อากาศเป็นพิษ ชีวิตถึงตาย

มลพิษทางอากาศ อากาศเป็นพิษ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรปีละเจ็ดล้านรายและอาจเป็นอันตรายได้แม้จะอยู่ในระดับต่ำ แต่เป็นปัญหาที่เราแก้ได้

ตอนที่โควิด-19 เริ่มระบาดไปทั่วโลก ฟรานเชสกา โดมินิซี สงสัยว่ามลพิษทางอากาศทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสูงขึ้น ผู้คน ในเขตที่มีมลพิษมีแนวโน้มจะเป็นโรคเรื้อรังมากกว่า และผู้ป่วยเหล่านั้นก็เสี่ยงต่อโควิด-19 มากที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น ภาวะ อากาศเป็นพิษ อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอและทำให้ทางเดินหายใจอักเสบ ลดทอนความสามารถของร่างกายในการต้านทานไวรัสทางเดินหายใจ

โดมินิซี อาจารย์ด้านชีวสถิติจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มีความพร้อมเป็นพิเศษที่จะทดสอบเรื่องนี้ เธอกับเพื่อนร่วมงานใช้เวลาหลายปีสร้างฐานข้อมูลพิเศษ ซึ่งเปรียบเทียบข้อมูลสุขภาพของคนอเมริกันหลายสิบล้านคนกับข้อมูลของอากาศที่พวกเขาหายใจแบบวันต่อวันมาตั้งแต่ปี 2000

โดมินิซีซื้อข้อมูลที่ละเอียดยิบ (แต่นิรนาม) ของผู้สูงอายุชาวอเมริกันราว 60 ล้านคน นั่นเป็นครึ่งหนึ่งของฐานข้อมูล ส่วนอีกครึ่งเป็นความสำเร็จน่าทึ่งในตัวเอง นั่นคือนักวิทยาศาสตร์หลายสิบคน นำโดยโดมินิซีกับโจเอล ชวาร์ตซ์ นักระบาดวิทยาจากฮาร์วาร์ด ทำโครงการที่แบ่งประเทศสหรัฐฯออกเป็นตารางขนาดหนึ่งกิโลเมตรเป็นครั้งแรก จากนั้นก็ให้โปรแกรมคำนวณระดับสารก่อมลพิษประจำวันในตารางแต่ละช่องติดต่อกันนานกว่า 17 ปีแล้ว

คนขายถ่านหินใช้พลั่วตักถ่านหินดิบเคยเป็นภาพชินตาริมถนนในอูลานบาตอร์ ครอบครัวหนึ่งอาจเผาถ่านหินถึง สามตันในฤดูหนาว ตอนนี้รัฐบาลห้ามเผาถ่านหินดิบและยอมให้ใช้ถ่านหินแปรรูปได้ แต่มลพิษทางอากาศยังคงสูงในระดับอันตราย

ข้อมูลสองส่วนนี้เอื้อให้โดมินิซีกับเพื่อนร่วมงานศึกษาผลกระทบของมลพิษทางอากาศในทุกซอกมุมของสหรัฐฯได้เป็นครั้งแรก และพวกเขาก็ได้ข้อสรุป ที่น่ากังวลบางประการ ในการศึกษาเมื่อปี 2017 พวกเขาพบว่า แม้กระทั่งในพื้นที่ที่คุณภาพอากาศได้มาตรฐานระดับประเทศแล้ว มลภาวะยังเกี่ยวข้องกับอัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้น นั่นหมายความว่า “มาตรฐานก็ยังไม่ปลอดภัย” โดมินิซีอธิบาย

สองปีต่อมา ทีมวิจัยรายงานว่า การเข้ารับการรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ พุ่งสูงเมื่อระดับมลพิษเพิ่มขึ้น ข้อค้นพบเหล่านี้สนับสนุนหลักฐานกองโตที่บ่งชี้ถึงอันตรายของพีเอ็ม 2.5 อนุภาคฝุ่นละอองที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตร (ไมครอน) หรือเล็กกว่าเส้นผมมนุษย์ราว 30 เท่า อนุภาคฝุ่นเหล่านั้นบางชนิด เช่น เขม่า อาจเข้าสู่กระแสเลือดได้ นักวิทยาศาสตร์พบพวกมัน รวมทั้งอนุภาคที่เล็กจิ๋วยิ่งกว่านั้นอีกอยู่ในหัวใจ สมอง และรก

