วัชรบูล ลี้สุวรรณ การเดินทางถ่ายรูปสัตว์ป่าหายาก จนต่อยอดถึงงานอนุรักษ์ป่าตะวันตกของไทย

บทสนทนากับ โน๊ต วัชรบูล ลี้สุวรรณ ถึงความรักในการถ่ายภาพสัตว์ป่าและการทำงานอนุรักษ์ธรรมชาติร่วมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในปัจจุบัน

เมื่อกล่าวถึงชายหนุ่มชื่อ โน๊ต วัชรบูล ลี้สุวรรณ เรานึกถึงนักแสดงชายที่โลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิงมาเกือบ 20 ปี เราคุ้นหน้าเขาจากละครหลายเรื่อง เพราะฝีมือการแสดงทำให้ใครหลายคนชื่ชอบและจดจำเขาได้

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เราเริ่มเห็นการทำงานของโน๊ตผ่านอีกบทบาทหนึ่ง นั่นคือผลงานชุดภาพถ่ายสัตว์ป่าจากผืนป่าของเมืองไทย โดยเฉพาะชุดภาพถ่ายสัตว์ป่าที่ห้วยขาแข้ง สื่อมากมายเอ่ยถึงเขาในมุมมองของการเป็นคนสมัยใหม่ที่รักธรรมชาติและสัตว์ป่า โน๊ตรักการถ่ายภาพสัตว์ป่าเป็นชีวิตจิตใจ

เราอยากรู้จักเขามากขึ้น ผ่านบทสนทนาท่ามกลางเสียงฝนในเมืองใหญ่โต๊ะกาแฟเล็กๆ ที่ The Yard Hostel Bangkok อวลไปด้วยเรื่องเล่าเกี่ยวกับแพชชั่นของโน๊ต ว่าทำไมเขาถึงรักการถ่ายภาพสัตว์ป่าได้ขนาดนี้ ซึ่งความหลงใหลนี้เองก็ทำให้เขาได้ทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติร่วมกับมูลนิธิสืบนาคเสถียร ในปัจจุบัน 

ภาพถ่ายโดย วัชรบูล ลี้สุวรรณ

ใครๆ ก็รู้ว่าโน๊ตรักการเข้าป่าไปอยู่กับธรรมชาติมาก ตอนนี้เราเรียกคุณว่าเป็นนักเดินทางได้แล้วยัง

เราคือคนธรรมดาๆ คนหนึ่งแหละ ที่ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นนักเดินทาง หรือว่านักผจญภัยอะไร แต่ว่าเรามีแพชชั่นเรื่องสัตว์ป่า ธรรมชาติ อยากใช้ชีวิตเอาท์ดอร์ ซึ่งสนใจมาตั้งแต่เด็ก แล้วก็ไม่ยอมให้อะไรมาทำให้สิ่งที่ชอบหรือสิ่งที่อยากทำมันไขว้เขว เป็นคนที่ค่อนข้างโชคดี ได้รับโอกาสดีๆ ในชีวิตเยอะ และด้วยความที่ค่อนข้างมีวินัยกับตัวเองพอสมควร เราเลยชอบเก็บข้อมูล อ่านหนังสือ หาข้อมูลเรื่องพวกนี้อยู่ตลอดจนช่วงเวลาที่มันเหมาะสมก็ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบจริงๆ

แสดงว่าชอบเรื่องสัตว์ป่ามานานแล้ว แล้วเริ่มเดินทางจริงจังตั้งแต่เมื่อไหร่ 

เราชอบของเราเองตั้งแต่เด็ก โชคดีที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ค่อยขัด อย่างเช่นสนใจเรื่องสัตว์ป่า การถ่ายภาพ ท่านก็สนับสนุนให้เราไปซื้อหนังสือพวกนี้ เราก็อ่าน National Geographic ตั้งแต่เด็ก แล้วก็เห็นผลงานของช่างภาพระดับปรมาจารย์มาตั้งแต่นานมากแล้ว สมัยก่อนมันไม่มีเว็บให้ดู ยังไม่มี National Geographic ฉบับภาษาไทยมีแต่ภาษาอังกฤษ โชคดีที่หนังสือมันราคาไม่แพงมาก เลยพอหามาอ่านได้ เราชอบภาพถ่ายของ ไมเคิล “นิก” นิโคลส์ รวมถึงงานถ่ายภาพของหลายๆ คนซึ่งมันก็ทำให้เราได้อยู่ใกล้สิ่งที่เราชอบและมีข้อมูลอยู่ในสมองตลอด จนมาเริ่มออกเดินทางจริงๆ ตอนที่ทำงานมีรายได้เป็นของตัวเองแล้ว เพราะว่าการเดินทางไปหาประสบการณ์พวกนี้มันต้องใช้เงินเยอะพอสมควร

