ในทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อโลกตระหนักว่า ขยะพลาสติก ที่สะสมอยู่ในมหาสมุทรต่างๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ความพยายามแก้วิกฤติที่ทบทวีนี้มีทั้งดาษดื่น ฝันเฟื่อง และไม่เพียงพอ คาดการณ์กันว่าเมื่อถึงปี 2040 ปริมาณขยะพลาสติกที่ไหลลงทะเลต่อปีจะเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่า หรือสูงถึง 29 ล้านตันต่อปี คือมีขยะพลาสติกเฉลี่ย 50 กิโลกรัม ทุกๆ หนึ่งเมตรตลอดแนวชายฝั่งทั่วโลก
สารจากนักวิทยาศาสตร์ก็คือ ยังไม่สายเกินไปที่จะแก้ไข แต่เลยเวลาสำหรับการลงมือทำเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่เป็นชิ้นเป็นอันแล้ว
ขยะพลาสติก ในมหาสมุทรเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตในธรรมชาติอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่แพลงก์ตอน ไปจนถึงปลา เต่า และวาฬ แต่เรายังรู้น้อยมากเกี่ยวกับกระบวนการที่ขยะเดินทางสู่มหาสมุทร กระนั้นก็เห็นได้ชัดว่า แม่น้ำสายต่างๆ โดยเฉพาะในแถบเอเชียคือเส้นทางหลักๆ ของขยะพลาสติกเหล่านั้น
เมื่อปี 2019 สมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก สนับสนุนการวิจัยเชิงสำรวจในแม่น้ำคงคา ซึ่งไหลผ่านตอนเหนือของอินเดียและบังกลาเทศ ผ่านลุ่มน้ำที่ใหญ่ที่สุดและมีประชากรหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก คณะสำรวจ ซึ่งประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และฝ่ายสนับสนุน 40 คนจากอินเดีย บังกลาเทศ สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร เดินทางขึ้นล่องตลอดลำน้ำสายนี้สองเที่ยว ทั้งก่อนและหลังฝนฤดูมรสุมซึ่งส่งผลให้น้ำในแม่น้ำเอ่อท้น อย่างรวดเร็ว คณะเก็บตัวอย่างจากแม่น้ำ บนดิน และอากาศรอบๆ ตลอดจนสัมภาษณ์ผู้อาศัยกว่า 1,400 คน เพื่อหาคำตอบว่า พลาสติกที่ไหลลงแม่น้ำคงคามาจากที่ไหน เพราะเหตุใด และมีอะไรบ้าง ก่อนจะไหลลงสู่มหาสมุทรอินเดีย
“เราย่อมแก้ปัญหาไม่ได้ ถ้าไม่รู้จักมันค่ะ” เจนนา แจมเบ็ก อาจารย์ด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยจอร์เจียและหนึ่งในคณะสำรวจ บอก งานวิจัยสะเทือนวงการเมื่อปี 2015 ของเธอ รวมทั้งการคำนวณออกมาว่า มีขยะพลาสติกไหลลงมหาสมุทรต่างๆ ปีละแปดล้านตัน เปลี่ยนขยะพลาสติกในทะเลให้กลายเป็นความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมอันดับสูงสุด แจมเบ็กก็เหมือนผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ที่เชื่อว่า ทางออกของปัญหานี้อยู่ที่การลดและกักเก็บขยะพลาสติกไว้บนบกซึ่งเป็นบ่อเกิดของขยะพลาสติกเกือบทั้งหมด
คงคาคือแม่น้ำสายใหญ่ที่สุดสายหนึ่งของโลก ซึ่งชาวฮินดูหนึ่งพันล้านคนบูชาในฐานะพระแม่คงคา หรือเทวีผู้มีชีวิตและเปี่ยมพลังในการชำระล้างจิตวิญญาณ ต้นน้ำเกิดจากธารน้ำแข็งคังโคตรีบนเทือกเขาหิมาลัยตะวันตก ห่างจากทิเบตไม่กี่กิโลเมตร ก่อนจะถั่งโถมจากหุบผาชันลงสู่ที่ราบลุ่มอุดมสมบูรณ์ทางเหนือของอินเดีย จากนั้นจึงไหลลดคดเคี้ยวไปทางตะวันออก ตัดข้ามอนุทวีปอินเดียเข้าสู่บังกลาเทศ และขยายตัวกว้างขึ้นเมื่อรับน้ำจากแควขนาดใหญ่สิบสาย หลังบรรจบกับแม่น้ำพรหมบุตร แม่น้ำคงคาก็ไหลลงสู่อ่าวเบงกอล นี่คือปากน้ำจืดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามของโลกที่ไหลลงมหาสมุทร รองจากแม่น้ำแอมะซอนและแม่น้ำคองโก หล่อเลี้ยงประชากรกว่าหนึ่งในสี่ของอินเดีย ซึ่งมีทั้งหมด 1,400 ล้านคน ประชากรเนปาลทั้งประเทศ และบางส่วนของบังกลาเทศ
