โรคระบาด : ราคาจากการทำร้ายธรรมชาติ

การระบาดใหญ่ ของ โรคระบาด ไปทั่วโลกครั้งนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การที่เราสร้างความเสียหายต่อโลกได้บั่นทอนพลังของธรรมชาติในการปกป้องเราจากโรคภัยไข้เจ็บ

จากเมืองอู่ฮั่นในจีน “ตลาดสด” ที่เนื้อสัตว์ถูกชำแหละเดี๋ยวนั้น และสัตว์ป่าเป็น ๆ ถูกขายเป็นอาหารและยา ไวรัส อาจถูกส่งต่อผ่านทางสัตว์ป่าสู่มนุษย์ในช่วงปลายปี 2019 และภายในไม่กี่เดือน โรคระบาด อย่าง โควิด-19 ก็ทำให้ โฮโม เซเปียนส์ ผู้ล่าที่เหนือกว่าใคร ๆ พากันล้มตายเป็นเรือนแสน

การระบาดใหญ่ทั่วโลกครั้งนี้คือข้อพิสูจน์สำหรับบางสิ่งที่ผมเชื่อมั่นอย่างไม่ต้องสงสัย นั่นคือความหลากหลายทางชีวภาพเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสุขภาพของมนุษย์ และถึงที่สุดแล้ว คือความอยู่รอดของมนุษย์นั่นเอง

ผู้คนรับไวรัสและแบคทีเรียที่เป็นอันตรายต่าง ๆ จากการสัมผัสกับสัตว์ป่ามานานนับพัน ๆ ปี เมื่อมนุษย์รุกลํ้าเบียดเบียนถิ่นอาศัยในธรรมชาติ แย่งนํ้า อาหาร และดินแดนจากสัตว์ต่างๆ ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสของการสัมผัสทางกายภาพ และนำไปสู่ความขัดแย้งมากกว่าเดิม เช่นเดียวกับการระบาด

จุดแบ่งเขตระหว่างพื้นที่การเกษตรกับป่าฝนในอุทยานแห่งชาติอีกวาซูในบราซิล ซึ่งได้สูญเสียพื้นที่ป่าไปจำนวนมากในรายงานสถานการณ์การตัดไม้ทำลายป่ารอบโลก ภาพถ่ายโดย FRANS LANTING, NATIONAL GEOGRAPHIC

การศึกษาชิ้นหนึ่งในปี 2020 สำรวจความเกี่ยวข้องระหว่างความชุกชุม (abundance) ของชนิดพันธุ์ที่เป็นพาหะของไวรัสที่ทำให้เกิดโรครับจากสัตว์ (zoonotic disease) และความเป็นไปได้ที่จะแพร่กระจายสู่มนุษย์ นักวิจัยกลับไปค้นคว้าผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์จนได้ข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน 142 ชนิด และพบว่าสัตว์จำพวกหนู ไพรเมตและค้างคาว เป็นพาหะของไวรัสเหล่านี้มากกว่าชนิดพันธุ์อื่น ๆ

นักวิจัยยังพบด้วยว่า ความเสี่ยงของการแพร่กระจายไวรัสจากสัตว์สู่มนุษย์มีมากที่สุดในสัตว์ที่มีอยู่ชุกชุมมากกว่า เพราะพวกมันได้ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์ครอบครองแล้วความเสี่ยงจากสัตว์ต่าง ๆ ในมหาสมุทร ซึ่งกินพื้นที่มากกว่าร้อยละ 70 ของโลกล่ะ การตักตวงประโยชน์จากชีวิตในมหาสมุทรของพวกเราจะคุกคามสุขภาพของมนุษย์เองด้วยไหม ผมพบคำตอบระหว่างการสำรวจเกาะห่างไกลที่สุดบางเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลาง

ย้อนหลังไปเมื่อปี 2005 ผมจัดการเดินทางสำรวจเพื่อการวิจัยครั้งแรกไปยังคิงแมนรีฟและหมู่เกาะใกล้เคียง คิงแมนเป็นเกาะที่อยู่เหนือสุดของหมู่เกาะไลน์ ซึ่งประกอบด้วยเกาะปะการังและอะทอลล์ 11 แห่งที่ทอดยาว 2,350 กิโลเมตร พาดเส้นศูนย์สูตร การเดินทางไปยังเกาะที่อยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรสี่เกาะทำให้เกิดการทดลองตามธรรมชาติที่สมบูรณ์แบบในการเปรียบเทียบระดับผลกระทบของมนุษย์ที่มีต่อแนวปะการัง

