บนทางหลวงชนบทสายหนึ่งทางเหนือของแคลิฟอร์เนีย รถยนต์คันหนึ่งที่แล่นผ่านในเดือนกรกฎาคม เกิดยางแตก ขอบโลหะครูดกับไหล่ทาง สะเก็ดไฟเล็กๆกลายเป็นไฟไหม้ลามผืนป่าแห้งแล้ง ลุกฮือเป็นพายุเพลิงที่พัดทำลายพื้นที่หลายร้อยตารางกิโลเมตร ทำให้ทุกสิ่งที่ขวางทางราพณาสูร เมื่อไฟมุ่งหน้าสู่เมืองเรดดิง คีท บีน ก็เตรียมอุปกรณ์ใหม่ให้พร้อม ได้แก่ รถพ่วงที่ขนรถยนต์ไฟฟ้าเล็กๆ สองคัน อุปกรณ์ตรวจวัด และท่อสารพัด กับเครื่องมือสีขาวที่ดูคล้ายประภาคารจำลอง
บีนเป็นนักบรรยากาศศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเดวิส ห่างจากเมืองเรดดิงไปทางใต้ราว 240 กิโลเมตร กว่าเขาจะต่อรถพ่วงเข้ากับท้ายรถของตัวเองและเริ่มขับขึ้นไปทางเหนือของรัฐ ไฟป่าคาร์ (Carr Fire) เมื่อปี 2018 ซึ่งได้ชื่อนี้เพราะเกิดใกล้โรงไฟฟ้าคาร์ ก็กลายเป็นไฟป่าใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์แคลิฟอร์เนียแล้ว มันคร่าชีวิตคนไปหกคน เผาต้นไม้ ทุ่งหญ้า กระท่อมบนภูเขา เสาไฟ และรถที่จอดทิ้งไว้ ที่ชานเมืองเรดดิง ไฟเพิ่งเผาย่านชานเมืองชื่อเลกเคสวิกเอสเตตส์ ซึ่งก็คือโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดของบ้านเดี่ยว ทั้งฉนวนกันความร้อน กระเบื้องมุงหลังคา ตู้เย็น และสีทาบ้าน
รอบไฟป่าคาร์มีแต่ควัน ซึ่งลอยคละคลุ้ง ปกคลุม และแผ่ไกลออกไปจากเปลวไฟจริงๆหลายพันกิโลเมตร ในบรรดาสารพัดสิ่งปนเปื้อนในอากาศที่เราหายใจ บีนสนใจ ควันพิษ จากไฟป่ามากที่สุด
เขาอยากรู้อย่างแน่ชัดว่ามีอะไรอยู่ในนั้นกันแน่ เคมีของไฟป่าแต่ละครั้งต่างกันอย่างไร และไฟขนาดยักษ์ ที่ไม่เคยมีมาก่อนในศตวรรษนี้ส่งผลอย่างไรต่อมลพิษทางอากาศทั่วโลกและต่อสุขภาพของมนุษย์ ในแถบตะวันตกของอเมริกาเหนือและในออสเตรเลีย เท่าที่วัดจากขนาดและจำนวนครั้งที่เกิดไฟป่า ปี 2018 ถือว่าสาหัสที่สุดในประวัติศาสตร์ ก่อนที่ปี 2020 จะทำลายสถิตินั้นลง
“เหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่งในช่วงชีวิต” บีนบอกและเสริมว่า “ตอนนี้มันเกิดขึ้นทุกฤดูร้อน นั่นคือปัญหาใหญ่ด้านสาธารณสุขเลยครับ”
ด้วยเหตุนี้บีนจึงไปที่ย่านเลกเคสวิกเอสเตตส์ในเมืองเรดดิง ที่นั่นพื้นดินไหม้เกรียม ชาวเมืองอพยพออกไปก่อนแล้ว บ้านหลายหลังเหลือแต่ฐานรากคุกรุ่น เขาผูกรถพ่วงและเสียบปลั๊กเครื่องวัด ซึ่งก็คือชุดเซนเซอร์และเครื่องปั๊มลมที่ซับซ้อน เขาหยิบท่อและจอภาพจากรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งทำหน้าที่เป็นแบตเตอรี่เคลื่อนที่ชาร์จไฟสำหรับป้อนอุปกรณ์ทั้งหมด ตาและจมูกของเขาแสบร้อน “เลวร้ายอย่างที่สุดเลยครับ” เขาบอก
