รายงานการประเมินประจำปีของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC ได้สร้างกระแสกการอภิปรายเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นวงกว้าง โดย IPCC เชื่อว่า หากไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับมหัพภาคให้ทันท่วงที การจำกัดอุณหภูมิไม่ให้สูงขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส หรือแม้แต่ 2 องศาเซลเซียส จะเป็นไปไม่ได้เลย การผลิตอาหารจากสัตว์
การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างของสภาพภูมิอากาศไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบหลายพันปี และการเปลี่ยนแปลงบางอย่างสร้างผลกระทบที่ไม่อาจแก้ไข่ได้ ผานเหมา ไจ่ ประธานร่วมของคณะกรรมการ IPCC กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบต่อทุกภูมิภาคบนโลกแล้วในหลายๆ ด้าน และการเปลี่ยนแปลงก็มีแต่จะเกิดบ่อยขึ้นพร้อมกับอุณหภูมิที่สูงขึ้น”
เนื้อหาบางส่วนในรายงานชี้ว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีคลื่นความร้อนเพิ่มขึ้น ฤดูร้อนยาวนานขึ้น และฤดูหนาวสั้นลง ฝนตกอย่างหนักและเกิดอุทกภัย ในขณะที่หลายๆ ภูมิภาคจะประสบภัยแล้งรุนแรง ในรายงานได้เตือนถึงระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อุณหภูมิของนำทะเลจะสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในมหาสมุทร การกลายเป็นกรดของน้ำทะเล และระดับออกซิเจนที่ลดลง
“การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้อาจนำไปสู่หายนะซึ่งคาดว่าเกิดจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเกิดรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในปีนี้ เช่น น้ำท่วมในเยอรมนีและเบลเยียมที่คร่าชีวิตผู้คนไป 209 คน และในจีนอีก 33 คน ภัยแล้งครั้งรุนแรงที่สุดเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์ของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย และคลื่นความร้อนที่คร่าชีวิตผู้คน 815 คนในแคนาดา” กล่าวโดย ชิสากัญญ์ อารีพิพัฒน์ จากซิเนอร์เจียแอนิมอล องค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ ซึ่งทำงานในลาตินอเมริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อส่งเสริมการเลือกอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด โจเซฟ พูร์ และโทมัส เนเมเซ็ค ได้เผยแพร่รายงานในปี 2018 ซึ่งสรุปว่า การผลิตอาหารมีส่วนรับผิดชอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกถึงร้อยละ 26 โดยมีสัดส่วนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 13.5 ล้านตัน
การปศุสัตว์และการประมงเป็นกิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันร้อยละ 31 โดยกิจกรรมการปศุสัตว์ได้นับรวมทั้งการเลี้ยงสัตว์เพื่อเอาเนื้อ และผลิตภัณพ์อื่นๆ จากสัตว์ เช่น นม ไข่ และอาหารทะเลในบ่อเลี้ยง โดยตัวเลขที่คำนวนออกมานี้เกิดจากการคำนวนการปล่อยก๊าซมีเทนในฟาร์มปศุสัตว์ และการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในอุตสาหกรรมประมง
นอกจกากนี้รายงานของพูร์และเนมเซ็คอธิบายว่า เนื้อวัวที่ผลิตได้แต่ละกิโลกรัมปล่อยก๊าซเรือนกระจก 60 กิโลกรัม ชีสหนึ่งกิโลกรัมปล่อยก๊าซเรือนกระจก 21 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับการผลิตเต้าหู้ ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนจากพืชในน้ำหนักที่เท่ากันแล้ว การผลิตเนื้อวัวปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าเต้าหู้ 20 เท่า ส่วนชีสปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าเต้าหู้ 7 เท่า การผลิตนมวัว 1 กิโลกรัมปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 2.8 กิโลกรัม ในขณะที่นมถั่วเหลืองปริมาณเท่ากันปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 1 กิโลกรัมเท่านั้น โดยข้อมูลที่ใช้ถูกอ้างอิงมาจากฟาร์มปศุสัตว์ทั้งหมด 38,700 ฟาร์มใน 119 ประเทศ และผลิตภัณฑ์บริโภค 40 ผลิตภัณฑ์ที่นับว่าเป็นร้อยละ 90 ของแหล่งโปรตีนและแคลลอรี่ทั่วโลก
