เขื่อนแม่น้ำโขง ขนาดใหญ่กำลังทำให้เหล่าปลายักษ์แม่น้ำโขงเสี่ยงสูญพันธุ์

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ความพยายามการสร้าง เขื่อนแม่น้ำโขง ในประเทศลาวและตามพื้นที่ใกล้เคียงมีผลกระทบต่อปลายักษ์และเสี่ยงต่อวิกฤตการสูญพันธุ์หลายชนิด รวมถึงปลาบึก

 ธารน้ำโขงที่ไหลผ่านเมืองหลวงพระบาง เมืองมรดกโลกยูเนสโกอันเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมผสมผสานในประเทศลาว เคยเป็นจุดผ่านไปยังแหล่งสืบพันธุ์ของเหล่าปลายักษ์ในแม่น้ำอย่างปลายี่สก ปลาสวาย และปลาบึก ปัจจุบันเราแทบไม่พบเห็นปลาเหล่านี้ สาเหตุหนึ่งมาจากการจับปลาเกินขนาดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

นักวิทยาศาสตร์หลายรายยังคงมีหวังในเรื่องการฟื้นตัวของสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำ การประมงขนาดเล็กและวิถีอนุรักษ์อื่นๆอาจนำไปสู่การฟื้นตัวจากวิกฤตการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ ตราบใดที่แม่น้ำโขงทางตอนใต้ของจีนยังไม่ถูกกั้นโดยเขื่อน

ทว่า ความหวังนี้อาจดูเลือนลางเมื่อลาวมีแผนก่อสร้างเขื่อนแห่งใหม่บนธารน้ำโขงสายหลักขึ้นถึง 10 จุด หนึ่งในโครงการสร้างเขื่อนดังกล่าวคือโครงการ Nam Sang  ซึ่งเป็นโรงงานไฟฟ้าพลังน้ำขนาดยักษ์ที่จะสร้างบนทางต้นน้ำของหลวงพระบาง

รัฐบาลคอมมิวนิสต์ลาวพยายามสร้างตัวเองให้เป็นแบตเตอรี่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยการสร้างเขื่อนตามแนวของแม่น้ำโขงในหลายๆ จุด ด้วยความคาดหวังว่าเขื่อนใหม่ๆ เช่น Nam Sang ที่จะสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2570 จะสร้างรายได้จากการขายพลังงานให้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศไทย

“ถ้าโครงการสร้างเขื่อนเหล่านี้ดำเนินการต่อไป สายธารแม่น้ำโขงที่เคยเป็นแหล่งสืบพันธุ์ให้กับเหล่าปลายักษ์ จะถูกตัดเป็นส่วนๆ” เซ็บ โฮแกน นักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก และนักชีววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเนวาดา เรโน (University of Nevada, Reno) ผู้ทำการศึกษาพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขงมากว่าสองทศวรรษกล่าวและเสริมว่า “นี่อาจเป็นจุดจบของปลาที่ต้องอาศัยแม่น้ำตามธรรมชาติในการดำรงชีวิต”

ชาวประมงล่องเรือบนแม่น้ำโขงทีมีระดับน้ำลดลง ซึ่งเป็นผลจากเขื่อนต้นน้ำในประเทศลาวและภัยแล้ง รูปภาพโดย LILLIAN SUWANRUMPHA/AFP จาก GETTY IMAGES

กลุ่มเปโตรเวียตนาม (PetroVietnam) ผู้พัฒนาโครงการ Nam Sang ชาวเวียดนามปฏิเสธให้ความเห็นกับเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เกี่ยวกับโครงการและผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ ภาพถ่ายดาวเทียมพบว่ามีการสร้างที่พักให้กับคนงานแล้ว แต่การก่อสร้างเขื่อนยังไม่เริ่มต้น

นอกเหนือไปจากแม่น้ำโขงแล้ว ปลาใหญ่ ปลาโลมา จระเข้ และสิ่งมีชีวิตน้ำจืดนานาชนิดต่างกำลังถูกคุกคามจากสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำทั้งที่กำลังวางแผนและกำลังก่อสร้างกว่า 3,400 โครงการทั่วโลก โครงการเหล่านี้ส่วนมากอยู่บนแม่น้ำเขตร้อนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ วารสาร Biological Conservation เผยแพร่การศึกษาที่นำโดย Fengzhi He นักนิเวศวิทยาน้ำจืดแห่งศูนย์ระบบนิเวศและประมงน้ำจืดไลป์นิซ ประเทศเยอรมนี ซึ่งค้นพบว่าเขื่อนในที่ต่างๆ เหล่านั้นจะส่งผลกระทบต่อเหล่าสัตว์น้ำขนาดใหญ่แตกต่างกันออกไป “การสร้างเขื่อนจะทำให้การดำรงชีวิตของสัตว์น้ำจืดหลายสายพันธุ์ไม่แน่นอน” He กล่าว

