ศศิน​ เฉลิมลาภ : Sixth Extinction หมุดหมายต่อไปของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ศศิน​ เฉลิมลาภ : Sixth Extinction หมุดหมายต่อไปของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

เรากำลังก้าวสู่การสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่ 6 ที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่โลกถือกำเนิดขึ้น และสาเหตุหลักมาจากร่องรอยการกระทำของมนุษย์ในช่วงไม่กี่ศตวรรษที่ผ่านมา

ในช่วงที่โลกยังคงชะงักกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื่อโควิด-19 ที่ดูเหมือนจะยังไม่สิ้นสุดลงง่าย ๆ นักวิชาการ นักอนุรักษ์และนักกิจกรรมทั่วโลกกำลังเร่งดำเนินการ หาหนทางเตรียมรับมือกับคลื่นยักษ์ที่ใหญ่กว่าโควิด-19 ซึ่งก่อตัวมานานนับศตวรรษและเตรียมถาโถมสู่มนุษยชาติ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่พ่วงมาพร้อมหายนะลูกโซ่อีกนับไม่ถ้วน และหนึ่งในมหันตภัยรุนแรงที่สุดที่มนุษย์จะต้องเผชิญในอนาคต คือการสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่ 6 (Sixth Extinction)

เมื่อพูดคำว่าสูญพันธุ์ ไม่แปลกหากคนเมืองที่ใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย มีน้ำประปาและไฟฟ้าใช้อย่างไม่ขาดพร่องจะรู้สึกว่ามันช่างเป็นเรื่องที่ไกลตัว ทั้งที่จริงความหลากหลายทางชีวภาพ คือรากฐานที่สำคัญที่สุดของการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตรวมถึงมนุษย์ เนื่องจากสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในโลกตั้งแต่พืชพรรณ สัตว์น้อยใหญ่ รวมไปจนถึงเชื้อรา ล้วนดำรงอยู่อย่างเกื้อกูลกันเป็นโครงข่ายห่วงโซ่อาหารที่ค้ำจุนกันเป็นระบบนิเวศ

ดังนั้น แม้จะเป็นการหายไปของสิ่งมีชีวิตที่เล็กที่สุด ก็สามารถสร้างความล่มสลายให้กับระบบนิเวศได้

ปากบารา
ปลากะพงเหลืองขมิ้นรวมฝูงว่ายนํ้าเหนือแนวปะการังเขากวางที่สมบูรณ์ของจุดดำนํ้าสโตนเฮนจ์ หรือ “กองหินตาลัง” ในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา  แนวปะการังตามเกาะต่างๆของจังหวัดสตูลมีสภาพที่สมบูรณ์มากเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นของประเทศ ภาพถ่ายโดย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย ชวนคุณอ่านบทสนทนาครั้งล่าสุดกับ ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ถึงความน่ากังวลของการสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่ 6 และหมุดหมายใหม่ในฐานะองค์กรสื่อสารอนุรักษ์ ที่จะสร้างความตระหนักและการปฏิบัติเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเรื่องสิ่งแวดล้อมในสังคมไทย

30 ปี มูลนิธิสืบฯ (บทสัมภาษณ์เมื่อปี 2020)

ศศินอธิบายโดยอ้างอิงจากสถานการณ์ปัจจุบันว่า ก่อนการมาถึงของโควิด 19 วิกฤติการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดของคนรุ่นปัจจุบัน คือสงครามโลกครั้งที่  2

“คนรุ่นสุดท้ายที่ยังมีชีวิตและทันเห็นความแร้นแค้นของสภาวะหลังสงคราม น่าจะเป็นคนรุ่นแม่ผม ซึ่งปัจจุบันอายุเก้าสิบสี่ปี คนรุ่นต่อมาอย่างพวกเรา เติบโตมาพร้อมกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก นโยบายและการขับเคลื่อนของนานาประเทศล้วนตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขความยากจน”

ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย จึงทุ่มเทความพยายามไปสู่การแก้ไขความยากจน ด้วยการเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ตั้งนิคมการผลิตขนาดมหึมาที่ใช้ทรัพยากรและพลังงานมหาศาล ไล่เลี่ยมากับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเอิกเกริก การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดำเนินไปอย่างนั้น ไม่สามารถหยุดยั้งได้เพราะเป้าหมายหลักคือการต่อสู้ความยากจน แม้สิ่งแวดล้อม ประเพณีวัฒนธรรม และวิถีชีวิตจะโดนทำลายแทบทั้งหมดก็ตาม

เพียงไม่กี่สิบปี ผืนป่าจำนวนมากกว่าครึ่งถูกทำลาย แหล่งน้ำมากมายปนเปื้อน มนุษย์รุกป่าเข้าไปสร้างเขื่อนในแทบทุกพื้นที่ ช่วงนั้นเอง ที่ขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมถือกำเนิดขึ้นเพื่อต่อสู้กับการล้างผลาญทรัพยากรธรรมชาติอย่างบ้าคลั่ง

ภาพถ่าย มูลนิธิสืบนาคเสถียร

จนถึงวันนี้ มูลนิธิสืบฯ ผลักดันเรื่องงานอนุรักษ์มากว่าสามสิบปี จากช่วงแรกเรามุ่งทำงานในพื้นที่ห้วยขาแข้ง ขยายสู่ป่าตะวันตก ตลอดทั้งชีวิตผมทำงานร่วมกับชุมชนในป่า เพื่อแก้ปัญหาใหญ่ของการรักษาป่าไม้เมืองไทย นั่นคือขอบเขตที่ไม่ชัดเจนในการพึ่งพิงผืนป่า ซึ่งคนชายขอบผู้อาศัยในป่ามาตั้งแต่บรรพบุรุษควรได้รับอย่างยุติธรรม

“การปกป้องป่าอย่างยั่งยืน เพื่อไม่ให้เกิดการรุกป่า ไม่ใช่การคาดโทษคนในป่าอย่างไม่ลืมหูลืมตา แต่เป็นการสร้างข้อกำหนดร่วมกันอย่างมีส่วนร่วม เมื่อไม่ถึงสองปีที่ผ่านมานี้เอง มูลนิธิสืบฯ ได้เข้าไปเป็นหนึ่งในกรรมมาธิการแก้ไขกฎหมายในส่วนนี้ นับเป็นความสำเร็จตามแผนยุทธศาสตร์การทำงานที่ได้วางไว้”

สืบ นาคเสถียร, มูลนิธิสืบนาคเสถียร, ผืนป่าตะวันตก, ห้วยขาแข้ง, ทุ่งใหญ่นเรศวร

หมุดหมายต่อไปที่ต้องพิชิต

ศศินบอกว่า อุดมคติในการทำงานตั้งแต่เริ่มก่อตั้งของมูลนิสืบฯ คือปกป้องห้วยขาแข้ง รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ สนับสนุนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า และสร้างความเป็นธรรมให้คนในผืนป่า

“วันนี้แม้จะยังมีปัญหาอยู่ไม่น้อย แต่หากมองหมุดหมายเหล่านั้นในภาพใหญ่ ก็นับว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง ในแง่ของการรักษาป่าและฐานทรัพยากรธรรมชาติ อย่างที่ห้วยขาแข้ง สัตว์ป่าหลาย ๆ ชนิด ต่างทยอยเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

“ในขณะที่เราทำงานเพื่อมุ่งสู่หมุดหมายในอุดมคติตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อสามสิบปีก่อน ระหว่างทางของการต่อสู้มีปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่กว่าถาโถมเข้ามาอย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ในฐานะองค์กรสื่อสารอนุรักษ์ เราถือว่าเป็นความรับผิดชอบที่จะต้องสื่อสารเรื่องนี้ออกไปสู่สังคม”

Explorer Awards 2019

ศศินอธิบายว่า โควิด 19 เป็นเพียงคลื่นลูกเล็กและสัญญาณเตือนแรกถึงมหันตภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเท่านั้น คลื่นยักษ์ขนาดมหึมาที่สุดที่มนุษย์จะต้องเผชิญ คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่างหาก ที่กำลังเคลื่อนตัวเข้ามาพร้อมกับการสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่ 6 (Sixth Extinction)

