พี่ฉัตร-ทิพย์อุสา แสงสว่าง เป็นชาวเกาะลิบง จังหวัดตรัง มาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ ภาพจำในวัยเด็กที่เด่นชัดมาจนถึงปัจจุบัน คือความเหนียวแน่นของชุมชนมุสลิมบนเกาะ ที่อยู่กันแบบพี่น้องถ้อยทีถ้อยอาศัยมาช้านาน และความอุดสมบูรณ์ของบ้านเกิดกลางทะเลอันดามันแห่งนี้
“ตอนเด็ก ๆ ทั้งเกาะมีเรือยนต์เล็ก ๆ อยู่ลำเดียวที่วิ่งไปกลับระหว่างเกาะลิบงกับท่าเรือกันตัง ที่ฝั่งแผ่นดินใหญ่ ใครจะขนน้ำแข็ง หยูกยาหรืออาหารอะไรจากในเมืองมาที่เกาะ ต้องไปให้ทันเรือขนาดยี่สิบที่นั่งลำนี้ที่วิ่งรอบเดียวเท่านั้น ถ้าตกเรือแล้วก็พลาดเลย ต้องรอวันต่อไป
“ท้องทะเลรอบเกาะอุดมสมบูรณ์มาก มีแนวหญ้าทะเลเขียวชอุ่มสุดสายตาเต็มไปหมด เดินลุยน้ำไปตอนเช้า ๆ จะพบสัตว์ทะเลตัวเล็กหลายสิบชนิดบ้างแหวกว่าย บ้างซ่อนตัวอยู่ในแนวหญ้า ส่วนสัตว์ใหญ่อย่างพะยูน คิดว่าน่าจะมีเกินสามร้อยตัว เห็นแทบทุกวัน แต่ด้วยความที่ตอนนั้นมันไม่ใช่สัตว์ทะเลหายากอย่างทุกวันนี้ เราเลยไม่ได้ตื่นเต้นอะไร”
พี่ฉัตรบอกว่า สำหรับคนวัย 40 ขึ้นไป ภาพความทรงจำของท้องทะเลที่อุดมสมบูรณ์นั้นยังตราตรึงอยู่ในใจ เพราะเกิดทันได้เห็นความมหัศจรรย์ที่เด็กรุ่นใหม่ ๆ อาจนึกภาพไม่ออก เพราะเกิดมาพร้อมกับทรัพยากรที่เสื่อมโทรมลงและสัตว์ทะเลที่ลดปริมาณลงเรื่อย ๆ
จุดชมวิวบนเขาบาตู ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มาเกาะลิบงต่างพากันขึ้นไปสอดส่อง เพราะเป็นจุดเดียวที่จะชื่นชมวิถีชีวิตของฝูงพะยูนในช่วงน้ำขึ้นได้จากยอดเขา พี่ฉัตรและเพื่อน ๆ เคยปีนป่ายเล่นกันตั้งแต่เมื่อ 30 กว่าปีก่อน ตอนนั้นไม่มีบันได มีเพียงเชือกให้ไต่ตามกันไปเท่านั้น
“ระหว่างทางจากลิบงไปท่าเรือกันตัง ตลอดทางเราเห็นพะยูนโผล่ขึ้นมาทักทายตลอด เป็นร้อย ๆ ตัว มากมายเหมือนปลาในน่านน้ำ เยอะจนเราอาจไม่เห็นความสำคัญในวันนั้น”
เวลาหลายสิบปีล่วงเลยไปพร้อมกับการพัฒนาก้าวกระโดด ทั้งในเชิงพื้นที่และการท่องเที่ยว ผู้คนหลั่งไหลกันมาชื่นชมเกาะสวรรค์ นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่หมู่เกาะทะเลอันดามัน พร้อมกับการเพิ่มขึ้นของมลพิษในท้องทะเล จากการกระทำของมนุษย์ทั่วโลก เมื่อมหาสมุทรไม่มีพรมแดน หายนะของสิ่งมีชีวิตในน้ำจึงคืบคลานไปทุกหนแห่ง
สัตว์ทะเลจำนวนมากเริ่มล้มหายตายจาก นักวิชาการจำนวนไม่น้อยเริ่มลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและพยายามหาทางเยียวยาชนิดพันธุ์สัตว์ที่ฟื้นคืนกลับมาเท่าที่จะทำได้
