เขื่อนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังผุดขึ้นอย่างรวดเร็ว

เขื่อนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังผุดขึ้นอย่างรวดเร็ว

เขื่อนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังผุดขึ้นอย่างรวดเร็ว

คืนหนึ่งในเดือนกรกฎาคม ที่หมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ นาม Sdao ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่เซกอง ทางตอนเหนือของกัมพูชา ชายคนหนึ่งขับมอเตอร์ไซค์มาพร้อมกับเครื่องขยายเสียง “อพยพเร็ว” เขาประกาศกับชาวบ้านจำนวนร้อยคนที่อาศัยอยู่ที่นี่ “น้ำกำลังมา”

เขื่อนดินที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างในลาว เหนือขึ้นไปจากหมู่บ้านชาวประมงราว 250 กิโลเมตร ได้พังถล่มลงจากพายุฝน ส่งผลให้มวลน้ำปริมาณมหาศาลกำลังพุ่งตรงมายังพวกเขา บรรดาชาวบ้านได้รับแจ้งว่าน้ำจากเขื่อนอาจเข้าท่วมถึงจังหวัดสตึงแตรง ซึ่งเป็นจังหวัดหลักของภาคเหนือในกัมพูชา จุดดังกล่าวคือบริเวณที่แม่น้ำเซกองไหลเข้ารวมกับแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลัก

Ey Bun Thea ชาวประมงและเกษตรกรวัย 24 ปี ไม่เคยทราบเลยว่าไกลออกไปจากแม่น้ำที่เขาใช้จับปลาอยู่ทุกวันนั้นจะมีเขื่อนตั้งอยู่ สิ่งเดียวที่เขารู้ในตอนนั้นคือต้องหนีเอาชีวิตรอดให้เร็วที่สุด เขาคว้าเอาข้าวสาร, ผ้าห่ม, มุ้ง และเงินติดตัว จากนั้นจึงปล่อยสัตว์ที่เลี้ยงไว้ให้เป็นอิสระ ก่อนจะพาภรรยาและลูกวิ่งหายเข้าสู่ความมืดเพื่อมองหาพื้นที่สูง “มันน่ากลัวมาก” เขาเล่า “เราไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้น”

หลังการอพยพ Thea พบว่าน้ำมาเยือนบ้านเขาจริงที่ระดับความลึก 1 เมตร แต่ไม่นานน้ำก็ลดลง และไม่กี่วันต่อมาครอบครัวนี้ก็เดินทางกลับมาอาศัยอยู่ในบ้านดังเดิม หลังไปพักอาศัยอยู่กับญาติที่อีกหมู่บ้านหนึ่ง สัตว์ที่เลี้ยงไว้ยังคงปลอดภัยดี แม้ว่าผักที่ปลูกไว้จะเสียหายทั้งหมด

เขื่อนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พ่อแม่รีบอุ้มลูกหนีน้ำที่กำลังเข้าท่วมจากเหตุเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยพังถล่ม ในจังหวัดอัตตะปือ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2018
ภาพถ่ายโดย Soe Zeya

เขื่อนดินที่พังถล่มลงเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างในจังหวัดอัตตะปือ ประเทศลาว ผลของภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกินพื้นที่เป็นวงกว้าง หลายหมู่บ้านถูกน้ำท่วมอย่างสาหัส มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 39 คน สูญหายกว่า 100 คน และชาวลาวอีกหลายพันคนต้องกลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย

ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทำให้ความทะเยอทะยานของลาว หนึ่งในประเทศที่มีฐานะยากจนที่สุดของภูมิภาคนี้ถูกเพ่งเล็ง ในความพยายามที่จะเปลี่ยนประเทศของตนให้เป็นแหล่งพลังงานของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยการสร้างเขื่อนพลังงานน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และขายพลังงานไฟฟ้าให้แก่บรรดาประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อปีที่ผ่านมา ลาวเปิดใช้งานโรงไฟฟ้าแล้ว 46 แห่ง และอีก 54 แห่งกำลังอยู่ระหว่างการวางแผน หรือดำเนินการก่อสร้าง

ทว่าเหตุเขื่อนพังถล่มที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคมยิ่งทำให้ประเด็นนี้ถูกจับตามองมากขึ้นให้ทบทวนเปลี่ยนการลงทุนมหาศาลที่จะสร้างเขื่อนพลังงานน้ำไปเป็นพลังงานทดแทนอื่นๆ แทน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลลาวประกาศระงับการอนุมัติเขื่อนที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ตามคำแนะนำจากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ด้านประเทศไทยเองกำลังพิจารณาว่าจะซื้อพลังงานไฟฟ้าจากลาวดีหรือไม่ เนื่องจากการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ

