“อย่างแรกที่ผมมองหาคือสิ่งมีชีวิตที่น่าจะได้รับผลกระทบจาก นํ้ามันรั่ว จนมาเจอปลาขนาดประมาณกระดาษ A4 สองตัวนอนตายอยู่บนหาด มีคราบนํ้ามันบางๆ เกาะบนปากกับเหงือกเหมือนสำลักนํ้ามันมา” นี่คือสิ่งที่เริงฤทธิ์ คงเมือง พบเห็นเป็นสิ่งแรกๆ หลังเดินทางถึงอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด ในคํ่าคืนที่สังคมกำลังฮือฮากับสโมสรฟุตบอลจากอังกฤษ ข่าวอดีตพระเครื่องบินเจ็ตผู้ยังหลบหนีอยู่ในต่างประเทศ และกรณีนํ้ามันดิบรั่วนอกชายฝั่งจังหวัดระยองยังเป็น เพียงข่าวเล็กๆในโลกออนไลน์
“ทะเลกับหาดทรายเป็นสีดำไปหมด คลื่นทะเลเหนียวๆข้นๆ เหมือนช็อกโกแลต เสียงคลื่นแตกฟองดังบุ๋งๆ อย่างกับหินภูเขาไฟ แต่ที่สุดคงเป็นกลิ่นนํ้ามันที่ฉุนแรงเกินทนครับ” เขาเล่าถึงคํ่าคืนแรกๆ ที่คลื่นลมและสายนํ้าพัดพามวลนํ้ามันดิบมาเกยฝั่ง ช่างภาพผู้เคยผ่านงานด้านสิ่งแวดล้อมมาแล้วหลายสนามรายนี้ค่อนข้างตกใจกับวิธีการขจัดคราบนํ้ามันปริมาณมหาศาลบนชายหาดอ่าวพร้าว ซึ่งชาวประมงท้องถิ่นทราบดีว่าเป็นภูมิศาสตร์อ่าวที่กระแสนํ้ามักพัดพาขยะทะเลมาเกยฝั่งมากที่สุด “คืนนั้นมีเจ้าหน้าที่ 7-8 คน ผลัดเวรกันเฝ้าเครื่องสูบนํ้าที่มีแค่เครื่องเดียว”
ตัวเลขที่เผยแพร่บอกว่า นํ้ามันรั่ว ไหลคราวนี้มีปริมาณราว 50,000 ลิตร อยู่ห่างจากเกาะเสม็ดไปประมาณ 10 ไมล์ทะเล (ราว 18 กิโลเมตร) ต้นเหตุ มาจากท่อขนถ่ายนํ้ามันกลางทะเลชำรุดระหว่างการขนถ่ายนํ้ามันดิบจากเรือบรรทุกขึ้นฝั่งไปยังโรงกลั่นนํ้ามันในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เจ้าหน้าที่พยายามล้อมกรอบนํ้ามันด้วยทุ่นดักคราบนํ้ามันแล้วในเบื้องต้นเพื่อสูบออกจากน่านนํ้า ทว่าคลื่นลมแรงทำให้นํ้ามันหลุดรอดออกไปเช่นเดียวกับการฉีดพ่นสารสลายคราบนํ้ามันซึ่งไม่เพียงพอต่อการสลายคราบนํ้ามันปริมาณมหาศาลในเวลาอันสั้น
ภาพถ่ายดาวเทียมจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เผยให้เห็น คราบนํ้ามันดิบแผ่กว้างบนผิวทะเลกินอาณาบริเวณพอๆ กับพื้นที่เกาะเสม็ดและค่อยๆ เคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทางการประกาศให้อ่าวพร้าวเป็นเขตประสบภัยพิบัติทางทะเล พร้อมๆ กับข่าวลือที่แพร่สะพัดออกไปว่าคราบนํ้ามันเดินทางไปถึงชายฝั่งบ้านเพ จังหวัดระยอง ท่ามกลางความพรั่นพรึงของบรรดาชาวประมงเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้าชายฝั่ง
ภาพจากอ่าวพร้าวแพร่สะพัดอย่างรวดเร็วราวไฟได้ลม กระแสสังคมเกาะติดภารกิจขจัดคราบนํ้ามัน และด้วยความพยายามอย่างหนัก เพียงสัปดาห์เดียวท้องนํ้าย่านอ่าวพร้าวก็กลับมาใสด้วยตามอง หาดทรายคืนสีดังเดิมหอมลมทะเลพัดโบก มีการจัดงานทำความสะอาดครั้งใหญ่และแสดงดนตรี ขณะที่ข่าวการชุมนุมทางการเมืองในกรุงเทพฯ และความรักของดาราสาวกับพ่อม่ายลูกชายนักการเมืองใหญ่ค่อยๆ กลบเสียงจากอ่าวพร้าว
ทิ้งให้นํ้าใสๆ อาจกลายเป็นเพียงภาพลวงตา
