Net Free Seas ครั้งแรกของการรีไซเคิลซากอวนประมงจากท้องทะเลไทย

Net Free Seas โครงการที่ชวนชุมชนชายฝั่ง สร้างมูลค่าเศษอวนประมง ด้วยการทำงานกับโรงงานรีไซเคิล  เพื่อแก้ปัญหาอวนผีในทะเลไทยอย่างยั่งยืน

แดดเช้าส่องผิวน้ำเป็นประกาย เรือเคลื่อนตัวออกจากชายฝั่งมุ่งหน้าสู่อ่าวไทย รอบตัวฉันเต็มไปด้วยนักดำน้ำมืออาชีพ ทุกคนคืออาสาสมัครที่ตั้งใจมาทำภารกิจ Cleanup Dive ดำน้ำเพื่อกู้ซากอวนใต้ทะเลในวันนี้

แต่ละปี ขยะพลาสติกปนเปื้อนมากกว่า 12 ล้านตัน รั่วไหลลงสู่ท้องทะเล ประมาณการณ์ได้ว่าปัจจุบัน ทุก ๆ ตารางไมล์ของพื้นที่มหาสมุทรทั่วโลก มีขยะพลาสติกน้ำหนักมากกว่า 269,000 ตัน ไหลเวียนอยู่ มีการคาดการณ์ว่า หากเรายังไม่เร่งแก้ไขปัญหานี้อย่างเด็ดขาด อีกไม่กี่ทศวรรษในอนาคต มหาสมุทรจะมีปริมาณขยะมากกว่าสัตว์ทะเล

ขยะพลาสติกในมหาสมุทรเหล่านี้ 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นขยะที่เกิดจากกิจกรรมบนบกและรั่วไหลลงสู่ท้องทะเล จากการจัดการอย่างไม่ถูกต้อง และอีก 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นขยะที่มาจากกิจกรรมทางทะเล โดยเฉพาะการทำประมง

หลายปีที่ผ่านมา คนจำนวนมากตื่นตัวเรื่องขยะพลาสติก ภาครัฐเริ่มขยับตัวในการออกมาตรการ บริษัทเอกชนเริ่มตระหนักถึงความรับผิดชอบในฐานะผู้ผลิต ที่ต้องมีส่วนจัดการขยะจากผลิตภัณฑ์ของตนเอง รวมถึงต้องมองหาวัสดุที่ยั่งยืนขึ้นมาใช้ทดแทนพลาสติก

แม้จะยังไม่ใกล้ความสำเร็จในอุดมคติ แต่เราเห็นความพยายามที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในการจัดการขยะจากกิจกรรมบนบก

ในขณะเดียวกัน ขยะพลาสติกในมหาสมุทรอีก 20 เปอร์เซ็นต์ มาจากกิจกรรมทางทะเล ขยะจำพวกเศษแห อวน และเครื่องมือจับปลามากกว่า 640,000 ตันในแต่ละปี ที่ตกค้างอยู่ในท้องทะเล อาจฟังดูไกลตัว เพราะเราไม่ใช่คนใช้เครื่องมือโดยตรง แต่อย่าลืมว่าเราสัตว์ทะเลที่จับโดยอุปกรณ์เหล่านั้นไม่ใช่หรือ

เศษอวนเหล่านี้ กำลังเป็นภัยคุกคามระบบนิเวศทางทะเลอย่างร้ายแรง เต่าทะเล วาฬ โลมา และสัตว์ทะเลจำนวนมากเสียชีวิตจากการกินหรือถูกรัด ในขณะเดียวกันปะการังก็ไม่สามารถเติบโตได้ จากการถูกปกคลุมโดยเศษแหอวนเหล่านี้และตายในที่สุด

นี่คือเหตุผลที่ฉันมาอยู่บนเรือลำนี้ เพื่อทำความรู้จัก โครงการ Net Free Seas ที่ไม่เพียงทำงานร่วมกับนักดำน้ำอาสาสมัคร ในการกู้ซากเครื่องมือประมงที่ถูกทิ้งเท่านั้น