“มูลนิธิสืบฯ ดำเนินงานเรื่องผืนป่าและพันธุ์สัตว์มาโดยตลอด ดังนั้นประเด็นของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องกับเรามากที่สุดจึงหนีไม่พ้นเรื่องการสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่หก ที่คนในสังคมส่วนใหญ่ยังไม่เห็นความเชื่อมโยง การที่สิ่งมีชีวิตในทะเลหรือผืนป่าล้มหายตายจากไป ต่างดูไกลตัว นี่คือปัญหาที่ทำให้การขับเคลื่อนประเด็นนี้ยังไปได้ไม่ไกลนัก ทั้งที่มันเกี่ยวข้องโดยตรงกับภาวะโลกร้อน (Global Warming) และการดำรงชีวิตของมนุษย์ในอนาคต”

“ตอนนี้ผมและทีมงานมูลนิธิสืบฯ กำลังเก็บรวบรวมข้อมูลและทำความเข้าใจเรื่องการสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่หก จากหลายแหล่งข้อมูลโดยเฉพาะจากหนังสือรางวัลพูลิตเซอร์ เรื่อง The Sixth Extinction: An Unnatural History โดยนักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกัน Elizabeth Kolbert ที่บอกเล่าเรื่องการสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งใหม่อย่างหลากมิติ เพื่อตีพิมพ์เป็นหนังสือซึ่งจะใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการทำงานในยุทธศาสตร์นับจากนี้ของเรา”

ศศินกล่าวว่า จากวันนี้ หมุดหมายหลักของมูลนิธิสืบฯ จะมุ่งไปสู่การสื่อสารและขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงเรื่องการสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่ 6

สืบ นาคเสถียร, มูลนิธิสืบนาคเสถียร, ผืนป่าตะวันตก, ห้วยขาแข้ง, ทุ่งใหญ่นเรศวร

การสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่ 6

ศศินอธิบายว่า ตลอดอายุขัยของโลก ประมาณ 5,000 ล้านปี มีเหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งใหญ่อุบัติขึ้นมาแล้ว 5 ครั้ง แต่ละครั้งเกิดจากเหตุและปัจจัยที่แตกต่างกัน

ครั้งแรก เมื่อประมาณ 443 ล้านปีก่อน เกิดยุคน้ำแข็งที่หนาวเย็นมากจนน้ำในทะเลแข็งตัวเป็นก้อนน้ำแข็ง ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลลดลงไปนับร้อยเมตร สิ่งมีชีวิตบนโลกส่วนใหญ่ในขณะนั้นที่อยู่ใต้น้ำ ยังไม่วิวัฒนาการขึ้นมาบนบก จึงพากันล้มตายและสูญพันธุ์ไปกว่า 60 เปอร์เซ็นต์

ครั้งที่ 2 เมื่อประมาณ 360 ล้านปีก่อน เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้สิ่งมีชีวิตใต้น้ำสูญพันธุ์ไปกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตน้ำตื้น เช่น ปะการังโบราณ

ครั้งที่ 3 เมื่อประมาณ 250 ล้านปีก่อน คาดว่าเกิดการปะทุของภูเขาไฟที่รุนแรงในไซบีเรีย และสร้างหมอกดำปกคลุมไปทั่วจนเกิดภาวะโลกร้อน ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตทั่วโลกสูญพันธุ์ไปกว่า 97 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นการสูญพันธุ์ใหญ่ที่ร้ายแรงที่สุด

ครั้งที่ 4 เมื่อประมาณ 200 ล้านปีก่อน ก่อนยุคไดโนเสาร์ เกิดเหตุระเบิกครั้งใหญ่ของภูเขาไฟใต้น้ำหลางมหาสมุทรแอตแลนติก ทำให้เกิดหมอกปกคลุมชั้นบรรยากาศและกลายเป็นภาวะโลกร้อนอีกครั้ง ส่งผลให้สิ่งมีชีวิต 3 ใน 4 สูญพันธุ์

