กางเกงในอนามัย Pynpy’ ให้ “ประจำเดือน” เป็นเรื่องปกติ แล้วปัญหาจะคลี่คลาย

คุยกับเจ้าของแบรนด์ กางเกงในอนามัย Pynpy’ ผลิตภัณฑ์ทางเลือกสำหรับประจำเดือน เรื่องนวัตกรรม และมุมมองเรื่อง “ประจำเดือน” กับสังคม

“เราอยากพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ชีวิตคนดีขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ” กานต์ – อรกานต์ สายะตานันท์ นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ PARA ของใช้ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เริ่มต้นเล่าถึงการทำแบรนด์กางเกงในอนามัย Pynpy’ ร่วมกับ โทมัส โพรคาสคา (Tomas Prochazka) ผู้ทำแพลตฟอร์มโยคะออนไลน์ในกรุงปราก สาธารณรัฐเชค พวกเขาพบกันเมื่อ 3 ปีก่อน ความสนใจร่วมระหว่างงานสร้างสรรค์และคุณภาพชีวิตที่ดีดึงดูดพวกเขาเข้าหากัน

กางเกงในอนามัยที่ใช้แทนผ้าอนามัยเป็นที่นิยมในต่างประเทศ แต่เป็นของใหม่ในไทย แบรนด์ของกานต์และโทมัสคือแบรนด์ไทยแบรนด์แรกที่สร้างมาเพื่อคนไทย ด้วยนวัตกรรมอันแตกต่างทำให้พวกเขามีชุมชนคนใช้กางเกงในอนามัยหลายพันคน โดย การบอกต่อของผู้ใช้จริง วันนี้นอกจากเราจะชวนกานต์และโทมัสมาคุยกันเรื่องกางเกงในอนามัยแล้ว เราอยากคุยเรื่องประจำเดือน ในฐานะที่นานครั้งมันจะกลายเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงในที่สาธารณะ ในความเคลื่อนไหวของสังคม แทนที่จะถูกปกปิดกระซิบกระซาบเหมือนที่เคยเป็นมา

กานต์และโทมัสเจอกันเมื่อ 3 ปีก่อนในบ้านและสวนแฟร์ ความสนใจที่ใกล้เคียงกันดึงดูดพวกเขาเข้าหากัน

จุดเปลี่ยนที่ทำให้ทั้งสองเลือกทำกางเกงในอนามัยเกิดจากทริปเที่ยวเชียงใหม่ ที่กานต์รู้ตัวว่าเธอน่าจะมีประจำเดือนในช่วงนั้น “เราก็เตรียมผ้าอนามัยไป 7-8 แผ่น และใส่รอเพราะกลัวมาแล้วเปื้อน แต่กว่าจะมาจริงๆ ผ้าอนามัยก็หมด แล้วมาตอนกลางคืนด้วย กานต์ก็กังวลมาก”

โทมาสเห็นความกังวลนั้น คนข้างกายอย่างเขาก็อยากมีส่วนช่วยแบ่งเบา เขาคิดว่านี่เป็นเรื่องสำคัญต่อให้เป็นผู้ไม่มีประจำเดือนก็ต้องช่วยสนับสนุน “ไม่ว่าจะอยู่วัฒนธรรมไหนๆ เราก็ควรเข้าใจซึ่งกันและกัน”

ความกังวลที่เหนี่ยวรั้งมากกว่าที่คิด

ประจำเดือนเป็นเรื่องธรรมดา แต่กลับถูกกดไว้ด้วยความเชื่อผิดๆ ว่าการมีประจำเดือนเป็นเรื่องต้องแอบซ่อน ประจำเดือนในหลักสูตรการศึกษามีข้อมูลน้อยนิด คนมีประจำเดือนครั้งแรกที่ไม่รู้จะทำอย่างไร แม่ที่ไม่พูดเรื่องประจำเดือนกับลูก เพื่อนร่วมชั้นที่ล้อเลียน การแพ้ผ้าอนามัยที่บางทีก็ไม่รู้ว่าแพ้ การหาสิ่งที่ตอบโจทย์การมีประจำเดือนที่แต่ละคนก็มีไม่เหมือนกัน การต้องรับมือกับการปวดประจำเดือนอย่างยากที่จะเข้าใจ ไปจนถึงการต้องอ่านความเห็นในโซเชียลมีเดีย “ประจำเดือนของตัวเองไม่มีปัญญาดูแล จะทำอะไรได้” มันไม่ง่ายเลย