กุญแจสำคัญ คือการทำงานร่วมกับชุมชนชายฝั่งและชาวประมงพื้นบ้านทั่วประเทศ ในการแก้ปัญหานี้ตั้งแต่ต้นทาง ไม่ให้เกิดการทิ้งซากเครื่องมือประมงลงสู่ทะเลอีก โดยโครงการ Net Free Seas ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมชาวบ้านและโรงงานรีไซเคิล โดยสร้างความเข้าใจให้ชุมชนเห็นคุณค่าและมูลค่าในการส่งเศษแหอวนไปทำการรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ แทนที่จะทิ้งลงทะเลอย่างที่เคยเป็นมา

อวนผีที่หลอกหลอนท้องทะเล

“อวนผี หรือ Ghosting Fishing Net คือเครื่องมือประมงที่ถูกทิ้งหรือสูญหายอยู่ในทะเล ไม่ว่าจะโดยตั้งใจ เช่น จากการทำลายหลักฐานการทำประมงผิดกฎหมาย ซ่อมอวนกลางทะเลแล้วก็โยนทิ้งไปเลย หรือโดยอุบัติเหตุ เช่น จากสภาพอากาศ หรือเรือประมงตัดผ่านกันเองทำอวนเสียหาย” ศลิษา ไตรพิพิธสิริวัฒน์ ผู้ประสานงานโครงการ Net Free Seas โดย มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation) ด้วยการสนับสนุนจาก กองทุนสิ่งแวดล้อมผู้ค้าปลีกนอร์เวย์ (The Norwegian Retailer’s Environment Fund) อธิบายให้ฉันฟังก่อนเริ่ม Dive แรกของวัน

เครื่องมือประมงส่วนใหญ่ในอดีตทำจากเส้นใยธรรมชาติ ภูมิปัญหาเครื่องมือหาปลาของไทย ก็ทำจากไม้ไผ่ที่สานขึ้นรูปเสียเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเวลาผ่านไป อุตสาหกรรมขยายตัวจากความต้องการของผู้บริโภคที่มีมากขึ้น เครื่องมือประมงจึงเปลี่ยนรูปแบบ เพื่อให้สามารถจับสัตว์น้ำได้ปริมาณมากในคราวเดียว

อวนและเครื่องมือประมงสมัยใหม่ ผลิตจากพลาสติก ทำให้มีน้ำหนักเบา ทนทาน และราคาถูกจึงได้รับความนิยมและแพร่หลายกลายเป็นเครื่องมือหลักในการทำจับสัตว์น้ำของชาวประมงทั่วโลก

ศลิษาเล่าต่อว่า “ความน่ากังวลของอวนประมง คือมันถูกออกแบบมาเพื่อจับสัตว์น้ำ ฉะนั้นแม้สูญหายไปในทะเล แต่มันก็ยังจะทำหน้าที่เดิมอยู่ ข่าวเต่าติดอวน เพราะพยายามไปกินปลาที่ติดอยู่ในอวน ข่าวปะการังตาย เพราะอวนผื่นใหญ่ไปปกคลุมทำให้มันไม่โดนแสงแดด หรือข่าวพะยูนเสียชีวิตจากการกินอวน เพราะนึกว่าเป็นหญ้าทะเล ทั้งหมดนี้คือความเลวร้ายที่อวนผีสร้างต่อระบบนิเวศทางทะเล”

คุณสมบัติของอวนพลาสติกที่เป็นทั้งประโยชน์และโทษ คือยิ่งอยู่ในน้ำทะเล ยิ่งเหนียว มันจึงเป็นขยะในมหาสมุทรที่สร้างผลกระทบมากที่สุด เศษอวนสามารถล่องลอยไปได้ไกลหลายพันไมล์ และสามารถดำดิ่งลงสู่ก้นทะเลได้นับร้อย ๆ เมตร จึงยากที่จะไปตามเก็บมาได้หมด และอาจจะมีผลกระทบในจุดที่มนุษย์ยังไม่สามารถตามไปเก็บได้

“ผลกระทบอีกด้านที่สำคัญไม่แพ้กัน คือด้านเศรษฐกิจ เศษอวนทำลายระบบนิเวศซึ่งเป็นแหล่งอาหาร และรายได้ของกลุ่มคนที่ต้องพึ่งทะเลในการดำรงชีวิต จุดดำน้ำตรงไหนไม่สะอาด อวนไปพันเยอะ นักท่องเที่ยวก็ไม่ไป รายได้จากการท่องเที่ยวก็หดหาย

