แต่ละวัน เราใช้พลาสติกเยอะไหม? หลอดพลาสติก แก้วพลาสติก ถุงพลาสติก ขวดน้ำพลาสติก ช้อนพลาสติก หลายคนพยายามปฏิเสธการเพิ่มขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว แต่ในยุคนี้ มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้หลายคนหันมาใช้บริการรับส่งอาหาร หรือ food delivery และสิ่งที่ตามมาก็คือ “ขยะพลาสติก” ที่เพิ่มขึ้นจนน่าตกใจ
โควิด-19 กับขยะพลาสติกวันละ 6,300 ตัน
สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ประเมินว่า โควิด-19 จะทำให้ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น 15 % จากเฉลี่ยวันละ 5,500 ตัน กลายเป็นวันละ 6,300 ตัน ขณะที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย หรือ TDRI เผยว่า 1 ยอดการการสั่งซื้ออาหาร มีขยะพลาสติกเฉลี่ย 7 ชิ้น เช่น กล่องอาหาร ถุงใส่นํ้าจิ้ม ช้อนพลาสติก ส้อมพลาสติก ถุงใส่ช้อนส้อม ถุงนํ้าซุป และถุงพลาสติกหูหิ้ว สำหรับใส่อาหารทั้งหมด
คุณวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก กล่าวว่า เมื่อวิถีชีวิตเปลี่ยนไป ความต้องการด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยมีเพิ่มสูงขึ้น พลาสติกจึงเป็นวัสดุที่ตอบสนองความต้องการดังกล่าวในด้านของบรรจุภัณฑ์เกี่ยวกับอาหารและเพื่อการขนส่ง ดังนั้น การบริหารจัดการขยะที่ถูกต้อง เหมาะสม และการทำความเข้าใจในตัวพลาสติก จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้การใช้พลาสติกเกิดประโยชน์สูงสุด
ข้าวของเครื่องใช้ที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน มาจากการเก็บเกี่ยวทรัพยากรธรรมชาติมาใช้สอย เช่น พลาสติกที่มาจากปิโตรเลียมใต้ดิน หรือกระดาษที่ได้จากการตัดต้นไม้ สิ่งของเหล่านี้ล้วนต้องใช้พลังงานในการ “แปรรูป” และกระบวนการนี้นี่เองที่เป็นการผลิตก๊าซเรือนกระจก สาเหตุสำคัญที่ทำให้โลกร้อน
หากเรารีไซเคิลวัสดุที่ใช้กันอยู่ทุกวัน จะช่วยลดการนำทรัพยากรธรรมชาติใหม่มาใช้ เพราะอะไร เพราะการขนส่งที่สั้นกว่า ขั้นตอนการแปรรูปที่น้อยกว่า จึงลดการก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้น การรีไซเคิลก็เทียบเท่ากับลดก๊าซเรือนกระจก
การปลูกไม้ยืนต้น 1 ปี สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 9–15 กิโลกรัม การแยกขยะรีไซเคิลทุกวัน จึงถือว่าช่วยทดแทนการปลูกต้นไม้ได้เช่นกัน (หากไม่นับรวมร่มเงาและเป็นแหล่งต้นน้ำ)
จะเกิดอะไร เมื่อเราไม่แยกขยะพลาสติก
รู้หรือไม่? ขยะพลาสติกมีช่วงอายุยาวนาน หากไม่ได้จัดการอย่างถูกวิธี
หลอดพลาสติก 400-450 ปี
ถุงพลาสติก 450-500 ปี
กล่องโฟม ไม่ย่อยสลาย!
กรมควบคุมมลพิษ เผยถึงสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2561 ว่า มีขยะเกิดขึ้นถึง 27.82 ล้านตัน และในจำนวนนี้ เป็นขยะพลาสติกร้อยละ 12 ของปริมาณขยะทั้งหมด ตีเป็นตัวเลขกลมๆ จะอยู่ที่ประมาณปีละ 2 ล้านตัน ซึ่งสามารถนำกลับไปรีไซเคิลเพียงได้ 500,000 ตัน คิดเป็น 1 ใน 4 ของพลาสติกทั้งหมด
อีก 1.5 ล้านตัน ที่เหลือ จะเป็นอย่างไร ?
