ดร.เป้า Green Road ทางไปต่อของพลาสติก ที่จะไม่จบลงด้วยการเป็นขยะอีกต่อไป

ดร.เป้า Green Road ทางไปต่อของพลาสติก ที่จะไม่จบลงด้วยการเป็นขยะอีกต่อไป

ทำให้ขยะมีคุณค่าและสร้างประโยชน์ได้จริงหนึ่งในวิสัยทัศน์ของ ดร.เป้า Green Road ในการพาประเทศไทยถอยห่างจากวิกฤตขยะพลาสติก

ตามสถิติเราใช้ถุงพลาสติกวันละ 8 ถุง ถ้าเราลด 1 ถุง ต่อคนต่อปี ใน 1 ปีเราก็จะลดได้ทั้งหมด 365 ถุง

“แต่เมื่อผมลองเดินเข้าไปถามแม่ค้าขายข้าวเหนียวที่ตลาดหน้ามหาวิทยาลัย ถามเขาว่าใช้ถุงพลาสติกในการบรรจุข้าวเหนียววันละเท่าไหร่ เขาบอกว่า 1 วัน ใช้อย่างน้อย 1 พันถุง เราลดเท่าไหร่มันก็ไปเป็นตัวหารกับของแม่ค้าไม่ได้อยู่ดี เราลด 1 ถุง แต่เขาใช้ 1,000 ถุง เราจึงต้องรณรงค์ให้คนรู้จักคัดแยกขยะ

“ถ้าไม่คัดแยกแล้วใส่รวม ๆ ไปก็เหมือนฝากทิ้ง ขยะที่อยู่กับเราก็แค่ย้ายไปอยู่ที่เขาเท่านั้นเอง” ผศ.ดร.เวชสวรรค์ หล้ากาศ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ดร.เป้า Green Road อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เล่าถึงความสำคัญของการคัดแยกขยะ

เป็นที่ทราบกันดีว่า ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน มนุษย์ยังคงต้องพึ่งพาพลาสติกในการดำรงชีวิต และแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะกำจัดขยะพลาสติกให้หมดไปจากโลก ดังนั้นหัวใจสำคัญเพื่อเยียวยาเรื่องนี้ คือเราต้องคัดแยกและนำพวกมันไปก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้ขยะกลายเป็นทรัพยากรแหล่งที่ 2 ของมนุษย์ให้ได้

National Geographic Thailand พูดคุยกับ ดร.เป้า ถึงโปรเจกต์ Green Road และทางไปต่อของพลาสติก ที่จะไม่จบด้วยการเป็นขยะอีกต่อไป

ให้สัมภาษณ์วันที่ 9 มิถุนายน 2564

จุดเริ่มต้นของถนนสีเขียว

ดร.เป้าเล่าย้อนถึง 9 ปีที่แล้ว เขาพาลูกคนที่ 2 ไปเที่ยวทะเลครั้งแรก “ช่วงกำลังจะขึ้นเกาะ น้ำตื้น เด็ก ๆ จึงสามารถว่ายน้ำเล่นได้ ผมอยู่บนเรือและได้เห็นภาพขยะมากมายในน้ำลอยไปมา มันน่าสลดใจ เพราะแทนที่เราจะได้สร้างความประทับใจกับธรรมชาติตรงนี้ไว้นาน ๆ ท้องฟ้าสีคราม หาดทรายสีขาว กลายเป็นว่าลูกของเราได้มาเล่นน้ำกับกองขยะ”

เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ดร.เป้าตัดสินใจหาวิธีแก้วิกฤตขยะในสิ่งแวดล้อมจากมุมของตัวเอง เนื่องจากเขามีพื้นฐานด้านวิศวกรรมโยธา จึงเริ่มศึกษางานวิจัยของต่างประเทศเกี่ยวกับการทดลองแปรรูปขยะ และพบว่าขยะพลาสติกที่ลอยอยู่ในทะเลนั้นมีแหล่งกำเนิดเดียวกับยางมะตอย ซึ่งจัดเป็นปิโตรเคมีเช่นกัน จึงสามารถนำมาใช้ทดแทนกันได้

โปรเจกต์เปลี่ยนขยะพลาสติก เป็นวัสดุทดทดแทนจึงเกิดขึ้น โดยดร.เป้า ปรับเปลี่ยนวิธีการจากงานวิจัยดังกล่าวให้เหมาะสมกับบริบทภูมิประเทศของไทย ผลที่ออกมาทำให้ค่าความเสถียรภาพหรือค่าความแข็งแรงของผลิตภัณฑ์ที่นำขยะมาแปรรูปนั้นมีมากขึ้นเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์

ซึ่งนั่นคือครั้งแรกเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ในปัจจุบัน ดร.เป้า สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพให้แข็งแรงขึ้นได้เกือบ 300 เปอร์เซ็นต์