“เมื่อขยะพลาสติกลอยตัวอยู่ในน้ำ มันจะค่อย ๆ สลายตัวเปลี่ยนเป็นไมโครพลาสติก ซึ่งหมายถึงพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร จนถึงขนาดที่สายตามองไม่เห็น และแม้ขนาดจะเล็กลงและมันยังคงคุณสมบัติความเป็นพลาสติกอยู่ครบถ้วนทุกประการ เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าปลาจากท้องทะเลที่เรากินทุกวันนี้ พวกมันกลืนกินไมโครพลาสติกเข้าไปหรือเปล่า” 

แก้ปัญหาใหญ่ให้ครบวงจร

ในการดำน้ำลงไปกู้ซากอวนใต้ทะเล นักดำน้ำอาสาสมัครต้องแบ่งออกเป็นหลายทีม เพื่อให้สามารถเก็บกู้ซากอวนที่พันอยู่ตามปะการังบริเวณนั้นได้อย่างครบถ้วน อย่างไรก็ตามการทำงานใต้น้ำต้องเผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง ทั้งกระแสน้ำ การสื่อสารและการใช้เครื่องมือ

การทำงานเมื่อดำลงไปใต้น้ำ ผู้รับผิดชอบการตัดจะใช้กรรไกรค่อย ๆ เลาะซากอวนออกจากปะการังด้วยความระมัดระวังโดยไม่ไปแตะต้องส่วนอื่น ๆ นักดำน้ำที่รับหน้าที่ตัดจึงต้องมีความเชี่ยวชาญอย่างมาก เพราะต้องลอยตัวอยู่เหนือปะการังและใช้เครื่องมือไปพร้อม ๆ กัน ซากอวนที่ถูกตัดเลาะออกมาจะถูกรวบรวมไว้ในถุงตาข่าย และนำขึ้นสู่ผิวน้ำเมื่อจบแต่ละไดฟ์

ซากอวนบางชิ้นมีขนาดใหญ่หลายเมตร ปกคลุมและพันแน่นอยู่กับปะการังราวกับมันอยู่ตรงนั้นมานานนับสิบปีแล้ว ต้องอาศัยเรี่ยวแรงของนักดำน้ำหลายชีวิตในการช่วยกันตัดอย่างช้า ๆ และกอบกู้พวกมันขึ้นมา เมื่อสิ้นสุดการดำน้ำทั้ง 2 ไดฟ์ของวันนี้ เราก็มีซากอวนจำนวนมากกองเป็นเนินย่อม ๆ อยู่เต็มท้ายเรือ

“เราจะรู้ได้อย่างไรว่าในมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ มีซากอวนแบบนี้ปกคลุมอยู่มากแค่ไหน” ฉันถาม

ศลิษาอธิบายว่าตามสถิติเรือประมงไทย ของกรมประมงในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีเรือประมงอยู่ 56,858 ลำ แบ่งเป็นเรือประมงพื้นบ้าน 39,473 ลำ และเป็นเรือประมงพาณิชย์ 17,386 ลำ จากการสอบถามเจ้าหน้าที่และชาวประมง เธอข้อมูลว่า เรือประมงพาณิชย์ 1 ลำ ผลิตขยะจำพวกเศษอวน 30 – 50 กิโลกรัมต่อเดือน ส่วนประมงพื้นบ้านจะอยู่ที่ 10 – 25 กิโลกรัมต่อเดือน ต่อลำ และประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของเรือประมงทั้งหมดใช้แหอวนเป็นเครื่องมือ

“ดังนั้นถ้าเอาตัวเลขทั้งหมดมาคำนวณ อุตสาหกรรมประมงบ้านเราผลิตขยะจำพวกเศษอวนกว่า 700,000 กิโลกรัมต่อเดือน”

เมื่อเรือแล่นกลับเข้าสู่ชายฝั่ง นักดำน้ำอาสาสมัครต่างเปลี่ยนชุดมาช่วยกันคัดแยกและทำความสะอาดซากอวนที่เพิ่งเก็บกู้ขึ้นมาได้ ซึ่งมีปริมาณมากกว่า 100 กิโลกรัม เนื่องจากอวนผ่านการทำงานอย่างสมบุกสมบันและติดอยู่ใต้ทะเลมานาน จึงมักมีองค์ประกอบอื่น ๆ ฝังอยู่ในซากอวนด้วย ตั้งแต่ซากสัตว์ทะเล เศษปะการังไปจนถึงขี้เลน เพื่อให้อวนสะอาดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อส่งต่อไปยังกระบวนการต่อไป นั่นคือการนำไปรีไซเคิล