แต่เหมาะที่สุดสำหรับงานของเขา ถึงแม้เปลวไฟจะลามผ่านจุดนี้ไปแล้ว บีนกับนักวิจัยคนอื่นๆรู้ดีว่า ไอระอุสามารถก่อควันพิษเข้มข้นขึ้นเองได้ พวกเขารู้ว่าการสร้างที่อยู่อาศัยจำนวนมากในละแวกหรือใกล้เคียงผืนป่าทำให้เกิดชุมชนที่เปราะบาง เมื่อภูมิอากาศที่อุ่นขึ้นทำให้ป่าแห้งแล้งกลายเป็นเชื้อไฟอย่างดี พื้นที่ลักษณะนี้เรียกว่า เขตรอยต่อระหว่างป่ากับเมือง (Wildland-Urban Interface: WUI) พวกเขารู้ว่าไฟขนาดใหญ่ที่ไหม้เขตรอยต่อนี้จะก่อให้เกิดควันขนาดใหญ่ นั่นคือมลพิษจากผืนดินที่มอดไหม้บวกกับมลพิษจากวัสดุและสิ่งปลูกสร้าง ก่อให้เกิดส่วนผสมอันตราย
อะไรอยู่ในส่วนผสมนั้นกันแน่ และจะเกิดอะไรขึ้นกับมนุษย์และสัตว์อื่นๆที่สูดควันจากไฟขนาดใหญ่เช่นนั้นเข้าไป คำถามเหล่านี้เป็นเรื่องเร่งด่วนขึ้นทุกทีในความพยายามทำความเข้าใจและลดมลพิษทางอากาศ และคำตอบอาจยากกว่าที่เราคิด ลองคิดถึงวิธีนำควันจากไฟป่าจริงๆเข้าไปยังห้องปฏิบัติการวิจัยดู เราต้องทำตัวเหมือนนักล่าพายุ อธิบายเหตุผลอย่างชัดเจนให้ตำรวจที่ปิดถนนเข้าใจ หรือไม่ก็ต่อพ่วงท่อดูดควันไว้กับเครื่องบินขนส่งซี-130 ที่บินตรงเข้าไปในควันไฟป่า เหมือนที่ทีมวิจัยทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าตอนเกิดไฟป่าในรัฐโคโลราโดและไอดาโฮช่วงฤดูร้อนปี 2018
“เราเปลี่ยนเครื่องบินเป็นห้องปฏิบัติการเคมีบินได้ค่ะ” เอมิลี ฟิชเชอร์ นักบรรยากาศศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคโลราโดสเตต ผู้นำทีมวิจัยที่วิเคราะห์สิ่งที่พบในควัน บอก ควันนั้นประกอบด้วยคาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรเจนไซยาไนด์ และก๊าซอื่นๆอีกกว่าร้อยชนิด รวมถึงฝุ่นละเอียดอันตรายอย่างพีเอ็ม 2.5 อันตรายเฉียบพลันที่สุดต่อสุขภาพนั้นไม่มีข้อกังขา ไฟป่าก่อมลพิษ ไม่ว่าจะเป็นควันจาก “ธรรมชาติ” หรือจากเขตรอยต่อระหว่างป่ากับเมือง และแค่สูดควันไม่กี่วันก็มากพอจะส่งผู้ป่วยโรคหืดหรือโรคที่ไวต่อการระคายเคืองอื่นๆเข้าห้องฉุกเฉินได้แล้ว