โปรเจกต์เปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นวัสดุทดทดแทนของดร.เป้าขยายใหญ่ขึ้น เมื่อกลุ่มจิตอาสานักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่มาเข้าร่วมภายใต้ชื่อ Green Road นักศึกษา 9 คนและอีกอาจารย์ 1 คน ช่วยกันเก็บขยะในมหาวิทยาลัยมาทดลองทำเป็นบล็อกปูถนน หลังคา ผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจมาก ผลิตภัณฑ์ที่สร้างจากขยะพลาสติกบางอัน มีประสิทธิภาพดีกว่าต้นฉบับเสียอีก

“เมื่อโปรเจกต์ขยายใหญ่ขึ้น จากแค่เดินเก็บขยะในมหาวิทยาลัยมาทำการทดลอง เราเริ่มรับบริจาคขยะ เอามาทำเป็นบล็อกสำหรับปูถนนในมหาวิทยาลัย จากคนกลุ่มเล็ก ๆ ในสถานศึกษา ขยายตัวเป็นหนึ่งในองค์กรจิตอาสา ที่ตอนนี้แยกตัวออกมาเพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ ไม่เฉพาะนักเรียน นักศึกษา หรืออาจารย์เท่านั้น”

นวัตกรรมเปลี่ยนขยะเป็นทรัพยากร

ดร.เป้า อธิบายขั้นตอนเปลี่ยนขยะเป็นวัสดุทดแทน โดยนำถุงพลาสติก ถุงก๊อบแก๊บ ถุงยืด และถุงเย็น (LDPE) มาย่อยให้ละเอียด จากนั้นนำนำเข้าสู่เครื่องหลอมด้วยความร้อน ถุงพลาสติกเหล่านี้ ปกติไม่สามารถขายเป็นเงินได้ แต่มีข้อดีที่ความบางเบาและจุดหลอมเหลวต่ำ ประมาณ 130-140 องศา จากนั้นขึ้นรูปเป็นบล็อกปูถนน เฟอร์นิเจอร์ หรือผลิตภัณฑ์รูปทรงใด ๆ ก็ได้”

บล็อกปูถนน 1 ตัว ประกอบไปด้วยถุงพลาสติก 1 ส่วน อลูมิเนียมฟอยล์ 2 ส่วน เศษแก้วเศษทรายอีก 1 ส่วน ผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดที่โปรเจกต์ Green Road ผลิต ล้วนมีสัดส่วนขยะและวัสดุอื่น ๆ แตกต่างกันไป

“ปัจจุบัน มีขยะหลากหลายถูกส่งมาให้ ล่าสุดคือถุงวิบวับหรือถุงอลูมิเนียมฟอยล์ ที่เราเอามาใช้ทดแทนทราย” ดร.เป้า กล่าวถึงถุงวิบวับซึ่งเป็นหนึ่งในวัสดุที่ประกาศรับบริจาคไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา

ขยะพลาสติกจำนวนหนึ่งมาจากการบริจาคของคนทั่วประเทศ ก่อนหน้านี้ เมื่อรับขยะมาแล้ว Green Road ต้องเป็นผู้คัดแยกเอง แต่ปัจจุบันผู้คนรับรู้และเห็นความสำคัญของการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ทำให้ขยะส่วนใหญ่ที่ส่งมาได้รับการแยกประเภทเรียบร้อยมาตั้งแต่ต้นทาง

ในขณะที่อีกจำนวนหนึ่ง ได้รับบริจาคจากโรงงานพลาสติก ที่ยินดีส่งบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตแล้วไม่ได้มาตรฐานมาให้ Green Road นำไปรีไซเคิลสร้างประโยชน์ แทนที่จะทิ้งพวกมันไป เพื่อไม่ให้เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากร

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ดร.เป้า และทีมนักศึกษา รีไซเคิลขยะเป็นหลากหลายผลิตภัณฑ์ บริจาคแก่โรงเรียน วัด อุทยานแห่งชาติ นำไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะบล็อกปูถนนที่เป็นภาพจำของโปรเจกต์ Green Road

“ยังมีอีกหลายสถานที่ ๆ ต้องการวัสดุเหล่านี้ไปสร้างประโยชน์ ในอนาคต Green Road มีแผนจะนำผลิตภัณฑ์มาวางขายเพื่อสร้างทางเลือกที่กว้างขึ้นให้ผู้บริโภคในการใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิล”

“เป็นไปด้วยความยากลำบาก” ดร.เป้า เล่าให้ฟังถึงในช่วงต้น โปรเจกต์ของเขาถูกตั้งคำถามและข้อสงสัยเกี่ยวกับความเป็นไปได้อย่างมากมาย การบริจาคขยะมาให้ บางครั้งก็ไม่ต่างอะไรจากการฝากทิ้ง แม้ว่าประชาชนจะให้ความร่วมมือ แต่เนื่องจากความรู้ที่ขาดไปจึงทำให้ทุกอย่างไม่สามารถดำเนินได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ทว่าในปัจจุบัน เมื่อประชาชนได้รับความรู้ตรงส่วนนี้เพิ่มมากขึ้น ผลตอบรับจึงง่ายต่อการปฏิบัติงานมากขึ้น เช่น การคัดแยกขยะ จากแต่เดิมที่ทาง Green Road ต้องเป็นผู้คัดแยกเอง ปัจจุบันประชาชนพร้อมที่จะคัดแยกมาให้ และการบริจาคก็ไม่ใช่การฝากทิ้งอีกต่อไป