ระบบนิเวศทางทะเลซับซ้อนและบอบบางกว่าที่เราคิด ใต้นํ้าใสสะท้อนฟ้าคราม คือแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิตสารพัดนับล้านๆ ตั้งแต่แพลงก์ตอนพืชและสัตว์ ปะการัง สัตว์เปลือกแข็งไร้กระดูกสันหลังไปจนถึงปลาน้อยใหญ่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และนกทะเลทุกชีวิตในสิ่งแวดล้อมทางทะเลอันแตกต่าง เช่น แนว ปะการัง พื้นทะเล ชายหาด ปากแม่นํ้า และป่าชายเลน ล้วนเกี่ยวข้องพึ่งพากันในห่วงโซ่อาหาร
เมื่อนํ้ามันดิบเคลื่อนไปตามกระแสนํ้าและลม เบื้องต้นคือชั้นนํ้ามันที่แผ่ปกคลุมเหนือนํ้าทะเลเหมือนฟิล์มบางๆ ด้วยแรงตึงผิวและความหนาแน่นที่น้อยกว่านํ้าทะเล คราบเหลือบรุ้งยามสะท้อนแสงแดดและบางทีดูเหมือนใสสะอาดนี้คือหายนะของสัตว์ทะเล พวกแรกที่ได้รับผลกระทบคือ แพลงก์ตอนพืช สาหร่าย และพืชนํ้า เนื่องจากคราบนํ้ามันจะปิดกั้นแสงอาทิตย์ซึ่งจำเป็นต่อกระบวนการสังเคราะห์แสง ทั้งยังทำให้ปริมาณออกซิเจนลดลง แม้สิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะฟื้นคืนสภาพได้เร็วและน่าห่วงน้อยกว่า ทว่าสิ่งมีชีวิตที่เรามักไม่ค่อยแยแสเหล่านี้คือผู้ผลิตลำดับแรกๆ ในห่วงโซ่อาหาร
ขณะที่หาดทรายอ่าวพร้าวเปรอะเปื้อนไปด้วยคราบนํ้ามันดิบ โขดหินและผืนทรายอันเป็นบ้านแสนสุขของบรรดาหอยนางรม และสัตว์เล็กๆ จำพวกปู ซึ่งเชื่องช้าเกินกว่าจะรู้ทันภัยก็อาบไปด้วยคราบนํ้ามันกลิ่นแรง นี่คือสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมกังวลที่สุดเกี่ยวกับคราบนํ้ามัน ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายว่า หลักสากลของการขจัดคราบนํ้ามันในทะเลคือกติกาที่ว่า “อย่าให้โดนฝั่ง อย่าให้โดนพื้น” นั่นหมายถึงว่า ควรเลี่ยงทุกวิถีทางที่คราบนํ้ามันจะสัมผัสกับพื้นชั้นตะกอน เนื่องจากการขจัดคราบนํ้ามันในชั้นตะกอนหรือพื้นทรายยากกว่าบนผิวนํ้าหลายสิบเท่า แม้ว่าโดยปกติแล้ว แบคทีเรียตามธรรมชาติจะช่วยย่อยสลายคราบนํ้ามันได้ส่วนหนึ่ง แต่การที่คราบนํ้ามันฝังตัวลงในชั้นตะกอนหรือพื้นทราย จะทำให้กระบวนการย่อยสลายขาดออกซิเจน ส่งผลให้การสลายคราบนํ้ามันด้วยวิธีการตามธรรมชาติเป็นไปได้ยาก
“ที่เรากังวลคือสารเคมีขจัดคราบจะดึงนํ้ามันให้จมตํ่า ลงไปประมาณ 10 เมตร แต่ถ้าพื้นที่ตรงนั้นตื้นกว่า 10 เมตรล่ะครับ คราบนํ้ามันก็อาจปนไปในตะกอนหรือแนวปะการังได้” เขาบอก “พื้นทะเลเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศทางทะเล มีสิ่งมีชีวิตเต็มไปหมด ชาวประมงก็วางอวนปู อวนกุ้งที่นี่ และเป็นแหล่งประมงที่สำคัญครับ” นํ้ามันดิบเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนในรูปของเหลวอันซับซ้อน ประกอบขึ้นจากธาตุหลากหลายชนิดในสัดส่วนแตกต่างกันไปตามแต่ละแหล่งกำเนิด ทั้ง คาร์บอน ไฮโดรเจน กำมะถัน ไนโตรเจน ออกซิเจน เหล็ก นิกเกิล และโลหะหนัก กรณีนํ้ามันดิบรั่วไหล