“พอมีทีมงานเข้ามาทำวิจัยในพื้นที่ ชาวบ้านในชุมชนเลยได้คุยกันว่า จริง ๆ ในฐานะเจ้าของบ้าน เราควรต้องรู้ และตามทันด้วยด้วยว่าสภาพปัญหาคืออะไร เรามีส่วนในการแก้ปัญหาเหล่านั้นอย่างไรบ้าง เลยเกิดการรวมกลุ่มขึ้นมา ดึงเยาวชน เด็ก ๆ ในหมู่บ้านที่มีจิตอาสามาทำกิจกรรมและเรียนรู้ เพื่อดูแลทรัพยากรในท้องทะเลหน้าบ้านของเรา”
และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ ‘กลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยง เกาะลิบง’ เมื่อ 10 ปีก่อน
“หลังจากที่รวมกลุ่มกัน แรก ๆ ยังจับต้นชนปลายไม่ค่อยถูก แต่เราก็เริ่มหาวิธีการสำรวจและเก็บข้อมูลมาเรื่อย ๆ โดยได้เพื่อนที่ทำงานสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จังหวัดตรัง มาช่วยสอนกระบวนการวิจัยเชิงท้องถิ่น อาสาสมัครในกลุ่มจะได้รู้ว่าต้องทำงานอย่างไร มีขั้นตอนและวิธีการในการจัดเก็บข้อมูลกี่แบบ และต้องนำข้อมูลไปใช้ต่อยอดในการสร้างกิจกรรมเพื่องานอนุรักษ์อย่างไร
“หลังจากนั้นกลุ่มอาสาสมัครก็จะทำการสำรวจอย่างเป็นขั้นเป็นตอนในแต่ละปี เรามีการวางแผนอย่างละเอียดว่าจุดมุ่งหมายของปีนี้คืออะไร ต้องทำอะไรบ้างเพื่อผลลัพธ์ที่คาดหวัง การออกแบบกิจกรรมที่สอดคล้องกับเป้าหมายตามมาหลังจากนั้น
“หัวใจคือต้องมีการจัดเก็บข้อมูลที่สามารถอ้างอิงได้มากเพียงพอ ให้เห็นชัดเจนว่าหลังฤดูท่องเที่ยว ปริมาณหญ้าทะเลมันลดลงจริง ๆ และเราต้องไปผลักดันให้การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เข้มแข็งขึ้น และกระทบทรัพยากรธรรมชาติน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
“ในส่วนของกิจกรรมปลีกย่อย ถ้ามีหน่วยงานภาครัฐหรือองค์กรที่อยากสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับทีมอาสาสมัครบนเกาะลิบง แม้บางทีจะเป็นงานลักษณะอีเวนต์ ที่มาทำเพียงครั้งสองครั้งแล้วผ่านพ้นไปไม่ใช่กิจกรรมอนุรักษ์ที่ต่อเนื่อง หรือสร้างผลลัพธ์ระยะยาว แต่เราก็ไปเข้าร่วมอยู่ตลอด”
ก่อนสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด 19 ตามปกติทีมอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยง เกาะลิบง จะทำการสำรวจสภาพหญ้าทะเลเป็นประจำทุกปี ปีละ 2 ครั้งคือก่อนและหลังฤดูกาลท่องเที่ยว เพื่อนำข้อมูลที่ได้ในแต่ละปีมาเปรียบเทียบกัน และวิเคราะห์ต่อไปถึงสภาพความเป็นอยู่ของพะยูน เนื่องจากหญ้าทะเลคือแหล่งอาหารของพวกมันนั่นเอง
เกาะลิบงเป็นที่อยู่ของหญ้าทะเลมากถึง 12 ชนิด “ก่อนหน้านี้ เราเองก็ไม่รู้ว่าหญ้าทะเลหน้าบ้านมีกี่ชนิด จนมาทำกลุ่มอาสาสมัครอย่างจริงจัง มีข้อมูลจากเจ้าหน้าที่และนักวิจัย ถ้ายังตอบไม่ได้ว่าหญ้าหน้าบ้านเรามีกี่ชนิด เราว่ามันน่าละอาย”