ครั้งที่ 5 เมื่อ 65 ล้านปีก่อนในยุคที่ไดโนเสาร์ขยายพันธุ์ไปทั่วโลก เกิดการปะทุของภูเขาไฟและอุกาบาตชนโลกที่อ่าวเม็กซิโก ให้ไดโนเสาร์ทั้งหมดสูญพันธุ์ และเข้าสู่ยุคสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งหากไดโนเสาร์ไม่สูญพันธุ์ไปในวันนั้น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมรวมถึงมนุษย์จะไม่สามารถมีวิวัฒนาการมาเป็นสายพันธุ์อย่างปัจจุบันได้

ปากบารา
ปูทหารยักษ์ปากบารา เป็นปูชนิดใหม่ของโลกที่พบเฉพาะที่ปากบารา ประเทศไทยเท่านั้น

“ตอนนี้ โลกกำลังก้าวสู่การสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่หก” ศศินเอ่ยขึ้นก่อนอธิบายต่อว่า การสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งนี้ จะคล้ายคลึงกับครั้งที่ 2 และ 3 ซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งที่แตกต่างออกไปคือสาเหตุหลักไม่ได้มาจากธรรมชาติ แต่มาจากร่องรอยการกระทำของมนุษย์ในช่วงไม่กี่ศตวรรษที่ผ่านมา

ทั้งการบุกรุกจนเหลือพื้นที่ป่าน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ ไปจนถึงการแพร่กระจายของเอเลียนสปีชีส์ที่ทำลายสิ่งมีชีวิตท้องถิ่น รวมถึงปัญหามลพิษและขยะพลาสติกที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 จะเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 500 ล้านปี สิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ อย่างน้อย 3 ใน 4 ชนิดจะสูญพันธุ์จากโลกไปตลอดกาล

การดำรงอยู่ของโฮโมเซเปียนส์

ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา โลกสูญเสียประชากรสัตว์ป่าไปมากกว่า 68 เปอร์เซ็นต์ และในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 177 ชนิด ไม่ว่าจะเป็นลิงอุรังอุตัง กระทิงไปจนถึงช้าง มีประชากรลดลงอย่างต่อเนื่องมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของสายพันธุ์ ส่งผลต่อความหลากหลายของสายพันธุ์ในขั้นวิกฤติ

อีกหนึ่งในภัยคุกคาม คือการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ รากฐานที่สำคัญที่สุดของการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตรวมถึงมนุษย์ เนื่องจากสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในโลกตั้งแต่พืชพรรณ สัตว์น้อยใหญ่ รวมไปจนถึงเชื้อรา ล้วนดำรงอยู่อย่างเกื้อกูลกันเป็นโครงข่ายห่วงโซ่อาหารที่ค้ำจุนกันเป็นระบบนิเวศ

พรุโต๊ะแดง, ป่าพรุ
พรุโต๊ะแดง เป็นป่าพรุขนาดใหญ่ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ผืนสุดท้ายของเมืองไทย ภาพถ่ายโดย ปิ่น บุตรี

“เช่นเดียวกับการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซน์ในมหาสมุทร ส่งผลให้น้ำทะเลหลายแห่งมีสภาพเป็นกรด และนั่นทำให้สิ่งมีชีวิตในทะเลที่ต้องอาศัยแคลเซียมในการฟอร์มตัว หอย ปู สร้างเปลือกไม่ได้ การสูญพันธุ์แม้เพียงสายพันธุ์เดียว ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องไปทั้งระบบ อาจมีสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ที่ไม่เคยมีมาก่อนถือกำเนิดขึ้นแทนก็เป็นไปได้ ไม่มีใครรู้เพราะเราไม่ได้อยู่รอดูจนถึงวันนั้น”

ศศินกล่าวถึงถ้อยคำในหนังสือ Sapiens: A Brief History of Humankind โดย Yuval Noah Harari ที่ระบุว่า

