น้ำท่วม 2554 บทเรียน วิกฤต และทางออก

เหตุการณ์ น้ำท่วม 2554 อุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยยังไม่คลี่คลาย

หลายฝ่ายประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจว่าอาจสูงถึงหลักแสนล้านบาท แต่นั่นอาจเทียบไม่ได้กับความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์สามัญที่เพียรหากินมาทั้งชีวิต

มหาวารีปรี่ล้นท้นมาถึงใจกลางมหานครบันดาลให้เกิดภาพประวัติศาสตร์ที่ตากล้องทุกคนไม่ลังเลที่จะลุยน้ำเสี่ยงชีวิตจากไฟดูดและจระเข้หลุด เพื่อตามเก็บภาพเป็นเกียรติประวัติ นั่นคือภาพชาวกรุงหวาดผวาอพยพหนีน้ำอย่างตื่นตระหนก บ้างตะลีตะลานปกป้องบ้านช่อง โดยฝากความหวังไว้กับกระสอบทราย คันดินและเครื่องสูบน้ำ แม้ผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักจะชี้ว่าอุทกภัยครานี้ร้ายแรงกว่าครั้งไหน ๆ ทว่าใครหลายคนกลับเฝ้ารอ “น้องน้ำ” อย่างใจจดใจจ่อ พลางปลอบใจตัวเองลึกๆ ว่า จะได้หายเครียดกันเสียที

น้ำทะเลหนุนสูงเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2554 ผสมโรงกับน้ำเหนือหลาก สายน้ำจากเจ้าพระยาจึงเอ่อล้นคันกั้นน้ำไหลบ่าเข้าท่วมตลาดท่าพระจันทร์ ส่งผลให้ร้านค้าและแผงเช่าพระเครื่องได้รับความเสียหายจนต้องปิดให้บริการเกือบทั้งหมด

หากมองข้ามวิวาทะทางการเมืองและสารพัดข่าวสับสนจากหลายกระแส เราจะพบว่าปฐมเหตุของวิกฤติคือฤดูมรสุมตามธรรมชาติของภูมิภาคแถบนี้ พระพิรุณกระหน่ำบันดาลน้ำปริมาณมหาศาลมาตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนก่อให้เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ และเติมน้ำให้เขื่อนใหญ่ต่างๆ จนมีระดับสูงเป็นประวัติการณ์

โดยธรรมชาติของฤดูกาล ฤดูฝนในภาคกลางและเหนือจะเริ่มตั้งแต่ราวกลางเดือนพฤษภาคม เมื่อมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย และร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคกลาง ตะวันออก เหนือ และอีสาน ส่งผลให้ฝนตกเป็นบริเวณกว้าง ในช่วงเดียวกันนี้มักจะเกิดพายุหมุนเขตร้อนในทะเลจีนใต้ และเคลื่อนตัวมาทางทิศตะวันตก ก่อนมุ่งหน้าขึ้นฝั่งเวียดนาม แล้วพัดเข้าสู่ลาวและไทย แต่ถึงพายุเหล่านี้จะอ่อนแรงลงเป็นเพียงดีเปรสชันหรือความกดอากาศต่ำ ก็ยังนำพาฝนปริมาณมหาศาลมาสู่ผืนแผ่นดินใหญ่อยู่ดี

มวลน้ำมหาศาลจากแม่น้ำป่าสักไหลทะลักเข้าสู่เกาะเมืองอยุธยา ส่งผลให้โบราณสถานหลายแห่งจมน้ำนานนับเดือน ธุรกิจท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และวิถีชุมชนได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ละครพายุเปิดฉากโหมโรงราวเดือนมิถุนายน เมื่อไต้ฝุ่น “ไหหม่า” ในทะเลจีนใต้หมุนคว้างขึ้นฝั่งอินโดจีนแม้จะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ (กำลังแรง) ถึงกระนั้น น้ำตาคนเมืองน่าน พะเยา ตาก สุโขทัย และจังหวัดใกล้เคียงก็ร่วงพรูจากอุทกภัยระลอกแรกของปี