ไอหมอกลอยในอากาศ ขณะที่คนงานสร้างเขื่อนในฟาริดาบาด ใกล้กรุงเดลี อินเดีย ประเทศนี้มีเมืองที่ติดอันดับมลพิษทางอากาศสูงสุดเก้าในสิบแห่งของโลก ประมาณการว่ามีชาวอินเดีย 1.7 ล้านคนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากมลพิษ เมื่อปี 2019

เมื่อเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลก โดมินิซีกับทีมงานตัดสินใจอย่างรวดเร็วที่จะตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศ ทั่วประเทศโดยเทียบเคียงกับจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 แยกตามเขตพื้นที่ที่มหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮ็อบกินส์จัดทำขึ้น ผลเป็นไปตามคาด อัตราการเสียชีวิตจากไวรัสสูงกว่าในเขตที่ค่าพีเอ็ม 2.5 สูงกว่า ในระดับโลก ทีมงานรายงาน ไว้เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า มลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็กคิดเป็นร้อยละ 15 ของการเสียชีวิตจากโควิด-19 แต่ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกที่มลพิษทางอากาศรุนแรงตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 27

อากาศสกปรกทำให้คนเสียชีวิตมากกว่าและด้วยความถี่สูงกว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มากนัก

ย่านดาร์อิกห์ในกรุงอูลานบาตอร์แออัดไปด้วยผู้คนที่อพยพมาจากต่างจังหวัด ซึ่งเป็นคนเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนที่เข้าเมืองหลวงมาแสวงหาการศึกษาและหางานทำ พวกเขาอาศัยอยู่ในเพิงพักที่สร้างง่ายๆ หรือในเต็นท์ทรงกลมที่เรียกว่า แกร์ และเผาถ่านหินให้ความอบอุ่นในฤดูหนาวที่หนาวจัด

จีนยังคงเป็นผู้นำโลกในแง่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ แต่ก็ประสบความสำเร็จในการขจัดมลพิษทางอากาศในช่วงที่ผ่านมาด้วย ขณะที่การแก้ปัญหาของอินเดียยังไร้ประสิทธิภาพเป็นส่วนใหญ่ ตามฐานข้อมูลขององค์การอนามัยโลก เมืองต่างๆในอินเดียมีค่าพีเอ็ม 2.5 สูงสุดเก้าในสิบอันดับแรก ต้นทุนที่เป็นมนุษย์นั้นน่ากลัวยิ่ง นั่นคือการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรปีละเกือบ 1.7 ล้านรายในอินเดีย

แหล่งที่มาของมลพิษในอินเดียนั้นมีมากจนน่าวิงเวียน ไฟจากการเผาขยะคุกรุ่นบนท้องถนนที่ขยะเกลื่อนกลาดไม่ได้รับการจัดเก็บ ไฟฟ้าที่ดับบ่อยๆ ทำให้การใช้เครื่องปั่นไฟพลังดีเซลเป็นเรื่องปกติ ชาวบ้านและคนไร้บ้านในเมือง เผาไม้ ขี้วัว และกระทั่งพลาสติกเพื่อประกอบอาหารและให้ความอบอุ่น ทุกปีในฤดูใบไม้ร่วง เกษตรกรจะเผาไร่นาเพื่อกำจัดตอซังข้าวและเศษวัสดุอื่นๆ หลังเก็บเกี่ยว

คนงานกวาดพื้นโรงงานแปรรูปถ่านหินแห่งหนึ่งในอูลานบาตอร์ ซึ่งนำถ่านหินดิบมาทำเป็นก้อนกลมเพื่อใช้กับเตาหุงต้มในครัวเรือน

กระทั่งชาวยุโรปผู้มีหัวก้าวหน้าด้านสิ่งแวดล้อมก็เผชิญมลภาวะเลวร้ายกว่าที่คนอเมริกันต้องทนมาก ในยุโรปตะวันออกและยุโรปกลาง ควันจากถ่านหินที่ทำลายสุขภาพและสภาพภูมิอากาศยังคงลอยจากปล่องไฟของบ้านเรือนและโรงไฟฟ้า ในลอนดอน ควันจากถ่านหินก็เคยปกคลุมเมือง แต่ตอนนี้ สหราชอาณาจักรและเพื่อนบ้านในยุโรปต้องรับเคราะห์กรรมจากเชื้อเพลิงพิษอีกอย่างแทน นั่นคือดีเซล