ตั้งแต่เริ่มดำน้ำเมื่อหลายปีก่อน ฉันเห็นการรวมกลุ่มกันของเหล่านักดำน้ำในการทำ Cleanup Dive อยู่เสมอ เพื่อเก็บกู้เศษอวนใต้น้ำและทำความสะอาดแนวปะการัง โดย Net Free Seas เป็นโครงการแรกในประเทศไทย ที่พยายามสร้างทางไปต่อให้อวนผีจากท้องทะเลเหล่านี้ด้วยการนำไปรีไซเคิล

Connecting the Dots

อย่างที่เล่าไปข้างต้น ว่าการทำงานกับนักดำน้ำอาสาสมัครเป็นแค่ส่วนหนึ่งของโครงการ Net Free Seas หัวใจที่สำคัญยิ่งกว่าในการแก้ปัญหาอวนผีคือ ต้องป้องกันไม่ให้เศษอวนหรือเครื่องมือทางทะเลตกลงไปในมหาสมุทรตั้งแต่ต้นทางที่ชาวประมงนั่นเอง

ปัญหาอวนผีส่วนหนึ่งเชื่อมโยงกับการประมงผิดกฎหมาย เนื่องจากเรือประมงเหล่านั้นมักใช้วิธีตัดอวนทิ้งทะเลเพื่อหลบหนีและหลีกเลี่ยงเจ้าหน้าที่ ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งมาจากกลไกทางราคาของขยะรีไซเคิล ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ในอดีตชาวบ้านสามารถขายอวนปูที่หมดสภาพการใช้งานให้ซาเล้ง ได้ในราคาเพียงกิโลกรัมละ 2 บาทเท่านั้น ในมุมของคนหาเช้ากินค่ำ มันจึงไม่คุ้มทุนเสียเลยในการพยายามขายอวน ที่ต้องลงแรงทำความสะอาดอีกต่างหาก

ดังนั้นกลยุทธของทีม Net Free Seas คือเชื่อมจุด โดยสร้างเครือข่ายให้คนที่มีเศษอวนจะขาย และคนที่เห็นคุณค่า สามารถสร้างมูลค่าจากการรีไซเคิลเศษอวนได้ ให้มาเจอกัน

ปีที่ผ่านมา โครงการ Net Free Seas จัดกิจกรรม Clean Up Dive มาแล้ว 3 ครั้ง นักดำน้ำอาสาสมัครช่วยกันกู้อวนผีขึ้นจากท้องทะเลได้ประมาณ 335 กิโลกรัม ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ทำงานร่วมกับชาวบ้าน ด้วยการไปรับซื้ออวนที่หมดอายุการใช้งานจากชุมชนประมง ทำให้สามารถป้องกันไม่ให้พวกมันถูกทิ้งลงทะเลและตามชายฝั่งได้ถึง 8 ตันเลยทีเดียว

“ต้นปีนี้ เราจะไปเก็บอวนจากชุมชนอีกครั้ง น่าจะได้เพิ่มอีกประมาณ 7-8 ตัน ส่วนทั้งปี 2564 เราคาดว่าจะเก็บเศษอวนได้กว่า 20 ตัน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ COVID- 19 ด้วย” ศลิษาเล่าถึงความคืบหน้าล่าสุดของโครงการ

“ตอนนี้เรามีชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ 47 ชุมชน ทั้งจากจังหวัดระยอง จันทบุรี นครศรีธรรมราช สงขลา สุราษฎร์ธานี และพังงา ความท้าทายหลักอยู่ที่การขนส่งอวนไปเข้ากระบวนการรีไซเคิล เนื่องจากชุมชนส่วนใหญ่ที่เราทำงานด้วยตั้งอยู่ค่อนข้างไหลจากโรงงานรีไซเคิลที่ร่วมโครงการ บางชุมชนอยู่บนเกาะที่ห่างไกล”

