ความเหลื่อมล้ำใน ร่มเงา ของชุมชนในสหรัฐฯ

ในเมืองแดดแรงอย่างลอสแอนเจลิส ย่านรายได้ต่ำที่ขาดแคลน ร่มเงา ไม้ ทำให้ผู้อยู่อาศัยจำนวนมากเสี่ยงต่อความร้อนที่พุ่งสูงขึ้นเป็นพิเศษ นี่คือผลพวงของ การวางผังเมือง และนโยบายเหยียดเชื้อชาติที่มีมายาวนาน

มิเกล วาร์กัส จำได้ชัดเจนถึงครั้งแรกที่เขารู้ซึ้งในพลังของ ร่มเงา ไม้ ตอนนั้นเขาอยู่ประถมปลาย วิ่งไปมากลางสนามฟุตบอลที่มีหญ้าขึ้นรกของฮันทิงตันพาร์ก เมืองเล็กๆที่มีรางรถไฟและสายไฟแรงสูงวางตัดไปมาทางใต้ของย่านกลางเมืองลอสแอนเจลิส เขาวิ่งมากจนตัวร้อนจัดใต้แสงอาทิตย์แผดจ้า

เขารู้สึกตาพร่า หัวใจเต้นแรง และทั้งๆที่งุนงง วาร์กัสเดินโซซัดโซเซไปยังต้นสนแดงที่สูงตระหง่านใกล้ มุมตะวันตกเฉียงใต้ของสนาม ซึ่งเป็นไม้ใหญ่ที่สุดเกือบจะต้นเดียวที่มองเห็น

ใต้ต้นไม้ต้นนั้น ความวิงเวียนของวาร์กัสทุเลาลง อัตราการเต้นของหัวใจช้าลง เขาฟื้นคืนสติ มีเรี่ยวแรงขึ้นมาด้วยเงาอันร่มรื่นชื่นเย็นตรงนั้น

วาร์กัสมารู้หลังจากทำงานปลูกต้นไม้ว่า ร่มเงาไม้ธรรมดาๆนั้นมีอยู่ดาษดื่นในพื้นที่อื่นๆของลอสแอนเจลิส โดยเฉพาะย่านผู้มีอันจะกินซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว แต่ในย่านที่มีคนผิวดำและผิวสีน้ำตาลอยู่กันเป็นหลักอย่าง ฮันทิงตันพาร์ก ซึ่งประชากรร้อยละ 97 มีเชื้อสายฮิสแปนิก ร่มเงาไม้หดหายเข้าขั้นหายาก

เจมส์ โรคัส นักวางผังเมือง บอกว่า ชาวเมืองลอสแอนเจลิสจำนวนมาก โดยเฉพาะในย่านชาวลาติน เป็นเลิศ ในศิลปะการสร้างที่บังแดดทำเอง นั่นคือศิลปะ รัสกาชิสโม ซึ่งเป็นคำที่คนเชื้อสายเม็กซิโกเรียกการนำสิ่งเหลือใช้รอบตัวมาผสมผสานกันอย่างมีชีวิตชีวาและหลากหลาย เพื่อสร้างสิ่งที่เท่เก๋และใช้ประโยชน์ได้

ลอสแอนเจลิสไม่ใช่ฟีนิกซ์หรือแดลลัส อากาศที่นี่ไม่ร้อนไม่หนาว แต่ก็มีช่วงที่อากาศร้อนจนเป็นอันตรายด้วย และที่ไม่เหมือนเมืองอื่นใดเกือบทั้งหมดในสหรัฐฯก็คือ ความร้อนรุนแรงนั้นเกิดได้ตลอดปี การเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศทำให้ปัญหานี้เลวร้ายลง ถึงเวลา “ปิดตะวัน” แล้ว คริสโตเฟอร์ ฮอว์ทอร์น หัวหน้าฝ่ายออกแบบ ของลอสแอนเจลิส บอกและเสริมว่า ลอสแอนเจลิสต้องหาวิธีสร้างร่มเงาที่มีส่วนช่วยชีวิตผู้คนเพิ่มเติมให้เมือง