“ผลตอบรับเพิ่มเป็นทวีคูณ แทบจะเป็น 100 เท่าจากเมื่อ 9 ปีที่แล้ว”

ลดการเกิดขยะด้วย Bit Coin

แผนในอนาคตของ ดร.เป้า คือขยับขยายจากเดิมที่เน้นเพียงแค่การคัดแยก เป็นการลดการเกิดขยะอย่างมีประสิทธิภาพ โดย ดร.เป้า นำแนวคิดการขุด Bit Coin มาประยุกต์เข้ากับโปรเจกต์

“หลายคนบอกว่าในการขุด Bit Coin ใช้พลังงานมหาศาลและทำให้โลกร้อน ผมกำลังทำแพลตฟอร์มคัดแยกขยะ คนคัดแยกขยะมาให้อาจารย์จะได้รับเหรียญคริปโตหรือแต้มกลับคืนไป สามารถนำเอาเหรียญของตัวเองไปซื้อสินค้ากับผู้ผลิตที่เข้าร่วมโครงการ Green Road เอามาวางไว้ ซื้อในราคาถูก โดยใช้เหรียญตัวนี้แลกหรือเพิ่มเงินอีกนิดหน่อยในการซื้อขายเบื้องต้น

“ถ้าคนที่ไม่ได้คัดแยกขยะต้องการได้เหรียญตัวนี้ ก็ไปซื้อขายในตลาด ไปเทรดเหรียญที่เรียกว่า เหรียญ Green Coin ได้ ถ้าโปรเจกต์นี้หลุดออกไป คิดว่าทุก ๆ เหรียญที่เกิดขึ้นซึ่งมีจำนวนไม่จำกัด จะทำให้ปริมาณขยะพลาสติกลดลง เกิดขึ้น 1 เหรียญ ขยะพลาสติกลดลง 1 กิโล เกิดขึ้น 2 เหรียญ ขยะพลาสติกลดลง 2 กิโล เมื่อไหร่ที่ไม่ต้องการเหรียญก็แสดงว่าขยะพลาสติกหมดไปแล้ว เพราะปริมาณเหรียญจะสอดคล้องกับจำนวนขยะพลาสติก

“แพลตฟอร์มตัวนี้ก็จะเชื่อมต่อกับองค์กรคัดแยกขยะทั่วโลก คุณไม่อยากเทรดเหรียญ คุณก็แค่เอาขยะมาแลก พอได้เหรียญก็เอาไปแลกซื้อสินค้าตามปกติ ถ้าคุณไม่อยากเก็บขยะ คุณก็ไปหาซื้อกับคนที่มีเหรียญ มันก็จะทำให้ขยะมีคุณค่าและมูลค่าขึ้นมาทันที”

คนไทยปลูกฝังจิตสำนึกได้ สามารถกระตุ้นได้อยู่ ด้วยความเป็นเมืองท่องเที่ยว คนมีจิตสำนึกในส่วนนี้มากขึ้นกว่าเมื่อก่อนเยอะ และก็มีแนวโน้มที่จะไปในทิศทางที่ดีด้วย ถ้าจัดวิกฤตของที่อื่นเป็น 100 ประเทศไทยก็จะอยู่สักประมาณ 50 แต่อย่าลืมว่าของเขาเมืองใหญ่ ของเราเมืองเล็ก เขาอาจจะควบคุมยาก แต่เราจะควบคุมยากเท่าเขาไม่ได้ เราต้องควบคุมให้ง่ายกว่า เพราะเราคนน้อยและควรที่จะสำเร็จเร็วกว่า ผมคิดว่ายังไม่วิกฤตเท่าไหร่”

ในขณะเดียวกัน ดร.เป้า ก็ได้กล่าวถึงประเด็นการลักลอบนำเข้าขยะจากต่างประเทศเข้ามากำจัดในไทย ซึ่งทางอาจารย์ได้บอกถึงปัญหาที่จะไม่สามารถควบคุมได้คือ ปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นจนเกินการควบคุม สิ่งผิดกฎหมายที่ถูกแอบฝากเข้ามากับขยะนำเข้า และอย่างสุดท้ายคือ สารเคมีไม่ทราบชนิดที่ปนเปื้อนมากับขยะ “เราไม่สามารถควบคุมได้” ดร.เป้า กล่าวทิ้งท้าย

เรื่องและภาพ พัทธนันท์ สวนมะลิ

(โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย)


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : การรีไซเคิลแบตเตอรีรถ EV เป็นสิ่งที่ต้องทำ เมื่อโลกเปลี่ยนสู่สังคมยานยนต์ไฟฟ้า

Recommend