เปรียบเทียบสถานการณ์น้ำท่วม ปี 2554 และปี 2564

เปรียบเทียบสถานการณ์น้ำท่วม ปี 2554 และปี 2564

สถานกาณ์น้ำท่วมใหญ่ในหลายจังหวัดของประเทศไทยในช่วงเดือนกันยายน ปี 2564 ทำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ตอนล่าง อย่างกรุงเทพมหานคร เริ่มกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ซ้ำรอยเหตุการณ์”มหาอุทกภัย ปี 2554″ หรือไม่ น้ำท่วมปี 64

ในประเทศไทยมีหน่วยงานหลักๆ ที่รับผิดชอบดูแลเรื่องการบริหารจัดการน้ำในประเทศคือ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) ซึ่งเป็นองค์กรกลางด้านน้ำที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีโดยตรง โดยที่ผ่านมา สนทช. ได้ทำงานบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด และได้ติดตามตามสถานการณ์ รวมไปถึงเตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำมาตั้งแต่แรกน้ำท่วมปี 64

น้ำท่วมปี 64

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการเตรียมรับมือกับปริมาณน้ำไว้ล่วงหน้า แต่เนื่องจาก “พายุดีเปรสชัน ‘เตี้ยนหมู่’ เป็นพายุที่อยู่เหนือการประเมิน โดยคาดว่า พายุอาจถูกอากาศเย็นเบียดและอ่อนกำลังไป แต่กลับมีความแรงของพายุเพิ่มขึ้นขณะเข้าใกล้ฝั่ง” สมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการส่วนพยากรณ์อากาศกลาง กองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวและเสริมว่า “จึงส่งผลกระทบกับจังหวัดแนวขอบหย่อมกดอากาศคือจังหวัดเลย ชัยภูมิ นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ และนครราชสีมา ทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมาก”

น้ำท่วมปี 64
ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงพื้นที่ที่น้ำยังท่วมขังในจังหวัดชัยภูมิ ข้อมูลวันที่ 29 กันยายน 2564 / ภาพถ่าย GISTDA

ความกังวลเรื่องอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ส่วนเรื่องความกังวลเกี่ยวกับปริมาณน้ำฝนที่เกิดขึ้นในภาคเหนือตอนล่าง (แถบจังหวัดตาก สุโขทัย และพิษณุโลก) จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคลกลาง อย่างกรุงเทพฯ และปริมณฑลหรือไม่นั้น สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในประเทศไทยตลอด 8 เดือน ของปี 2564 มีปริมาณฝนตกประมาณร้อยละ 5 ซึ่งน้อยกว่าค่าปกติ โดยเฉพาะเหนือเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ นอกจากนี้ ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาก็มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าปกติ โดยเฉพาะเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา

หากเปรียบเทียบข้อมูลปริมาณน้ำของ 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) กับปี 2554 ที่เกิดสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ เห็นชัดว่าปี 2564 มีปริมาณน้ำน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง ดังนั้นการปล่อยน้ำจากเขื่อนที่จะส่งผลต่ออุทกภัยจึงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากเขื่อนต้องเก็บกักน้ำไว้ สุทัศน์กล่าว

ในขณะเดียวกัน รองอธิบดีกรมชลประทาน ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้มีโอกาสน้อยมากที่จะเหมือนปี 2554 เพราะมีปัจจัยแตกต่างกัน ขณะที่สถานการณ์น้ำในเขื่อนหลัก จนถึงตอนนี้ยังมีพื้นที่รับน้ำได้อีก 10,000 ลูกบาศก์เมตร ขณะที่การระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ล่าสุดระบายน้ำที่ 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งน้อยกว่าปี 2554 ที่ระบายมากสุด 3,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และกล่าวเสริมว่า การระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระย ก็มีการหน่วงน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อไม่ให้ปริมาณน้ำกระทบกับประชาชนจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบคือพื้นที่ลุ่มต่ำและ 2 ฝั่งริมแม่น้ำเท่านั้น

อีกหนึ่งหน่วยงานที่ทำงานสนับสนุนเรื่องภาพถ่ายดาวเทียมแก่หน่วยงานต่างๆ เพื่อวางแผนเชิงพื้นที่เรื่องการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย คือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA

น้ำท่วมปี 64

จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ภาพรวมของปริมาณน้ำที่ท่วมอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ได้สร้างความเสียหายไปแล้วประมาณ 2 ล้านไร่ โดยรวมปริมาณน้ำในทุ่งรับน้ำด้วย” ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDAกล่าวและเสริมว่า “แต่เมื่อเราเทียบข้อมูลของภาพถ่ายดาวเทียมในช่วงเวลาเดียวกัน พบว่า ในปี 2554 มีปริมาณน้ำท่วมประมาณ 25 ล้านไร่ ในขณะที่ปี 2564 มีน้ำท่วมประมาณ 2 ล้านไร่ และหลังจากนี้ปริมาณฝนก็จะน้อยลง ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่เหมือนปี 2554 ก็แทบจะไม่มีเลย

นอกจากนี้ ปัจจัยที่เกิดจากพายุฝนในปี 2554 และปี 2564 ยังแตกต่างกันมาก โดยในปี 2554 มีฝนตกตั้งแต่เดือนเมษายน และมีพัดผ่านประเทศไทย 4-5 ลูก ส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักเต็ม ต้องระบายออกจำนวนมาก ตรงกันข้ามกับในปี 2564 ที่ประเทศไทยเจอพายุแบบหนักๆ เพียง 1 ลูกเท่านั้น ดร.ปกรณ์ กล่าว

น้ำท่วมปี 64

“เบื้องต้นฝนจะยังตกในประเทศไทยไปจนถึงเดือนตุลาคม โดยคาดว่าช่วงสัปดาห์แรกๆ น่าจะมีพายุเข้ามาอีกหนึ่งลูกทางจังหวัดเลยและจังหวัดน่าน แต่ก็ยังมีโอกาสที่เส้นทางของพายุจะเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งนี้ ร่องความกดอากาศต่ำจะเลื่อนไปยังภาคใต้ ส่งผลให้ต่อจากนี้ ภาคใต้จะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นถึงเดือนพฤศจิกายน และมีโอกาสเกิดอุทกภัยเช่นเดียวกับภาคกลางและภาคเหนือ” สุทัศน์กล่าว

บทเรียนจากมหาอุทกภัยปี 2554

หลังจากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2554 หน่วนงานของภาครัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ เพื่อเตรียมรับมือกับอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในทุกปี โดยเตรียมพื้นที่ทุ่งรับน้ำในภาคกลางให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ดังนั้น มวลน้ำที่ไหลลงมาจากภาคเหนือตอนล่างก็จะเข้าสู่พื้นที่ทุ่งรับน้ำไปก่อน และค่อยๆ ระบายลงสู่แม่น้ำสายหลักต่อไป ดร.ปกรณ์ กล่าวและเสริมว่า อย่างไรก็ตาม พื้นที่ของประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำที่ไม่มีพนังกั้นน้ำก็จะได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำที่สูงขึ้น แต่พื้นที่เศรษฐกิจชั้นในไม่ได้รับผลกระทบอย่างแน่นนอน

น้ำท่วมปี 64

นอกจากนี้ GISTDA ยังได้สนับสนุนข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมแบบ Real Time ให้แก่หน่วยงานที่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ

ศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า มวลน้ำจากภาคเหนือส่วนใหญ่จะไม่ไหลเข้ากรุงเทพฯ ทั้งหมด เพราะกรมชลประทานจะบริหารจัดการส่วนหนึ่งออกไปทางจังหวัดฉะเชิงเทราและปราจีนบุรี และอีกส่วนออกไปทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อให้มวลน้ำไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา

ดังนั้น จากเหตุปัจจัยที่ส่งผลต่อปริมาณน้ำในปี 2564 ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำจากหลายหน่วยงานจึงยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่มีโอกาสเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่เหมือนปี 2554

เรื่อง ณภัทรดนัย
ภาพถ่ายดาวเทียมและข้อมูลภูมิสารสนเทศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : แลโลกจากห้วงอวกาศ ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียมสำรวจ

Recommend