ตัวละครต่อมาคือไต้ฝุ่น “นกเตน” ที่ก่อตัวราวปลายเดือนกรกฎาคม เนิบนาบขึ้นฝั่งเกาะลูซอน กระหน่ำตอนเหนือของฟิลิปปินส์จนสาหัส นกน้อยปีกอ่อนแรงลงเป็นพายุโซนร้อน ก่อนเคลื่อนเข้าสู่ทางเหนือของลาว ส่งผลให้เกิดฝนหนักรุนแรงต่อเนื่องทางภาคเหนือและอีสานตอนบนของไทย ตัวเมืองหนองคายจมบาดาลเพียงข้ามคืนเช่นเดียวกับแม่น้ำน่านที่เอ่อท้นท่วมตัวเมืองน่าน เกิดดินโคลนถล่มและน้ำป่าไหลหลากในหลายจังหวัด พื้นที่ 24 จังหวัด 288 อำเภอ ได้รับการประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ

ธรรมชาติของเด็ก ๆ มักเล่นสนุกกับสายน้ำได้เสมอไม่ว่าน้ำจะเน่าเสียเพียงใด ต่างจากมารดาของเด็กหญิงที่กำลังเป็นทุกข์กับระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นเพราะหมายถึงความเสียหายต่อทรัพย์สินและรายได้ของครอบครัวที่ลดลง

ตลอดเดือนสิงหาคมและกันยายน พายุหลายลูกยังคงก่อตัวในทะเลจีนใต้ ทั้งหมุ่ยฟ้า เมอร์บุก นันมาดอล พายุเหล่านี้เดินทางขึ้นเหนือก่อนสลายตัวไป ไม่ก็กระหน่ำฟิลิปปินส์ผู้อาภัพทางภูมิศาสตร์

ราวปลายเดือนกันยายนย่างเข้าตุลาคม นภากาศ ทักทายด้วยร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่างและอีสานยาวนาน ผนวกกับพายุหมุนเขตร้อนและลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงปกคลุมอ่าวไทย ศัพท์เทคนิคยาวเฟื้อยนี้ก่อให้เกิดฝนตกหนักทั่วพื้นที่ทางตอนบนของประเทศ และยืดเยื้อจนมนุษย์กรุงเทพฯ บ่นอุบเพราะต้องผจญฝนและรถติดทุกเย็น ในเวลาไล่เลี่ยกัน พายุโซนร้อน “ไห่ถาง” เข้าโจมตีเวียดนามตอนกลาง และเป็นตัวการบันดาลฝนจนน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ ตามมาด้วยไต้ฝุ่น “เนสาต” และไต้ฝุ่น “นาลแก” ที่ทำให้ภาคเหนือและภาคกลางตอนบนชุ่มโชก

ชาวนาที่อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ต้องทำงานแข่งกับเวลาและสายน้ำเพื่อเกี่ยวข้าวที่ถูกน้ำท่วมในที่นา เนื้อที่กว่า 60 ไร่ อุทกภัยร้ายแรงในปีนี้ไม่เพียงสร้างความเสียหายแก่พื้นที่การเกษตรนับล้านไร่ แต่ยังอาจทำให้ไทยสูญเสียรายได้มหาศาลจากการส่งออกข้าว และทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น

สถิติจากหลายหน่วยงานบอกตรงกันว่า ปริมาณฝนในพื้นที่ตอนบนของประเทศสูงกว่า “ค่าปกติ” ในรอบ 30 ปี (พ.ศ. 2514 – 2543) ทำลายสถิติของปี 2538 และ 2549 ที่เกิดอุทกภัยรุนแรง เขื่อนหลายแห่งรับภาระน้ำเกิน 100 เปอร์เซ็นต์ของความจุอ่าง เขื่อนภูมิพลทุบสถิติรับปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างในวันเดียวถึง 300 ล้านลูกบาศก์เมตร มากที่สุดนับตั้งแต่สร้างเขื่อนมา ภาวะฝนต่อเนื่องส่งผลให้ปริมาณน้ำท้ายเขื่อนและนอกพื้นที่เขื่อนเจิ่งท่วมทุ่ง นับเป็นสัญญาณแรกของมหาอุทกภัยที่กำลังก่อตัว