พี่ฉัตรบอกว่าทุกคนในทีมอาสาสมัครต้องทำความเข้าใจให้ลึก อย่างเรื่องพื้นฐานชนิดหญ้าทะเล ถ้าไม่เคยรู้มาก่อนก็เรียนรู้เสีย เมื่อรู้ลึก เห็นวัฏจักรของมัน จึงจะสามารถอนุรักษ์ได้
“เราสร้างห้องเรียนธรรมชาติในพื้นที่จริง ก่อนหน้านี้เด็ก ๆ เรียนเรื่องธรรมชาติในห้องสี่เหลี่ยม ทั้งที่ทะเลอยู่ไม่ไกล พอเราพาเด็กมาลงพื้นที่ เขาก็ได้เรียนรู้ว่าแนวหญ้าทะเลมีระบบนิเวศและเชื่อมโยงไปยังธรรมชาติรอบตัวทั้งหมด เขาได้ลงมือทำและเข้าใจว่าสิ่งนี้นำไปสู่การอนุรักษ์ได้อย่างไร เป็นการสร้างจิตสำนึกรักษ์บ้านเกิด และความอยากหวงแหนดูแลท้องทะเลหน้าบ้านตัวเองให้เยาวชน”
สัตว์หน้าดินในแนวหญ้าคือประชากรของหญ้าทะเล และเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของแนวหญ้าทะเลที่ เปรียบเสมือนผืนป่า สัตว์บกอยู่ใต้ร่มเงาต้นไม้อย่างไร สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังก็อาศัยใต้ร่มเงาหญ้าทะเลเช่นนั้น สิ่งมีชีวิตทุกชนิดเชื่อมโยงถึงกันทั้งหมด ความแข็งแรงของหญ้าทะเล ก็ส่งผลกระทบไปยังสวัสดิภาพของพะยูนและสัตว์ทะเลอีกมากมาย
“องค์ประกอบเล็ก ๆ อย่างขี้พะยูนนี่สำคัญมาก เมื่อก่อนเวลาเอาขี้พะยูนมาบี้ให้ยุ่ย เราจะเห็นซากหญ้าทะเลที่เรียกว่าใบมะกรูดกับใบมะขาม ซึ่งเป็นชนิดที่พะยูนชอบ แต่หลัง ๆ มานี้ ในขี้พะยูนมีแต่ซากหญ้าชะเงาใบยาว ซึ่งปกติพะยูนจะไม่กิน ถ้าไม่มีทางเลือกจริง ๆ
“เหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องตั้งข้อสังเกตแล้วว่าปริมาณหญ้าทะเลใบมะขาม ใบมะกรูดลดลง ซึ่งอาจมาจากการทับถมของตะกอนบริเวณอ่าว ทำให้หญ้าชนิดที่พะยูนชอบตายไปหมด มันเลยต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการกินเพื่อประทังชีวิต ดังนั้นเป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่ต้องฟื้นฟูแนวหญ้าทะเล เพราะพวกเรานี่แหละเป็นตัวการทำให้เกิดเหตุการนี้ขึ้น”
เมื่อหญ้าทะเลลดลง ปริมาณปลิงทะเลก็ลดลงไปด้วย พี่ฉัตรอธิบายว่า ปลิงเหล่านี้กินอาหารโดยกลืนทรายลงกระเพาะ หลังจากดูดซึมสารอาหารจำพวกแบคทีเรียและเศษซากอินทรีย์แล้ว มันจะถ่ายทรายที่ดูดกลืนไปกลับออกมา พื้นทะเลจึงสะอาดขึ้นจากการใช้ชีวิตของปลิงทะเล
เพราะแนวหญ้าทะเลคือผืนป่า หากไปยืนอยู่ในแนวหญ้าช่วงน้ำลง จะรู้สึกได้ถึงอากาศบริสุทธิ์สดชื่น เพราะแนวหญ้ากักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์และเปลี่ยนเป็นออกซิเจน เหมือนเวลาเราไปยืนอยู่ใต้ต้นไม้
“บางคนไม่สนใจอะไรเลย โฟกัสแต่พะยูนอย่างเดียว จริง ๆ แล้วทั้งหญ้าทะเลและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังต่างเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ระบบนิเวศและสวัสดิภาพของเหล่าพะยูนสมบูรณ์”