ลอสแอนเจลิสยุคใหม่เป็นเมืองที่โอบรับแสงแดด ไม่ใช่ร่มเงา ในช่วงปลายศตวรรษที่สิบเก้าถึงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ หลายเคาน์ตีในเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนียดึงดูดผู้อพยพจากแถบตะวันออกของสหรัฐฯด้วยภาพของ “แสงอาทิตย์ที่แทบ ไม่มีวันดับ” และเสน่ห์ล่อใจของแสงไฟในลอสแอนเจลิสก็ส่องฉายต่อมาด้วยแม่เหล็กดึงดูดอย่างฮอลลีวูด

การออกแบบผังเมืองในลอสแอนเจลิสคำนึงถึงการรับแสงอาทิตย์เป็นหลัก กฎหมายควบคุมอาคารมักกำหนดว่า อาคารหลังหนึ่งทอดเงาไปทางใดได้บ้างและได้นานเท่าไรในแต่ละวัน เพื่อไม่ให้บังแสงในลาน สวน หรือชานเรือน มากเกินไป สถาปนิกออกแบบอาคารให้โปร่งใสเพื่อรับแดดและให้แสงส่องถึงได้ทุกซอกมุม หลังวิกฤติพลังงานในทศวรรษ 1970 เมืองก็มีเหตุผลใหม่ที่จะให้แสงสว่างเข้าถึงทุกที่ ทุกวันนี้ ลอสแอนเจลิสมีกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์สูงกว่าเมืองอื่นใดในสหรัฐฯ

เลเดล เฮย์ส ปลูกต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ในย่านวัตส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ปลูกต้นไม้ 90,000 ต้น ในลอสแอนเจลิสภายในสิ้นปี 2021 และอีกมากหลังจากนั้น เฮย์สซึ่งทำงานให้องค์กรไม่แสวงกำไรนอร์ทอีสต์ทรีส์ เป็นผู้นำทีมคนหนุ่มสาวที่ส่วนใหญ่นำต้นไม้ไปปลูกในย่านที่ตนอยู่ ต้นไม้เหล่านี้จะต้องได้รับการดูแลอีกหลายปีกว่าจะให้ร่มเงา

แต่ในยุคของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แสงแดดในลอสแอนเจลิสไม่ได้เป็นเรื่องดีด้านเดียวอีกต่อไป หากไร้ซึ่งความพยายามอย่างจริงจังในระดับนานาชาติเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน คาดการณ์ว่าพอถึงกลางศตวรรษนี้ ลอสแอนเจลิสจะมีวันที่อุณหภูมิสูงเกิน 35 องศาเซลเซียสปีละ 22 วัน หรือสูงกว่าตัวเลขปัจจุบันกว่าสามเท่า ความร้อนเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในลอสแอนเจลิสแล้ว ถึงแม้หลายกรณีจะไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้อย่างชัดเจนว่าเกิดจากความร้อน ในช่วงที่เกิดคลื่นความร้อนเป็นเวลาสั้นๆ อัตราการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุเพิ่มสูงกว่าปกติร้อยละแปด เมื่อผ่านไปอีกสี่หรือห้าวัน ตัวเลขนั้นเพิ่มเป็นร้อยละ 25 และสูงถึงร้อยละ 48 ในกลุ่มประชากรสูงวัยทั้งผิวดำและ เชื้อสายลาติน

ในวันอากาศร้อน คนที่ตากแดดจะรู้สึกร้อนกว่าคนที่อยู่ในร่ม ถึงแม้อุณหภูมิอากาศจะเท่ากัน เพราะอุณหภูมินั้นวัดจากความเร็วในการเคลื่อนที่ของโมเลกุลอากาศ และความร้อนที่มันทำให้เกิดขึ้นในร่างกายของเราขณะปะทะกับ ตัวเรา แต่รังสีดวงอาทิตย์ทำให้ร่างกายของเราร้อนขึ้นได้ด้วย การอยู่ใต้แสงอาทิตย์โดยตรงอาจทำให้เรารู้สึกร้อนกว่าการอยู่ในร่มเงาใกล้ๆมากขึ้นถึง 11 องศาเซลเซียส

