ประโยชน์ที่ได้อาจไม่คุ้มเสีย เสียงคัดค้านของข้อตกลงเสรีการค้า CPTPP

CPTPP ข้อตกลงเสรีการค้า เมื่อผลประโยชน์มาพร้อมผลกระทบเชิงลบที่ต้องรับมือ หากไทยจะกระโจนเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิก

รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ยืนยันรัฐบาลไม่มีวาระประชุมลับหรือลงมติเรื่อง CPTPP มีแค่การขอเวลาศึกษาเพิ่มเติมอีก 50 วัน

หลังจากที่ เพจเฟซบุ๊กของกลุ่มจับตาการเข้าร่วมสนธิสัญญาต่าง ๆ ชื่อ FTA Watch ได้เผยแพร่เอกสารฉบับหนึ่ง ที่อ้างว่ารัฐบาลไทยอาจลงนามเข้าร่วมข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก (CPTPP) จนทำให้เกิดแฮชแท็ก #NoCPTPP ขึ้นเป็นอันดับ 1 ในทวิตเตอร์ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เนื่องจากกังวลว่า ราคายาอาจสูงขึ้นและอาจทำให้เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เพาะปลูกเองไม่ได้อีกต่อไป

ล่าสุด นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ได้ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ ปฏิเสธข่าวนี้ โดยระบุว่า “ไม่มีการประชุมลับ และไม่มีการลงมติ เรื่องที่เข้ามาคือ ขอขยายระยะเวลาศึกษาเพิ่มอีก 50 วันเพื่อความรอบคอบ”

นิยามของ CPTPP

SCB Economic Intelligence Center อธิบาย CPTPP หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership ไว้ว่าคือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก โดยเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐาน และกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งในประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ

ความตกลงนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2006 มีชื่อเดิมว่า TPP (Trans-Pacific Partnership) และมีสมาชิกทั้งหมด 12 ประเทศ แต่หลังจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ในตอนนั้นถอนตัวออกไปเมื่อต้นปี 2017 ประเทศสมาชิกที่เหลือก็ตัดสินใจเดินหน้าความตกลงต่อ โดยใช้ชื่อใหม่ว่า CPTPP ปัจจุบัน สมาชิกซีพีทีพีพี มีทั้งหมด 11 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม

ความแตกต่างระหว่าง ซีพีทีพีพี กับ ทีพีพี คือขนาดของเศรษฐกิจ และการค้าที่เล็กลง แต่มีกฎเกณฑ์ที่ผ่อนคลายมากขึ้น รายงานจากธนาคารโลกระบุว่า ขนาดเศรษฐกิจรวมของซีพีทีพีพี หลังจากสหรัฐฯ ถอนตัวออกไป ลดลงจาก ร้อยละ 38 ของเศรษฐกิจโลก คิดเป็นร้อยละ 13 ส่วนขนาดการค้ารวมลดลงจากร้อยละ 27 เป็นร้อยละ 15

ภาพโดย JULIUS SILVER/PIXABAY

ผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย จากการเข้าร่วม CPTPP

ในแง่ของเศรษฐกิจ ประเทศไทยพึงพิงการนำเข้าและส่งออก โดยเป็นหนึ่งในเสาหลักเศรษฐกิจ ที่มีมูลค่าสูงถึงร้อยละ 123 ของ GDP ทำให้ปัจจัยเกื้อหนุนของไทยจากซีพีทีพีพี นั้นสามารถแบ่งออกเป็น 3 เรื่องดังนี้

01 การส่งออก ซีพีทีพีพีจะเพิ่มโอกาสการส่งออกของไทยไปยังประเทศสมาชิกซีพีทีพีพี โดยเฉพาะตลาดแคนาดา และเม็กซิโกที่ไทยมีสัดส่วนการส่งออกอยู่ประมาณร้อยละ 2 โดยเป็นสินค้ากลุ่มอาหารทะเลแปรรูป ข้าว ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้สินค้ากลุ่มนี้มีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้น

02 การลงทุนจากต่างประเทศ ที่จะการเข้าร่วมซีพีทีพีพี จะช่วยดึงดูดการลงทุนที่ต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศสมาชิกซีพีทีพีพี

03 ความสามารถทางการแข่งขัน ซีพีทีพีพีจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทย จากการปรับปรุงกฎระเบียบภายในประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของซีพีทีพีพี ที่ได้ชื่อว่าเป็นความตกลงทางการค้าคุณภาพสูง

ตัวอย่างกฎเกณฑ์ที่ซีพีทีพีพี สนับสนุน ได้แก่ กฎหมายสิทธิแรงงาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การสนับสนุนการแข่งขันอย่างเท่าเทียมระหว่างธุรกิจชาวท้องถิ่น และชาวต่างชาติ เป็นต้น ซึ่งการปฏิรูปกฎหมายเหล่านี้จะการสร้างผลเชิงบวกกับไทยในระยะยาว

