เส้นทางคดเคี้ยวทอดยาวไปไกลสุดสายตา เบื้องหน้าคือผืนป่าที่โอบอุ้มด้วยเมฆฝนอันชุ่มชื้น เรากำลังเดินเท้าขึ้นสู่ดอยหลวงเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เทือกเขาหินปูนที่สูงที่สุดของประเทศไทย และยอดเขาสูงอันดับ 3 รองจากดอยอินทนนท์และดอยผ้าห่มปก
เมื่อ 2 ปีก่อน เกิดเหตุไฟป่าครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี ณ ดอยหลวงเชียงดาว สร้างความเสียหายให้ผืนป่าเกือบ 4,000 ไร่ ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตหลากชนิดพันธุ์เป็นวงกว้าง และสร้างความหวาดหวั่นให้เหล่านักอนุรักษ์ว่าอาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชพรรณอันเปราะบางบางชนิด
กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชจึงตัดสินใจปิดเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติดอยหลวงเชียงดาว ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวอย่างไม่ลังเล เป็นเวลานานกว่า 1 ปี ไม่ให้มนุษย์ขึ้นไปรบกวนการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ของธรรมชาติ และเพื่อเป็นการคุ้มครองแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต
โดยการเดินทางสู่ดอยหลวงเชียงดาวของเราในครั้งนี้ เป็นการติดตามเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และทีมภาคีเรารักดอยหลวงเชียงดาว มาสำรวจการฟื้นตัวของธรรมชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว 2 ปี หลังไฟป่าขนาดมโหฬารลุกลามไปทั่วพื้นที่ เมื่อการเดินทางสิ้นสุดลง เราก็ประจักษ์ชัดแก่ใจว่า
การเยียวยาและฟื้นฟูตัวเองของธรรมชาติ นั้นมหัศจรรย์กว่าที่มนุษย์คาดคิด
นัยนา เทศนา นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช อธิบายว่าดอยหลวงเชียงดาวเป็นภูเขาหินปูนทั้งลูก ดังนั้นผืนป่าจะเกิดขึ้นเฉพาะบริเวณที่มีความชื้นและความลึกของดินเพียงพอ จากการสะสมของหินที่ย่อยสลายและซากใบไม้ที่ทับถมกันมาเนิ่นนาน ค่อย ๆ ก่อเกิดเป็นป่าดิบเขาสูงและป่าละเมาะเขาสูง
ยอดดอยต่าง ๆ บริเวณนี้ล้วนปกคลุมด้วยทุ่งหญ้าเป็นหลัก ด้วยสภาพชั้นหินตื้นและลมกรรโชกแรง ต้นไม้ใหญ่จึงไม่สามารถเจริญเติบโตได้ พืชพรรณบริเวณยอดดอยจึงเป็นลักษณะไม้พุ่มขนาดเล็กที่มีความเฉพาะและเปราะบาง เนื่องจาก เนื่องจากมีพืชพรรณน้อยชนิดมากที่จะสามารถเติบโตขึ้นในสภาพเขาหินปูน
สภาพพรรณพืชดอยหลวงเชียงดาว คือพรรณไม้เขตอบอุ่นของหิมาลัยมาบรรจบกับพรรณไม้เขตร้อนของไทย เกิดเป็นสังคมพืชแบบทุ่งหญ้ากึ่งอัลไพน์ ทำให้เกิดพืชถิ่นเดียวของประเทศไทยหลากหลายชนิด ซึ่งบางชนิดพบเฉพาะบนดอยเชียงดาวเท่านั้น
มงคล สาฟูวงศ์ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว เล่าว่าด้วยภูมิประเทศอันเป็นเอกลักษณ์ พรรณพืชถิ่นเดียว และประวัติศาสตร์อันยาวนานในฐานะดอยศักดิ์สิทธิ์แห่งอาณาจักรล้านนา ดอยหลวงเชียงดาวจึงมีนักท่องเที่ยวมากมายหลั่งไหลกันมาเยี่ยมเยือนไม่ขาดสาย