เดือนละครั้งที่ผู้มีประจำเดือนต้องรู้สึกระแวดระวัง กังวลกับการมีประจำเดือน รู้สึกร่างกายแปลกไปช่วงหนึ่ง สิ่งเหล่านี้เหมือนจะเล็กน้อย แต่ก็ทำให้เราใช้ชีวิตไม่เต็มที่ การมีประจำเดือนเหนี่ยวรั้งผู้คนออกจากการใช้ชีวิตมากกว่าที่คิด

ความไร้กังวลคือสิ่งที่ผู้มีประจำเดือนต้องการมากที่สุด การทำงานของร่างกายและจิตใจในช่วงมีประจำเดือนเป็นความแปรปรวนจนเกิดผลกระทบหลายทาง แต่กว่าที่มันจะเป็นประเด็นให้พูดถึงก็ต้องใช้เวลานาน น่าสนใจที่ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประจำเดือนเกิดขึ้นมากมายในช่วงที่ผ่านมา อย่างเมื่อ 2 ปีที่แล้วแพนโทนก็ออกสี Period Red แดงประจำเดือนเพื่อสร้างเสริมพลังและเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้มีประจำเดือน หรือมีแบรนด์ผ้าอนามัยที่ทำแคมเปญประจำเดือนทำไมต้องแอบซ่อนออกมา และอื่นๆ เราว่านี่เป็นจังหวะที่ดีในการชวนการคุยเรื่องนี้กัน

กางเกงในอนามัยที่ถูกพัฒนาสำหรับคนไทย

ก่อนและระหว่างการพัฒนา กานต์ได้ทดลองผลิตภัณฑ์ต่างประเทศมาเกือบทุกแบรนด์ พยายามแก้ไขข้อจำกัดด้านสรีระที่แตกต่าง และการเลือกใช้วัสดุที่ระบายอากาศได้ดี เมื่อจะทำตลาดในไทยซึ่งมีสภาพร้อนชื้น โดยไม่ลืมคิดถึงการแพ้ผ้าอนามัยที่คนเป็นกันไม่น้อย

“นวัตกรรมหลักของ Pynpy’ คือใช้วัสดุที่ซึมซับของเหลวได้แต่ไม่รั่วซึม และให้ความรู้สึกแห้งสบาย เราใช้เทคโนโลยีการถักทอผืนผ้าที่บาง แต่สามารถกักเก็บประจำเดือนได้ด้วยการออกแบบแพทเทิร์นการทอที่เราคิดค้นขึ้นเอง ทำให้กางเกงในของเราเหมือนกางเกงในธรรมดามากที่สุด อยากให้วันที่มีประจำเดือนเป็นวันสบายๆ ไม่รู้สึกว่ามีอะไรเป็นส่วนเกิน” กานต์เล่า

รูปแบบการถักทอผ้าคิดขึ้นจากการค้นหาผลลัพธ์เพื่อการซึมซับและความเข้ากับสรีระคนไทย

พวกเขาใช้เวลาพัฒนาผลิตภัณฑ์อยู่ถึง 2 ปีกับทีมนวัตกรรมทั้งในเมืองไทยและยุโรป ส่วนโทมัสทำหน้าที่สำรวจตลาดคู่กันไป โดยฟังเสียงจากลูกค้าในชุมชนโยคะที่เขามีอยู่ราว 12,000 คน “เรารับฟีดแบคการใช้งาน แล้วนำมาปรับใช้กับการพัฒนาเพื่อตลาดในไทยครับ”

