ตามหาต้นไม้ ณ ปลาย ใต้สุดของโลก

ในบรรดาไม้ยืนต้นนับล้านล้านต้นในโลกที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆ นี้ ชนิดใดกันที่เติบโตอยู่ ใต้สุดของโลก ทีมของเราฟันฝ่ากระแสลม เกรี้ยวกราดของแหลมฮอร์นเพื่อค้นหามัน

ต้นไม้ทั้งเจ็ดงอกและเติบโตอยู่บนไหล่เขาใกล้ปลายติ่งใต้สุดของทวีปอเมริกาใต้ เหนือคลื่นที่ซัดบ้าคลั่งตรงบริเวณที่มหาสมุทรแปซิฟิกบรรจบกับมหาสมุทรแอตแลนติก

พวกมันไม่ได้น่าประทับใจอะไรนัก เป็นเพียงกิ่งก้านหงิกงอพันกันยุ่งเหยิง มีเปลือกสีเงินยวงซุกซ่อนอยู่ในพงหญ้าสูงมีอยู่สองสามต้นที่ตายไปแล้ว แต่ไม่มีต้นไหนเลยที่สูงเกินกว่าต้นขาของผม พวกที่ยังมีชีวิตอยู่เอนลู่และทอดยาว ไม่กี่เมตรไปตามพื้นดิน กระแสลมกราดเกรี้ยวกำราบให้ลำต้นของไม้พวกนั้นทอดยาวในแนวราบอย่างสิ้นเชิง

ไบรอัน บิวมา นักนิเวศวิทยาป่าไม้ (ซ้าย) และอันเดรส โฮลซ์ สำรวจเชิงผาที่เต็มไปด้วยหญ้าบนหัวแหลมของแหลมฮอร์นบนเกาะอิสลาออร์นอส จุดสุดท้ายในอเมริกาใต้ที่อาจมีไม้ยืนต้นขึ้นอยู่

เป็นเรื่องยากที่จะเห็นดีเห็นงามตามว่า ต้นไม้หงิกงอเหล่านี้คุ้มค่ากับการลงทุนลงแรงของพวกเราที่ดั้นด้น ตามหาพวกมัน เราบินข้ามมหาสมุทร โดยสารเรือเฟอร์รี 32 ชั่วโมง นั่งเรือไม้เหมาลำอีกกว่า 10 ชั่วโมง ซึ่งขับโดยกะลาสีผู้สารภาพเอาตอนมาถึงครึ่งทางแล้วว่า ไม่เคยเดินเรือในท้องทะเลอันตรายแถบนี้เลย ตอนนั้นเองที่เรามาถึง จุดหมายปลายทาง คือ อิสลาออร์นอส เกาะตรงปลายแหลมฮอร์น ผืนแผ่นดินสุดท้ายในเตียร์ราเดลฟวยโก ที่นั่นเราปีนเขาฝ่าลมที่พัดแรงจนเราถึงกับหกคะเมน ลื่นล้มบนขี้นกเพนกวิน และผลุบหายไปท่ามกลางพุ่มบาร์แบร์รีที่สูงท่วมอก

เราดั้นด้นมาถึงที่นี่เพื่อทำแผนที่พรมแดนที่ไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใดทำมาก่อน เรามาเพื่อค้นหาไม้ยืนต้นที่อยู่ทาง ใต้สุดของโลก

“ต้นนี้แหละ” ไบรอัน บิวมา นักนิเวศวิทยาป่าไม้จากมหาวิทยาลัยโคโลราโดเดนเวอร์ กล่าว เขาสวมเสื้อกันฝนคลุมตั้งแต่ศีรษะจดปลายเท้า ยืนกางขาคร่อมเนินดิน ดูเข็มทิศอีกครั้งแล้วพึมพำว่า “เยี่ยม”

ต้นไม้ใต้สุดของโลกคือต้นบีชมาเจลลันหนึ่งในเจ็ดต้นซึ่งบางต้นตายไปแล้ว เมื่อโลกอบอุ่นขึ้น ป่าจะคืบคลาน ลงใต้สู่แอนตาร์กติกาหรือไม่ ตอนนี้ นักวิจัยสามารถติดตามการเคลื่อนตัวดังกล่าวโดยใช้ตัวอย่างที่พบนี้เป็นจุดอ้างอิงสำหรับเปรียบเทียบต่อไป

บิวมาบอกผมว่า ในโลกธรรมชาติมีไม่กี่สิ่งที่สามารถระบุได้ว่าเป็นจุดจบที่แท้จริง เป็นตัวสุดท้าย ของชนิดพันธุ์ หรือไม่ก็เป็นตัวชายขอบ เขาล้วงสายวัดออกมาจากเป้ แล้วเริ่มวัดลำต้นที่เอนราบ ห่างจากต้นอื่นไปทางใต้ไม่กี่เซนติเมตร “ผมคิดว่าเราควรรู้ว่าสิ่งเหล่านี้อยู่ตรงไหนนะครับ” เขาบอก

ไม้ยืนต้นที่อยู่ใต้สุดก็คือ Nothofagus betuloides หรือต้นบีชมาเจลลัน ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่ทีมของกัปตันคุกเก็บได้ครั้งแรก วงปีระบุว่ามันมีอายุ 41 ปี เส้นผ่านศูนย์กลางไม่ถึงห้าเซนติเมตรดี และสูงน้อยกว่า 60 เซนติเมตร จากตรงนั้น มันเอนไปด้านข้างและเติบโตอยู่ในกอหญ้า