ความสวยงามของแนวปะการังที่สมบูรณ์ อาจเลือนหายไปหากเราไม่ช่วยกันรักษาเอาไว้

เกาะคิงแมนไม่มีผู้อยู่อาศัย ส่วนเกาะพัลไมราที่อยู่ถัดลงมาทางใต้มีคนอาศัยอยู่ 20 คนซึ่งประจำอยู่ที่สถานีวิจัยและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ลงใต้ไปไกลกว่านั้นได้แก่เกาะเทรายนา (ตอนนั้นมีคนอาศัยอยู่ 900 คน) เกาะทาบูอารัน (2,500 คน) และเกาะคิริสมาส (5,100 คน) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐคิริบาตี เกาะทั้งสี่นี้อยู่ใกล้พอที่จะมีสภาพทางภูมิอากาศและสมุทรศาสตร์ พืชพรรณและสํ่าสัตว์เหมือน ๆ กัน ตัวแปรที่เปลี่ยนแปลงเกาะเหล่านั้น คือจำนวนมนุษย์ที่อาศัยอยู่

ทีมนักวิทยาศาสตร์ของเราออกเดินทางเพื่อประเมินความหลากหลายและความชุกชุมของสิ่งต่าง ๆ เช่น ไวรัส แบคทีเรีย สาหร่าย สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง และปลา อีกทั้งเพื่อวัดดูว่าระบบนิเวศปะการังเปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อมีการรบกวนของมนุษย์ในระดับต่าง ๆ เรานับและประเมินความชุกชุมและชีวมวลของทุกอย่างเท่าที่เราจะทำได้ สิ่งที่เราพบนั้นกระจ่างแจ้ง เมื่อมนุษย์ที่แม้จะมีแค่ไม่กี่ร้อยคน เริ่มจับปลา พวกเขาย่อมตัดเล็มห่วงโซ่อาหารลงมาจากด้านบนสุด และเมื่อจำนวนเพิ่มจากศูนย์ถึงแค่ไม่กี่พันคน แนวปะการังก็เปลี่ยนจากที่เคยมีปะการังและฉลามอยู่มากมายมาเป็นแนวปะการังที่ไม่มีฉลามเลยแต่มีปลาเล็ก ๆ และสาหร่ายอยู่มากมาย

ซากเรือซึ่งจมอยู่ที่ คีย์ ลาร์โก ในมลรัฐฟลอริดา คือปะการังเทียมสำหรับกลุ่มปลา smallmouth grunts โดยสะพานเรือนั้นถูกหุ้มไปด้วยปะการังที่สวยงาม และฟองน้ำที่กำลังเติบโต ภาพถ่ายโดย DAVID DOUBILET, NAT GEO IMAGE

ต่อมาในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ปี 2009 เราออกเดินทางสำรวจตามโครงการทะเลพิสุทธิ์ของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ไปยังเกาะห้าเกาะของหมู่เกาะไลน์ ซึ่งอยู่ใต้เส้นศูนย์สูตรและทุกเกาะไม่มีผู้อยู่อาศัย ที่นั่นเราพบสิ่งที่เคยพบที่เกาะคิงแมน นั่นคือนํ้าสะอาดและชีวมวลปลาที่สูงมาก รวมทั้งฉลามหลายชนิด และแนวปะการังที่มีปะการังมีชีวิตอาศัยอยู่เต็มไปหมด ในลากูนของมิลเลนเนียมอะทอลล์ เราพิศวงกับความชุกชมของหอยมือเสือ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพบในลากูนที่คิงแมนเช่นกัน

หอยมือเสือกรองนํ้าทะเลผ่านร่างกายและจับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจิ๋วจากนํ้ามาเป็นอาหาร เราสงสัยว่าพวกมันช่วยให้นํ้าทะเลสะอาดได้มากเพียงใด ฟอเรสต์เก็บนํ้าจากลากูน แล้วเติมลงไปในตู้เลี้ยงสัตว์นํ้าทดลองบนเรือของเรา บางตู้ใส่หอยมือเสือเป็นๆ เอาไว้ บางตู้ใส่แต่เปลือกหอยเปล่า ๆ และบางตู้ใส่ไว้แต่นํ้า จากนั้นเขาตรวจวัดความชุกชุมของแบคทีเรียและไวรัสในช่วงเวลาหนึ่ง