ร่มเงาไม้ส่วนใหญ่ในลอสแอนเจลิสอยู่ในชุมชนต่างๆ ซึ่งผู้อยู่อาศัยมีเงินพอจะใช้จ่ายเพื่อดูแลต้นไม้ได้ เช่น ย่านโรลลิงฮิลส์ในภาพ

อาคาร ทางเท้า และวัตถุขนาดใหญ่อื่นๆก็เช่นเดียวกัน รังสีดวงอาทิตย์โดยตรงส่งพลังงานมามากกว่า จึงส่ง ความร้อนมามากกว่าด้วย ยางมะตอยดูดความร้อนได้ดีเป็นพิเศษ เมื่ออยู่กับคอนกรีต มันจึงคายความร้อนที่เก็บไว้ ออกสู่อากาศได้อีกหลายชั่วโมง แม้กระทั่งหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า เกาะความร้อนเมือง (urban heat island effect) ในทางกลับกัน ต้นไม้ที่วางแผนการปลูกอย่างดีอาจช่วยให้อุณหภูมิ ในอาคารลดลง 10 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอาคารที่อยู่กลางแจ้งทั้งหลัง ร่มเงาไม้ทำให้ทุกอย่างเย็นลง และเมือง ที่ร้อนจัดก็รับรู้ได้

แต่ป่าในเมืองเติบโตได้ด้วยเงินซึ่งไม่ได้รับการจัดสรรอย่างเท่าเทียม ร่มเงาไม้ส่วนใหญ่ในลอสแอนเจลิส อยู่ในที่ดินส่วนบุคคล ในย่านอย่างลอสเฟลิซ ฮอลลีวูด หรือเบรนต์วูด ซึ่งผู้อยู่อาศัยมีเงินพอจะซื้อต้นไม้ที่มักมาพร้อม การดูแลรักษาราคาแพง ทุกวันนี้ ต้นไม้เกือบร้อยละ 20 ของเมืองพบได้ในพื้นที่เพียงห้าช่วงตึก ซึ่งเป็นที่อยู่ของประชากรเพียงร้อยละหนึ่งเท่านั้น

ในทางตรงกันข้าม ต้นไม้ไม่ได้เติบโตอย่างดีเช่นนั้นในย่านที่ยากจนกว่า มีคนผิวดำและผิวสีน้ำตาลมากกว่า ต้นไม้สาธารณะในย่านเหล่านั้นมักไม่ได้รับการเหลียวแลจากกรมป่าไม้ที่ขาดแคลนงบประมาณ ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อเปิดทางให้รถยนต์ ทางการเมืองยังตัดต้นไม้ริมถนนและลดขนาดทางเท้าให้แคบลง

ต้นไม้ใหญ่เติบโตอย่างโดดเดี่ยวบนลานจอดรถในเวอร์นอน เขตอุตสาหกรรมใกล้ย่านดาวน์ทาวน์ลอสแอนเจลิส ซึ่งอุณหภูมิพื้นผิวอาจสูงกว่าย่านที่มีต้นไม้ร่มรื่นเกินแปดองศาเซลเซียส มีผู้คนราวหนึ่งร้อยคนเท่านั้นอาศัยอยู่ในย่านแดดจัดนี้ แต่มีผู้คนราว 50,000 คนมาทำงานที่นี่

ความเหลื่อมล้ำนั้นชัดเจน กล่าวคือ ในย่านยากจนที่สุดบางย่านของเมือง เช่น ฮันทิงตันพาร์ก ร่มเงาไม้มีไม่ถึงร้อยละสิบของพื้นที่ ขณะที่ย่านมั่งคั่งกว่า เช่น ลอสเฟลิซ สัดส่วนของเรือนยอดไม้ปกคลุมอาจสูงถึงเกือบร้อยละ 40 นั่นส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพอนามัยของผู้อยู่อาศัย

ลอสแอนเจลิสวางแผนปลูกต้นไม้เพิ่ม 90,000 ต้นภายในสิ้นปี 2021 โดยมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เรือนยอดไม้ ปกคลุมในย่านที่ถูกละเลยอย่างเซาท์เซนทรัลให้ได้ร้อยละ 50 ภายในปี 2028 โครงการรณรงค์นี้ไม่ใช่ยาครอบจักรวาล เรเชล มาลาริช เจ้าหน้าที่ป่าไม้ของเมือง พูดตรงๆ เธอบอกว่า ต้นไม้ใช้เวลาหลายปี ถ้าไม่ใช่หลายสิบปี กว่าจะโตเต็มที่ และต้องรดน้ำมากพอดู แต่ประโยชน์ที่ได้คุ้มค่ากว่าต้นทุนมากนัก