40 ปีที่ผ่านมา ดอยเชียงดาวจึงถูกประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 300,000 ไร่ เพื่อประกาศอย่างชัดเจนว่าที่นี่คือพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ มีความเปราะบางเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่า และการท่องเที่ยวไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักของที่นี่ หากแต่เป็นการรักษาและสงวนไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ
แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ผู้คนยังมีโอกาสได้ศึกษาและเรียนรู้ทรัพยากรเมืองไทยที่หลงเหลืออยู่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวจึงเปิดเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติให้คนทั่วไปสามารถเข้ามาเรียนรู้ เข้าใจถึงความสำคัญของธรรมชาติได้ เป็นเวลา 4 เดือนต่อปี โดยอยู่ภายใต้ระเบียบกฎเกณฑ์อันเคร่งครัด
เพื่อให้รอยเท้าของมนุษย์ที่เหยียบย่ำไปในผืนป่า ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติน้อยที่สุด
มงคลอธิบายว่า เนื่องจากประกอบไปด้วยหินปูนและลานหินต่าง ๆ ดอยหลวงเชียงดาวจึงไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ด้านบนได้ เมื่อฝนตกลงมา พื้นที่จึงมีความชุ่มชื้นอยู่แค่ช่วงฤดูฝนเท่านั้น
อย่างไรก็ตามในอดีตที่มีการบันทึกไว้ ดอยหลวงเชียงดาวไม่มีประวัติของไฟป่าครั้งใหญ่มาก่อน จากการวัดปริมาณความชื้นของป่าดิบเขาโดยรอบดอย ก็พบในปริมาณสูง ครั้งใดที่มีไฟป่าลุกลามมาถึงดอยหลวงเชียงดาว ไฟจึงไม่ลุกลามต่อ
จนกระทั่ง พ.ศ. 2558 สถานการณ์ไฟป่าในหน้าแล้งก็เริ่มรุนแรงขึ้น ด้วยหลายสาเหตุ ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลให้อากาศในฤดูแล้งมีความแห้งแล้งขึ้น ทำให้ความชื้นสะสมในดินและซากใบไม้ทับถมลดต่ำลงเรื่อย ๆ กลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีสำหรับไฟ
เมื่อชาวบ้านเผาพื้นที่เกษตรกรรมหรือเผาป่าบางส่วนเพื่อหาของป่าในพื้นที่ด้านล่าง และควบคุมเพลิงไม่ได้ ไฟจึงลุกลามขึ้นมายังยอดดอยด้านบน เมื่อไร้ความชื้นเป็นเกราะกำบัง ไฟจึงโหมลุกลามอย่างรวดเร็วจากป่าสนขึ้นสู่ทุ่งหญ้าบนยอดดอย
ลมแรงที่โหมกระหน่ำ ทำให้แม้เจ้าหน้าที่และชาวบ้านจะร่วมมือกันสร้างแนวกันไฟอย่างแข็งขัน ในพื้นที่ ๆ เข้าถึงยาก แต่ไฟขนาดใหญ่ก็สามารถลุกลามข้ามแนวกันไฟไปได้ กลายเป็นเหตุการณ์ไฟป่าอันน่าสะพรึงใน พ.ศ. 2562 ที่ลุกลามพื้นที่ดอยหลวงเชียงดาวไปมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์
หนึ่งอาทิตย์หลังจากไฟสงบ เจ้าหน้าที่สถานีวิจัยและเขตรักษาพันธุ์สัตวป่า เข้าไปสำรวจความเสียหายพบว่าบริเวณทุ่งหญ้าโดยส่วนใหญ่ได้รับความเสียหายค่อนข้างรุนแรง ในขณะที่บริเวณป่าดิบเขาที่มีความชื้นสะสมมากกว่า มีการลุกไหม้แต่ไม่รุนแรงเท่า
จากการสำรวจ แม้มงคลและทีมเจ้าหน้าที่จะไม่เจอซากสัตว์ป่าขนาดใหญ่ถูกไฟคลอกตาย เนื่องจากพวกมันน่าจะหนีออกจากระยะไฟได้ทัน แต่พวกสัตว์เลื้อยคลานจำพวกจิ้งเหลน งู ซึ่งอาศัยอยู่ในทุ่งหญ้า รวมถึงนกชนิดต่าง ๆ ล้วนได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากรังของพวกมันบนพื้นดินถูกไฟไหม้จนหมด