ช่วงที่ผ่านมากระแสการท่องเที่ยว เดินทาง การตั้งแคมป์ เดินป่ามันเริ่มมีมามากขึ้น แต่เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราชอบมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับกระแสว่าทางโลกจะเป็นยังไง ใครจะทำอะไร เราชอบการอยู่ในป่า การใช้ชีวิตกลางแจ้ง การได้เข้าไปมีประสบการณ์กับสัตว์ป่า เพื่อประสบการณ์ของเราเอง 

เราหลงใหลกับมันตั้งแต่ไหนแต่ไร เราก็ทำมันไปเรื่อยๆ ทีละนิด ออกเดินทางไปเรื่อยๆ โดยที่เป้าหมายการเดินทางมันก็ไม่ได้อยากไปที่ไหนเป็นพิเศษ สิ่งที่ต้องการก็คือประสบการณ์ของตัวเองที่ทำให้เราจดจำกับตัวเองไว้ การที่อยู่ท่ามกลางฝูงช้างป่า ฝูงควายป่า การได้เห็นเสือโครง การที่เราได้เจอเสือดำ เสือดาว มันเป็นสิ่งที่เราอยากรู้สึก อยากสัมผัสประสบการณ์นั้น 

พูดได้ว่าโน๊ตทำสิ่งนี้ด้วยความรักเลยไหม

มันเป็นความรักนะเราว่า สัก 7-8 ปีที่แล้ว เริ่มเข้าป่าอย่างจริงจังไปวาง camera trap เราต้องตื่นแต่ตี4 ขับรถไปห้วยขาแข้งเพื่อถ่ายรูปสัตว์ป่า ถ้าเกิดมีงานวันรุ่งขึ้นก็ต้องขับรถกลับมาให้ถึงบ้านที่กรุงเทพฯ 4-5 ทุ่ม คือเราก็นั่งคิดนะตอนที่กำลังขับรถเช้าๆ ว่าทั้งประเทศมีใครทำอะไรแบบนี้ไหม มีใครที่ตื่นแต่เช้าเพื่อเอากล้องไปวางทิ้งไว้ในป่าเพราะอยากเห็นสัตว์ป่าเหมือนเรารึเปล่า มันก็คงมี แต่ว่ามันน้อยมาก ช่วงสงกรานต์ เราขับรถเข้าไปในทางบ้านไร่อุทัยธานี เข้าไปในป่าที่แห้งแล้ง ไม่เหลืออะไรเลยเพราะไฟป่าเพิ่งผ่านไป น้ำท่าหายากและร้อนมาก จะมีคนทำแบบนี้สักกี่คน แต่มันเป็นสิ่งที่เราชอบไง เราก็ยินดีที่จะทำ เป็นความสุข แต่ก็เหนื่อย แต่พอทำออกมาแล้วก็ ยิ่งคิดกลับมาก็ยิ่งคิดถึงตลอดเวลา  

เวลาเข้าป่าไป กลับมาก็เหนื่อยมาก แมลงกัดทั้งตัว หน้าเยินไปหมด ตัวดำเลยอ่ะ ริ้วรอยมันก็ขึ้น จบทริปร่างกายก็เพลีย ก็คิดนะว่าคงไม่เอาแล้วปีนี้พอแล้ว แต่สุดท้ายพอกลับมาหายเหนื่อย เราก็คิดอีกว่าเมื่อไหร่จะได้ไป มันจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง มันจะมีประสบการณ์อะไรของเราที่มันแปลกไปไหม ตรงนี้มันยังเหมือนเดิมมั้ย มันก็สนุกดี