คริสโตเฟอร์ ฮอว์ทอร์น สนับสนุนแนวทางแบบองค์รวมที่คำนึงถึงการเพิ่มร่มไม้ในการตัดสินใจเกี่ยวกับผังเมืองสาธารณะทั้งหมดในลอสแอนเจลิส เขาบอกว่า “แทนที่จะเปิดรับแดดและแสงอาทิตย์ เราจำเป็นต้องเริ่มคิดถึงการออกแบบที่ปกป้องเราจากดวงอาทิตย์และความร้อนได้แล้วครับ”

การออกแบบผังเมืองลอสแอนเจลิสให้ใช้รถยนต์เป็นหลัก ทำให้ดูเหมือนว่าเราควรชมเมืองนี้จากในรถติดเครื่องปรับอากาศ เมื่อมีร่มเงาไม่มาก คนเดินเท้าเช่นที่อยู่บนถนนเวอร์มอนต์อะเวนิวและถนนสายที่แปดทางตะวันตกของย่านดาวน์ทาวน์เหล่านี้ มักถูกอบด้วยแสงอาทิตย์

ในระดับกว้างที่สุด นั่นจะนำไปสู่การปรับทิศทางเมืองให้ลดการใช้รถยนต์ คืนพื้นที่ให้คนเดินเท้าและต้นไม้ ซึ่งอาจหมายถึงการทำให้ถนนแคบลงเพื่ออาศัยร่มเงาจากอาคารสูง มากกว่าที่กฎหมายควบคุมอาคารในปัจจุบันกำหนดไว้ เรามีกฎหมายดูแลเรื่องสิทธิในการเข้าถึงความร้อนในอาคาร และในยุโรปก็มีกระทั่งสิทธิในการเข้าถึงแสงอาทิตย์ บางทีนี่อาจได้เวลาส่งเสริมสิทธิในการเข้าถึงร่มเงาและความเย็นแล้ว ฮอว์ทอร์นบอก

วาร์กัส ชายผู้ปลูกต้นไม้ มองไปถึงอนาคตข้างหน้า เขาตระหนักดีถึงคุณค่าของการนั่งพักใต้เงาไม้สักครู่ และเขาก็รู้ว่ามันสำคัญยิ่งกว่าสำหรับ อาบูเอลีตา หรือบรรดาคุณย่าคุณยายในย่านของเขาที่เดินออกมารับหลานๆ สำหรับคนงานในชุมชนที่เดินมารอรถประจำทางในฤดูร้อนอันอบอ้าว สำหรับทุกคนที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ เหงื่อเม็ดเป้งไหลลงมาตามแก้มขณะที่เขาขุดหลุมปลูกต้นยี่เข่งผอมสูง หนึ่งในต้นไม้ใหม่ 1,400 ต้นที่เขาช่วยปลูกในฮันทิงตันพาร์ก

“นี่ไม่ใช่เรื่องระยะสั้นครับ เราจะไม่รู้สึกถึงผลกระทบของมันในปีนี้ ปีหน้า หรืออาจจะกระทั่งอีกสิบปีด้วย คนที่จะเริ่มรู้สึกถึงมันคือคนรุ่นถัดไป” เขาบอก “อย่างช้าๆ แต่ว่าแน่นอน เราจะไปถึงจุดที่อากาศร้อนน้อยลงในย่านรายได้ต่ำทั้งหมดครับ”

เรื่อง อะเลฮันดรา โบรุนดา
ภาพถ่าย เอลเลียต รอส

สามารถติดตามสารคดี ร่มเงาเหลื่อมล้ำ ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกรกฎาคม 2564

สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/category?magazineHeadCode=NG&product_type_id=2


อ่านเพิ่มเติม เมื่อ โลกร้อน เกินกว่าจะทน เราจะอยู่อย่างไร

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.