โฮแกนผู้ร่วมทำการศึกษากล่าวเพิ่มว่า “มันเป็นกรณีเดียวกับที่พบตามแม่น้ำในเขตร้อนแห่งอื่นๆ อย่างเช่นแม่น้ำแอมะซอนและคองโก  แต่แม่น้ำโขงเป็นตัวอย่างชัดเจนของปัญหานี้ สิ่งมีชีวิตที่โดดเด่นที่สุดจำนวนหนึ่งกำลังเสี่ยงสูญพันธุ์จากการเร่งสร้างเขื่อนโรงงานไฟฟ้าพลังน้ำ”

อดีตของแม่น้ำโขง

สัตว์น้ำจืดขนาดยักษ์ (Freshwater megafauna) ได้รับการนิยามไว้คร่าวๆ ว่าเป็นสัตว์ที่โดยทั่วไปมีน้ำหนักมากกว่า 30 กิโลกรัม กำลังตกเป็นสิ่งมีชีวิตเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากที่สุดด้วยจำนวนประชากรสัตว์ทั่วโลกที่ลดลงฉับพลันกว่าร้อยละ 90 ตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2513 ซึ่งนับเป็นสองเท่าของการสูญเสียประชากรสัตว์มีกระดูกสันหลังบนบกหรือในมหาสมุทรจากการศึกษาในปี พ.ศ. 2562 โดย Global Change Biology  มลพิษ เขื่อน และการจับปลาเกินขนาดทำให้ปลาใหญ่อย่างปลาสเตอร์เจียน ปลาแซลมอนหรือปลาบึกที่อยู่ตามซีกโลกเหนือลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว

เส้นทางแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านหกประเทศเป็นสถานที่ที่พบสายพันธุ์ปลายักษ์ได้มากกว่าแม่น้ำอื่นๆบนโลก แต่สายพันธุ์ยักษ์ที่ว่าเหล่านี้ต่างได้รับการระบุสถานะให้เป็นสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ไปทั้งหมด โดยตัวโฮแกนเองก็ไม่เห็นปลาบึกมาตั้งแต่ พ.ศ. 2558 แล้ว

ผู้คนกำลังชื่นชมเจ้าปลาบึกยักษ์ที่ตกจากแม่น้ำโขงใน พ.ศ. 2529 รูปโดย ROBERT NICKELSBERG/GETTY IMAGES

ที่ผ่านมา แรงกดดันจากนักอนุรักษ์เคยช่วยยับยั้งนโยบายการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงแบบที่จีน โดยในตอนนี้ เหล่านักอนุรักษ์หวังว่าการสร้างเขื่อนใหม่ๆ จะทำตามรูปแบบของเขื่อนในลาว 2 แห่งที่สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศในระดับที่ต่ำกว่า

เขื่อนแรกคือเขื่อน Don Sahong ที่อยู่บนจุดที่แม่น้ำโขงแยกร่องน้ำไปเป็นหลายทาง ทำให้ปลามีเส้นทางอ้อมเขื่อน อีกแห่งคือเขื่อนไซยะบุรีซึ่งทุ่มเงินมากกว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราวหนึ่งหมื่นล้านบาท) เพื่อทำเส้นทางให้ปลาผ่าน เช่นการติดตั้ง “บันได” ให้ปลาสามารถผ่านได้

Lee Baumgartner นักนิเวศวิทยาปลาน้ำจืดที่มหาวิทยาลัยชาร์ล เสติร์ท (Charles Sturt University) ในซิดนีย์ ออสเตรเลีย ผู้ศึกษาผลกระทบของเขื่อนในแม่น้ำโขงหวังว่า “การลงทุนกับเขื่อนไซยะบุรีจะเป็นมาตรฐานหลักให้เขื่อนอื่นๆ ในอนาคตว่าต้องให้ทำได้ดีเท่ากันหรือยิ่งกว่า แต่มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ไม่เลยสักนิด”

อุปสรรคในการอพยพ

ตัวอย่างที่อาจเด่นที่สุดของผลกระทบต่อปลายักษ์ของเขื่อนอาจเป็นครั้งที่นักวิจัยประกาศว่าปลาฉลามปากเป็ดจีน (Chinese paddlefish) ซึ่งสามารถเติบโตได้ถึงขนาด 7 เมตร ได้สูญพันธุ์แล้วในปี พ.ศ. 2562 แม้การจัยปลาเกินขนาดจะเป็นปัญหา แต่นักวิทยาศาสตร์สรุปสาเหตุว่ามาจากเขื่อนเกอโจวปาที่สร้างเมื่อ พ.ศ. 2523 บนแม่น้ำแยงซีเกียง เป็นการตัดทางไปยังแหล่งสืบพันธุ์บนต้นน้ำของปลา