ช่วงที่ผ่านมาคุณเดินทางเข้าป่าบ่อยขนาดไหน

สัก 5 ปีที่แล้วก็จะไปบ่อยหน่อย ช่วงนี้ก็เหลือปีละสองครั้งคือช่วงหน้าแล้งกับหน้าหนาว ก็ไม่ได้เยอะมากเท่าไหร่ แต่ว่าด้วยความที่เราเป็นกรรมการมูลนิธิสืบ เราต้องไปดูโปรเจ็กต์ตามที่มูลนิธิทำเอาไว้ด้วย อย่างที่ไปห้วยขาแข้งก็ตามไปดูโปรเจ็คต์ที่จะเอาพญาแร้งกลับคืนสู่พื้นที่ถิ่นอาศัยเดิม เพราะว่าพญาแร้งมันสูญพันธุ์ไปจากป่าเมืองไทยนานกว่า 29ปีแล้ว ในกรงเลี้ยงเหลืออยู่แค่ 5 ตัว แล้วกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร  และองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย มีแผนที่จะนำพญาแร้งกลับมาฟื้นฟูในพื้นที่อาศัยหากินเดิม นั่นคือป่าเต็งรังที่ห้วยขาแข้ง 

ทางมูลนิธิสืบดูแลโครงการนี้ เราก็ต้องกลับเข้าป่าเพื่อไปดูด้วยว่าโครงการคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว บางทีก็ไปดูตามหน่วยพิทักษ์ป่าที่ทางมูลนิธิสืบกำลังให้การสนับสนุน เราก็มีโอกาสได้กลับเข้าป่า แต่ก็ไปเพื่อการทำงาน มันก็จะไม่ได้เหมือนแต่ก่อนที่เราเดินทางเข้าไปถ่ายภาพ ไปดื่มด่ำกับธรรมชาติ

การได้ทำงานให้กับมูลนิธิสืบ ทำให้เราได้เห็นประสบพบเจอเรื่องต่างๆโดยตรง แล้วเราเป็นนักแสดง มีช่องทางที่จะสื่อสารมากขึ้น เราก็อยากจะช่วย บางทีนักวิจัยที่เค้าทำงานหรือเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเค้าก็ไม่ค่อยได้มีช่องทางในการสื่อสารมากเท่าไหร่

ภาพถ่ายโดย วัชรบูล ลี้สุวรรณ

ตั้งแต่อดีตจนถึงตอนนี้ คุณเห็นงานอนุรักษ์ธรรมชาติของบ้านเรามันเปลี่ยนไปยังไงบ้าง

เราว่ามันดีขึ้น เทคโนโลยีหลายๆ อย่างมันเอื้อให้ทำงานอย่างเป็นระบบมากขึ้น  อาศัยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น มีการใช้ GPS กำหนดพื้นที่ ระบุได้เลยว่าตรงนี้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ตรงนี้เป็นพื้นที่ป่าสงวนหรือเป็นป่าชุมชน แล้วก็มีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น กล้อง Ncap ที่ใช้จับคนที่กระทำผิดในป่า ช่วยให้คนทำงานได้รับข้อมูลที่มันจริงมากขึ้น หรือสัตว์ป่าอย่างเสือโคร่ง ช้าง พอใส่ปลอกคอ GPS ให้มัน เราก็รู้เลยว่ามันเดินทางยังไง พื้นที่ที่มันอยู่อาศัยจริงๆ อยู่แค่ไหน ตรงไหนที่มีความหนาแน่นของสัตว์ป่า มันถูกประเมินได้โดยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เราเห็นเลยว่าพื้นที่ที่ใกล้ชุมชน สัตว์ป่าจะอยู่น้อย พื้นที่ที่มีการลาดตระเวนเข้มข้น ห่างไกลจากชุมชนสัตว์ป่ามันก็เยอะ มันเป็นความจริงที่เห็นได้ 

แต่ว่าก็ยังมีปัญหาเหมือนอดีตที่ผ่านมา ทุกวันนี้ก็ยังมีการล่าสัตว์ป่า เราว่ามันก็ยังไม่ได้ลดลงเท่าไหร่ โดยเฉพาะค่านิยมการบริโภคสัตว์ป่า การนำสัตว์ป่ามาเลี้ยง หรือว่าทำเครื่องลางของขลังจากสัตว์ป่าก็ยังมี แถมยังมีช่องทางในการค้าที่ง่ายขึ้นผ่านทางโซเนี่ยลเน็ตเวิร์คต่างๆ ซึ่งถ้าคนยังต้องการซื้อ มันก็ยังมีคนที่กลับเข้าไปล่าสัตว์เหมือนเดิม 

