ทะเลน้ำแข็งฤดูร้อนของอาร์กติกอาจละลายหมดในปี 2035 (ดังช่วงหลังยุคน้ำแข็ง)

ในช่วงเวลาไม่ถึง 20 ปีต่อจากนี้ ทะเลน้ำแข็งของอาร์กติกในซีกโลกเหนืออาจกลายเป็นเพียงอดีต

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2020 จำนวนน้ำแข็งที่ปกคลุมมหาสมุทรอาร์กติกมีปริมาณน้อยกว่าเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นับตั้งแต่นักวิทยาศาสตร์เริ่มติดตามน้ำแข็งในปี 1979 อันเป็นก้าวย่างไปสู่การทำล้ายล้างและเปลี่ยนโฉมหน้าโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือ ฤดูร้อนที่ไร้แผ่นน้ำแข็งของมหาสมุทรอาร์กติก

ในแต่ละปี แผ่นน้ำแข็งทะเลอาร์กติกจะขยายเนื่องจากผิวน้ำจะถูกแช่แข็งในระหว่างฤดูหนาวอันยาวนานและมืดมน ในเดือนมีนาคม ซึ่งมักจะมีจำนวนแผ่นน้ำแข็งสูงสุด แผ่นน้ำแข็งจะมีพื้นที่เท่ากับมหาสมุทรอาร์กติก หรือเกือบ 16 ล้านตารางกิโลเมตร น้ำแข็งจะละลายในช่วงฤดูร้อน จนถึงช่วงเวลาที่มีน้ำแข็งน้อยที่สุดในเดือนกันยายน ในเดือนกรกฎาคมช่วงทศวรรษ 1980 มีแผ่นน้ำแข็งครอบคลุมพื้นที่กว่า 9,800,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีขนาดเทียบได้กับประเทศสหรัฐอเมริกาหรือแคนาดาเลยทีเดียว

แต่ในเดือนกรกฎาคม 2020 ทะเลน้ำแข็งครอบคลุมพื้นที่เพียง 7,200,000 ตารางกิโลเมตร นับตั้งแต่ปี 1979 เป็นต้นมา ทะเลน้ำแข็งอาร์กติกลดลงเฉลี่ย ราว 70,000 ตารางกิโลเมตรต่อปี และไม่ได้เพิ่มขนาดอีกเลย

งานศึกษาที่เผยแพร่ในนิตยสาร Nature Climate Change ได้สนับสนุนการคาดการณ์ว่า ฤดูร้อนในทะเลที่อยู่เหนือสุดของโลกกำลังจะสูญเสียพื้นที่น้ำแข็งทั้งหมดภายในปี 2035

อาทิตย์ขึ้นในยามเช้าอันนิ่งสงบที่อาร์กติก

“สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่เรารู้ (พื้นที่น้ำแข็งละลาย) กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ขณะนี้เรารู้ว่าเราต้องเตรียมพร้อมรับมือกับมัน [อาจจะเร็วกว่าที่เราคิด]” มาเรีย วิกตอเรีย กัวริโน ผู้เขียนหลักงานศึกษาและนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศแห่งคณะสำรวจทวีปแอนตาร์ติกาของสหราชอาณาจักร (British Antarctic Survey) กล่าว

จุดศูนย์กลางแห่งความอบอุ่น

ทวีปอาร์กติกกำลังร้อนขึ้นมากกว่าสองเท่าอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับพื้นที่ส่วนอื่นๆ บนโลก อันหมายถึงอุณหภูมิโดยเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นประมาณ 2 ถึง 3 องศาเซลเซียส นับตั้งช่วงก่อนอุตสาหกรรม หรือ 1 องศาเซลเซลเซียสในทุกยุคของโลก การเปลี่ยนแปลงนี้กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก 0.75 องศาเซลเซียสในทศวรรษที่ผ่านมา

ผลกระทบจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลต่อวิถีชีวิตของคนในภูมิภาคอาร์กติก พื้นที่น้ำแข็งบนบก (Land fast ice) ซึ่งเคยปกป้องแนวชาวฝั่งจากคลื่นและพายุกำลังหายไปในหลายพื้นที่ของทวีปอาร์กติก การหายไปของมันเร่งให้เกิดการกัดชายฝั่งอย่างรวดเร็ว ทำให้ชุมขนที่อยู่ในบริเวณนั้นตกอยู่ในภาวะอันตราย เช่นหมู่บ้าน Shishmaref ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะแห่งหนึ่งในทะเลชุกชี (Chukchi Sea) ในรัสเซีย กำลังเผชิญปัญหาใหญ่จากน้ำทะเลที่สูงขึ้น แผ่นน้ำแข็งที่ปกป้องชายฝั่ง (Protective sea ice) และชั้นดินเยือกแข็งคงตัว (Permafrost) ที่กำลังละลายส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานของหมู่บ้านอยู่ในภาวะที่ไม่มั่นคง

คำถามใหญ่สำหรับนักวิทยาศาสตร์หลายคนคือ “น้ำแข็งทะเลในหน้าร้อนจะหายไปทั้งหมดเมื่อใด และการหายไปของมันจะส่งผลสะเทือนโลกอย่างไร”

นอกชายฝั่งทางเหนือของเกาะแบฟฟิน ดวงอาทิตย์เดือนมิถุนายนพลิกโฉมผืนหิมะและน้ำแข็งให้กลายเป็นแอ่งน้ำสีเทอคอยส์กระจ่างใส พื้นที่น้ำแข็งทะเลที่คงอยู่ตลอดปีของอาร์กติก ซึ่งเป็นน้ำแข็งที่รอดจากฤดูน้ำแข็งละลายในหน้าร้อน กำลังหดตัวลงอย่างฮวบฮาบ