ข่าวดีล่าสุดของชาวเกาะลิบง คือการฟักตัวของลูกเต่าตนุถึง 77 ตัว หลังการกลับขึ้นมาวางไข่บนเกาะลิบงครั้งแรกในรอบหลายปี ย้อนกลับไป 2 เดือนก่อน เจ้าหน้าที่ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล จังหวัดตรัง และชาวบ้านในชุมชน พบหลุมไข่เต่าจึงรีบเคลื่อนย้าย เนื่องจากจุดเดิมที่พบ น้ำทะเลท่วมถึงจะทำให้ไข่เต่าเน่าทั้งหมด จากนั้นมีการเฝ้าระวังตลอดเวลาทั้งจากสัตว์และคนที่อาจมาขโมยไข่เต่า จนถึงวันที่เต่าน้อยลืมตาดูโลก
และ 18 เดือนนับจากพะยูนน้อยมาเรียม สัญลักษณ์แห่งการอนุรักษ์ทางทะเลเสียชีวิตลง ในที่สุดคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติมาตรการคุ้มครองพื้นที่ชายฝั่งและทะเล จังหวัดตรัง ระยะเวลา 5 ปี
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในพื้นที่อำเภอปะเหลียน อำเภอหาดสำราญ อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง เพื่ออนุรักษ์และควบคุมผลกระทบของการประมง การท่องเที่ยว รวมถึงการพัฒนาที่อาจส่งผลต่อระบบนิเวศในพื้นที่
โดยเฉพาะการกำหนดการประกอบการท่องเที่ยวเพื่อชมพะยูน โลมา เต่าทะเล หรือการท่องเที่ยวในแนวหญ้าทะเล ต้องเป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ กำหนดให้การนำเรือเข้าไปในแหล่งหญ้าทะเลและที่อยู่อาศัยของพะยูน ต้องนำเรือเข้าออกได้เฉพาะตามเส้นทางที่กรมประกาศกำหนด และต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือเป็นอันตรายต่อแหล่งหญ้าทะเลและที่อยู่อาศัยของพะยูน
นี่คือหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงอีกครั้งใหญ่ที่จะนำผลดีมาสู่งานอนุรักษ์ในระยะยาว
“สิ่งที่เราพยายามทำกันมาตั้งแต่ปีที่แล้ว คือการสร้างเครือข่ายผู้พิทักษ์ทะเล เพราะท้องทะเลเชื่อมต่อกันทั้งหมด พะยูนและสัตว์ต่าง ๆ จึงไม่ได้อยู่แค่ที่ลิบงอย่างเดียว บางทีมันก็ว่ายไปยังพื้นที่อื่นอย่างมดตะนอย หาดยาว หรือปากเมง โดยเราก็มีการคุยกันในระบบเครือข่ายพื้นที่ทางทะเลร่วม เพื่อสร้างกระบวนการอนุรักษ์ร่วมกัน
“เวลาชาวบ้านบังเอิญไปพบซากสัตว์ทะเลหายากตาย ก็จะมีการติดต่อแจ้งข่าวกันตลอด ตอนนี้เวลามีการอบรมอะไร เราก็จะชวนแต่ละหมู่บ้านไปร่วมอบรมด้วยกัน หลังทำกิจกรรม เวลามาเจอกันแต่ละครั้งต้องมีการมาถอดบทเรียนร่วมกัน เราจะไม่โดดเดี่ยวในการทำงาน ดังนั้นการสร้างเครือข่ายจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก”
