โลกมีมหาสมุทรแห่งใหม่แล้ว คุณสามารถบอกชื่อทั้ง 5 แห่ง ได้หรือไม่

เนื่องในวันมหาสมุทรโลก ปี 2021 นักวาดแผนที่ของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก กล่าวว่ากระแสน้ำที่เชี่ยวกรากของทวีปแอนตาร์ติกมีความโดดเด่น และเหมาะสมที่จะมีชื่อเป็นของตนเอง นั่นคือ “มหาสมุทรใต้”

สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับ มหาสมุทรใต้ ที่ล้อมรอบทวีปแอนตาร์กติกา พวกเขาทราบดีว่ามันไม่เหมือนที่อื่น

ใครก็ตามที่เคยย่างเข้าไปต่างยากที่จะอธิบายถึงสิ่งความพิศวงของมัน แต่พวกเขามีความเห็นที่ตรงกันคือ ธารน้ำแข็งมีสีฟ้ามากขึ้น อากาศเย็นลง ภูเขาที่ดูน่ากลัว และภูมิประเทศที่น่าดึงดูดใจมากกว่า เมื่อเทียบกับที่อื่นที่คุณสามารถเข้าถึงได้” เซธ ไซโครา-บอดี นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลขององค์การมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติอเมริกาหรือ NOAA และเป็นนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก กล่าว

นับตั้งแต่เนชั่แนล จีโอกราฟฟิก เริ่มสร้างแผนที่ในปี 1915 เรารู้จักมหาสมุทรทั้งหมด 4 แห่งได้แก่ มหาสมุทรแอตแลนติก แปซิฟิก อินเดีย และอาร์กติก แต่ในวันมหาสมุทรโลก (8 มิถุนายน ของทุกปี) นี้ มหาสมุทรใต้จะถูกเพิ่มเข้าไปเป็นมหาสมุทรแห่งที่ห้าของโลกอย่างเป็นทางการ

มหาสมุทรใต้เป็นที่รู้จักของนักวิทยาศาสตร์มานานแล้ว แต่เนื่องจากไม่เคยมีข้อตกลงระดับนานาชาติ จึงไม่ได้มีการยอมรับอย่างเป็นทางการ” อเล็กซ์ เทต จากสมาคมนักภูมิศาสตร์ของเนชั่แนล จีโอกราฟฟิก กล่าว 

นักภูมิศาสตร์ต่างถกเถียงกันว่า น่านน้ำรอบ ๆ ทวีปแอนตาร์กติกามีลักษณะเฉพาะตัวมากพอที่จะมีชื่อของตัวเองหรือไม่ หรือเป็นเพียงส่วนขยายทางใต้ที่หนาวเย็นของมหาสมุทรแปซิฟิก แอตแลนติก และอินเดีย

บางทีมันก็เป็นเรื่องทางภูมิศาสตร์ที่โง่เขลา” เทตกล่าว เขาและคณะกรรมสมาคมนโยบายแผนที่ของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก กำลังพิจารณาถึงความเปลี่ยนแปลงนี้มาหลายปี เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์และสื่อมวลชลต่างใช้คำว่ามหาสมุทรใต้มากขึ้นเรื่อย ๆ 

เขาเสริมว่า การเปลี่ยนแปลงนี้สอดคล้องกับความคิดริเริ่มของสมาคมต่อการอนุรักษ์มหาสมุทรต่าง ๆ ของโลก โดยมุ่งเน้นไปที่ภูมิภาคที่ต้องการความสนใจเป็นพิเศษในการอนุรักษ์ เพื่อนำมาขยายให้เป็นที่รับรู้ของสาธารณชน

เราติดป้ายไว้ตลอด แต่ป้ายนั้นต่างจากมหาสมุทรอื่น ๆ เล็กน้อย” เทตกล่าวและเสริมว่า “เราต้องศึกษาการแบ่งแยกทางนิเวศวิทยาและการเปลี่ยนแปลง และนี่จะเป็นขั้นตอนสุดท้าย” 

ซิลเวีย เอิร์ล นักชีววิทยาทางทะเล และนักสำรวจของเนชั่นเนล จีโอกราฟฟิก กล่าวชื่นชมแผนที่ที่ปรับปรุงล่าสุดนี้

เป็นเรื่องที่วิเศษมากที่เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ได้กำหนดให้น่านน้ำรอบแอนตาร์กติกาเป็นมหาสมุทรใต้ ในขณะที่มีมหาสมุทรเพียงแห่งเดียวที่เชื่อมต่อกัน” เอิร์ลเขียนในแถลงการณ์ทางอีเมล และอธิบายว่า “มหาสมุทรใต้ล้อมรอบแอนตาร์กติกาด้วยกระแสน้ำอันเกรี้ยวกราด เป็นมหาสมุทรเพียงแห่งเดียวที่เชื่อมกับอีกสามมหาสมุทร และโอบล้อมทวีปหนึ่งอย่างสมบูรณ์ แทนที่จะถูกล้อมด้วยพื้นดินของทวีป