จากหลักฐานที่นักวิทยาศาสตร์ถือว่า “ยังไม่แน่ชัด” มีความเป็นไปได้เช่นกันว่า การสูดควันจากไฟป่าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในเซลล์ที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคปอด โรคหลอดเลือดสมอง และอาจเกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์ด้วย แต่การหาวิธีที่ดีที่สุดเพื่อตรวจสอบความเชื่อมโยงเหล่านี้คือสิ่งท้าทายยิ่งสำหรับนักวิจัย เราจุดไฟป่าจริงๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในการทดลองไม่ได้ พวกเขาต้องคำนึงถึงความเครียดทางกายและทางอารมณ์ที่เกิดจากไฟป่า แม้กระทั่งสำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในเส้นทางผ่านของเปลวไฟ และควันเองก็ผันแปรไม่หยุดนิ่งด้วย ขณะที่ส่วนประกอบต่างๆของมันได้รับความร้อน เย็นตัวลง และทำปฏิกิริยากัน
แน่นอนว่ามหันตไฟทำลายมากกว่าอากาศที่เราหายใจเข้าไป และหลายครั้งข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาไฟป่าต่างๆ ก็มีทั้งน่าครั่นคร้าม แพงลิ่ว และขัดกับสามัญสำนึก ที่น่าครั่นคร้ามคือ ต้องหยุดภาวะโลกร้อนซึ่งทำให้ป่าร้อนขึ้น ใบไม้แห้ง ต้นไม้ตาย และทำให้เกิดสภาพอากาศพิลึกพิลั่น เช่น ฟ้าผ่า 14,000 ครั้งในปี 2020 ซึ่งจุดชนวนให้เกิดอภิมหาไฟ อันซับซ้อนหรือไฟป่าที่กินพื้นที่กว่า 4,000 ตารางกิโลเมตร เมื่อเดือนสิงหาคมในแคลิฟอร์เนีย
ส่วนราคาแพงลิ่วก็คือ การทำให้ป่าบางลงอย่างยิ่งด้วยการชักลากซากต้นไม้และกำจัดเศษแห้งอื่นๆที่สะสมอยู่มากเพราะเรามัวเสียเวลาดับไฟป่าอยู่หลายปี นี่คืองานช้างที่ต้องใช้เครื่องจักรและแรงงานมหาศาล
และที่ขัดกับสามัญสำนึกคือ การใช้ไฟดับไฟ ปล่อยให้ไฟขนาดเล็กที่ไม่เป็นอันตรายต่อบ้านเรือนได้ลุกไหม้มากขึ้น นี่คือวิธีธรรมชาติที่ช่วยกำจัดเศษซากเชื้อไฟและแผ้วถางเพื่อการระบัดใหม่ ชนพื้นเมืองเข้าใจอย่างดีว่า การชิงเผาคือเครื่องมือหนึ่งในการจัดการที่ดิน และข้อเสนอแก้ปัญหามหันตไฟเกือบทั้งหมดจะมีคำร้องให้ทำการเผาตามกำหนด หรือการจุดไฟเผาป่าที่วางแผนอย่างดีโดยคำนึงถึงลมและผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยใกล้เคียงอย่างรอบคอบมากขึ้น แน่ละว่าไฟขนาดเล็กเหล่านี้ก็มีควันเช่นกัน แต่ไม่มากเท่า โดนัลด์ ชไวเซอร์ นักวิจัยคุณภาพอากาศจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเมอร์เซด บอกว่า “ไม่มีทางเลือกที่ ‘ไร้ควัน’ จริงๆหรอกครับ”
เรื่อง ซินเทีย กอร์นีย์
ภาพถ่าย สจวร์ต แพลลีย์
สามารถติดตามสารคดี ที่ใดมีไฟ ที่นั่นมีควันพิษ ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนเมษายน 2564
สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/category?magazineHeadCode=NG&product_type_id=2