นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London; UCL) และมหาวิทยาลัยรีดดิ้ง (University of Reading) ได้เปิดเผยรายงานล่าสุดที่พบว่าอัตราการเสียชีวิตของมนุษย์นั้นเชื่อมโยงโดยตรงกับอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หรือกล่าวง่ายๆ คือ โลกร้อนขึ้น ทำให้มนุษย์มีอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น
พวกเขาระบุว่าในประเทศอังกฤษและเวลส์ เมื่อเทียบกับ 10 วันที่มีอากาศร้อนที่สุดของปีในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมนั้นมีอัตราการเสียชีวิตราว 117 รายต่อวัน แต่ในที่ปัจจุบันโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นประมาณ 1.21 องศาเซลเซียสนั้นทำให้มีการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 42 หรือราว 166 รายต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมากหากอุณหภูมิยังคงสูงขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นระดับ 3 องศาเซลเซียส จะทำให้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 75 ตามรายงานกล่าวว่าเมื่อนำข้อมูลมาแปลงเป็นกราฟแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิกับอัตราการตายจะเป็นรูปตัวยูแบบคร่าวๆ นั่นหมายความว่าความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตเฉลี่ยรายวันนั้นจะเพิ่มขึ้นพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในแต่ละองศาที่เพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ
ด็อกเตอร์เคที ฮวง (Dr. Katty Huang) จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนกล่าวว่า “ภาวะโลกร้อนที่เกิน 2 องศาเซลเซียสนั้นจะมีผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพประชาชนในอังกฤษและเวลส์มากกว่าภาวะโลกร้อน 1 องศาเซลเซียสในช่วงก่อนยุคอตุสาหกรรมอย่างมาก”
รายงานชิ้นนี้ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการรักษาระดับภาวะโลกร้อนให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส “ดังที่รายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change Impacts) ซึ่งได้แสดงให้เห็นเมื่อเร็วๆ นี้ว่าภาวะโลกร้อนเฉลี่ยในระดับต่างๆ นั้นเพิ่มความเสี่ยงต่ออันตรายต่อผู้คนและสังคมอย่างไร”
“การศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่าอันตรายจากอัตราการเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นอย่างมากหากประเทศต่างๆ มีอุณหภูมิที่สูงขึ้น การจำกัดอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยทั่วโลกน่าจะมีประโยชน์อย่างมากต่อสุขภาพโดยรวมของประชากร” ศาสตราจารย์แอนดรูว์ ชาร์ลตัน-เปเรซ (Andrew Charlton-Perez) จากมหาวิทยาลัยรีดดิ้ง หนึ่งในผู้เขียนรายงานกล่าว
ทีมวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลจาก 2018 UK Climate Projection (UKCP18) ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอุณหภูมิและอัตราการเสียชีวิตในปัจจุบัน เพื่อคาดคะเนการเปลี่ยนแปลงของอัตราการเสียชีวิตที่เชื่อมโยงกับระดับภาวะโลกร้อนในอนาคต
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://iopscience.iop.org/article/10.1088/1748-9326/ac50d5