การบริหารจัดการน้ำเป็นประเด็นที่โต้แย้งกันมาก โดยเฉพาะการระบายน้ำจากเขื่อนที่ปริ่มปริในภาวะที่ชาวบ้านท้ายเขื่อนกำลังประสบกับอุทกภัยรุนแรงอยู่แล้ว เป็นความกดดันและตัดสินใจยาก การจัดการโดยอ้างอิงจากสถิติเก่าแทบไร้ประโยชน์ เนื่องจากภาวะที่จู่ ๆ น้ำปริมาณมหาศาลก็ทะลักตูมลงมาภายในเวลาไม่ถึงเดือน สภาวการณ์เช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้น และไม่มีใครเคยจัดการ “มวลน้ำ” ระลอกมหาศาลเท่านี้มาก่อน

ประชาชนที่อาศัยอยู่ในย่านรังสิตต้องเดินฝ่ากระแสน้ำบนถนนวิภาวดีรังสิตไปยังห้างสรรพสินค้าที่ยังเปิดให้บริการอยู่เพื่อหาซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค

ความพยายามของรัฐบาลคือช่วยเหลือเชิงสังคมสงเคราะห์และระดมทุนการกุศล เช่นเดียวกับเร่งก่อสร้างสารพัดปราการปกป้องเมือง และระดมเครื่องสูบน้ำเพื่อระบายลงแม่น้ำลำคลองที่เหลืออยู่น้อยเต็มที น้ำท่วม 2554 ค่อยๆ คืบคลานมาจากทางเหนือ จนแผ่ขยายไปทั่วทั้งภาคกลาง ขณะที่มนุษย์กรุงเทพฯ กำลังก่อกำแพงกระสอบทรายปกป้องบ้านของตนเอง ใครบางคนก็ถอนหายใจและฝืนรับชะตากรรมอย่างตรอมตรม

สันนิษฐานว่า “จำเลยที่หนึ่ง” ของสภาพอากาศรุนแรงที่กล่าวมา คือปรากฏการณ์ลานีญา (La Nina) ที่บันดาลให้เกิดฝนชุกและพายุรุนแรง ลานีญาเกิดจากลมพัดผิวน้ำอุ่นบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันออก (ฝั่งอเมริกาใต้) มากระจุกตัวย่านแปซิฟิกตะวันตก (ฝั่งอินโดนีเซียและออสเตรเลีย) และทะเลจีนใต้มากกว่าปกติ กระแสน้ำอุ่นที่กระจุกตัว ทำให้อากาศลอยตัวขึ้น กลายเป็นเมฆมหาศาล ควบแน่น แปรเป็นฝนตกหนัก และอาจพัฒนาเป็นพายุหมุนเขตร้อนได้ง่าย

เจ้าของรถยนต์ต้องนำพาหนะขึ้นไปจอดหนีน้ำบนทางด่วนโทลเวย์ การสัญจรทางรถยนต์จึงเป็นไปอย่างยากลำบากเนื่องจากหลายเส้นทางถูกตัดขาด

ลานีญาไม่ใช่ความวิปริตของสภาพอากาศ แต่เป็นวัฏจักรธรรมชาติ เช่นเดียวกับเอลนีโญ (El Nino) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ขั้วตรงข้ามที่ดำเนินมานับพันๆ ปี การประเมินผลกระทบจากลานีญาสามารถวางแผนรับมือได้ล่วงหน้า โดยจับสัญญาณของอุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรและแรงลม แม้ว่าเราจะไม่สามารถคาดเดาคาบความถี่การมาเยือนได้ชัดเจน ทว่ามีผลวิจัยสรุปแล้วว่าในปีที่เริ่มมี “สัญญาณ” ของลานีญา ประเทศไทยจะมีฝนตกล่วงหน้าก่อนเข้าฤดูฝนในทุกภูมิภาค และมีปริมาณมากกว่าปกติ กรมอุตุนิยมวิทยาพบว่าลานีญาก่อตัวมาตั้งแต่กลางปี 2553

กระนั้น แม้นักวิทยาศาสตร์จะพยายามเชื่อมโยงลานีญาเข้ากับเหตุการณ์ น้ำท่วม 2554 ทว่าบางคนกลับไม่เชื่อเช่นนั้น ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน ติดตามสถิติลานีญาย้อนหลังกลับไปกว่า 30 ปี อธิบายว่า จำนวนพายุในปีนี้