โทมัสใช้ชีวิตอยู่ในประเทศแถบเอเชียร่วม 12 ปี

โทมัสซึ่งจบเอเชียศึกษาใช้ชีวิตไปมาระหว่างยุโรปและเอเชีย เขามีวิธีคิดเรื่องการปรับตัวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในแบบเดียวกัน

“ความคิดตั้งต้นมาจากเราก็จริง แต่เราพัฒนาจากฟีดแบคของลูกค้า เขาไม่ชอบตรงไหนเราก็ปรับ เหมือนกับความแตกต่างทางวัฒนธรรมน่ะครับ ถ้าเราอยากย้ายไปอยู่ที่ไหน เราก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับที่นั่น ผมก็คิดแบบเดียวกับการที่เราพัฒนาโปรดักท์ ถ้าเราอยากให้แบรนด์เติบโต ประสบความสำเร็จ เราต้องปรับตามความเห็นของลูกค้า พอเราทำอย่างนั้น ก็ไม่ต้องทำการตลาดมาก เพราะผู้ใช้ก็จะแนะนำต่อกันเอง ถ้าเขาชอบ และช่วยสร้างชุมชนผู้ใช้ด้วย”

แบรนด์ Pynpy’ เปิดตัวมาได้ประมาณปีครึ่ง และสามารถขายล็อตแรก 300 ตัวหมดภายใน 1 เดือน พวกเขาจึงเห็นความเป็นไปได้ในการเติบโต จากรุ่นแรก Classic Cut กางเกงอนามัยแบบเต็มตัว ก็มีรุ่น Seamless กางเกงอนามัยไร้ขอบขึ้นมาตอบสนองความต้องการของลูกค้า “ส่วนโมเดลต่อไปจะเป็นอะไร กานต์ไม่ใช่คนที่จะบอกได้ แต่โมเดลใหม่จะเกิดขึ้นจากฟีดแบคของลูกค้าเองค่ะ”

เพราะประจำเดือนนั้นหลากหลาย ตัวเลือกจึงต้องมากกว่าหนึ่ง

ผ้าอนามัยแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งทั้งแบบแผ่นและแบบสอด ผ้าอนามัยแบบซักได้ ถ้วยอนามัย และกางเกงในอนามัย ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับและแก้ปัญหาการมีประจำเดือน ตั้งแต่ให้ความสะดวกสบาย ลดความกังวล คำนึงถึงการแพ้ผ้าอนามัย และการลดขยะที่รีไซเคิลไม่ได้

กานต์และโทมัสไม่ได้บอกว่ากางเกงในอนามัยของพวกเขาดีที่สุด แก้ได้ทุกปัญหา  แต่เสียงตอบรับด้านบวกที่ทำให้พวกเขารู้ว่ามาถูกทางและมีกำลังใจที่สุดก็คือ ทำให้ลืมไปเลยว่ามีประจำเดือน และขอบคุณ ที่ช่วยแก้ปัญหาการแพ้ผ้าอนามัยให้

หากใครถามว่ากางเกงในอนามัยมีวิธีใช้อย่างไร พวกเขาเพียงแนะนำเบื้องต้นว่าให้ทดลองใส่ก่อน เพื่อเรียนรู้การมีประจำเดือนของตัวเอง บางคนมามาก บางคนมาน้อย บางคนมาไม่ตรงเวลา วิธีใช้จึงมีได้หลากหลาย ใส่เพียงกางเกงในอนามัยก็เอาอยู่ หรือจะใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์สำหรับประจำเดือนอื่นๆ ก็ได้ การมีผลิตภัณฑ์หลากหลายเป็นเรื่องดี

พวกเขาพูดเรื่อง Pynpy’ คู่กันเสมอ เพราะเรื่องประจำเดือนไม่ใช่เรื่องของผู้หญิงเท่านั้น