แน่ละว่าไม่ได้มีแค่ดีเซลกับถ่านหินเท่านั้นที่ปนเปื้อนอากาศในยุโรปหรือที่อื่นๆ ควันจากการเผาไม้ในเตาผิงหรือ เตาอบที่อัดแน่นไปด้วยพีเอ็ม 2.5 ก็เป็นปัญหารุนแรงขึ้นเรื่อยๆ การล็อกดาวน์เมื่อปีที่แล้วเปิดโอกาสไม่คาดคิดที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้เห็นว่า การที่แหล่งก่อมลพิษบางอย่างยุติลงชั่วคราวส่งผลอย่างไร ขณะที่ไวรัสระบาดหนักทางเหนือ ของอิตาลีในฤดูใบไม้ผลิ วาเลนตินา โบเซตตี กับมัสซีโม ทาโวนี สามีภรรยานักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันเศรษฐศาสตร์ และสิ่งแวดล้อมอาร์เอฟเอฟ-ซีเอ็มซีซีของยุโรปในเมืองมิลาน ต้องอยู่บ้านกับลูกชายสามคน

“แทนที่จะเครียดใส่กันเองและลูกๆ ถึงจุดหนึ่งเราก็คิดว่า เอาล่ะ เรามีข้อมูลนี้อยู่” โบเซตตีบอกฉัน

เครื่องจักรพ่นละอองน้ำเพื่อลดฝุ่นที่ไซต์ก่อสร้างแห่งหนึ่งในเดลี ฝุ่นดังกล่าวซึ่งอาจปนเปื้อนสารเคมีอันตราย คือแหล่งมลพิษทางอากาศที่สำคัญของเมือง ไฟจากการหุงหาอาหารและการเผาขยะ เครื่องปั่นไฟพลังดีเซล และโรงไฟฟ้าพลังถ่านหิน คือตัวการทำให้อากาศเสียเช่นกัน

ทั้งๆ ที่การขนส่งและอุตสาหกรรมเกือบทั้งหมดต้องหยุดชะงัก แต่ทั้งคู่กลับพบว่า คุณภาพอากาศกลับดีขึ้นไม่มากอย่างที่คนท้องถิ่นหลายคนคิด “หนังสือพิมพ์บอกว่า ท้องฟ้าเป็นสีฟ้า ทุกอย่างสวยงาม” โบเซตตีบอกและเสริมว่า “ไม่จริงเสียทีเดียวค่ะ” จากอุปกรณ์ตรวจวัดที่อยู่ห่างจากถนนหรือโรงงาน ค่าพีเอ็ม 2.5 ลดลงแค่ร้อยละ 16 ส่วนไนโตรเจนไดออกไซด์ลดลงแค่ร้อยละ 33 ปรากฏว่าภาคส่วนสำคัญที่ยังคงก่อมลพิษทั้งที่คนอยู่บ้านกัน ก็คือภาคการเกษตร

อุตสาหกรรมการเกษตรยุคใหม่เป็นตัวก่อมลพิษหลัก การศึกษาชิ้นหนึ่งจัดอันดับให้ภาคเกษตรกรรมเป็นแหล่งก่อ พีเอ็ม 2.5 แหล่งใหญ่ที่สุดในยุโรป ภูมิภาคแถบตะวันออกของสหรัฐฯ รัสเซีย และเอเชียตะวันออก มูลสัตว์ปริมาณมหาศาลกับปุ๋ยเคมีปล่อยแอมโมเนียซึ่งทำปฏิกิริยากับสารก่อมลพิษอื่นๆในอากาศ ทำให้เกิดอนุภาคขนาดจิ๋ว นักวิทยาศาสตร์ รู้เรื่องนี้มานานแล้ว แต่โบเซตตีหวังว่า การแสดงเหตุผลตามความเป็นจริงอย่างชัดเจนอาจผลักดันให้ภาคการเมือง ลงมือแก้ไขปัญหา

เรื่อง เบท การ์ดเนอร์
ภาพถ่าย มาตีเยอ ปาเลย์

สามารถติดตามสารคดี อากาศเป็นพิษ ชีวิตถึงตาย ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนเมษายน 2564

สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/category?magazineHeadCode=NG&product_type_id=2


อ่านเพิ่มเติม ที่ใดมีไฟ ที่นั่นมีควันพิษ

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.