ไม่ได้มากจนเข้าเกณฑ์ “ผิดปกติ” และปริมาณน้ำเหนือก็ไม่ต่างจากปี 2538 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่มากนัก “จริงอยู่ที่ลานีญาทำให้เกิดความชื้นมากและฝนตกชุก แต่เท่าที่ผมติดตามเก็บข้อมูลมาโดยตลอด คิดว่าปีนี้มากผิดปกติหรือเปล่า ก็ไม่นะครับ” เขากล่าว

สนามบินดอนเมืองซึ่งเคยใช้เป็นที่ตั้งของศูนย์ปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม (ศปภ.) และมีสายการบินพาณิชย์ภายในประเทศเปิดให้บริการ ถูกน้ำท่วมสูงจนรัฐบาลต้องสั่งย้ายศูนย์ ศปภ. และเคลื่อนย้ายผู้อพยพจำนวนมาก

แล้วอะไรคือสาเหตุของน้ำท่วมเล่า

เบื้องหลังกระสอบทรายและถุงยังชีพ คือมวลน้ำขนาดเท่าประเทศคูเวตกำลังหาทางยาตราทัพลงสู่อ่าวไทย ทว่าเส้นทางหลักอย่างแม่น้ำเจ้าพระยายังคงเต็มปรี่ความจุจนต้องพึ่งพาแม่น้ำท่าจีนทางตะวันตก และแม่น้ำบางปะกงทางตะวันออก กระนั้นด้วยปริมาณน้ำที่มากเกินศักยภาพการระบาย น้ำจึงหลากเข้าสู่เมืองและย่านที่ใจปรารถนา (ที่สูงไปที่ต่ำ) และเชื่อขนมกินได้ว่า “น้องน้ำ” คงหงุดหงิดเหลือกำลัง เมื่อพบว่าเส้นทางสัญจรเดิมในอดีต บัดนี้ถูกกั้นขวางด้วยเมืองมนุษย์ที่เติบโตพรวดพราดไร้ทิศทาง ส่วนทุ่งรับน้ำเดิมก็แปรเป็นไร่นาสวนเกษตรที่มีเจ้าของเสียแล้ว

ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ จากภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า หลังน้ำลด เราควรต้องทบทวนการจัดการน้ำอีกมาก ทั้งระบบป้องกัน การใช้ประโยชน์ที่ดิน และทางระบายน้ำไหล (flood way) ที่ดูเหมือนว่าคราวนี้จะมีปัญหามากเป็นพิเศษ เนื่องจากพื้นที่ทุ่งรับน้ำเดิมถูกรุกล้ำจากหมู่บ้านจัดสรรและนิคมอุตสาหกรรม ”วิกฤตินี้ชี้ให้เราเห็นว่าระบบจัดการน้ำของเดิมที่เคยใช้ได้ผลเมื่อ 10-20 ปีก่อน คราวนี้กลับใช้ไม่ได้แล้วครับ” เขากล่าว

กระสอบทรายนับพันๆ ใบ ถูกระดมมาสร้างเป็นกำแพงป้องกันน้ำท่วมอย่างแน่นหนาหน้าธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งย่านพหลโยธิน

นักวิชาการหลายคนเสนอให้ทบทวนผังเมืองครั้งใหญ่แม้จะยอมรับว่าผังเมืองเป็นแนวขอบเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เหมาะสม กระนั้นกลับไม่สามารถบังคับใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ ดร.สมบัติ อยู่เมือง นักวิชาการด้านภูมิศาสตร์สารสนเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชื่อว่า เพียงแค่การก่อสร้างทางระบายน้ำไหล อาจช่วยโอบอุ้มเพียงกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถช่วยที่ราบลุ่มภาคกลางได้ทั้งระบบ ดังนั้นการจัดการเชิงผังเมืองควรบริหารทั้งลุ่มน้ำ และควรเริ่มต้นทันทีหลังน้ำลด เช่นเดียวกับการกำหนดขอบเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ต้องเคร่งครัดมากขึ้น “เราอาจต้องใช้วิกฤติคราวนี้ให้เป็นโอกาสสำหรับเริ่มต้นใหม่ครับ”