ขยะพลาสติกจำนวนมหาศาล ที่ไม่ถูกคัดแยกเพื่อนำไปรีไซเคิล จะก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เหล่านี้
ขยะค้าง คาเต็มโลก ขยะพลาสติกใช้เวลาในการย่อยสลายนานกว่า 450 ปี ลองคิดภาพดูว่า ถ้าทุกคนใช้พลาสติกทุกวัน โลกจะสะสมพลาสติกไว้มากมายขนาดไหนกว่าจะย่อยสลายหมด
ปัญหาดินปนเปื้อน ในพลาสติกมีสารประกอบบางชนิดที่เป็นพิษ เช่น สารพลาสติไซเซอร์ ที่ก่อให้เกิดมะเร็ง หากนำไปฝังดินอาจทำให้สารดังกล่าวปนเปื้อนไปในชั้นดิน ส่งผลกระทบไปสู่พืชผักและสัตว์ที่หาอาหารจากดิน
สัตว์น้ำป่วย มีสัตว์น้ำจำนวนไม่น้อยที่กินขยะพลาสติก เพียงเพราะนึกว่าเป็นอาหาร
ก่อมลพิษทางอากาศ บ่อยครั้งที่มีการกำจัดขยะพลาสติกด้วยวิธิการเผา ซึ่งวิธีนี้ นับเป็นการเพิ่มปัญหาให้โลกอีกทางหนึ่ง เพราะก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน รวมไปถึงฝุ่นควัน เช่น PM2.5 ศัตรูตัวร้ายของปอด
คนเราป่วยจากการกินพลาสติก
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลสำนักงานใหญ่ หรือ WWF ร่วมกับมหาวิทยาลัยในประเทศออสเตรเลีย เผยงานวิจัยล่าสุด “No Plastic in Nature: Assessing Plastic Ingestion from Nature to People” ธรรมชาติต้องปราศจากพลาสติก: ค้นหาปริมาณพลาสติกจากแหล่งธรรมชาติสู่วงจรบริโภคของมนุษย์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มนุษย์อาจบริโภคพลาสติกขนาดเล็กราวสัปดาห์ละ 5 กรัม หรือขนาดเทียบเท่ากับบัตรเครดิต 1 ใบ
งานวิจัยฉบับนี้ เป็นงานประมวลผลข้อมูลเชิงวิชาการเป็นครั้งแรกของโลก ที่รวบรวมมาจากข้อมูลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคไมโครพลาสติกในมนุษย์ทั้งสิ้นกว่า 50 ฉบับ เพื่อสร้างความเข้าใจ และค้นหาความจริง ถึงผลกระทบของพลาสติกที่มีต่อร่างกาย และสุขภาพของมนุษย์
แยกให้เกิดประโยชน์ เริ่มด้วยแยกพลาสติก 7 ชนิด
เมื่อมาถึงตรงนี้ หลายๆ คนคงอยากแยกขยะให้เกิดประโยชน์ โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องรู้จักประเภทของขยะเสียก่อน และในที่นี้เราจะเจาะจงไปที่ขยะพลาสติก เพราะเป็นขยะที่อยู่รอบตัวเรามากที่สุด
ขั้นแรกง่ายๆ ที่ทุกคนทำได้ และทำได้ทุกวัน คือ การเก็บรวบรวมขยะพลาสติก จากนั้นควรทำล้างทำความสะอาด และคัดแยกเป็นชนิดต่างๆ ซึ่งหลายคนสงสัยว่า พลาสติกก็คือพลาสติก แค่มัดรวมแล้วโยนลงถังขยะพลาสติก ไม่จบหรือ ตอบเลยว่าไม่จบ เพราะพลาสติกมีหลายชนิด ยิ่งแยกเป็น ยิ่งแยกมาก ก็ยิ่งนำกลับมาใช้ได้อีกมาก
พลาสติกที่รีไซเคิลได้ มีทั้งหมด 7 ประเภท ด้วยกัน โดยสังเกตได้จากสัญลักษณ์ลูกศรวิ่งวนเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่าที่มีอยู่บนบรรจุภัณฑ์ หรือฉลากของบรรจุภัณฑ์ สัญลักษณ์นี้แหละที่จะช่วยให้เราแยกพลาสติกได้ง่ายขึ้น