โดยรวมเราว่ามันก็ทรงๆ นะ ไม่มีอะไรดีที่สุด เพราะสุดท้ายเราก็ต้องยอมรับความจริงว่าประชากรมนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ยังไงมันก็ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ข้อดีคือทุกวันนี้เรามีความเห็นอกเห็นใจเพื่อนร่วมโลกชนิดอื่นมากขึ้น มีองค์ความรู้ มีเทคโนโลยีที่เราจะบริหารจัดการมันได้ดีขึ้น คือใครจะไปคิดว่าโครงการที่จะเอาพญาแร้งกลับคืนสู่ธรรมชาติจะเกิดขึ้นได้ เราสามารถใช้ความรู้ต่างๆ เพาะมันขึ้นมาในสวนสัตว์ได้ เรารู้ว่าจะต้องดูแลมันโดยวิธีการแบบไห แล้วเราก็เอาไปปล่อยในพื้นที่ที่มันเคยหากิน พื้นที่ที่อยู่อาศัยเดิมของมันได้อย่างไร คนก็ต้องช่วยสัตว์ เพราะยังไงเราก็สร้างความเดือดร้อนไว้พอสมควรกับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นบนโลกใบนี้

เหมือนเมื่อก่อนคุณเริ่มต้นเดินทางเพื่อสนองแพชชั่นตัวเอง แต่ตอนนี้คุณได้ออกเดินทางเพื่อได้ดูแลสิ่งอื่น

การเดินทางของเรามันก็เพื่อการเดินทางของตัวเองด้วยแหละ เพื่อหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณ เราอยู่ในเมืองก็โดนดูดพลังไปเยอะ เข้าป่าทีไรมันก็สนุกดี มันทำให้เรารู้สึกว่ามนุษย์ที่เป็นสัตว์ที่อ่อนแอมาก พร้อมจะตายได้ตลอดเวลาในพื้นที่ที่ธรรมชาติมันยิ่งใหญ่ เรารู้สึกว่าการที่ได้เจอสัตว์ป่าในป่าซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมจริงๆ ของเค้า เป็นประสบการณ์ที่มันตื่นตาตื่นใจเรามากที่สุด

มีทริปเข้าป่าครั้งไหนที่น่าจดจำบ้าง เล่าให้ฟังหน่อย

2 ปีก่อนที่ปลายลำห้วยขาแข้ง ตกกลางคืนก็กำลังนอนเต๊นท์ที่หน่วยพิทักษ์ป่า ควายป่ามันขึ้นมาเล็มหญ้า ห่างจากเรา 3-4 เมตรเอง ซึ่งควายป่าในเมืองไทยมันใกล้สูญพันธุ์แล้ว เหลืออยู่ประมาณ 69 ตัว อาศัยอยู่ในพื้นที่ตอนล่างของลำห้วยขาแข้งที่เดียวและเป็นที่สุดท้ายของเมืองไทย เราประทับใจตรงที่ว่าไม่น่าเชื่อเนอะว่าการที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าดูแลรักษา ป้องกันมัน ทำให้สัตว์ป่ามันไว้วางใจคนมากขึ้น ทำให้เราได้มีโอกาสใกล้ชิดมันขนาดนี้ ควายป่ามันก็เดินด้อมๆ ขึ้นมาตามลำห้วย มากินหญ้าในพื้นที่หน่วยพิทักษ์ป่า เราได้ยินเสียงมันดึงหญ้าขึ้นมากินเลย คือเราโชคดีที่ได้ไปอยู่ในโมเมนต์นั้น จังหวะที่ลมนิ่ง ช่วงเวลาที่หญ้าตรงนั้นมันกำลังแตกยอดอ่อนขึ้นมาพอดี มันก็เป็นช่วงเวลาดีๆ ครั้งนึงในชีวิตที่จะอยู่ในความทรงจำตลอดไป

ผืนป่าในเมืองไทยแห่งไหนที่คุณชอบไปมาก

ส่วนตัวเราผูกพันธ์กับผืนป่าตะวันตกเป็นพิเศษโดยเฉพาะห้วยขาแข้ง มันไม่ใช่แค่ถ่ายภาพเสือโคร่ง เสือดำ สมเสร็จ ช้าง แต่เป็นเรื่องของสถานที่มากกว่า เรื่องราวที่มันผันแปรไปตามช่วงเวลา เรารู้จักห้วยขาแข้งจากข่าวในหนังสือพิมพ์ เรื่องราวของหัวหน้าสืบ เรื่องราวของการอนุรักษ์ป่า เรื่องราวของนักวิจัยเสือโคร่งตั้งแต่อ่านจากตัวอักษรจนตอนนี้เราได้เห็นกับตาด้วยตัวเอง ข้อมูลพวกนี้มันสนุก พอเราเข้าไปที่ห้วยขาแข้งเราก็รู้จักว่าป่าผืนนี้มันเป็นยังไง รู้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ และประวัติศาสตร์ของมัน ย้อนไปตั้งแต่ก่อนรุ่นคุณสืบอีก 