โดยเฉพาะกรุงเทพฯ เมืองหลวงซึ่งอยู่สูงจากระดับทะเลปานกลางเฉลี่ยเพียง 0.5 – 1 เมตร แต่กลับแน่นขนัดไปด้วยตึกรามบ้านช่อง และถนนรนแคมที่กลบลำคลองเก่าแก่ไปนับไม่ถ้วน ทว่าอุทกภัยในครั้งนี้ได้สำแดงให้เห็นว่า ลำคลองที่หลงเหลืออยู่มีประโยชน์มากในการระบายน้ำออกสู่แม่น้ำสายหลัก

ผู้ประสบภัยจากหลายจังหวัดต้องอพยพจากบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วมมาใช้ชีวิตในศูนย์อพยพ เช่น ชายวัย 94 ปีผู้นี้ที่ป่วยด้วยโรคอัมพฤกษ์จนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

ลำดับต่อมา คือแผนบริหารจัดการน้ำที่อาจต้องปฏิรูปกันใหม่ เมื่อการจัดการน้ำโดยภาครัฐได้แสดงผลลัพธ์แล้วว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ “ไม่ตรงจุด” ดร.สมบัติมองว่าภาคประชาชนเป็นกลไกที่สำคัญมากในกระบวนการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เนื่องจากข้อจำกัดในแต่ละท้องที่แตกต่างกัน และการจัดการควรวางแผนตั้งแต่ต้นน้ำ ”นี่เป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องครับ ประเด็นคือเราจะทำอย่างไรให้คนในพื้นที่เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วม”

ธรรมชาติในอนาคตอาจแปรปรวนมากกว่าที่เราคิด แม้จะยังไม่มีหลักฐานยืนยันอย่างเป็นทางการ ทว่านักวิทยาศาสตร์ทุกสำนักเห็นตรงกันว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอันเป็นผลพวงจากภาวะโลกร้อน จะส่งผลให้ระบบการรักษาสมดุลอากาศเปลี่ยนแปลงไป และยากต่อการพยากรณ์

แม้ว่าวัดไชยวัฒนารามซึ่งเป็นโบราณสถานคู่บ้านคู่เมืองแห่งหนึ่งของจังหวัดพระนครศรีอยธุยาจะได้รับการป้องกันอย่างดีจากบทเรียนอุทกภัยครั้งที่ผ่าน ๆ มาทว่าคราวนี้ปราการที่แน่นหนากลับพ่ายแพ้แก่มวลน้ำมหาศาลที่ถาโถมเข้าท่วมบริเวณวัดและชุมชนโดยรอบ

มีความเป็นไปได้ว่าปรากฏการณ์เอ็นโซ (ENSO) ซึ่งหมายถึงลานีญาและเอลนีโญ อาจเกิดถี่ขึ้น และก่อผลกระทบรุนแรงมากกว่าในอดีต ดร.ธนวัฒน์ชี้ว่าจากสถิติจะพบว่า ภาวะโลกร้อนทำให้ลานีญาเกิดถี่ขึ้นจากค่าเฉลี่ย 4.6 ปีต่อครั้ง ลดลงเหลือเพียง 1.6 ปีต่อครั้ง และยังไม่สามารถพยากรณ์ได้เลย

อย่างไรก็ตาม อุทกภัย 2554 ทำให้เราต้องหันมาฉุกคิดถึงความสัมพันธ์ระหว่างวิถีชีวิตของเรากับธรรมชาติมากขึ้น แน่นอนว่าความทรงจำต่อธรรมชาติดั้งเดิมของเราได้รางเลือนไปเสียแล้ว และเราคงต้องย้อนกลับมาถามตัวเองว่า ตลอดเวลาที่อยู่กับธรรมชาติมานั้น มนุษย์เรา “เอาอย่าง” “เอาอยู่” หรือว่า “เอาใหญ่” กันแน่

เรื่อง ราชศักดิ์ นิลศิริ

ภาพถ่าย จันทร์กลาง กันทอง

เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนธันวาคม 2554


อ่านเพิ่มเติม เปรียบเทียบสถานการณ์น้ำท่วม ปี 2554 และปี 2564

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.