ขอบเขตของมหาสมุทรใต้

เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ได้ยอมรับมหาสมุทร 5 แห่งของโลก โดยมหาสมุทรใต้ครอบคลุมพื้นที่น่านน้ำที่ล้อมรอบทวีปแอนตาร์กติกาออกไปถึงละติจูด 60 องศาใต้ ยกเว้นช่องแคบเดรก และทะเลสโกเซีย

มหาสมุทรที่ถูกกำหนดโดยกระแสน้ำ

ในขณะที่มหาสมุทรอื่น ๆ ถูกกำหนดพรมแดนโดยแผ่นดินของทวีป แต่มหาสมุทรใต้ถูกกำหนดโดยกระแสน้ำที่ล้อมรอบมัน

นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า กระแสน้ำหมุนเวียนแอนตาร์กติก หรือ ACC เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 34 ล้านปีก่อน ตั้งแต่ช่วงที่ทวีปแอนตาร์กติกแยกออกจากทวีปอเมริกาใต้ ทำให้น้ำทะเลไหลผ่านได้โดยไม่มีสิ่งกีดขวาง

ACC หมุนเวียนล้อมรอบทวีปแอนตาร์กติกาจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออก โดยมีเส้นละติจูด 60 องศาใต้เป็นเส้นกำหนดเขตแดนของมหาสมุทรใต้ ซึ่งน้ำทะเลภายใน ACC จะเย็นกว่าและมีความเค็มน้อยกว่าน้ำทะเลทางตอนเหนืออื่น ๆ เล็กน้อย

มันดึงเอาน้ำจากมหาสมุทรแอตแลนติก แปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดียโดยขยายจากพื้นผิวสู่พื้นมหาสมุทร ทำให้ ACC ขับเคลื่อนน้ำมากกว่ากระแสน้ำในมหาสมุทรอื่น ๆ เกิดสิ่งที่เรียกว่า สายพานลำเลียง หนุมเวียนกระแสน้ำเป็นระบบ มวลน้ำเย็นและหนาแน่นจะจมลงสู่พื้นมหาสมุทรลำเลียงความร้อนไปทั่วโลก อีกทั้งยังช่วยกักเก็บคาร์บอนไว้ยังใต้พื้นมหาสมุทร ทั้งสองวิธีนี้ทำให้มหาสมุทรมีผลกระทบสำคัญต่อสภาพอากาศโลก

เหล่านักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาว่ากิจกรรมจากมนุษย์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นไปเปลี่ยนแปลงมหาสมุทรใต้อย่างไร พวกเขารู้ว่าน้ำทะเลที่เคลื่อนผ่าน ACC กำลังอุ่นขึ้นและแผ่นน้ำแข็งหรือชั้นน้ำแข็งในบริเวณที่อยู่ใกล้ทวีปแอนตาร์กติกกำลังละลายอย่างรวดเร็ว แต่ยังไม่รู้ชัดเจนว่าสิ่งนี้ส่งผลกระทบมากน้อยเพียงใด 

สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนใคร

ในตอนนี้ด้วยกระแสน้ำเย็นที่รุนแรงของมหาสมุทรใต้ ทำให้แอนตาร์กติกามีความเย็นและมีระบบนิเวศที่ไม่เหมือนมหาสมุทรอื่น สิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์อยู่ที่นั่นและไม่พบที่อื่นของโลกเลย

มหาสมุทรใต้ “ครอบคลุมระบบนิเวศทางทะเลที่มีเอกลักษณ์และเปราะบาง ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลที่ยอดเยี่ยมเช่น วาฬ เพนกวิน และแมวน้ำ” เอนริก ซาลา นักสำรวจอีกหนึ่งคนของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก กล่าว

นอกจากนี้ มหาสมุทรใต้มีผลกระทบต่อระบบนิเวศในที่อื่น ๆ ด้วย เช่น วาฬหลังค่อมกินสัตว์จำพวกเคยที่อยู่รอบทวีปแอนตาร์กติกา และอพยพไปทางเหนือช่วงฤดูหนาว สู่ระบบนิเวศที่แตกต่างกันมากนอกชายฝั่งของทวีปอเมริกาใต้และอเมริกากลาง นกทะเลบางชนิดก็เช่นกัน

สมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก หวังที่จะส่งเสริมการอนุรักษ์ด้วยการดึงความสนใจไปที่มหาสมุทรใต้