ผลการทดลองช่างน่าพิศวง หอยมือเสือกำจัดแบคทีเรียและไวรัสส่วนใหญ่จากนํ้าทะเลได้ภายใน 12 ชั่วโมง ขณะที่นํ้าในตู้อื่น ๆ เริ่มขุ่นและมีจุลินทรีย์อยู่เต็มไปหมด จากนั้นฟอเรสต์ใส่ ไวบริโอ ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงซึ่งเขานำมาด้วยลงไปในแต่ละตู้ (ยังจะมีใครเอา ไวบริโอ เดินทางไปด้วยอีก) แล้วก็เป็นอย่างที่คิด หอยมือเสือในตู้เลี้ยงสัตว์นํ้าทดลองลดจำนวนของ ไวบริโอ อย่างมีนัยสำคัญ

นี่เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ธรรมชาติควบคุมไวรัส หรือกรองไวรัสออกจากระบบ ซึ่งเราเพิ่งจะเข้าใจ หอยมือเสือถูกจับเพื่อเอาเนื้อและเปลือกจากแนวปะการังส่วนใหญ่ในมหาสมุทรแปซิฟิกและแทบสูญสิ้นไปในหลายพื้นที่ มนุษย์ไม่รู้ตัวเลยว่าได้เอาตัวกรองตามธรรมชาติ หรือหน้ากากเอ็น-95 ของลากูน ที่ช่วยปกป้องพวกเขาจากโรคภัยไข้เจ็บออกไปแล้ว

เราได้เห็นหลายครั้งหลายหนแล้วว่า สัตว์ป่าทั้งหลายมีบทบาทสำคัญที่ทำให้ชีวมณฑลของเราดำเนินต่อไปได้ ต่อให้เราไม่รู้ว่าส่วนใหญ่ทำอะไรบ้างก็ตาม ถ้าเราจะเรียนรู้สิ่งใดจากการศึกษาระบบนิเวศธรรมชาติอย่างที่อาจประยุกต์ใช้กับโรคระบาดต่างๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้แล้วละก็ สิ่งนั้นคือ แทนที่จะเข่นฆ่าสัตว์ป่าให้หมดสิ้นเพื่อตัดเส้นทางของโรคไปสู่มนุษย์ เราสมควรทำสิ่งตรงกันข้ามต่างหาก เราควรปกปักรักษาระบบนิเวศธรรมชาติที่เป็นบ้านของสัตว์เหล่านั้น และถ้าจำเป็นก็ช่วยให้พวกมันคืนสู่เส้นทางในการเจริญเติบโตได้เต็มที่ด้วยการคืนถิ่นอาศัยธรรมชาติให้สัตว์ทั้งหลาย

หากเราทำให้ถิ่นอาศัยต่างๆ เสื่อมโทรมลง สัตว์ต่างๆ จะเผชิญความเครียดและยิ่งทำให้ไวรัสแพร่กระจายมากขึ้น แต่ในทางกลับกัน ถิ่นอาศัยที่มีชนิดพันธุ์ของจุลินทรีย์ พืชพรรณและสํ่าสัตว์หลากหลาย กลับมีโรคภัยไข้เจ็บน้อยกว่า ความหลากหลายทางชีวภาพทำให้ไวรัสต่าง ๆ อ่อนกำลังลง และสร้างเกราะป้องกันตามธรรมชาติที่สามารถดูดซับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝันซึ่งมาจากเชื้อโรคต่าง ๆ ได้

การปราบปรามการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย หยุดยั้งการทำลายป่า ปกป้องระบบนิเวศที่ยังสมบูรณ์ ให้ความรู้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการบริโภคสัตว์ป่า เปลี่ยนแปลงวิถีในการผลิตอาหาร หย่าขาดจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้และต้องทำ

โลกธรรมชาติที่แข็งแรงคือยาต้านไวรัสที่ดีที่สุดของเรา

เรื่อง เอนริก ซาลา


อ่านเพิ่มเติม การปกป้องพื้นที่ธรรมชาติและสัตว์ป่าจะช่วยบรรเทาภาวะโรคระบาดใหม่ในอนาคตได้

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.