“ในประวัติศาสตร์ตั้งแต่หมื่นปีก่อนยุคอารยธรรม มีร่องรอยของมนุษย์ที่ไหน สัตว์ขนาดใหญ่ที่ล่าแล้วคุ้มค่าในสร้างแหล่งอาหาร หรือสัตว์ใหญ่ที่เป็นภัยคุกคาม บรรพบุรุษโฮโมเซเปียนส์ของเรา ล่าพวกมันจนสูญพันธุ์ไปจนหมดสิ้น พร้อม ๆ กับการเปลี่ยนแปลงผืนป่าเป็นถิ่นอาศัยและกลายเป็นเมืองอย่างทุกวันนี้ และทั้งหมดกำลังนำไปสู่การสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่หก”

โลกร้อน 5 องศา

การสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่ 6 เชื่อมโยงไปกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิกาศและภาวะโลกร้อนอย่างแยกกันไม่ได้

“เมื่อปี 2000 อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นหนึ่งองศาเซลเซียส เพียงแค่องศาเดียวของน้ำทะเลที่สูงขึ้น Great Barrier Reef แนวปะการังที่มีขนาดใหญ่เกือบครึ่งหนึ่งของทวีปออสเตรเลียล้มตายจากการฟอกขาว และนั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น หลายปีต่อมาข่าวการฟองขาวของแนวปะการังทั่วโลกก็ถาโถมเข้ามา”

ในหนังสือ โลกร้อน 5 องศา โดยธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ Greenpeace ประเทศไทย ระบุถึงหายนะที่จะเกิดขึ้น หากมนุษย์ไม่ดำเนินการใด ๆ เพื่อหยุดยั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก

อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส ระบบนิเวศน์ปะการังเสียหายและธารน้ำแข็งหายไป ภาพถ่ายดาวเทียมหลายปีที่ผ่านมาเป็นประจักษ์พยานที่ชัดเจนที่สุดว่าหายนะที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ ไม่ใช่แค่การขู่เท่านั้นหรือตั้งสมมติฐานลอย ๆ เท่านั้น

ถ้าสภาวะโลกร้อนรุนแรงสู่จุดที่อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส ประชากรโลก 1,000 ล้านคนจะขาดแคลนน้ำ พร้อม ๆ กับป่าฝนทั่วโลกได้รับผลกระทบรุนแรง

เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้นไปแตะ 3 องศาเซลเซียส 20-50 เปอร์เซ็นต์ของพรรณพืชและสัตว์ป่าจะสูญพันธุ์

ในวันที่โลกร้อนถึง 4 องศาเซลเซียส ลูกหลานของเราจะเป็นเผชิญหน้ากับระบบเกษตรกรรมที่พังทลายทุกภูมิภาค รวมถึงปัญหาระดับน้ำทะเลขึ้นสูงถึงเมืองใหญ่ ๆ ของโลก

สืบ นาคเสถียร, มูลนิธิสืบนาคเสถียร, ผืนป่าตะวันตก, ห้วยขาแข้ง, ทุ่งใหญ่นเรศวร

ศศินอธิบายว่า หลายคนเข้าใจผิดคิดตื้นเพียงว่า ถ้าเช่นนั้นฉันจะไปซื้อที่ดินปลูกบ้านอยู่เชียงใหม่แทนแล้วกัน ประเด็นที่ใหญ่กว่านั้นคือปัญหานี้จะลุกลามใหญ่โตและเกี่ยวเนื่องกันไปหมด อาจถึงขั้นเกิดสงครามแย่งชิงทรัพยากรและที่ดิน

“สิ่งที่ควบคู่กันมาคืออัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลโดยตรงต่ออุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ซึ่งประเทศไทยเองเป็นหนึ่งในประเทศในข้อตกลงปารีส (COP21) เพื่อยับยั้งไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นถึง 2 องศา หรือ 1.5 องศา และถ้ามนุษยชาติทำไม่ได้ มหาภัยพิบัติตามลำดับอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นคงปรากฏในอีกไม่เกินร้อยปีข้างหน้า