จึงเท่ากับเป็นการแพร่กระจายของสารเคมีเหล่านี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้สารบางชนิดจะย่อยสลายได้เองตามกระบวนการในธรรมชาติ แต่การรั่วไหลครั้งนี้ยังคลุมเครือ ข้อมูลล่าสุดจากกรมควบคุมมลพิษชี้ว่า พบปรอทซึ่งเป็นหนึ่งในโลหะหนักอันตรายต่อสุขภาพถึง 2.9 ไมโครกรัมต่อลิตรในนํ้าทะเลที่อ่าวพร้าว และ 0.25 ไมโครกรัมต่อลิตรที่อ่าวทับทิม พร้อมแนะนำว่าอย่าเพิ่งลงสนุกกับนํ้าใส เพราะค่ามาตรฐานของปรอทในธรรมชาติควรอยู่ที่ 0.1 ไมโครกรัมต่อลิตรเท่านั้น ส่วนพอลิไซคลิกแอโรแมติกไฮโดรคาร์บอน หรือ PAHs อีกหนึ่งสารก่อมะเร็ง ยังอยู่ระหว่างรอผลตรวจวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการ
ขณะที่การใช้สารเคมีขจัดคราบนํ้ามันปริมาณกว่า 37,000 ลิตรซึ่งทำให้นํ้ามันแตกตัวเป็นโมเลกุลเล็กๆ และจมลง ยังคงเป็นปริศนาว่าจะนำพาสารอื่นใด เข้าสู่ระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารในระยะยาวอีกบ้าง แต่ที่แน่ๆ หลังเกิดเหตุ ชาวประมงชายฝั่งที่สูญเสียลอบปูม้าจากคราบนํ้ามัน พบว่า หลังเก็บกู้อวนขึ้นมา พวกเขาพบปูม้าตายมากถึงเจ็ดในสิบตัวจากที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เมื่องัดกระดองออกมาก็พบว่าบริเวณเหงือก (ลักษณะคล้ายๆแผงฟองนํ้า) หรือที่ชาวประมงเรียกว่า “นมปู” เป็นคราบสีดำราวกับคนสูบบุหรี่มานับสิบปี แม้จะยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการรองรับว่าปูเหล่านั้นตายจากพิษคราบนํ้ามันแต่ชาวประมงท้องถิ่นที่นั่นไม่ลังเลเลยที่จะกล่าวโทษว่าคราบนํ้ามันคือจำเลยของเรื่องนี้
ระหว่างความกังวลของคนเมืองที่มีต่ออาหารทะเลจากภาคตะวันออก ว่ากันว่ายอดขายอาหารทะเลบางร้านในจังหวัดระยองตกลงกว่าร้อยละ 70 แรงกระเพื่อมเดียวกันยังไปไกลถึงจังหวัดอื่น มีรายงานว่าผู้บริโภคอาหารทะเลในจังหวัดพิษณุโลกงดอาหารทะเลชั่วคราว แม่ค้าในตลาดที่นั่นถึงกับโอดครวญว่า อาหารทะเลของตนรับมาจากมหาชัย และไม่เกี่ยวข้องกับน่านนํ้าฉาบคราบนํ้ามันแต่อย่างใด ความสับสนในโลกออนไลน์พลอยทำให้ผู้บริโภคหวาดหวั่นและสับสนระหว่างอาหารทะเลจากแหล่งต่างๆ พวกเขาจึงเรียกร้องอะไรที่มากกว่าการแสดงรับประทานปูนึ่งต่อหน้าผู้สื่อข่าว
แน่นอนว่าสารเคมีบางชนิดสามารถแทรกเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อาหารจากการบริโภคของผู้ผลิตชั้นต้นๆอย่างแพลงก์ตอนหรือสัตว์ขนาดเล็ก เมื่อผู้ล่ากินสิ่งมีชีวิต เหล่านี้เป็นอาหาร การสะสมของสารเคมีจะยิ่งเพิ่มขึ้นในร่างกายของผู้ล่าลำดับสูงขึ้นไปในห่วงโซ่อาหาร และเมื่อถึงจุดหนึ่ง สารเหล่านี้อาจแสดงความเป็นพิษออกมาทั้งแบบเฉียบพลันหรือสะสมไว้ก่อนแสดงอาการ และเมื่อมนุษย์บริโภคสัตว์นํ้าเหล่านี้อีกทอดหนึ่ง จึงเท่ากับชักนำสารเคมีเหล่านั้นเข้าสู่ร่างกายของเราโดยตรง