นอกจากจะขัดขวางการว่ายน้ำของปลา เขื่อนอาจเปลี่ยน “ธรรมชาติเดิม” ของน้ำที่ปลาใช้เป็นสัญญานในการหาอาหารและสืบพันธุ์ พลวัตน้ำหลาก (Flood pulse) ของแม่น้ำโขงในฤดูฝนสามารถเพิ่มระดับน้ำได้สูงถึง 12 เมตร แต่ช่วงปีที่ผ่านมา วงจรที่ขาดความต่อเนื่องนี้เป็นผลมาจากภัยแล้งรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกและการกักน้ำของเขื่อนจีน ตามข้อมูลดาวเทียมจาก Stimson Center และข้อมูลเดียวกันยังได้แสดงให้เห็นว่าในช่วงสามปีที่ผ่านมา ระดับการหมุนเวียนน้ำในแม่น้ำโขงอยู่ในระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์

ปลาบึกแม่น้ำโขงซึ่งกำลังอยู่ภาวะใกล้เสี่ยงสูญพันธุ์อย่างยิ่ง ซึ่งกำลังอยู่บนเรือของชาวประมงลำนี้ คือหนึ่งในปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก อนุเคราะห์ภาพถ่ายโดย ZEB HOGAN/WWF CONSERVATION SCIENCE FELLOW/NATIONAL GEOGRAPHIC EMERGING EXPLORER

Aaron Koning นักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก และนักนิเวศวิทยา มหาวิทยาลัยเนวาดา เรโน ที่เคยร่วมงานกับโฮแกนกล่าวว่า “ปลาวิวัฒนาการมาเพื่อย้ายถิ่นเมื่อเริ่มมีพลวัตน้ำหลาก ความแปรปรวนของกระแสน้ำอาจทำให้ปลาอพยพไปเจอช่วงที่สภาพแวดล้อมไม่เหมาะกับลูกปลา”

“ด้วยเหตุนี้ เขื่อนจะส่งผลกระทบไม่เพียงแต่ปลาแม่น้ำโขงในปัจจุบันเท่านั้น แต่รวมถึงในอนาคตด้วย” เขากล่าว

สถานการณ์อันยากลำบากของเหล่าโลมา

หากทั้ง 3,400 โครงการเขื่อนที่มีการเสนอขึ้นถูกดำเนินการ จะมีแม่น้ำกว่า 600 สายที่ยาวกว่า 97 กิโลเมตร จะไม่สามารถไหลได้ตามธรรมชาติ (free-flowing river) การศึกษาพบว่าปลาน้ำจืดใหญ่หลายชนิดมักย้ายถิ่นฐานอยู่เสมอและความสามารถในการเคลื่อนตัวตามกระแสแม่น้ำธรรมชาตินั้นจำเป็นต่อความอยู่รอด สัตว์เหล่านี้รวมถึงโลมาและฉลามอิรวดีในแม่น้ำอิรวดีประเทศเมียนมาที่กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เช่นกัน

ลุ่มน้ำแอมะซอนซึ่งเป็นแม่น้ำที่อุดมไปด้วยสัตว์หลากสายพันธุ์ที่สุดในโลก มีเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำกว่า 400 เขื่อนตามแม่น้ำสายย่อยหลายจุด ความน่ากังวลอยู่ที่โลมาแม่น้ำสองชนิดที่พึ่งได้รับการระบุให้เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์คือโลมาตูคูซีและโลมาแม่น้ำอเมซอน

แม้โลมาในแม่น้ำจะไม่ย้ายถิ่นฐานแบบปลาใหญ่ชนิดอื่น แต่โลมาอาศัยการย้ายถิ่นของปลาชนิดอื่นในการหาอาหาร เขื่อนยังอาจล้อมกรอบปลาโลมาให้อยู่อาศัยเป็นจำนวนน้อยซึ่งนำไปสู่การผสมพันธุ์เลือดชิด (Inbreeding) ทำให้เกิดการลดความหลากหลายของยีน

โฮแกนเตือนว่า “นี่เป็นกระบวนการการสูญพันธุ์ หากในอนาคตยังมีเขื่อนถูกสร้างในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงก็จะยิ่งแย่ไปอีก” เขาหวังว่าเขาจะไม่ต้องรับรู้ถึงการสูญพันธุ์ของปลาบึกในแม่น้ำโขงและสัตว์ในแม่น้ำอื่นๆ แม้ความหวังจะดูริบหรี่ แต่ก็มีตัวอย่างให้เห็นจากการชะลอโครงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงเป็นเวลา 10 ปีของประเทศกัมพูชาอยู่

เรื่อง STEFAN LOVGREN

แปล นิธิพงศ์ คงปล้อง

โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม วิถีชาวลาวที่ (อาจ) สูญสลายไปกับการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขง

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.