พี่ฉัตรเล่าย้อนไปถึงบทเรียนการทำงานตลอด 10 ปีที่ผ่านมา “ความรู้สึกว่าเราทำงานอยู่กลุ่มเดียว มันเหนื่อยมากนะ ตอนนี้เราได้เรียนรู้แล้วว่าต้องหาเครือข่าย ทุกหมู่บ้านจะมีคนประเภทนี้อยู่ คนที่อยากดูแลทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่ คนที่มีใจเป็นอาสาสมัครอย่างเรา
“เกิดเป็นกลุ่มอาสาสมัครอย่างเป็นกิจจะลักษณะหลังมาเรียม เป็นภาพที่ชัดขึ้น เพราะว่าทีมเราจะเป็นตัวหลักในเรื่องของกลุ่มที่เข้าไปช่วยดูแลมาเรียมตอนนั้น ส่วนตัวพี่จะเป็นคนอยู่ในทีมและคอยประสานงานหลาย ๆ อย่าง
“ต้องขอบคุณทาง ReReef หลาย ๆ คนเห็นความสำคัญของการรวมกลุ่มอาสาสมัครชาวบ้าน แต่ ReReef คือคนแรกที่นำเงินมาสนับสนุน เป็นนักวิจัยที่มาทำงานที่เกาะลิบงนานแล้ว เป็นกองทุนอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยง ที่เขาให้เรามาประมาณแสนกว่าบาท เนื่องจาก ดร.เพชร มโนปวิตร ผู้ก่อตั้ง ReReef ลงใต้มาทำงานอนุรักษ์ที่เกาะลิบงมาเป็นเวลานานแล้ว
“เมื่อก่อนกิจกรรมมันเยอะกว่านี้มาก แต่เราไม่เคยโพสลงในโซเชียลมีเดียเลย จนไม่กี่ปีมานี่เองที่มีคนมาบอกว่าทำอะไรต้องโพสบ้าง เดี๋ยวคนอื่นเขาไม่รู้ เราไม่ใช่คนถนัดสร้างภาพ ตอนแรกก็สงสัย เวลาทำงานต้องมานั่งบอกด้วยหรือว่าเราทำอะไร
“แต่เขาให้เหตุผลว่าสมัยนี้ทำอะไร ถ้าได้ลงโซเชียลมีเดีย อย่างน้อยเราก็ได้สื่อสารบอกให้คนนอกเกาะรู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ปัญหาที่เป็นภัยคุกคามของทรัพยากรบนเกาะคืออะไร ซึ่งข้อนี้พี่ตระหนักแล้วว่าจริง
“เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของคนในทีมอย่างชัดเจน เพราะว่าเขาอยู่กับมันทุกวันและเขาไม่ได้เสแสร้ง เป็นการสื่อสารด้วยหัวใจ สายตาที่เรามองเห็นกันและสัมผัสมันได้เรามีความสุข เด็ก ๆ ไม่เพียงรู้ว่าหน้าบ้านตัวเอง สถานภาพหญ้าทะเลเป็นยังไงบ้าง แต่เราเห็นความพยายามประยุกต์ศาสตร์ต่าง ๆ เห็นความคิดสร้างสรรค์ อย่างการพยายามใช้เทคโนโลยีจับ GPS และอีกหลายอย่างเลย
“เราอยากให้สังคมได้รับรู้ว่างานอนุรักษ์ไม่ใช่งานของชุมชนท้องถิ่นเพียงอย่างเดียว บางอย่างเราทำแค่ตัวคนเดียวไม่ได้ เราต้องการคนสนับสนุน บางอย่างต้องเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจ อย่างหน่วยงานภาครัฐมาเป็นผู้กำหนดนโยบาย แต่คุณต้องมีความจริงใจในการทำงาน
“ความสนใจจากภาคประชาสังคมในการผลักดันเรื่องนี้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่มาเป็นระลอก มาเรียมเสียชีวิต กระแสโหมกระพือแล้วก็หายไป” พี่ฉัตรกล่าวทิ้งท้าย
เรื่องโดย มิ่งขวัญ รัตนคช
ภาพโดย อัจฉริยะ บุญเลิศ และศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : ชายหาดบาหลีที่ปนเปื้อนที่สุด สู่การเป็นเกาะสวรรค์ไร้ขยะพลาสติกภายในปี 2025