ควันไฟป่าไม่ได้มีผลกระทบแค่กับมนุษย์เท่านั้น แต่มีผลกระทบต่อสุขภาพของสัตว์ สัตว์บางตัวไม่ได้ตายจากไฟป่าโดยตรง แต่มันอาจสำลักควันตาย หรือส่งผลระยะยาวต่อสุขภาพของพวกมัน ซากตอตะโกที่หลงเหลือจากไฟป่า ทิ้งไว้เพียงร่องรอยของแหล่งอาหารสัตว์ป่าที่ถูกทำลาย เมื่อไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ สุขภาพของพวกมันจึงไม่แข็งแรงและมีโอกาสสูงที่จะป่วยตายไปในที่สุด
ในส่วนของพืชพรรณ นัยนาและทีมนักวิจัยกลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ พบว่าแม้ทุ่งหญ้าจะโดนไหม้ไปจนหมด แต่พรรณไม้หายากที่พบบนดอยเชียงดาวส่วนใหญ่ อย่างต้นชมพูพิมพ์ใจหรือพืชถิ่นเดียวของไทยอย่างชมพูเชียงดาว ล้วนเป็นไม้พุ่ม ไม้ล้มลุกที่เป็นเหง้าใต้ดินและมีลำต้นเหนือดิน ดังนั้นแม้จะโดนไฟโหมกระหน่ำจนกิ่งก้านเหนือดินไหม้ไปจนหมด แต่เหง้าของพวกมันยังคนอยู่รอดอยู่ใต้ดิน
วัฏจักรชีวิตของพวกมันเป็นแบบนี้อยู่แล้ว คือออกดอกในฤดูฝน จากนั้นทิ้งใบและแห้งเหี่ยวไปในฤดูแล้ง โดยที่เหง้ายังคงฝังอยู่ใต้ดิน รอวันผลิบานเมื่อได้รับน้ำในฤดูฝนอีกครั้ง
หลังปิดเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติดอยหลวงเชียงดาว รวมถึงจำกัดจำนวนคนเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวอย่างเข้มข้นตลอดเวลามากกว่า 1 ปี ทีมของนัยนาและมงคล ได้เข้าไปสำรวจพื้นที่อีกครั้งช่วงฤดูฝนที่ 2 หลังจากไฟไหม้ครั้งใหญ่
พบว่าชนิดพันธุ์ไม้ที่เติบโตในซอกหิน ไฟไม่สามารถทำอะไรพวกมันได้เลย เพราะยังคงมีรากและเมล็ดพันธุ์ซ่อนอยู่ในซอกหินหรือใต้พื้นดิน ในขณะเดียวกันไม้พุ่มขนาดใหญ่อย่างกุหลาบชนิดต่าง ๆ ที่ยืนต้นตาย พบว่าบางส่วนยังคงแห้งเหี่ยวอยู่อย่างนั้น ในขณะที่บางส่วนแตกยอดเติบโตขึ้นเป็นต้นใหม่ที่ยังเล็ก คงต้องใช้เวลาอีกหลายปี กว่าพวกมันจะเติบโตเป็นพุ่มขนาดใหญ่ใกล้เคียงเดิม
ไม้พื้นล่างจำนวนมากต่างเจริญเติบโตงอกงาม มีการแตกหน่อใหม่ขึ้นมา แม้ปริมาณยังไม่มากเท่าช่วงปกติก่อนไฟไหม้ เพราะเหง้าบางส่วนอาจได้รับผลกระทบจากความร้อน ทำให้พวกเมล็ดต่าง ๆ โดนเผาไปบ้าง แต่นับเป็นสัญญาณที่ดีมากว่าธรรมชาติกำลังฟื้นฟูตัวเองอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของทุ่งหญ้า บริเวณพื้นที่ด้านบนใกล้ยอดดอยหลวงเชียงดาว เนื่องจากได้รับแสงได้รับแสงและความชื้นที่พอเหมาะ พวกมันจึงกลับมางอกงามปกคลุมพื้นที่ได้เร็ว แม้หญ้าจะเป็นเอเลียนสปีชีส์ที่เจริญเติบโตมาตั้งแต่มีการปลูกฝิ่นบนดอย แต่หญ้าบางชนิดอย่างหญ้ายูง ก็เป็นอาหารหลักของกวางผา ดังนั้นการกลับมางอกงามของพวกมันจึงเป็นประโยชน์ต่อสัตว์ป่า
มลคลกล่าวว่า ในภาพรวมการฟื้นตัวของธรรมชาติดอยหลวงเชียงดาวหลังไฟไหม้ครั้งใหญ่ นับเป็น 60-70 เปอร์เซ็นต์จากสภาพที่สมบูรณ์ การปิดเส้นทางศึกษาธรรมชาติไป 1 ปีเพื่อให้ธรรมชาติได้ฟื้นฟูตัวเอง ปราศจากการรบกวนของมนุษย์ คือปัจจัยที่สำคัญที่สุด เพราะไม่มีการเหยียบย่ำจากนักท่องเที่ยว เนื่องจากพืชที่ยังเป็นต้นอ่อน ไม้หน่อเล็ก ๆ มีภูมิต้านฐานต่อการเหยียบย่ำต่ำ หากเผชิญกับสิ่งแปลกปลอมอาจทำให้การฟื้นตัวชะงักยิ่งกว่าเดิม