และที่จริง กางเกงในอนามัยก็ไม่ได้จำกัดสำหรับผู้ที่มีประจำเดือนเท่านั้น สตรีข้ามเพศที่เพิ่งผ่าตัดมาก็ใช้ได้ ผู้ที่มีปัญหาปัสสาวะเล็ดที่ใช้ดี กานต์บอกว่ามีลูกๆ หลายคนที่ซื้อไปให้แม่ เพราะใส่เหมือนกางเกงในธรรมดา ไม่เทอะทะเหมือนผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ซึ่งบางทีก็ทำให้เขารู้สึกเป็นผู้ป่วยและเป็นภาระ นี่ก็เป็นการสนับสนุนไม่ให้ใครรู้สึกแปลกแยกอีกเช่นกัน

ประจำเดือน ผ้าอนามัย และความเคลื่อนไหวประเด็นสังคม

ประจำเดือนเป็นเรื่องอยู่ใต้พรมที่ไม่ค่อยถูกพูดถึง เป็นเรื่องแบ่งแยกหญิงออกจากชาย ให้เกิดความต่างซึ่งถูกกดทับ สังคมชายเป็นใหญ่มีส่วนก่อความเชื่อว่าประจำเดือนเป็นเรื่องสกปรก น่าอับอาย ควรปกปิด ผู้มีประจำเดือนถูกด้อยค่าโดยรู้และไม่รู้ตัว แต่ตอนนี้ผู้คนก็ออกมาพูดเรื่องนี้กันเสียงดังขึ้น ในพื้นที่ซึ่งถกเถียงกันเรื่องสิทธิ ความเท่าเทียม และสวัสดิการที่ต้องทำให้ผู้มีประจำเดือนเข้าถึงผ้าอนามัยได้อย่างไม่ลำบาก

ในที่สุดแล้ว เราก็ต้องถอดคำว่า “ผู้หญิง” ออกไปจากการมีประจำเดือน เพราะแม้แต่คนที่ไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้หญิงก็มีประจำเดือน อย่างกลุ่มนอนไบนารี่ กลุ่มความหลากหลายทางเพศ ก็ต้องการเข้าถึงความหลากหลายทางผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือน โดยไม่ต้องติดยึดกับโฆษณาที่ใช้สื่อถึงความเป็นผู้หญิงเท่านั้น และต้องสร้างความเข้าใจว่าการมีประจำเดือนเป็นธรรมชาติหนึ่งของความเป็นมนุษย์

“Period Stigma (การตีตราประจำเดือนให้เป็นเรื่องน่ารังเกียจ ต้องแอบซ่อน) กานต์ว่ามีในหลายสังคม กานต์รู้สึกว่าประจำเดือนเป็นเรื่องธรรมชาติมาก เหมือนเราหายใจ กินอาหาร แต่เนื่องจากสังคมกำหนดมา การมี Stigma เรื่องนี้ทำให้คนมีประจำเดือนรู้สึกด้อยค่า เป็นเรื่องปิดบัง ประจำเดือนมาก็เหมือนปวดปัสสาวะ ทำไมพูดไม่ได้ล่ะ เราเห็นแบบนี้มาตลอดตั้งแต่เด็ก แต่โลกเราพัฒนามาถึงจุดที่เราควรพูดคุยเรื่องนี้กันได้แล้ว เราสนับสนุนให้ลบความเชื่อผิดๆ ไป ไม่ว่าคนมีหรือไม่มีก็ต้องเข้าใจว่านี่เป็นเรื่องธรรมชาติ ผู้ไม่มีประจำเดือนก็ควรรับผิดชอบและสนับสนุนไปพร้อมกัน เราจะได้เคลื่อนสังคมไปด้วยกัน”