นอกเหนือจากความท้าทายเรื่องระยะทาง ศลิษาบอกว่าการลงพื้นที่ไปสร้างความตระหนักเรื่องปัญหาอวนผี และชวนชุมชนมาสร้างวงจรที่ถูกต้อง ในการจัดการเครื่องมือประมงหมดอายุของทีม Net Free Seas นั้นเต็มไปด้วยความน่าจดจำประทับใจ

“Net Free Seas ถูกออกแบบมาให้ชุมชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ เราให้สิทธิ์ชุมชนในการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเรื่องความถี่ของการไปรับอวน เพื่อให้ชุมชนมีเวลาพอจัดการทำความสะอาด จนถึงเรื่องผลตอบแทน ชุมชนสามารถออกความคิดเห็นได้อย่างอิสระ เราต่างเป็นพาร์ทเนอร์ที่ดีต่อกัน ช่วยกันคิด ช่วยกันต่อเติมและลงมือทำ ให้โครงการเติบโตแข็งแรงโดยที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์”

อวนไทยสู่การรีไซเคิล

ศลิษาเล่าย้อนกลับไปในอดีต เธอเคยคิดว่าการรีไซเคิลอวนประมงคงยากมากแน่ ๆ จึงไม่เคยเห็นใครพยายามรีไซเคิลพวกมันอย่างผลิตภัณฑ์อื่น ๆ แต่หลังจากได้มาทำโครงการ Net Free Seas อย่างจริงจัง เธอพบว่าวิธีการรีไซเคิลอวนประมง ไม่ได้ต่างจากการรีไซเคิลขยะประเภทอื่นสักเท่าไหร่

“ที่ต่างอาจจะเป็นขั้นตอนทำความสะอาดก่อนเข้าเครื่องบด เพราะอย่างที่เห็นว่านักดำน้ำต้องทำความสะอาดอวนผีอย่างหนัก หลักจากที่เก็บพวกมันขึ้นมาจากใต้ทะเล แต่พอทำความสะอาดเสร็จ อวนก็จะถูกบด และนำเข้ากระบวนการแปลงเป็นเม็ดพลาสติก ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สามารถนำไปเข้าเครื่องฉีด ฉีดออกมาเป็นชิ้นงานอะไรก็ได้

“ตอนนี้เราทำงานกับโรงงานรีไซเคิลสองแห่ง และอีกแห่งกำลังอยู่ในขั้นตอนเจรจาความร่วมมือ หนึ่งในนั้นคือ Qualy ดีไซน์แบรนด์ไทยที่นำเศษอวนของโครงการ Net Free Seas ไปรีไซเคิลเป็นวัสดุผลิตสินค้า Lifestyle เช่น ที่รองแก้ว ที่กดสบู่ และมีสินค้าที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันตัวจาก COVID- 19 ด้วย สินค้าเหล่านี้ส่งออกไปยัง ญี่ปุ่น ไต้หวัน ยุโรป และหลายประเทศในยุโรป ส่วนในไทยหาซื้อได้ทั่วไปบนแพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์ ร้าน Ecotopia ห้างสรรพสินค้า Siam Discovery และที่ร้านค้าชั้นนำทั่วไป”

ศลิษาบอกว่า ในอนาคตระยะยาวประเด็นการทำประมงจะถูกถกเถียงกันต่อไปว่า วัสดุในการทำแหอวนควรเป็นพลาสติกต่อไปไหม หรือมนุษย์ควรเปลี่ยนวิธีจับสัตว์น้ำไปเลย แต่ในระยะสั้น ควรมีการตกกันว่าทำอย่างไร อวนจึงจะสามารถนำมารีไซเคิลได้ง่ายขึ้น

“ในปัจจุบันแหอวนในบ้านเรายังทำมาจากพลาสติกหลากหลายรูปแบบ จากโพลีเอทิลีน (PE) บ้าง โพลีโพรพีลีน (PP) บ้าง หรือไม่ก็ ไนลอน (Nylon) แต่กระบวนการรีไซเคิลนั้น เราไม่สามารถเอาพลาสติกต่างชนิดมาปนกันได้ เนื่องจากผลลัพธ์ที่ได้จะไม่มีคุณภาพ

