เสียงจากลำน้ำโขง ในวันที่สายน้ำและชีวิต ถูกเขื่อนใหญ่พรากไปอย่างไม่มีวันหวนคืน

แม่น้ำโขง เส้นเลือดใหญ่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้าสู่ภาวะวิกฤติ จากการกักน้ำของเขื่อนประเทศต้น ระดับน้ำลดต่ำจนแห้งขอด พรากวิถีชีวิตและระบบนิเวศจากไปไม่มีวันหวนคืน

แม่โขง คือสายน้ำที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 10 และเป็นหนึ่งในแม่น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดสายหนึ่งของโลก 1 ใน 4 ของชนิดพันธุ์สิ่งมีชีวิตน้ำจืดถูกค้นพบได้ที่นี่

กำเนิดจากเทือกเขาในทิเบต ผ่านจีน เมียนมา ไทย ลาว กัมพูชา และไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ที่เวียดนาม แม่น้ำโขงมีความยาวทั้งสิ้นเกือบ 5,000 กิโลเมตร ตลอดแม่น้ำประธานและแม่น้ำสาขาที่แตกแขนงออกไปอีกมากมาย ผู้คนกว่า 60 ล้านชีวิตหาเลี้ยงชีพจากการประมงและทำไร่นา

ปัจจุบัน แม่น้ำโขง เส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงอารยธรรมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานับพันปีกำลังเหือดแห้ง การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่และระเบิดทำลายแก่งแม่น้ำอย่างบ้าคลั่ง ขวางกั้นสายน้ำจากการไหลเวียนตามปกติ สร้างผลกระทบเรื้อรังทั้งด้านระบบนิเวศ เศรษฐกิจ วัฒนธรรมไปจนถึงสังคม

แม่น้ำโขงจากผาตากเสื้อ จังหวัดหนองคาย บริเวณท้ายเขื่อนไซยะบุรี น้ำแห้งจนเห็นดอนทรายยาว และน้ำโขงสีครามจากภาวะไร้ตะกอน
ภาพถ่ายโดย กรรณิการ์ วงษ์ศิริ/Mekong Voice เสียงจากลำน้ำโขง

เราชวนคุณไปพูดคุยกับ ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัย มหาสารคาม ผู้ทำงานอนุรักษ์แม่น้ำโขงมานานนับสิบปี และก่อตั้ง ‘Mekong Voice เสียงจากลำน้ำโขง’ เครือข่ายข่าวชาวบ้านที่สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้น ผ่านมุมมองของคนในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจริง ซึ่งแน่นอนว่าจะตกทอดไปยังคนรุ่นหลังตลอดกาล หากเรายังไม่ลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อหยุดภัยคุกคามนี้

เริ่มต้นที่การพัฒนาเศรษฐกิจ

ดร.ไชยณรงค์เล่าย้อนกลับไปในศตวรรษ 1980 หลังจากที่ปัญหาชายแดนระหว่างจีนกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าและลาวยุติลง จีนได้วางแผนโครงการ Lancang-Mekong Economic Belt ขึ้น โดยจะมีการสร้างเขื่อนชุดกั้นเม่น้ำโขงตอนบนหรือที่เรียกกันว่าแม่น้ำล้านช้าง เพื่อเป็นแหล่งผลิตพลังงาน

ประเทศจีนเริ่มต้นสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงครั้งแรกเมื่อปี 1990 แต่บริเวณแม่น้ำสายหลักยังคงปราศจากการรบกวน ส่วนหนึ่งมาจากความร่วมมือของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงหรือ Mekong River Commission (MRC) ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของสี่ประเทศคือลาว กัมพูชา ไทย และเวียดนาม ในปี 1995

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ Greater Mekong Subregion (GMS) ก็ถูกตั้งขึ้นในปี 1992 โดยสมาชิก 6 ประเทศ คือลาว กัมพูชา ไทย เวียดนาม พม่า และจีน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อขับเคลื่อนภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยมุ่งไปที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและพลังงานเป็นหลัก

เขื่อน Xiaowan ที่มีความสูงราว 291 เมตร ซึ่งสร้างเสร็จในปี 2010 เป็นแหล่งพลังงานให้กับบรรดาเมืองและอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตบริเวณชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศจีน การสร้างเขื่อนนี้ทำให้ชาวบ้านกว่า 38,000 คน ต้องอพยพ
ภาพถ่ายโดย DAVID GUTTENFELDER, AP/NAT GEO IMAGE COLLECTION