หลังเกิดเหตุไม่นาน กรมประมงแถลงข่าวว่า พวกเขาร่วมกับนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สุ่มตัวอย่างสัตว์ทะเล 24 ชนิดมาตรวจวิเคราะห์ปริมาณปิโตรเลียม ไฮโดรคาร์บอน ทั้งจากพื้นที่ประสบเหตุ แหล่งเพาะเลี้ยง ปากคลอง และพื้นที่ที่คาดว่าคราบนํ้ามันอาจเดินทางไปถึง ผลการทดสอบชี้ว่า สัตว์ทะเลตัวอย่าง มีปริมาณปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนในเนื้อเยื่อใกล้เคียงกับบริเวณที่ไม่เกิดเหตุนํ้ามันรั่วไหล ทว่านี่ยังเป็นผลการวิเคราะห์เบื้องต้น เพราะรายงานนั้นระบุด้วยว่า ควรใช้เวลาติดตามผลกระทบระยะยาวอีก 1-2 เดือน
ไม่มีใครรู้ว่า ผลกระทบจากสารเคมีเหล่านั้นจะแสดงความเป็นพิษอย่างไร ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ นักอนุรักษ์พยายามเทียบเคียงผลกระทบจากกรณีเหตุการณ์ แท่นขุดเจาะ “ดีปวอเทอร์ฮอไรซัน” ระเบิดที่อ่าวเม็กซิโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปีพ.ศ. 2553 จนคราบนํ้ามันปริมาณมหาศาลเคลื่อนที่ไปไกลจนถึงสามเหลี่ยมปากแม่นํ้ามิสซิสซิปปี และเกาะติดทุกอย่าง ตั้งแต่กอหญ้า พงอ้อ หาดทราย สัตว์ทะเล และขนนกนํ้า หลังวิกฤติการณ์คราวนั้น มีรายงานว่าปลาบางชนิดกลายพันธุ์จนเหงือกผิดปกติและกุ้งไม่มีลูกตา กระนั้นก็ยังไม่อาจสรุปได้ว่าเป็นผลจากการรั่วไหลของคราบนํ้ามัน
ขณะที่ระบบนิเวศอันเปราะบางยังต้องเฝ้ารอการวิเคราะห์และติดตามผลตามหลักวิชาการ หลังคราบนํ้ามัน (ที่มองเห็นได้) จางลง นักดำนํ้าและทีมสำรวจจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรายงานว่า ปะการังและสัตว์ทะเลแถวอ่าวพร้าวซึ่งประกอบไปด้วยปะการังโขด หอยมือเสือ เม่นทะเล และฟองนํ้าครก เป็นส่วนใหญ่ยังไม่พบผลกระทบในเบื้องต้น ทว่าในเวลาต่อมาสื่อมวลชนบางสำนักที่ดำนํ้าลงไปกับมัคคุเทศก์ท้องถิ่นชี้ว่า ปะการังแถบนั้นส่วนหนึ่งเริ่มแสดงอาการจุดสีขาวอันเป็นสัญญาณของการฟอกขาว แม้จะไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่า เกิดจากเหตุนํ้ามันรั่วไหลคราวนี้ก็ตาม
กระทั่งบัดนี้ ก็ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องผลกระทบระยะยาว นักวิชาการยังต้องใช้เวลาเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ผลอีกนานนับปี ดร.ธรณ์บอกว่า “ในอนาคตเราคงมีข้อมูลมากกว่านี้แน่นอน เพราะนี่เป็นเรื่องที่เราไม่เคยประสบมาก่อน วิทยาศาสตร์กำลังหาคำตอบให้อยู่ครับ”
ขณะที่เริงฤทธิ์ ช่างภาพผู้สนใจประเด็นสิ่งแวดล้อม ทิ้งท้ายว่า “ที่ครั้งนี้เราสนใจกันมาก คงเป็นเพราะมองเห็นผลกระทบได้อย่างชัดเจนด้วยสายตา ขณะเดียวกันก็เป็นบทเรียนให้เราคิดต่อไปว่า ยังมีของเสียหรือสารพิษถูกปล่อยลงสู่ทะเลอีกไม่รู้เท่าไร และเราก็ไม่เคยรับรู้มาก่อนครับ” เขาเชื่อว่าคงจะดีกว่าไม่น้อยหากบทเรียนครั้งนี้จะยังคงติดแน่นในสังคม เฉกเช่นคราบนํ้ามันที่ไม่สามารถขจัดออกไปจากระบบนิเวศได้ง่ายๆ
เรื่อง ราชศักดิ์ นิลศิริ
ภาพถ่าย หนุมานโฟโต้ส์และกรีนพีช
เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกันยายน 2556