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวเปิดเส้นทางศึกษาธรรมชาติดอยหลวงเชียงดาว ให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปศึกษาธรรมชาติอีกครั้ง พร้อมมาตรการที่เข้มข้นขึ้น ทั้งในเรื่องการจัดการขยะส่วนบุคคลและการสำรวจพื้นที่ป่าอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยอนุญาตให้นักท่องเที่ยวสามารถค้างคืนที่ลานกางเต้นท์ด้านบนได้เพียง 1 คืนเท่านั้น เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนธรรมชาติมากจนเกินไป
แต่เปิดได้เพียง 2 เดือนก็จำเป็นต้องปิดเส้นทางอีกครั้ง เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19
หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว วุฒิชัย โสมวิภาต ผู้มาสานต่องานของหัวหน้าประกาศิต ระวิวรรณ กล่าวว่าตอนนี้ทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและสถานีวิจัยสัตว์ป่า กำลังเร่งศึกษาถึงผลกระทบของการเปิดเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เพื่อประเมินว่า หลังวิกฤติโควิด-19 ผ่านพ้นไป เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ผู้คนจำนวนมากน่าจะต้องการเดินทางมาเรียนรู้ธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
ดังนั้นเพื่อให้การฟื้นตัวของผืนป่ายังคงเป็นไปไปอย่างแข็งแรง ทางเขตรักษาพันธุ์ควรจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว และลดระยะเวลาในการเปิดเส้นทางศึกษาธรรมชาติหรือไม่ และจะมีวิธีการอย่างไรในการรักษาสมดุลของการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ชุมชนโดยรอบ ในขณะที่งานอนุรักษ์ยังดำเนินไปอย่างเข้มข้นเช่นกัน
เราได้พูดคุยกับภาคีเรารักดอยหลวงเชียงดาว คณะทำงานภาคประชาชนที่เข้ามาช่วยเจ้าหน้าที่ทำงานปกป้องผืนป่าอย่างแข็งขัน ตั้งแต่การให้ความรู้และผลักดันให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบดอยเชียงดาว ทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ต้องเผาซากไร่ทุกปี อันก่อให้เกิดฝุ่นควัน ปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลุกลามเป็นไฟป่าได้
นอกจากนี้ภาคียังสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยให้ประกอบธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงยังทำงานร่วมกับคนภายนอก โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่สร้างผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติน้อยที่สุด
กระบวนการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ และสงวนไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพที่เกิดขึ้น ณ ดอยหลวงเชียงดาวนี้ นับเป็นการขับเคลื่อนด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง
เรื่อง มิ่งขวัญ รัตนคช
ภาพ ภาคีเรารักดอยหลวงเชียงดาว, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว และกลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : เจาะเบื้องลึกวิกฤติหมอกควัน