ภาพโดย PASHMINU MANSUKHANI/PIXABAY

ในทางกลับกัน 2 ธุรกิจของไทยที่โดนผลกระทบในเชิงลบจากการเข้าร่วมซีพีทีพีพี คือ

01 ธุรกิจบริการ ในส่วนของภาคบริการ ซีพีทีพีพีใช้เงื่อนไขการเจรจาแบบ Negative List หรือการระบุรายการที่ไม่เปิดเสรี หมายความว่า ประเทศสมาชิกสามารถระบุหมวดธุรกิจบริการที่ไม่ต้องการเปิดเสรีได้ ส่วนที่หมวดธุรกิจบริการอื่น ๆ ที่ไม่ได้เลือกไว้ในข้อตกลงจะต้องเปิดเสรีต่อนักลงทุนต่างชาติทั้งหมด ดังนั้น สำหรับไทยที่เป็นประเทศที่ค่อนข้างปิดในหมวดบริการ การเปิดเสรีนี้อาจทำให้ธุรกิจบริการภายในประเทศเสียประโยชน์ให้นักลงทุนต่างชาติไป

02 อุตสาหกรรมเกษตร มีความเป็นไปได้สูงที่ไทยจะเผชิญกับการแข่งขันที่มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรจากแคนาดา เช่น ปุ๋ย และถั่วเหลือง ที่จะเข้ามาตีตลาดไทยหลังการเปิดเสรีด้านการค้า นอกจากนี้ ซีพีทีพีพียังมีข้อบัญญัติให้ประเทศสมาชิกต้องเข้าร่วม ในอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV (International Union for the Protection of New Varieties of Plants) ที่จะเปิดโอกาสให้ต่างชาติ สามารถนำพันธุ์พืชพื้นเมืองไทย ไปทำการวิจัยเพื่อสร้างพันธุ์พืชใหม่แล้วจดสิทธิบัตรได้

ข้อนี้ส่งผลเสียต่อเกษตรกรไทยโดยตรง เพราะถ้านำพันธุ์พืชใหม่นี้มาปลูกแล้ว จะไม่สามารถเก็บเมล็ดไปปลูกต่อได้เหมือนเมื่อก่อน ต้องซื้อเมล็ดใหม่เท่านั้น ทำให้ต้นทุนการเกษตรยิ่งสูงขึ้น

ภาพโดย 41330/PIXABAY

ข้อกังวล 5 ประการเกี่ยวกับ CPTPP ของคนไทย

iLaw ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับผลกระทบของซีพีทีพีพีกับประชาชนชาวไทยที่น่ากังวลอยู่ 5 เรื่องด้วยกัน คือ

01 ประเทศไทยต้องการปรับแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช เพื่อเข้าเป็นสมาชิก UPOV 1991 ซึ่งห้ามเกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครองไว้ปลูกในฤดูกาลถัดไป ที่ผ่านมา รัฐบาลชุดนี้โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พยายามผลักดันมาหลายครั้ง รวมทั้งพยายามผ่าน (ร่าง) พ.ร.บ. ข้าว ด้วย

อย่างไรก็ตาม ความพยายามทั้งหมดก็ถูกเสียงคัดค้านจากประชาชนจนไม่สามารถทำได้ เมื่อเป็นเช่นนี้การเข้าซีพีทีพีพีจะบังคับให้ความตกลงต่างประเทศมาบังคับให้กฎหมายในประเทศเป็นไปตามนั้น

02 ยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์แก่องค์การเภสัชกรรม ในการจัดซื้อยาของภาครัฐ และต้องให้รัฐวิสาหกิจด้านการซื้อหรือขายสินค้าและบริการ โดยไม่เลือกปฏิบัติและเป็นไปตามกลไกตลาด ยกเลิกการอุดหนุนหรือให้ความช่วยเหลือรัฐวิสาหกิจที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อรัฐวิสาหกิจ ธุรกิจ และอุตสาหกรรมของต่างประเทศ

ในโครงสร้างการให้บริการประชาชนของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจมีพันธกิจทางสังคม เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า และยารักษาโรค สินค้าและบริการเหล่านี้ไม่ใช่สินค้าปกติ แต่รัฐบาลต้องดูแลให้ประชาชนเข้าถึงได้ด้วย หากรัฐวิสาหกิจไม่สามารถทำหน้าที่ทางสังคมได้ อาจกลายเป็นว่า การเข้าถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานอาจมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงได้ยากขึ้น

ภาพโดย PUBLICDOMAINPICTURES/PIXABAY

03 ต้องปรับแก้ประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากไทยกำหนดข้อห้ามเกี่ยวกับฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินกว่าที่ซีพีทีพีพีกำหนด โดยเฉพาะเรื่องรูปภาพคำเตือนบนฉลาก เรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อการออกกฎหมาย ระเบียบ และกำหนดนโยบาย เพื่อคุ้มครองประชาชน คุ้มครองสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อม จะไม่สามารถทำได้หากเกินขอบเขตที่ซีพีทีพีพีกำหนด