หากเป็นไปได้ การลดการผลิตและบริโภคอาหารที่ทำจากสัตว์จะช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนได้อย่างมาก ก๊าซมีเทนยังเป็นหนึ่งในข้อกังวลหลักซึ่งระบุไว้ในรายงานของ IPCC เนื่องจากมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลและภาคปศุสัตว์ นอกจากนี้ ก๊าซมีเทนยังส่งผลกระทบในระยะยาวมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า
เมื่อพูดถึงการปศุสัตว์ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนใหญ่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน ตัวอย่างเช่น การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อใช้เป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ หรือปลูกพืชอาหารสัตว์ เช่น ถั่วเหลือง ในขณะที่ก๊าซมีเทนส่วนใหญ่เกิดจากการย่อยอาหารของสัตว์ในการปศุสัตว์
โดยข้อมูลอิงจาก สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Environmental Protection Agency) เผยว่า “ถึงแม้วงจรชีวิตของก๊าซมีเทนจะสั้นกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาก แต่ก๊าซมีเทนดูดซับความร้อนได้ดีกว่าเมื่อเทียบกันในน้ำหนักที่เท่ากัน ดังนั้น ผลกระทบของก๊าซมีเทนจึงมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่าเมื่อเทียบกันในระยะ 100 ปี”
แต่เรื่องการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารยังติดข้อจำกัดหลายประการ
ในช่วงปี 2021 สื่อต่างๆ ได้นำเสนอวิถีชีวิตแบบใหม่ เนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ผู้คนสนใจประเด็นเรื่องสุขภาพเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงเรื่องพฤติกรรมการบริโภคอาหารในชีวิตประจำวัน
สืบเนื่องจากสถานการณ์ล็อกดาวน์ทำให้ผู้คนออกไปซื้ออาหารรับประทานได้ยากขึ้น ดังนั้น ผู้คนส่วนใหญ่จึงหันมาประกอบอาหารรับประทานเอง และกระแสเกี่ยวกับการปรุงอาหารจากวัตถุดิบทางเลือกก็เริ่มเป็นที่สนใจมากขึ้นเช่นกัน
การลดการบริโภคเนื้อสัตว์ด้วยการเปลี่ยนวัตถุดิบประเภทโปรตีนที่ผลิตจากพืช หรือ Plant base ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา ในสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทยได้เกิดกลุ่มึรที่สนใจเรื่องนี้รวมตัวกันเพื่อแบ่งปันสูตรอาหารที่ใช้วัตุดิบจากโปรตีนทางเลือก
อย่างไรก็ตาม อาหารที่มีส่วนประกอบของโปรตีนทางเลือกยังไม่ได้รับความนิยมเป็นวงกว้าง เนื่องจากหลายปัจจัย เช่น รสนิยมการรับประทาน วัฒนธรรมของอาหารประจำถิ่น ขาดการสนับสนุนในเชิงนโยบายจากภาครัฐ จึงทำให้วัตถุดิบโปรตีนทางเลือกมีราคาสูง ดังนั้น จึงมีประชาชนบางกลุ่มเท่านั้นที่เข้าถึงอาหารจากโปรตีนทางเลือก
พฤติกรรมการรับประทานอาหารและการเลือกใช้วัตถุดิบได้ฝังอยู่ในวัฒนธรรมของมนุษย์ทั่วโลก อาหารสะท้อนความเป็นมาเป็นไปของชุมชนนั้นๆ อาหารแสดงอัตลักษณ์และขนบของผู้คนที่อยูู่ร่วมกัน ดังนั้น อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะบอกให้ทุกคนลดการกินเนื้อสัตว์ แล้วเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เพราะนั่นหมายถึงการเปลี่ยนแปลงในเชิงวัฒนธรรมไปด้วย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในระดับนั้นอาจต้องใช้เวลาหลายชั่วอายุคน
นอกจากนี้ ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมยังส่งผลให้ผู้ผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์รายใหญ่ของโลกยังคงป้อนสินค้าสู่ตลาดอยู่เสมอ และเนื่องจากปัจจุบัน คนที่มีรายได้น้อยยังจำเป็นต้องพึ่งพาโปรตีนจากเนื้อสัตว์ การเลือกซื้อวัตุดิบประเภทโปรตีนทางเลือกที่มีราคาสูงในปัจจุบัน จึงเข้าถึงได้ยากสำหรับคนกลุ่มนี้
แต่จะทำอย่างไร หากทุกวันนี้ เราเห็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจนแล้วว่า การผลิตอาหารที่เกี่ยวข้องกับปศุสัตว์และการประมงได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก และผลกระทบที่เกิดขึ้นในด้านสิ่งแวดล้อมก็กำลังส่งผลถึงชีวิตของมนุษย์เช่นกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก ซิเนอร์เจีย แอนิมอล www.sinergiaanimalthailand.org
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ลดผลกระทบจากความสุขชั่วมื้อ ด้วย 6 วิธีซื้ออาหารทะเลที่ดีตัวเราและโลก