ผลกระทบของการประมงเชิงอุตสาหกรรมต่อสายพันธุ์ต่างๆ เช่น เคย และปลาบางชนิด เป็นปัญหาในมหาสมุทรใต้มานานหลายทศวรรษ จนกระทั่งในปี 1982 จึงออกมาตรการควบคุมการประมงในพื้นที่ และในปี 2016 ได้ประกาศพื้นที่คุ้มครองทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลกในทะเลรอสส์นอกทวีปแอนตาร์กติกา รวมถึงหลายหน่วยงานต่างทำงานเพื่อสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อปกป้องแหล่งอาหารที่สำคัญที่สุดของมหาสมุทรใต้ เช่น นอกคาบสมุทรแอนตาร์กติก

หลายประเทศทั่วโลกสนับสนุนการปกป้องพื้นที่บางส่วนเหล่านี้จากการประมงเชิงอุตสาหกรรม” ซาลากล่าว

การสร้างแผนที่โลกอย่างที่เป็น

นับตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1970 สมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ได้จ้างนักภูมิศาสตร์เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงแผนที่ทุกแผนที่ที่ได้เผยแพร่ เทตเป็นหนึ่งในนั้นที่ร่วมงานกับเรามาตั้งแต่ปี 2016

เขากล่าวว่า เขาใช้แนวทางของนักข่าวในการทำงาน มันเกี่ยวข้องกับการติดตามเหตุการณ์ปัจจุบันและติดตามว่าใครควบคุมพื้นที่ใดบนโลก

สิ่งสำคัญที่ต้องรู้คือนโยบายแผนที่ ไม่ใช่นโยบายของเนชั่นแนล จีโกราฟฟิก เกี่ยวกับความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์” เขากล่าว ยกตัวอย่างเช่นแผนที่ของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก แสดงให้เห็นว่าสหราชอาณาจักรควบคุมหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ แม้ว่าอาร์เจนตินาก็อ้างสิทธิ์เช่นกัน ในพื้นที่พิพาท เทตทำงานร่วมกับคณะนักภูมิศาสตร์และบรรณาธิการ เพื่อกำหนดสิ่งที่แสดงถึงภูมิภาคทางภูมิศาสตร์ให้แม่นยำที่สุด

การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยมักเกิดขึ้นในระยะเวลาสัปดาห์หรือเดือน แต่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เช่น การประกาศเขตมหาสมุทรใต้ เป็นเรื่องที่ใช้เวลานาน

โดยปกติแล้ว เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ได้ปฏิบัติตามหลักขององค์กรอุทกศาสตร์ระหว่างประเทศ หรือ IHO เกี่ยวกับการเรียกชื่อทางทะเล แม้ว่าจะไม่ได้รับผิดชอบโดยตรงในการกำหนดชื่อเหล่านี้ IHO ก็ได้ทำงานร่วมกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญแห่งสหประชาชาติ ว่าด้วยชื่อทางภูมิศาสตร์ เพื่อสร้างมาตราฐานการตั้งชื่อระดับสากล ซึ่งในปี 1937 IHO ได้ยอมรับมหาสมุทรใต้แต่ก็ยกเลิกในปี 1953 ต่อมาโดยอ้างว่าเกิดการโต้แย้ง นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มหาสมุทรใต้ยังคงไม่ได้รับการตกลงอย่างเป็นทางการจากสมาชิกในการคืนสถานะให้เป็นมหาสมุทร

อย่างไรก็ตาม คณะผู้บริหารชื่อภูมิศาสตร์ของสหรัฐฯ ก็ได้ใช้ชื่อนี้มาตั้งแต่ปี 1999 และในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 ทาง NOAA ได้รับรองอย่างเป็นทางการถึงสถานะของมหาสมุทรใต้แล้ว

เทตกล่าวว่า นโยบายใหม่ของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก จะส่งผลต่อการใช้แผนที่ของเด็ก ๆ ในโรงเรียน

ผมคิดว่าผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งคือการศึกษา” เขากล่าว “นักเรียนจะเรียนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโลกของมหาสมุทรผ่านมหาสมุทรที่คุณกำลังศึกษาอยู่ ฉะนั้น ถ้าคุณไม่รวมมหาสมุทรใต้ คุณก็จะไม่ได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของมหาสมุทรแห่งนั้นอย่างเฉพาะเจาะจง

แปลและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ความงามใต้โลกน้ำแข็งแห่งแอนตาร์กติกา ที่น้อยคนได้สัมผัส

การดำน้ำของเพนกวินจักรพรรดิ, ทะเลรอสส์, แอนตาร์กติกา
ภาพถ่ายโดย Paul Nicklem
© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.