Zeb Hogan นักชีววิทยาประมง จากมหาวิทยาลัยเนวาดา ผู้ทำงานวิจัยในภูมิภาคนี้มานาน 20 ปี ระบุว่าตัวเขาสนับสนุนอย่างเต็มที่ให้พัฒนาพลังงานสะอาด “หากความล้มเหลวของการก่อสร้างเขื่อนครั้งนี้นำไปสู่การออกแบบเขื่อนที่ดีขึ้น การดำเนินงานที่เป็นระบบ ตลอดจนทางเลือกอื่นๆ อย่างพลังงานแสงอาทิตย์ ผลกระทบในระยะยาวที่จะมีต่อการประมงและความหลากหลายทางชีวภาพก็จะน้อยลงตามไปด้วย” เขากล่าว “นั่นหมายความว่าแม่น้ำโขงจะยังคงหล่อเลี้ยงคนรุ่นหลังไปได้อีกหลายชั่วคน เช่นเดียวกับที่เป็นตลอดมา”

 

แรงดึงดูดของพลังงานน้ำ

การขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่งผลให้พลังงานน้ำกลายมาเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ในลาวสื่อประชาสัมพันธ์ระบุว่าเขื่อนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเป็นหนทางแก้ปัญหาความยากจน ทว่าผู้เชี่ยวชาญชี้หากมีเขื่อนที่ไม่ได้มาตรฐานดังเช่นเหตุที่เกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม ไม่เกินหนึ่งปีจะมีเขื่อนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างของลาวพังถล่มลงมาอีก เนื่องจากพายุฝน ท่ามกลางคำเตือนจากนักวิทยาศาสตร์ที่ว่าสภาพภูมิอากาศกำลังรุนแรงสุดขั้วขึ้นเรื่อยๆ จากภาวะโลกร้อน

ด้านนักสิ่งแวดล้อมเองเตือนถึงความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ซึ่งสิ่งนี้ไม่ได้ถูกพิจารณารวมเป็นปัจจัยในการสร้างเขื่อน เป็นที่รู้กันดีว่าการสร้างเขื่อนจะส่งผลกระทบต่อประชากรสัตว์น้ำ, ทำหน้าดินสึกกร่อน, เปลี่ยนทิศทางการไหลตามธรรมชาติของน้ำ ตลอดจนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแม่น้ำโขงตอนล่าง

“โศกนาฏกรรมครั้งนี้ทำให้ผู้คนมุ่งความสนใจไปที่ความปลอดภัยของชาวบ้านตาดำๆ ทั้งยังเปิดโอกาสให้เกิดการถกเถียงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรารู้กันอยู่แล้วว่ามันจะเกิดขึ้น” Maureen Harris ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออก องค์การแม่น้ำนานาชาติกล่าว

 

ความลับที่ปิดไว้

แม่น้ำโขงมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาในทิเบต สายน้ำไหลผ่านจีน, เมียนมา, ไทย, ลาว, กัมพูชา และเวียดนามก่อนลงสู่ทะเลจีนใต้ แม่น้ำสายนี้คือบ้านของการทำประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุด ประชาชนราว 60 ล้านคนมีรายได้จากการทำประมง ทั้งยังเป็นสายน้ำหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต 25% ของน้ำจืดทั่วโลกมาจากแม่น้ำโขง ยังมีรวมถึงบรรดาไร่นาที่เพาะปลูกขึ้นตามแนวแม่น้ำ และแม่น้ำสาขาที่แตกแขนงออกไปอีกมากมาย

จีนเริ่มต้นสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงเมื่อปี 1990 แต่บริเวณแม่น้ำสายหลักยังคงปราศจากการรบกวน ส่วนหนึ่งมาจากความร่วมมือของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของสี่ชาติ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1995

ความต้องการพลังงานน้ำและรายได้จากการลงทุน ส่งผลให้ประเทศไม่ติดทะเลอย่างลาวประกาศเมื่อทศวรรษก่อนว่า ตนจะเตรียมสร้าง 9 แห่งขึ้นในแม่น้ำโขง และอีกราวสิบแห่งในแม่น้ำสาขา ด้านกัมพูชาและเวียดนามเองก็เปิดตัวโครงการสร้างเขื่อนของตัวเองเช่นกัน

เขื่อนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กราฟิกแสดงตำแหน่งที่ตั้งของเขื่อนในแม่น้ำโขง ส่วนหนึ่งของสารคดี “สยบมหานทีนามแม่น้ำโขง” ตีพิมพ์ในนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ภาษาไทย ฉบับเดือนพฤษภาคม 2558
ศิลปกรรมโดย ไรอัน มอร์ริส

เมื่อบรรดาเขื่อนเล็กเขื่อนน้อยสิ้นสุดการก่อสร้างและเปิดใช้งาน ผลที่ได้คือลาวส่งออกพลังงานไฟฟ้าเป็นมูลค่าถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2017 ส่วนเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือเตรียมเริ่มจ่ายไฟในปี 2019 นี้

มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายว่าโครงการสร้างเขื่อนของลาวเต็มไปด้วยความลับ บรรดานักสำรวจอิสระและสื่อสารมวลชนเองไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเยื่ยมชมเขื่อน นอกจากนั้นยังมีข่าวลือเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นในสัญญาการก่อสร้าง ด้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของลาวเองเพิ่งจะออกมาพูด หลังถูกกดดันอย่างหนักกรณีเขื่อนแตก ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาระบุว่าสาเหตุของภัยพิบัติเกิดจากพายุฝนตามธรรมชาติ