04 การคุ้มครองการลงทุน และการให้เอกชนฟ้องร้องภาครัฐ หรือที่เรียกว่า กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (ISDS) ที่ผ่านมานโยบายของประเทศไทยมีชัดเจนเรื่องการคุ้มครองการลงทุน ที่เป็นการลงทุนโดยตรงหรือลงทุนจริงเท่านั้น

แต่สิ่งที่ไทยต้องยอมรับหากจะเข้าซีพีทีพีพี คือ การลงทุนใน Portfolio หรือการลงทุนโดยการซื้อหุ้น ซึ่งเป็นการลงทุนที่ไม่ได้รับอนุมัติคุ้มครองเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น กรณีคดีของวอลเตอร์ บาว กับทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ ก็เข้าข่ายลักษณะนี้ เพราะนักลงทุนไม่ได้รับการอนุมัติการคุ้มครองที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่มาอ้างขอรับการคุ้มครองการลงทุน

05 ประเทศไทยต้องยอมรับการที่จะให้สินค้าที่ปรับสภาพเป็นของใหม่ (Remanufactured Goods) โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับเครื่องมือทางการแพทย์ ข้อนี้เป็นความกงัวลในแง่ของการรับเอาขยะเครื่องมือแพทย์มาทิ้งที่ประเทศไทย เพราะในความตกลงฯ ระบุว่า “ห้ามปฏิบัติต่อสินค้าดังกล่าวเหมือนสินค้าใช้แล้ว” ขณะที่ประเทศไทยไม่มีเทคโนโลยีในการตรวจสอบในเรื่องนี้อย่างมีประสิทธิภาพ หากรับเข้ามาแล้ว แต่มีอายุการใช้งานต่ำ ก็ไม่ต่างกับรับซากเครื่องมือมาทิ้งที่ประเทศไทย

ภาพโดย QUANG NGUYEN/PIXABAY

บทเรียนจากประเทศสมาชิก CPTPP

เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ประเทศเวียดนาม กล่าวในงานเสวนา “ซีพีทีพีพี โอกาสในการส่องออกของเวียดนามไปยังตลาดอเมริกา” ณ กรุงฮานอยว่า หลังมีผลบังคับใช้มาแล้ว 2 ปี CPTPP ช่วยให้เวียดนามสามารถเพิ่มการส่งออกไปยังทวีปอเมริกา รวมถึงช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างเวียดนามและทวีปอเมริกา

ประเทศเวียดนามให้สัตยาบันเข้าร่วม ซีพีทีพีพี เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2018 ในปี 2020 แม้จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่การค้าระหว่างเวียดนามและทวีปอเมริกากลับมีมูลค่า 111,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ร้อยละ 16 โดยในจำนวนนี้   การส่งออกของเวียดนามมีมูลค่า 89,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 31.7 ของการส่งออกทั้งหมด และคิดเป็นอัตราการเติบโตต่อปีที่ร้อยละ 21.7

การส่งออกสินค้าจากเวียดนามไปยังประเทศสมาชิก ซีพีทีพีพี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันผู้ประกอบการในทวีปอเมริกาแสวงหาคู่ค้าจากเวียดนามเพิ่มมากขึ้น เพราะเชื่อมั่นในคุณภาพผลิตภัณฑ์จากเวียดนาม อย่างไรก็ตามซีพีทีพีพี ทำให้ผลกระทบทางเชิงลบในประเภทสินค้าบางอย่าง สำหรับเวียดนาม คือสินค้าส่งออกประเภทยานยนต์ สินค้าเกษตรแปรรูป ผัก และผลิตภัณฑ์จากนม จากการแข่งขันอันรุนแรงของตลาด ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องวางกลยุทธแก้ไขกันต่อ

โดยมีการส่งเสริมคุณภาพของสินค้าภายในประเทศ ควบคู่ไปกับสินค้าส่งออกอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เพราะแม้ว่าเวียดนามจะเข้าร่วมซีพีทีพีพี มาแล้ว 2 ปี แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็ยังไม่เข้าใจซีพีทีพีพี อย่างทะลุปรุโปร่ง จึงยังต้องมีการส่งเสริมข้อมูลในส่วนนี้

และที่สำคัญที่สุดคือการมองเห็นเป้าหมายเดียวกัน และทำงานสอดประสานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อรับมือกับผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้น และใช้ผลกระทบเชิงบวกมาผลักดันเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในประเทศได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพที่สุด

ภาพโดย TOOKAPIC/PIXABAY
สืบค้นและเรียบเรียง กองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย
ภาพปก VAN LONG BUI/PIXABAY

ข้อมูลอ้างอิง


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : มองนโยบายสิ่งแวดล้อมพลิกกลับของสหรัฐฯ ในยุคของโจ ไบเดน

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.