“ดังนั้นหากผู้ผลิตสามารถผลิตแหอวนโดยใช้พลาสติกชนิดเดียวกันแต่แรก การนำแหอวนมากำจัดด้วยวิธีการรีไซเคิลก็จะง่ายขึ้น และนี่เป้าหมายต่อไปของโครงการ Net Free Seas คือการผลักดันให้มีการออกแบบแหอวนที่ง่ายต่อการรีไซเคิล รวมถึงการติดเครื่องหมายเครื่องมือประมง หรือ Gear Marking เพื่อที่เราได้จะรู้ว่า อวนมาจากที่ไหน ใครผลิต ทำมาจากวัสดุอะไร มาจากเรือลำไหน เป็นการสร้างความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิตในปัญหานี้”

หนทางสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน

ศลิษาอธิบายว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องอวนผี แยกออกไม่ได้จากการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในภาพใหญ่ และคำว่าทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ไม่ได้พูดแค่ให้ดูสวยหรูแต่มันคือสิ่งที่จำเป็นจริง ๆ

“เราจำเป็นต้องมีความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ หากเราอยากลดจำนวนถุงพลาสติก ก็ต้องดูว่าภาคส่วนไหนต้องทำบ้าง”

ภาครัฐอาจต้องออกมาตรการแบนการใช้ถุงพลาสติก หรือเก็บภาษีถุงพลาสติกให้คนใช้น้อยลง ผลิตน้อยลง หรือออกมาตรการกำจัดขยะ การแยกขยะที่เคร่งครัดเพื่อให้กระบวนการรีไซเคิลเกิดขึ้นได้สะดวกขึ้น

ในส่วนของผู้ผลิตและนักวิชาการ อาจต้องมองหานวัตกรรมอื่น ๆ ว่านอกจากพลาสติกแล้ว อะไรสามารถมาเป็นวัตถุดิบแทนได้ วัสดุที่ย่อยสลายง่าย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแต่ก็ยังสามารถใช้งานได้จริง หรือแม้กระทั่งออกแบบเทคโนโลยีกำจัดขยะ

ส่วนภาคประชาสังคม นอกจากเริ่มต้นการลด ละ เลิกการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง ทุกคนสามารถช่วยกันอุดช่องโหว่ หรือเรียกร้องในสิ่งที่ยังไม่ได้รับการพูดถึง ถ้าทำแบบนี้กับถุงพลาสติกได้ กับขยะพลาสติกจำพวกอื่น เช่น อวนประมง ก็คงไม่ต่างกันมาก แต่ที่สำคัญคือ ความร่วมมือและความใส่ใจ

“ในอนาคต เรามีแผนว่าจะขยายพื้นที่ทำงาน ไม่ใช่เพียงในประเทศไทย แต่ในต่างประเทศที่มีปัญหาเรื่องขยะจากเครื่องมือประมงไม่แพ้ประเทศไทย อย่างประเทศกาน่าและอินโดนีเซีย รวมไปถึงขยายการทำงานกับโรงงานรีไซเคิล ผู้ผลิต นักวิจัย และนักออกแบบที่เชี่ยวชาญเรื่องพลาสติกให้มากขึ้น เพื่อที่เศษอวนจะได้ถูกกำจัด หรือนำมาใช้ใหม่อย่างยั่งยืนที่สุด

“การค้นคว้าหาวัตถุดิบอื่นมาทดทน หรือการค้นหาวิธีการทำประมงใหม่ ๆ เป็นโจทย์ที่เราต้องร่วมกันคิดต่อสำหรับอนาคต สุดท้ายจะหยิบวิธีไหนมาก็ได้ แต่ก่อนนำมาปรับใช้ ต้องมองอย่างรอบเนว่ามันเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน สมเหตุสมผลในเชิงบริบท ที่คำนึงถึงบุคคลที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งในที่นี้คือ ชาวประมง ผู้ผลิตแหอวน และที่สำคัญ คำนึงถึงผลกระทบหรือประโยชน์ที่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะได้รับ อย่างแท้จริงแล้วหรือยัง” เธอกล่าวทิ้งท้าย

เรื่อง มิ่งขวัญ รัตนคช

ภาพ มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation)


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : ขยะพลาสติก ภัยคุกคามใหม่แห่งท้องทะเล

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.