 

ขวางกั้นทางน้ำไหล

รายงานด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากนักพัฒนาเขื่อนในลาวให้ข้อมูลที่น้อยกว่าความเป็นจริง ด้านนักวิจัยอิสระเองระบุว่ารายงานดังกล่าวไม่ได้รวมผลกระทบข้ามพรมแดน ทั้งยังเตือนว่าการสร้างเขื่อนเพิ่มอาจคร่าชีวิตของบรรดาประชากรปลาได้

ทั้งนี้เป็นเพราะเขื่อนไปขวางกั้นการอพยพของปลาจากถิ่นที่เกิดไปยังถิ่นหากิน และเขื่อนยังเปลี่ยนแนวทางการไหลของน้ำที่ไหลอยู่เช่นนั้นมานานนับพันปี “เดิมปลาในแม่น้ำโขงปรับตัวให้เข้ากับระบบการไหลของแม่น้ำ” Peng Bun Ngor นักนิเวศวิทยาด้านสัตว์น้ำ จากสำนักงานประมงกัมพูชากล่าว “หากปลาชนิดนั้นๆ ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับแนวการไหลใหม่ พวกมันจะล้มตาย”

ผลการศึกษาจากคณะกรรมาธิการแม่โขงเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าการสร้างเขื่อนจะส่งผลให้ปริมาณสัตว์น้ำคงเหลือลดลงถึง 40% นอกจากนั้นยังคาดการณ์ว่าเขื่อนจะไปลดปริมาณตะกอนที่ไหลมากับน้ำถึง 97% ทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ และส่งผลต่อภาคเกษตรได้

“ในการศึกษาต่อมาแสดงให้เห็นอีกว่าเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมมากเพียงใด ปัญหาเหล่านี้ถูกละเลย เมื่อเขื่อนพลังงานน้ำถูกอวยเกินจริง” Hogan กล่าว

เขื่อนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ณ หมู่บ้านบ้านคอกใหญ่ สมาชิกครอบครัวล้อมวงทานข้าวเย็นในแสงเทียน หมู่บ้านแห่งนี้จะถูกน้ำท่วมจนหมดในอนาคต เมื่อเขื่อนไซยะบุรีสร้างเสร็จ
ภาพถ่ายโดย David Guttenfelder

 

ผลประโยชน์ระยะสั้น

อย่างไรก็ดีเขื่อนกลับเพิ่มจำนวนปลาให้แก่ชาวประมงในช่วงสั้นๆ บางส่วนจากงานวิจัยของ Hogan ในชื่อ “Wonders of the Mekong” รวบรวมข้อมูลจากแม่น้ำเสสาน แม่น้ำสาขาหนึ่งของแม่น้ำโขงที่มีจุดเริ่มต้นในเวียดนาม ก่อนจะไหลเข้าสู่กัมพูชา

เมื่อปีที่ผ่านมามีเขื่อนแห่งใหม่บนแม่น้ำเสสานไม่ไกลจากจังหวัดสตึงแตรงเริ่มต้นเปิดใช้งาน โครงการนี้ส่งผลให้ชาวบ้านจำนวน 5,000 คนต้องย้ายออกจากถิ่นอาศัยเดิม ท่ามกลางข้อโต้แย้งด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมานานหลายปี ทว่าชาวประมงกลับบอกว่าพวกเขาจับปลาได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน

ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นเหนือเขื่อน “แค่เอาแหหย่อนลงไปห้านาทีก็ได้ปลามาเพียบ” Keo Lut ชาวประมงวัย 73 ปี เล่าให้ฟังพร้อมระบุว่าปลาที่จับได้ตัวใหญ่อ้วนพี ด้านนักวิจัยเองไม่ประหลาดใจที่พบปลามากขึ้นในแหล่งน้ำเดิมอันซบเซา ส่วนบริเวณทางใต้ของเขื่อน ชาวประมงเองก็เล่าว่าพวกเขาจับปลาได้มากขึ้นเช่นกัน “ผมมีความสุขมาก” Sing Sathan วัย 64 ปี กล่าวพร้อมรอยยิ้ม

แต่พวกเขาจะทราบไหมว่าปลาเหล่านี้ไม่ได้อยู่ตลอดไป…”ที่มีปลามากขนาดนั้นก็เพราะปลามันไปไหนไม่ได้ ไม่สามารถอพยพไปตามวงจรชีวิตของมัน” Hogan กล่าว “ปลาบางสายพันธุ์อาจปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่เพราะเขื่อนได้ แต่บางสายพันธุ์ก็ไม่”

เรื่อง Stefan Lovgren

ภาพ David Guttenfelder

 

อ่านเพิ่มเติม

ข้อเท็จจริงที่ต้องรู้กรณีเขื่อนลาวแตก

Recommend