มีพี่นักวิชาการประวัติศาสตร์เคยเล่าว่าแต่ก่อนพื้นที่ตรงนี้มันเป็นเส้นทางการค้าจากเวียดนามมาที่เมียนมาร์ การเดินทางของพ่อค้า เส้นทางการเดินทางขนสินค้าจากภาคเหนือมาภาคกลางผ่านตรงนี้ มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์พวกเครื่องดินเผา หลักฐานการหยุดค้างพักแรมในพื้นที่ พอเรามีข้อมูลก็ยิ่งสนุก ยิ่งผูกพันธ์ ยิ่งรู้สึกว่ามันพิเศษกว่าที่อื่น ล่าสุดผมไปที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ขึ้นไปยืนบนยอดเขานางรำแล้วมองลงไปในหุบเขาด้านล่างที่ถูกให้เป็นสัมปทานไม้อัด ถ้าเกิดตอนนั้นคุณสืบ นาคสเถียร ไม่ต้อต้านเอาไว้ พื้นที่ตรงนั้นก็จะไม่เหลือเลย มันเป็นที่ราบป่าเต็งรัง มีสัตว์ป่าหากินอยู่ เราว่ามันเจ๋งดีเนอะ พอเรารู้เรื่องของมันมากขึ้นเราก็จะอินกับตรงนั้นมากขึ้น ไม่ได้เห็นแค่ป่า แค่ต้นไม้

แล้วการถ่ายภาพสัตว์ป่าครั้งไหนน่าตื่นเต้นที่สุด

เราไปถ่ายภาพสัตว์ป่า แล้วช้างป่ามันออกมากินโป่งทั้งโขลงซึ่งอยู่ห่างจากเราไม่ไกล ช้างป่ามันคนละเรื่องกับช้างบ้านที่เค้าเลี้ยงกันเลยนะ ช้างป่ามันจะมีความ wild ของมัน ความเป็นสัตว์ป่า ไม่ไว้วางใจคน จะว่าน่ากลัวก็ได้ แล้วก็อยู่ในป่าลึกจริงๆ เราจำได้ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ได้ยินเสียงมันร้องอยู่เหมือนกำลังเดินลงมาจากไกลๆ ช่วงเที่ยงก็เริ่มมาใกล้ขึ้น เริ่มได้ยินเสียงลูกมันร้อง เสียงช้างพี่เลี้ยงร้องเตือนตัวเล็กในโขลง แล้วพอโมเมนต์ที่เห็นช้างลงมากินโป่งทั้งโขลง เราจะรู้สึกตัวเองลีบเหลือตัวนิดเดียว เป็นครั้งการถ่ายภาพที่มือไม่นิ่ง มือสั่นเลย มันน่ากลัวจริงๆ เพราะช้างป่ามันตัวใหญ่กว่าเราเยอะ มันฉลาด แล้วก็มันอยู่เป็นโขลง ไม่กลัวคน แล้วยิ่งถ้ามีลูกอ่อนมันก็ยิ่งดุ เป็นโมเมนต์ที่ตื่นเต้นดี เป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้ง่ายๆ อะดรีนาลีนสูบฉีด

 

 

ภาพถ่ายโดย วัชรบูล ลี้สุวรรณ

ทุกครั้งก่อนออกเดินทาง ตัวคุณมีความคาดหวังในใจไหม

อยากเจอสัตว์ป่า อยากมีโมเมนต์ที่ได้ใกล้ชิดกัน อยากมีโมเมนต์ที่ตราตรึงอยู่ในความทรงจำของเราตลอดไป แต่ก็ไม่คาดหวังเพราะมันไม่สามารถกะได้จริงๆ ว่าเราจะไปเจอตัวอะไร บางทีเราก็ไม่รู้วิถีชีวิตมันว่าจะเดินมาบรรจบกับเราเมื่อไหร่ บางจังหวะที่ไม่น่าเจอก็ดันเจอ บางจังหวะที่น่าจะเจอมันก็ไม่เจอ 