“ประเทศจีนมองว่าแม่น้ำล้านช้างเป็นเพียงสาขาหนึ่งของแม่น้ำโขง ดังนั้นในการสร้างเขื่อนใด ๆ ก็ตาม จึงไม่ต้องทำการตกลงกับประเทศอื่น เนื่องจากถือว่าเป็นแม่น้ำที่ไหลผ่านแค่ประเทศตนเองประเทศเดียว ทั้งที่จริงแล้วแม่น้ำล้านช้างคือต้นน้ำที่สำคัญที่สุดของแม่น้ำโขง”

เมื่อ 10 ปีที่แล้ว การก่อสร้างเขื่อนเริ่มขยับขยายจากแม่น้ำสาขามาสู่แม่น้ำโขงสายหลัก โดยเฉพาะในประเทศลาว ที่อนุญาตให้ทุนข้ามชาติเข้าไปสร้างเขื่อนจำนวนมหาศาลทั้งในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา

ดร.ไชยณรงค์อธิบายว่า วิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงในขณะนี้มาจากการสร้างเขื่อน 3 กลุ่มด้วยกัน

กราฟิกแสดงตำแหน่งที่ตั้งของเขื่อนในแม่น้ำโขง ส่วนหนึ่งของสารคดี “สยบมหานทีนามแม่น้ำโขง” ตีพิมพ์ในนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ภาษาไทย ฉบับเดือนพฤษภาคม 2558
ศิลปกรรมโดย ไรอัน มอร์ริส

กลุ่มแรกคือเขื่อนในประเทศจีน 11 แห่ง ซึ่งกั้นแม่น้ำโขงตอนบน และจีนเองก็มีทิศทางจะสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ

กลุ่มที่สอง เขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง โดยเขื่อนที่มีผลกระทบรุนแรงที่สุดตอนนี้ คือเขื่อนไซยะบุรีบริเวณใต้เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว ซึ่งทุนไทยไปลงทุนสร้างทั้งที่ MRC เคยเสนอให้ชะลอการก่อสร้างออกไปอีก 10 ปี แต่ไม่ได้รับการรับฟัง ตอนนี้ที่เขื่อนสร้างเสร็จ จะเห็นว่ากระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเขื่อนแห่งนี้ ส่วนใหญ่ขายกลับมายังประเทศไทย

และกลุ่มที่สาม เขื่อนกั้นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงเกือบร้อยแห่งทั้งในลาว ไทย และเวียดนาม อย่างเขื่อนปากมูล ซึ่งเกิดผลกระทบมากมาย นำมาซึ่งความเดือดร้อนอาจเยียวยาได้ของชาวบ้าน รวมถึงชนิดพันธุ์ปลาระหว่างแม่น้ำมูลและโขงที่สูญหายไป ทุกวันนี้ชาวบ้านจึงต้องกินปลานิลแทนปลาน้ำจืดธรรมชาติ

ภาพถ่ายทางอากาศที่ถ่ายเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2019 แสดงให้เห็นถึงแม่น้ำโขงในจุดที่ห่างจากเขื่อนไซยะบุรีในประเทศลาวประมาณ 297 กิโลเมตร กระแสน้ำร่องสายน้ำที่แห้งขอดที่มาจากเขื่อนก่อให้เกิดการต่อต้านอย่างรุนแรงจากบรรดานักอนุรักษ์และชาวบ้านที่พึ่งพาความหลากหลายของระบบนิเวศเพื่อผลิตอาหารและดำรงวิถีชีวิต
ภาพถ่ายโดย SUCHIWA PANYA, AFP/GETTY IMAGES

ผลกระทบจากวิกฤตลำน้ำโขง

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์น่าสะเทือนใจในแม่น้ำโขงอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่โครงการระเบิดเกาะแก่งแม่น้ำโขง เพื่อให้เรือเชิงพานิชย์ขนาดใหญ่ สามารถแล่นผ่านแม่น้ำโขง เพื่อเป็นทางระบายสินค้าไปสู่ทะเลจีนใต้

ระดับน้ำในแม่น้ำลดต่ำที่สุดในรอบร้อยปี ทำให้หลายส่วนของพื้นที่น้ำโขงกลายเป็นหาดทรายและพื้นดินแตกระแหง กระทบต่อไปยังลำน้ำสาขาที่แห้งขอด จนแทบไม่น่าเชื่อว่า บริเวณนี้เคยเป็นสายน้ำแห่งชีวิตมาก่อน

