 66 เป็นผู้หญิง

เมื่อปี 2015 ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติตกลงจะพยายามให้การบริการทางสุขภาพพื้นฐานแก่เด็ก ผู้ชาย และผู้หญิงได้อย่างครบถ้วนทุกคนภายในปี 2030 ทุกวันนี้ เมื่อผู้คนหลายร้อยล้านคนยังไม่สามารถเข้าถึงหรือซื้อบริการทางสุขภาพได้ เราก็ยังอยู่ห่างไกลจากเป้าหมายที่ว่า แต่นั่นก็เป็นเป้าหมายที่ควรค่าแก่การต่อสู้เพื่อไปให้ถึง

เราแต่ละคนสามารถเริ่มได้ด้วยการสนับสนุนการเรียกร้องในสิ่งที่ผู้หญิงต้องมีเป็นการส่วนตัว รวมถึงสิ่งที่ครอบครัว ชุมชน และประเทศของเธอจำเป็นต้องมี เพื่อดำรงชีวิตที่สมบูรณ์ทั้งสุขภาพและสุขภาวะ

เรื่อง โซแอนน์ แคล็ก

ภาพประกอบ เบียงกา บักนาเรลลี

*เนื้อหาส่วนหนึ่งจาก นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมกราคม 2563


อ่านเพิ่มเติม ความเท่าเทียมทางเพศ : คำถามที่สังคมไทยต้องขบคิด

Recommend