เราว่าคนที่ถ่ายรูปหรือเข้าป่าไปนานๆ จะรู้ว่าบางทีเข้าป่าไปอาทิตย์นึงไม่ได้ถ่ายรูปอะไรเลยก็มี แต่บางทีก็โชคดี เข้าไปตั้งบังไพรไม่กี่ชั่วโมงเจอสัตว์ที่หายากอย่างสมเสร็จทั้งที่โอกาสเจอมันน้อยมาก เราเริ่มนั่งตอนบ่ายโมง ประมาณ 4 โมง เราเห็นสัตว์สีขาวดำ ตอนแรกนึกว่าแพนด้า (หัวเราะ) แพนด้ามันไม่มีทางที่จะมีตรงนั้น พอมองดีๆ เฮ้ย เราเจอสมเสร็จว่ะ ปรากฎว่าได้ถ่ายรูป ได้ภาพสมเสร็จมาเก็บไว้

การเดินทางเข้าป่ามันมีความหมายสำหรับคุณอย่างไรบ้าง

มันคือความหลงใหล เหมือนกลับบ้าน คือเราอยู่ในเมืองเพราะเรื่องงาน เรื่องอาชีพ การเข้าป่าคือการได้กลับไปที่ที่เรารู้สึกผ่อนคลาย เหมือนได้ไปในที่ที่เราคิดว่าเป็นที่ของเรา มันได้ตัดความวุ่นวาย ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ไม่มีอะไรที่ทำให้เราเสียสมาธิ มันทำให้เราอยู่กับตัวเอง ได้เปิดประสาททุกอย่าง เราต้องมีสติตั้งแต่วินาทีแรกที่ขับรถเข้าไปเพราะในป่ามันอันตราย เราต้องคิดตลอดว่าถ้าเราจะไปตรงนี้ เราต้องเตรียมอะไรบ้าง เราจะกันฝนกันหนาวด้วยอะไร มันทำให้เราอยู่กับปัจจุบัน

สุดท้ายแล้วอยากฝากหรือบอกอะไรกับคุณรุ่นใหม่ที่เริ่มสนใจการเที่ยวธรรมชาติไหม 

สิ่งสำคัญอย่างแรกคือต้องมีความรู้ ต้องถามว่าคุณอยากเข้าป่าไปเพื่ออะไร คุณเที่ยวธรรมชาติเพื่ออะไร คำตอบมันก็แล้วแต่คนใช่ไหม ถ้าเป็นไปได้ อยากให้พยายามศึกษาเรื่องราวของพื้นที่ที่พวกคุณจะไป คุณจะได้รู้ว่ามันคืออะไร ทำไมระบบนิเวศก์ถึงเป็นแบบนี้ มีสิ่งมีชีวิตอะไรบ้างที่อยู่ตรงนั้น เราจะได้รู้จักพื้นที่ตรงนั้นมากกว่าเดิม  ถ้าเรารู้เรื่องพวกนี้เราจะเที่ยวสนุกขึ้น อย่างที่ห้วยขาแข้ง ผมเคยอ่านเจอมาว่าลำขาแข้งมันเป็นการจำลองภาพแม่น้ำเจ้าพระยาในอดีต ก่อนจะมีการทำเขื่อน การถมคอนกรีตริมตลิ่ง ก่อนการพัฒนา อดีตพื้นที่ที่เป็นที่ราบริมลำน้ำขนาดใหญ่ มีแก่ง มีหาด มีสัตว์ป่าหากิน  เวลาเราไปที่ห้วยขาแข้งก็จะก็พอจะเข้าใจภูมิทัศน์ในอดีตที่ที่ราบลุ่มเจ้าพระยาได้

อีกข้อสำคัญที่อยากบอกทุกคนคือคือขยะที่คุณเอาเข้าไป คุณเก็บกลับมาด้วยนะ เพราะว่าในบริเวณป่าอนุรักษ์ เจ้าหน้าที่เค้ามีหน้าที่ดูแลป่า ไม่ได้มีหน้าที่ service นักท่องเที่ยว การที่เราไปดื่มด่ำกับธรรมชาติ คุณก็ได้ความสุขของคุณแล้ว ดังนั้นมันไม่ยากที่คุณจะนำขยะออกมา เพื่อให้ธรรมชาติคงอยู่ และคนที่มีหน้าดูแลธรรมชาติจะได้ไม่ต้องเหนื่อยจนเกินไป 

ภาพถ่ายโดย วัชรบูล ลี้สุวรรณ

เรื่อง นิภัทรา นาคสิงห์

ภาพถ่าย เอกรัตน์ ปัญญะธารา


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ศศิน​ เฉลิมลาภ : Sixth Extinction หมุดหมายต่อไปของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.