เบอร์ 1 PET, PETE
โพลีเอทิลีนเทเรฟทาเลต (Polyethylene Terephthalate) พลาสติกใส เหนียว ทนทาน ช่วยป้องกันการซึมผ่าน และมีน้ำหนักเบา สำหรับเบอร์นี้ ให้นึกภาพขวดน้ำดื่มใสๆ ซึ่งหากนำไปรีไซเคิลวันละ 1 ขวด ภายเวลาใน 1 ปี จะเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 0.7 ต้น
สังเกตด้วยตา : คุณสมบัติพิเศษของเบอร์ 1 คือ ใส เราจึงมองเห็นสิ่งที่อยู่ข้างในได้ เช่น ขวดน้ำดื่ม ขวดน้ำมัน ขวดน้ำอัดลม ขวดเครื่องปรุงอาหาร
รีไซเคิล : เป็นเส้นใยสำหรับทำเสื้อกันหนาว พรม ใยสังเคราะห์ในหมอน ถุงหูหิ้ว หรือกระเป๋า เป็นต้น
เบอร์ 2 HDPE
โพลีเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง (High Density Polyethylene) เป็นพลาสติกที่มีความหนาแน่นสูง มีความเหนียว ค่อนข้างนิ่ม มีความยืดหยุ่น ทนทานต่อแตกหรือการหักงอได้ดี ทนความร้อนได้เล็กน้อย แต่สามารถทนความเย็นต่ำกว่าจุดเยือกแข็งได้ ใช้บรรจุอาหารแช่แข็ง (frozen food) และป้องกันการซึมผ่านของความชื้นได้สูงมาก
พลาสติกชนิดนี้ ถูกนำมาใช้เป็นขวดบรรจุภัณฑ์ยอดฮิตในครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นขวดแชมพู ขวดน้ำยาซักผ้า ขวดน้ำยาปรับผ้านุ่ม ขวดน้ำมันเครื่อง ของเล่น ขวดนม ถัง ลัง และกระปุกยา
สังเกตด้วยตา : ขุ่น แสงผ่านได้น้อยกว่า Low Density Polyethylene (LDPE) และ LLDPE นิยมใช้ทำเป็น ขวดแชมพู ถัง ถาด ถุง สิ่งที่ต้องการความแข็งแรง แต่ไม่ต้องการความใสมากนัก
รีไซเคิล : เป็นขวดน้ำมันเครื่อง ท่อหรือลังพลาสติก ไม้เทียมทำรั้ว เป็นต้น
เบอร์ 3 PVC
โพลีไวนิลคลอไรด์ (Polyvinylchloride) เป็นพลาสติกที่ทนทานต่อสารเคมีและการขัดถู พลาสติกชนิดนี้มีสารเคมีที่เป็นพิษปะปนอยู่ เมื่อถูกเผาไหม้จะปล่อยสารพิษออกมา จึงไม่ควรให้อาหารหรือน้ำดื่มร้อนๆ สัมผัสกับพลาสติก PVC โดยตรง
สังเกตด้วยตา : เนื้อพีวีซีมักมีลักษณะขุ่นทึบ แต่ก็สามารถผลิตออกมาให้มีสีสันได้ทุกสี มักถูกใช้ทำเป็นท่อน้ำประปา สายยาง ฉนวนหุ้มสายไฟ แผ่นพลาสติกทำประตู ม่านห้องน้ำ และหนังเทียม
รีไซเคิล : ต่อเป็นท่อน้ำประปา กรวยจราจร เฟอร์นิเจอร์ ม้านั่งพลาสติก เป็นต้น
เบอร์ 4 LDPE
โพลีเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำ (Low Density Polyethylene) มีลักษณะใส นิ่ม เหนียว ยืดหยุ่น ทนความเย็นถึง –70 องศาเซลเซียส แต่ไม่ทนความร้อน
สังเกตด้วยตา : นิ่มและใส ไม่กรอบแตกง่าย มีความยืดหยุ่น ส่วนใหญ่ใช้ทำพลาสติกห่ออาหาร ถุงเย็นสำหรับแช่แข็ง ถุงขนมปัง ถุงพลาสติกมีหูหิ้ว หลอด เป็นต้น แม้ส่วนใหญ่พลาสติกชนิดนี้จะค่อนข้างปลอดภัย แต่ไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำ
รีไซเคิล : เป็นถุงหูหิ้วพลาสติกแบบบาง ถุงดำสำหรับใส่ขยะ ถังขยะ กระเบื้องปูพื้น เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
เบอร์ 5 PP
โพลีโพรพิลีน (Polypropylene) เป็นพลาสติกที่ทนต่อแรงกระแทก สารเคมี ความร้อน และน้ำมัน มีความเหนียว น้ำหนักเบา ทนต่อความชื้น
พลาสติกเบอร์ 5 ถูกนำมาทำเป็น ฝาขวด หลอดน้ำดื่ม กล่องใส่อาหาร ช้อนส้อมพลาสติก หรือคิดง่ายๆ คือ ข้าวของในการกินดื่มแบบใช้แล้วทิ้ง หลังใช้แล้ว ควรล้างหรือเช็ดด้วยทิชชู่ให้สะอาด แล้วเก็บรวบรวมไว้ด้วยกันเพื่อส่งไปรีไซเคิล
สังเกตด้วยตา : กรณีที่ไม่ได้ผสมสี จะมีลักษณะขาวขุ่น ไม่ทึบแสง แต่ก็ไม่ใส นิยมใช้ทำภาชนะบรรจุอาหารร้อน จาน ชาม กล่องใส่อาหาร ฝาขวด กระบอกน้ำแช่เย็น ขวดบรรจุยา ถ้วยโยเกิร์ต เป็นต้น
รีไซเคิล เป็นกล่องแบตเตอรี่ ชิ้นส่วนในรถยนต์ และไม้กวาดพลาสติก เป็นต้น
เบอร์ 6 PS
โพลีสไตรีน (Polystyrene) มีลักษณะโปร่งใส ไอน้ำสามารถผ่านเข้าไปได้ ราคาถูก น้ำหนักเบา มันวาว แข็งแต่เปราะ ง่ายต่อการขึ้นรูป จึงเหมาะสำหรับทำเป็นภาชนะ หรือของที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง พลาสติกชนิดนี้สามารถปล่อยสารก่อมะเร็งได้เมื่อโดนความร้อน จึงไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำ
สังเกตด้วยตา : เปราะ แตกหักง่าย นิยมใช้ทำพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น จาน ชาม ช้อนส้อม โฟม ฝาแก้วกาแฟ
รีไซเคิล เป็นไม้แขวนเสื้อ ไม้บรรทัด แผงสวิตช์ไฟ ฉนวนความร้อน แผงไข่ รวมถึงเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ
เบอร์ 7 Other
พลาสติกอื่นๆ ที่ไม่ใช่ 6 ชนิดที่กล่าวมา ปกติแล้วพลาสติกชนิดนี้จะมีสาร BPA ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายปะปนอยู่ เมื่อถูกความร้อน หรือโดนสารกัดกร่อนที่มีฤทธิ์แรงก็จะยิ่งปล่อยสาร BPA หรือ Bisphenol A ออกมามากขึ้น จึงควรใช้พลาสติกชนิดนี้ด้วยความระมัดระวัง
สังเกตด้วยตา : มีลักษณะโปร่ง ใส แข็งแรง ทนทานต่อความร้อน กรด และแรงกระแทกได้ดี มักนำมาใช้ในการผลิตปากกา ขวดนมเด็ก หมวกนิรภัย ไฟจราจร ป้ายโฆษณา
รีไซเคิล เป็นขวดน้ำ กล่องและถุงบรรจุอาหาร กระสอบปุ๋ย ถุงขยะ เป็นต้น
แม้ขยะพลาสติกจะเป็นปัญหาใหญ่ของโลกใบนี้ แต่การที่สังคมหันมาสนใจเรื่องดังกล่าวอย่างกว้างขวาง คือจุดเริ่มต้นของจัดการปัญหาอย่างจริงจัง เพียงเริ่มสังเกตพลาสติกรอบตัว แล้วแยกขยะให้ได้มากที่สุด ถือเป็นก้าวแรกของการใช้พลังงานที่ยั่งยืน
….
เรื่อง: พรรณิภา จำปาดง
แหล่งข้อมูล:
https://www.greenpeace.org/thailand/story/2242/plastic-101/
https://www.baanlaesuan.com/53564/diy/easy-tips/recycling-symbols
http://www.tei.or.th/th/highlight_detail.php?event_id=974