“คำถามในวันนี้คือ เราเห็นความเชื่อมโยงของปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นหรือยัง และในระดับปัจเจกบุคคลเราสามารถทำอะไรได้บ้าง”

ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ไปด้วยกัน

ความจริงแล้ววิกฤติต่าง ๆ ที่ดำเนินอยู่ในโลก ภาคประชาสังคมคือคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่พยายามสร้างความตระหนักในสังคมมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่สังคมอาจจะไม่เห็นภาพ การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้เราเห็นพ้องกันได้เสียทีว่าวิกฤติที่สร้างแรงสั่นสะเทือนระดับโลกนั้นเป็นอย่างไร

โควิด 19 เป็นเพียงคลื่นลูกเล็กเท่านั้น และมันสะท้อนให้เห็นว่ารูปแบบเศรษฐกิจแบบเดิม มีปัญหาขนาดไหน มีความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมและแลกมาซึ่งความเสื่อมโทรมทางทรัพยากรธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะมีผลกระทบรุนแรงกว่าโควิด 19 อีกหลายเท่าตัว และอาจรุนแรงถึงขั้นสูญสิ้นเผ่าพันธุ์มนุษย์

“โควิด 19 คือสัญญาณเตือนขนาดใหญ่ครั้งแรก ว่าถึงเวลาเปลี่ยนความคิดที่มีต่อระบบการเศรษฐกิจอย่างที่เป็นอยู่อย่างจริงจัง เราต้องมองหารูปแบบอุตสาหกรรมใหม่ การท่องเที่ยวแบบใหม่ การทำเกษตรกรรมแบบใหม่บนฐานคิดใหม่ที่พอดีและพอเพียง เพื่อสู่กับภาวะวิกฤตินี้ เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คลื่นลูกที่ใหญ่ที่สุด”

ศศินกล่าวว่า การสร้างฐานข้อมูลเพื่อเตรียมเผยแพร่ความตระหนักเรื่องการสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่ 6 ของมูลนิธิสืบฯ อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ แต่เขาหวังอย่างเต็มเปี่ยมว่า จุดเริ่มต้นนี้จะนำไปสู่ความร่วมมือและการเกิดข้อถกเถียงของนักวิชาการหลากหลายแขนง เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมอย่างที่พวกเขาทำสำเร็จมาแล้วในยุทธศาสตร์คนกับป่า

Explorer Awards 2019

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการเคลื่อนไหวระดับโลกในประเด็นสิ่งแวดล้อม อย่างการที่มีฉันทามติเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)  ไปจนถึงข้อตกลงปารีส ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา เราจะเห็นได้ว่าประเด็นเหล่านี้เริ่มมีการพูดถึงในวงกว้าง ไม่เฉพาะแค่ภาคประชาสังคมอีกต่อไป อย่างในพื้นที่ทางการศึกษาหรือการเมืองนานาชาติ มีการพูดถึงประเด็นเหล่านี้อย่างเชื่อมโยงกับการขับเคลื่อนโลกมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

“ผมบอกน้อง ๆ ที่มูลนิธิสืบฯ เสมอ เราเป็นองค์กรที่เล็กมาก การจะไปหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือการสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่หก ดูจะใหญ่เกินกำลังสองมือของเรามาก แต่หน้าที่ในฐานะองค์กรอนุรักษ์ สิ่งที่เราทำได้คือดาหน้าต่อสู้ไปพร้อมกับองค์กรสิ่งแวดล้อมรวมถึงเพื่อนมนุษย์คนอื่น ๆ ในโลก ทำโดยวางจุดหมายเอาไว้เป็นแรงผลักดัน แต่ในอนาคตมันจะสำเร็จหรือไม่ ขอแค่เราได้ทำอย่างเต็มที่ก็เพียงพอ”

สัมภาษณ์และเรียบเรียง มิ่งขวัญ รัตนคช

ภาพถ่าย เอกรัตน์ ปัญญะธารา


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : เปิดบัญชีแดง สิ่งมีชีวิต 31 สายพันธุ์ล่าสุดที่ สูญพันธุ์ จากโลกไปแล้วตลอดกาล

Recommend