ทะเลอาร์กติกมีอิทธิพลต่อภูมิอากาศและสภาพอากาศเสียยิ่งกว่าบริเวณอาร์กติก น้ำแข็งอันขาวสว่างของมันสะท้อนความร้อนจากดวงอาทิตย์กลับไปยังชั้นบรรยากาศและทำหน้าที่ป้องกันผืนน้ำมหาสมุทรที่อยู่ข้างใต้ ความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างพื้นที่อาร์กติกอันเหน็บหนาว พื้นที่เส้นทรอปิกเขตร้อน เป็นตัวขับเคลื่อนลมและกระแสน้ำ มหาสมุทร และมีอิทธิพลต่อสภาพอากาศทั่วโลก

เพื่อที่จะทำนายอนาคตของอาร์กติก นักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจสอบข้อมูลเปรียบเทียบจากอดีต กัวริโน และเพื่อนร่วมทีมของเธอได้พุ่งความสนใจไปที่ช่วงเวลาหนึ่งเป็นพิเศษ

เมื่อ 130,000 ปีก่อน เมื่อโลกเริ่มออกจากยุคน้ำแข็ง ก็เข้าสู่ช่วงอบอุ่นระหว่างยุคน้ำแข็ง (Interglacial Period) ซึ่งอุ่นกว่าช่วงเวลาที่เราอยู่ในทุกวันนี้ วัฏจักรยุคน้ำแข็ง (the ice age cycles) ผลักดันการเปลี่ยนแปลงวงโคจรของโลกและการเอียงของแกนโลก และในช่วงเวลานั้น ซีกโลกเหนือได้เอียงเข้าหาดวงอาทิตย์โดยตรง ซึ่งทำให้ความร้อนจากดวงอาทิตย์มาถึงพื้นผิวของพื้นที่เส้นละติจูดทางเหนือ

อุณหภูมิความร้อนระหว่างช่วงสุดท้ายของช่วงอบอุ่นระหว่างยุคน้ำแข็ง (Last Interglacial Period) นั้นรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยอุณหภูมิเฉลี่ยของของอาร์กติกอยู่ระหว่าง 4 ถึง 5 องศาเซลเซียส ซึ่งมากกว่าช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม และระดับน้ำทะเลมีความสูงมากกว่า 5.5 เมตร

โลกของอัลบอต ลูคัสเซน กำลังละลายหายไป เมื่อครั้งที่ชายชาวอินนูอิตวัย 64 ปีผู้นี้ยังหนุ่ม เขานั่งเลื่อนเทียมสุนัขไปล่าสัตว์บนอุมมันนักฟยอร์ดที่จับตัวเป็นน้ำแข็งริมชายฝั่งตะวันตกของกรีนแลนด์ได้จนถึงเดือนมิถุนายน ในภาพ เขาอยู่ที่นั่นในเดือนเมษายน

ในขณะนี้ สำนักงานอุตุนิยมวิทยาศูนย์ฮัดเลย์ของสหราชอาณาจักรได้พัฒนาแบบจำลองในภาวะที่ทะเลอาร์กติกได้สูญเสียน้ำแข็ง โดยส่วนสำคัญที่พวกเขาได้ปรับลงในแบบจำลองคือการใส่แหล่งน้ำแวววาวเล็กๆ ที่อยู่บนพื้นยอดของน้ำแข็งที่เกิดจากความร้อนของดวงอาทิตย์ที่หลอมละลายพวกมัน

แหล่งน้ำดังกล่าวนั้นดูดซับความร้อนจากดวงอาทิตย์ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้แหล่งน้ำบนน้ำแข็งก่อตัวขึ้น มันก็จะเป็นตัวเร่งการละลายของน้ำแข็ง มีการสังเกตการณ์แหล่งน้ำในช่วงนี้เนื่องจากมันเป็นปัจจัยในการเร่งการละลายแผ่นน้ำแข็งบนบกทั้งในกรีนแลนด์และแอนตาร์กติกา โดยกัวริโนและทีมงานของเธอกล่าวว่า อาร์กติกในช่วงสุดท้ายของช่วงอบอุ่นระหว่างยุคน้ำแข็ง ก็เกิดเหตุการณ์แบบนี้เช่นเดียวกัน

ความสามารถของแบบจำลองที่แสดงให้เห็นภาพเช่นเดียวกับในยุคช่วงสุดท้ายของช่วงอบอุ่นระหว่างยุคน้ำแข็นนั้น ชี้ให้เห็นว่าเหตุการณ์นี้อาจเกิดขึ้นในอนาคตอีกครั้ง ซึ่งมันได้คาดการณ์ว่าทะเลน้ำแข็งอาร์กติกจะหายไปทั้งหมดในปี 2035 ซึ่งนี่ถือเป็นการคาดการณ์ที่รวดเร็วกว่าการคาดการณ์อื่นๆ ที่เคยมีมาก แต่ทว่าเมื่อพิจารณาจากการสูญเสียน้ำแข็งที่กำลังเกิดขึ้น เหตุการณ์นี้อาจเกิดขึ้นได้จริง

จากนี้ แม้จะมีมาตรการที่จริงจังเพียงใด ก็ไม่สามารถเปลี่ยนภาวะหรือจุดที่น้ำแข็งหน้าร้อนอาร์กติกจะต้องหลอมละลายไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีเหตุผลที่เราจะหยุดความพยายามในการแก้ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน เพียงแต่ในตอนนี้เราต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าวไปตามความเป็นจริง

เรื่อง ALEJANDRA BORUNDA


อ่านเพิ่มเติม แผ่นน้ำแข็งของกรีนแลนด์กำลังละลายเร็วขึ้นถึงสี่เท่า – และส่งผลร้ายต่อโลก

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.