ปริมาณน้ำน้อยนิดส่งผลให้กระแสน้ำหยุดนิ่งไม่ไหลเชี่ยวอย่างที่ควรจะเป็น เกิดการตกตะกอนจนสีของแม่น้ำที่เปลี่ยนจากสีน้ำตาลเข้มเป็นสีฟ้าสว่างเนื่องจากระดับน้ำที่ตื้นและขาดแคลนตะกอนที่พัดมากับแม่น้ำ นักท่องเที่ยวจำนวนมากหลั่งไหลกันมาชมและเข้าใจว่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่งดงาม ทั้งที่จริงแล้วนี่คือสัญญาณอันตรายของการพังทลายของระบบนิเวศแม่น้ำโขง

นอกจากนั้นยังคาดการณ์ว่าเขื่อนจะไปลดปริมาณตะกอนที่ไหลมากับน้ำ ทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ และส่งผลต่อภาคเกษตรได้ ภัยแล้งในปีที่แล้วได้ส่งผลให้ทั้งชาวนาและชาวประมงในพื้นที่ปลายน้ำเห็นการลดลงของระดับน้ำจนเห็นสันดอนทรายไปตลอดแนวแม่น้ำ

ภาวะไร้ตะกอนส่งผลกระทบต่อปริมาณปลาในแม่น้ำโขง ชาวประมงอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ประสบปัญหาในการยังชีพเนื่องจากทำมาหากินด้วยการประมง
ภาพถ่ายโดย Holl Ptong/Mekong Voice เสียงจากลำน้ำโขง

เมื่อน้ำขาดแคลนตกตะกอน แพลงตอนและพืชน้ำก็ตาย ส่งผลให้ปลาน้ำโขงไม่มีอาหารและตาย ถึงปัจจุบัน พบว่าปลาน้ำโขงเดิมมีอยู่นับพันชนิด เริ่มสูญพันธุ์หายากกว่ากว่าร้อยชนิด

เขื่อนทั้ง 11 แห่งในประเทศจีนและเขื่อนไซยะบุรีเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้า ดังนั้นน้ำจะถูกปล่อยออกมาตามจังหวะของการผลิตกระแสไฟฟ้า ถ้าไม่มีการต้องการไฟฟ้า น้ำก็ถูกกักไว้ ในตอนนี้ที่เขื่อนเหล่านี้กั้นน้ำมากกว่า 12 ล้านล้านแกลลอน นับเป็นปัจจัยขัดขวางการไหลของน้ำไปยังพื้นที่เบื้องล่างอย่างรุนแรง

“จุดที่ชาวไทยได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือแถบจังหวัดเชียงรายจากเขื่อนจิ่งหง ซึ่งเป็นเขื่อนตอนล่างสุดของจีน และแถบอีสานแถบพรมแดนไทย-ลาว จากเขื่อนไซยะบุรี” ดร.ไชยณรงค์อธิบาย

ทั้งชาวประมงและชาวนาในภาคเหนือของประเทศไทยต้องจัดการกับความผันผวนของกระแสน้ำอย่างรุนแรงเนื่องจากเขื่อนเหล่านี้เป็นผู้กำหนดในการกักเก็บหรือปล่อยน้ำ นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของน้ำอย่างรวดเร็วมักกวาดเอาพืช สัตว์ อุปกรณ์และขัดขวางเศรษฐกิจในพื้นที่ชนบท

เด็ก ๆ บ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย เรียนรู้วิกฤตแม่น้ำโขงด้วยการวัดตะกอนในน้ำโขงสีคราม จากภาวะไร้ตะกอน
ภาพโดย ผู้ช่วยดาว/Mekong Voice เสียงจากลำน้ำโขง

ระบบนิเวศที่ล่มสลาย

ธรรมชาติของระดับน้ำในแม่น้ำโขง ปกติจะสูงขึ้นในฤดูฝนและลดต่ำลงในฤดูแล้ง การสร้างเขื่อนทำให้น้ำอยู่ในระดับกลาง ๆ หรือลดต่ำลงแล้วแต่การควบคุมของเขื่อนต้นน้ำ ระบบนิเวศของแม่น้ำโขงนั้นไม่ได้มีเพียงแม่น้ำหลักสายเดียว แต่รวมถึงพื้นที่ชุ่มน้ำโดยรอบที่ขอบแม่น้ำด้วย