มันไม่ใช่ต้นโอ๊กที่แผ่กิ่งก้านสวยงาม แต่บิวมาก็พอใจ “น่าทึ่งจริงๆ ครับ” เขากล่าว

นักวิจัยเรือนยอดต้นไม้ อีวาน ดีแอซ ปีนขึ้นต้นบีชมาเจลลัน ซึ่งยืนต้นอยู่บนลาดเขาที่ช่วยกำบังลม พวกมันเติบโตสูงผิดปกติสำหรับเกาะอิสลาออร์นอส ซึ่งต้นไม้ส่วนใหญ่ไม่สูงไปกว่าตัวดีแอซเอง

ทั่วโลก ป่ากำลังโยกย้ายถิ่นฐาน ขณะที่สภาพภูมิอากาศอบอุ่นขึ้น แนวต้นไม้ขยับสูงขึ้นไปตามภูเขาต่างๆ และชนิดพันธุ์ไม้ยืนต้นยังขยายเขตการกระจายพันธุ์ไปสู่ละติจูดที่สูงขึ้น เมื่อต้นไม้เคลื่อนย้าย ระบบนิเวศก็เปลี่ยนแปลง ในอะแลสกา ฤดูเจริญเติบโตที่ยาวนานขึ้นในปัจจุบันทำให้ต้นหลิวเติบโตจนพ้นหิมะขึ้นมาในฤดูหนาว ดึงดูดกวางมูสและกระต่ายสโนว์ชูจากทิวเขาบรุกส์เรื่อยขึ้นไปจนถึงมหาสมุทรอาร์กติก ทวีปอาร์กติกและหลายส่วนของแอนตาร์กติกาเป็นภูมิภาคที่อุ่นขึ้นเร็วที่สุดในโลก

สองสามวันต่อมา เรานั่งเรือ โอเบฮาเนกรา ตัดข้ามช่องแคบบีเกิลอันสงบเงียบกลับไป หลังจากถูกลมและฝนซัดกระหน่ำ และนอนเบียดเสียดกันสามคนในเต็นท์ขนาดสองคนนาน 11 วัน ผมพร้อมสำหรับเบียร์และการอาบน้ำร้อนแล้ว บิวมายังคงอิ่มอกอิ่มใจกับความสำเร็จ งานวิจัยของเขาและเพื่อนร่วมงานสร้างบรรทัดฐานทางวิทยาศาสตร์ ในการศึกษาการเคลื่อนย้ายของป่า มันยังเจ๋งอีกด้วย

ในการค้นหาต้นไม้ที่อยู่ทางใต้สุดของโลก นักวิทยาศาสตร์สำรวจเกาะอิสลาออร์นอสที่มีลมกระโชกแรง บางครั้ง พวกเขาจำต้องเดินไปบนพุ่มหนาของต้นไม้และไม้พุ่ม โดยเคลื่อนตัวไปอย่างระมัดระวังไม่ให้ไถลร่วงลงเหวลึก

สถานที่นี้จะเปลี่ยนแปลงไปเพียงใด ขณะที่โลกอบอุ่นขึ้น เราบอกไม่ได้แน่ชัด อีก 20 ปีมันจะแตกต่างไปจากนี้ไหม ภูมิประเทศคล้ายทุ่งทุนดรานี้จะกลายเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ไหม กระแสลมที่เปลี่ยนแปลงตามสภาพภูมิอากาศ จะทำให้ชายป่าย้ายที่ไปอีกไหม เป็นไปได้ไหมที่สักวันหนึ่งนกจะกระจายเมล็ดพืชไปยังหมู่เกาะดีเอโกรามีเรซ ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางตะวันตกเฉียงใต้ 100 กิโลเมตร ทำให้ต้นไม้หยั่งรากในสถานที่ที่ปัจจุบันปราศจากต้นไม้

บิวมากล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจดูเหมือนเรื่องนามธรรม แต่แม้กระทั่งเด็กนักเรียนยังเข้าใจกระบวนการนี้ได้ ถ้าเขาสามารถแสดงให้เด็กๆ เห็นจุดที่พบต้นไม้ซึ่งยืนต้นอยู่ ณ จุดใต้สุดของโลกบนกูเกิลเอิร์ทได้ มันจะกลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้และสำคัญขึ้นมา

“แนวคิดมีมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วว่า จงมองหาจุด จุดทางกายภาพที่ผู้คนเห็นได้ จุดที่ระบุถึงชายชอบ” บิวมาบอก จากตรงนั้น เราสามารถเฝ้ามองโลกเคลื่อนผ่านมันไป

นกเพนกวินมาเจลลันรีบจ้ำไปตามหาดหินของเกาะเพื่อมุ่งหน้าสู่คอโลนีของพวกมัน หลังออกจับปลามาทั้งวัน นักวิจัยลุยฝ่าดงพืชหนา บางครั้งลื่นไปบนขี้ที่นกเพนกวินถ่ายไว้ระหว่างเดินเตาะแตะไปตามเส้นทางสายเดียวกัน

เรื่อง เครก เวลช์

ภาพถ่าย เอียน เทห์

สามารถติดตามสารคดี ตามหาต้นไม้ ณ ปลายใต้สุดของโลก ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมิถุนายน 2564

สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/category?magazineHeadCode=NG&product_type_id=2


อ่านเพิ่มเติม 9 ต้นไม้ในตำนานแห่งความทรงจำทั่วโลก

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.