เพราะความเข้าใจธรรมชาติของร่างกายมนุษย์มีส่วนสำคัญในการสร้างมาตรฐานสังคม ทั้งกฎหมาย สิทธิ สวัสดิการ นโยบายภาษี และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ในวันที่สังคมไทยมีประเด็นเรื่อง Period Poverty ข้อจำกัดทางเศรษฐกิจทำให้ค่าใช้จ่ายเรื่องผ้าอนามัยเป็นภาระสำคัญของผู้มีประจำเดือน เป็นสิ่งที่ไม่มีในประเทศของโทมัส แต่เขาก็ไม่คิดว่าการแจกผ้าอนามัยฟรีคือทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืน

“ปัญหาเรื่องผ้าอนามัยคือปัญหาเชิงโครงสร้างครับ มันแยกขาดออกจากเรื่องอื่นๆ ไม่ได้ เป็นประเด็นที่รัฐบาลต้องทำความเข้าใจและมีนโยบายที่แก้ปัญหา ทั้งเรื่องผลิตภัณฑ์ที่ต้องมีคุณภาพ ภาษี รวมถึงทำให้คนมีความรู้ ผมว่าต้องเริ่มจากการศึกษาก่อน ถ้าคนมีความรู้ ถ้าคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าตัวเองควรคิดและพูดถึงเรื่องนี้อย่างไร ก็จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล การพัฒนาผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับประจำเดือนเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนกว่า ส่วนตัวผมไม่คิดว่าการต้องผลิตผ้าอนามัยเพิ่มเพื่อแจกผ้าอนามัยฟรีจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เหมือนเป็นการแก้ปัญหานะครับ แต่ไม่ใช่ พราะมันสร้างปัญหาอื่นๆ เช่น การเพิ่มขยะตามมาอีก”

ส่วนกานต์ถึงแม้จะยินดีที่คนพูดเรื่องประจำเดือนกันมากขึ้น แต่เธอก็ไม่อยากให้เป็นแค่เทรนด์ที่มาแล้วก็หายไป

“สำคัญที่สุดสำหรับเรื่องนี้อยู่ที่มายด์เซ็ท ต้องมองว่าประจำเดือนเป็นเรื่องธรรมชาติ ทุกคนเกิดจากสิ่งนี้ นี่เป็นเรื่องของทุกคน  ไม่แยกเพศ ต้องมองว่าทุกคนเป็นมนุษย์และประจำเดือนเป็นเรื่องธรรมชาติ เราควรเข้าใจความเป็นมนุษย์ และควรช่วยเหลือกัน ถ้าคิดได้แบบนี้ ปัญหาทุกอย่างจะจบเลย ต้องเริ่มด้วยความเข้าใจในระดับโครงสร้าง ถ้าทุกคนเข้าใจก็จะเกิดการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคา หรือเรื่องอื่นๆ มาหาทางร่วมกันว่าควรเป็นอย่างไร”

ถ้ามองจากวิวัฒนาการของผ้าอนามัยไทยที่เริ่มจากกาบมะพร้าว มาถึงผ้าอนามัยที่ใช้แล้วทิ้ง จนวันนี้มีถ้วยอนามัย และกางเกงในอนามัยแล้ว ความหลากหลายและทางเลือกของการแก้ปัญหาประจำเดือน อาจเทียบเคียงกับอีกหลายๆ ประเด็นสังคม ซึ่งทางออกที่ดีที่สุดไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว อาศัยความรู้ความเข้าใจเป็นเบื้องต้น การสื่อสารเรื่องประจำเดือนยังมีทางไปต่ออีกยาว ต้องมีพัฒนาการตามการเปลี่ยนแปลงของโลก สิ่งใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ย่อมเป็นสิ่งที่คาดหวังได้

เรื่อง อาศิรา พนาราม

รู้จัก Pynpy’ เพิ่มเติมที่ www.Pynpy.com/th

Facebook: Pynpy’wear


อ่านเพิ่มเติม ถ้วยอนามัย ทางเลือกที่ยั่งยืนกว่าในการจัดการประจำเดือนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.