ดังนั้นหากระดับน้ำโขงไม่ขึ้นสูงอย่างเคยในฤดูฝน สิ่งมีชีวิตในพื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านั้นก็จะถูกตัดออกจากระบบนิเวศ ในขณะเดียวกันสันดอนแม่น้ำโขงก็เป็นแหล่งหากินและวางไข่ของนกสำคัญหลายชนิด หากระดับน้ำไม่ลดต่ำลงเพียงพอ นกที่เกิดใหม่จะตายหมดและในไม่ถึงสิบปี นกเหล่านั้นจะสูญพันธุ์

การสร้างเขื่อนส่งผลกระทบต่อประชากรสัตว์น้ำ ทำหน้าดินสึกกร่อน เปลี่ยนทิศทางการไหลตามธรรมชาติของน้ำ ทั้งนี้เป็นเพราะเขื่อนไปขวางกั้นการอพยพของปลาจากถิ่นที่เกิดไปยังถิ่นหากิน รวมถึงไม่สามารถขึ้นไปวางไข่ตามฤดูกาลได้ และเขื่อนยังเปลี่ยนแนวทางการไหลของน้ำที่ไหลอยู่เช่นนั้นมานานนับพันปี

สัตว์น้ำขาดน้ำและเสียชีวิต จากระดับน้ำที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ด้วยการควบคุมของเขื่อนต้นน้ำ ตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย
ภาพถ่ายโดย ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ

เดิมปลาในแม่น้ำโขงปรับตัวให้เข้ากับระบบการไหลของแม่น้ำ หากปลาชนิดนั้น ๆ ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับแนวการไหลใหม่ พวกมันจะล้มตายและอาจถึงขั้นสูญพันธุ์ไปในที่สุด

แม่น้ำแห่งนี้เป็นบ้านของปลานับพันสายพันธุ์ สายน้ำที่ไหลในช่วงฤดูน้ำหลากก่อให้เกิดแหล่งที่อยู่อาศัยสมบูรณ์แบบของบรรดาปลาและนกน้ำ และพัดพาตะกอนที่สำคัญไปตามพื้นที่เกษตรกรรมตามแม่น้ำ แต่การไหลของแม่น้ำตามธรรมชาติดังกล่าวกำลังถูกขัดขวาง

สถานการณ์ล่าสุดที่เครือข่าย ‘เสียงจากลำน้ำโขง’ รายงานคือปรากฏการณ์ระดับน้ำโขงท้ายเขื่อนไซยะบุรีแห้งขอด จนทำให้ไกหรือเทา ซึ่งเป็นชนิดสาหร่ายในแม่น้ำโขงแห้งตายเป็นบริเวณกว้าง สาหร่ายเหล่านี้คือที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ เป็นที่วางไข่และเป็นที่อนุบาลสัตว์น้ำ นี่คือหายนะต่อระบบนิเวศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ระดับน้ำโขงท้ายเขื่อนไซยะบุรี เขื่อนไทยสัญชาติลาว ลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ไก อาหารและแหล่งวางไข่ของสัตว์น้ำแห้งตาย
ภาพโดย ชาญชัย ตาจันทร์ Mekong Voice เสียงจากลำน้ำโขง

หนทางแก้ไขก่อนสายน้ำไม่ไหลกลับคืน

“การเป็นประเทศเล็กกว่า อำนาจต่อรองไม่มี ไม่มีรัฐบาลประเทศไหน กล้าที่จะต่อรองกับจีน กัมพูชารับผลกระทบหนักที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็รับความช่วยเหลือจากจีนในหลาย ๆ ด้าน หรือลาว การพัฒนา การลงทุนต่าง ๆ ล้วนเป็นนักลงทุนจีน ตอนที่ผมเรียกร้องให้รัฐบาลไทยต่อรองกับจีน ก็เกือบ 20 ปีมาแล้ว ก็ไม่มีแม้แต่ครั้งเดียวที่จะต่อรองเรื่องแม่น้ำโขงกับจีน”

ดร.ไชยณรงค์บอธิบายว่า สัปดาห์ก่อน MRC ส่งจดหมายเตือนประเทศจีนเรื่องการปล่อยน้ำจากเขื่อนจิ่งหงมายังลุ่มน้ำโขงตอนล่าง นับว่าเป็นข้อดีที่ในที่สุดก็เห็นว่ารัฐบาลของสมาชิก MRC ทั้ง 4 ประเทศ กล้าคุยเรื่องนี้กับจีนได้เสียที จะต่อรองสำเร็จหรือไม่คงต้องดูกันต่อไป

“การสร้างเขื่อนคือธุรกิจของอุตสาหกรรมพลังงาน ธุรกิจกลุ่มนี้ไม่ได้ตระหนักถึงหายนะที่เกิดกับแม่น้ำโขงที่เป็นมรดกของคน 60 ล้านคน สังคมต้องผลักดันให้รัฐบังคับให้การทำธุรกิจของกลุ่มนี้ต้องยึดหลักธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (Business and Human Rights)

“รัฐบาลลุ่มน้ำโขงตอนล่างต้องเรียกร้องต่อจีนให้หยุดเห็นแก่ตัว การใช้งานเขื่อนต้องตระหนักถึงคนท้ายน้ำ ตัวอย่างคือการที่รัฐบาลลุ่มน้ำโขงตอนล่างในนามของ MRC เรียกร้องต่อจีนในขณะนี้ เป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่ก็ยังไม่เพียงพอ รัฐบาลลุ่มน้ำโขงตอนล่างต้องส่งเสียงและวิพากษ์วิจารณ์จีนให้มากกว่านี้ ไม่ใช่ร่วมมือกับจีนในด้านธุรกิจหรือรับความช่วยเหลือโดยไม่สนใจแม่น้ำโขงและคนในประเทศของตนที่ต้องแบกรับภาระ

วิถีชีวิตของผู้คนกว่า 60 ล้านคนตลอดฝั่งแม่น้ำโขง ที่ดำเนินตามการขึ้นลงของกระแสน้ำและความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ
ภาพถ่ายโดย ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ

“ในขณะเดียวกัน รัฐบาลลุ่มน้ำโขงตอนล่างโดยเฉพาะไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ต้องมีมาตรการบังคับให้ทุนไทยที่เป็นเจ้าของเขื่อนไซยะบุรีแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงบริเวณท้ายเขื่อน รวมทั้งหยุดผลักดันโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงโดยทันที ทบทวนโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่นำสาขาและโครงการผันน้ำต่าง ๆ ในลุ่มน้ำโขงด้วย”

ในฐานะคนทั่วไป เราสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลง สนับสนุนชาวบ้าน ภาคประชาสังคมและนักวิชาการ ที่กำลังต่อสู้เพื่อปกป้องแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาของแม่น้ำสายนี้ได้อย่างไรบ้าง

“สังคมควรมีความคิดกับเขื่อนใหม่ เขื่อนไม่ใช่การพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่มีเขื่อนไหนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และงานศึกษาเขื่อนทั่วโลกของคณะกรรมาธิการเขื่อนโลก (World Commission on Dams) ก็ชี้ให้เห็นแล้วเขื่อนได้ไม่คุ้มเสีย

“หลายปีมานี้ ในยุโรป อเมริกา หรือแม้แต่ญี่ปุ่นเริ่มทยอยรื้อเขื่อนหรือยกเลิกการใช้เขื่อน ในอนาคตเมื่อเขื่อนเริ่มหมดอายุ เขื่อนจะยิ่งอันตรายเพราะต้นทุนในการบำรุงรักษาให้เขื่อนปลอดภัย จะสูงมากจนอาจรับภาระไม่ไหว

ระบบนิเวศลุ่มน้ำโขง ไม่ได้มีเพียงแม่น้ำเท่านั้น แต่รวมถึงระบบนิเวศชายฝั่งที่เชื่อมโยงถึงกันเป็นโครงข่ายสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่
ภาพถ่ายโดย ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ

“ในวันนี้ การปกป้องแม่น้ำโขงอาจไม่สำเร็จ แต่วันข้างหน้า ถ้าไม่รุ่นเราก็รุ่นลูกรุ่นหลานเรา หลีกไม่พ้นที่จะต้องมีการรื้อเขื่อนหรือยกเลิกการใช้เขื่อน ถ้ารอจนถึงอนาคตในวันที่สายน้ำไม่ไหลกลับคืนแล้วจะสายเกินไป เพราะไม่หลงเหลือชีวิตใด ๆ ให้ฟื้นคืน”

เรื่อง มิ่งขวัญ รัตนคช

ภาพ ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ และ Mekong Voice เสียงจากลำน้ำโขง


ข้อมูลอ้างอิง


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : เขื่อนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังผุดขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.