น่าเศร้าที่แม่น้ำคงคาครองตำแหน่งแม่น้ำปนเปื้อนมลพิษสูงที่สุดสายหนึ่งของโลกมานานแล้วด้วย โดยปนเปื้อนน้ำทิ้งที่เป็นพิษจากโรงงานหลายร้อยแห่ง บางแห่งสร้างตั้งแต่ยุคอาณานิคมอังกฤษ โรงงานเหล่านี้เพิ่มสารหนู โครเมียม ปรอท และโลหะอื่นๆ ในน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดหลายร้อยล้านลิตรที่ยังปล่อยออกมาทุกวัน ขยะพลาสติกเป็นเพียงการล่วงเกินแม่น้ำรูปแบบใหม่ล่าสุดเท่านั้น
ในเกือบทุกประเทศที่พยายามจัดการขยะพลาสติก ปัญหาหลักคือบรรจุภัณฑ์ ซึ่งส่วนใหญ่ถูกทิ้งทันทีหลังแกะใช้ ทั่วโลก บรรจุภัณฑ์คิดเป็นร้อยละ 36 ของพลาสติกเกือบ 438 ล้านตันที่ผลิตขึ้นในแต่ละปี ปัญหาในอินเดียไม่ใช่ การบริโภคต่อหัวประชากร แต่เป็นระบบจัดเก็บขยะที่ไม่เพียงพอ ในสหรัฐฯ คนหนึ่งคนสร้างขยะพลาสติกเฉลี่ย ปีละ 130 กิโลกรัม ซึ่งเป็นอัตราสูงที่สุดในโลกและสูงกว่าอัตราเฉลี่ยปีละ 20 กิโลกรัมต่อคนของอินเดียถึงหกเท่า แต่สหรัฐฯ มีระบบจัดเก็บและกำจัดขยะดีกว่าไม่มากก็น้อย
การจัดเก็บขยะในเมืองต่างๆ ของอินเดียมักไร้ประสิทธิภาพและความถี่ในการเก็บก็อยู่ในระดับต่ำ สถานการณ์น่าถอดใจยิ่งกว่าในเขตชนบทซึ่งประชากรอินเดียราวสองในสามอาศัยอยู่ ในรัฐพิหารซึ่งมีประชากร 129 ล้านคนและ มีขนาดราวๆ ประเทศญี่ปุ่น ขยะพลาสติกถ้าไม่ถูกเผาหรือทิ้งตามกองขยะชั่วคราวซึ่งวัวและสัตว์อื่นๆ ที่ออกหากินจะกินเข้าไปอย่างไม่รู้เรื่องรู้ราว ก็ถูกทิ้งไว้ตามสันดอนทรายเพื่อให้แม่น้ำคงคาพัดพาไป
ปัญหาการจัดเก็บขยะในอินเดียจะยิ่งเลวร้ายกว่านี้ ถ้าปราศจาก “ภาคไม่เป็นทางการ” หรือกองทัพของ ผู้ปฏิบัติการอิสระที่เก็บขยะพลาสติกจากบ้านเรือนไปขายเพื่อการรีไซเคิล และบรรดาคนเก็บขยะที่คุ้ยกองขยะหรือเก็บขยะตามท้องถนน
คนงานเหล่านี้ซึ่งคาดประมาณว่ามีเกือบ 1.5 ล้านคน เป็นเหตุผลหนึ่งที่เราพบเห็นขวดพลาสติกตามท้องถนนของอินเดียไม่มากนัก ขวดเป็นสินค้ารีไซเคิลที่มีมูลค่าสูงสุด ขยะพลาสติกถือเป็นรายได้ราวครึ่งหนึ่งของคนเก็บขยะ และขวดเพ็ตที่ทำจากพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (polyethylene terephthalate: PET) ก็คิดเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของขยะพลาสติกที่เก็บได้ ภารตี จตุรเวท ผู้อำนวยการจินตัน (Chintan) องค์กรไม่แสวงกำไรที่สนับสนุนคน เก็บขยะ บอก
ภาคไม่เป็นทางการนี้ส่งผลให้อินเดียมีอัตราการรีไซเคิลสูง หรือประมาณร้อยละ 60 แต่ขยะที่นำกลับไปใช้ใหม่ไม่ได้นั้นขายไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ ถุง พลาสติกห่ออาหาร ซองใส่สินค้าต่างๆ จึงกระจายเกลื่อนท้องถนนในอินเดียและไหลลงแม่น้ำคงคา
เดือนตุลาคมปีที่แล้ว นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี เริ่มระยะที่สองของโครงการรณรงค์ “อินเดียสะอาด” (Clean India) เป้าหมายหนึ่งคือการทำให้เมืองต่างๆ ปลอดขยะ รัฐบาลโมดีสร้างโรงผลิตพลังงานจากขยะ ซึ่งก็คือเตาเผาขยะที่ผลิตไฟฟ้าได้ ออกประกาศห้ามผลิตและใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ โดยมีกำหนดบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคม
ในอินเดีย การเรียกร้องให้ลงมือทำกลายเป็นเรื่องเร่งด่วนและแพร่หลายมากขึ้น พรเชษ กุมาร ดูเบย์ อาจารย์ด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งอินเดียที่ขรัคปุระ บอกฉันว่า เขาแปลกใจมากที่พบ “เกาะเล็กๆ” จำนวนมากของผู้คนที่ทำงานเพื่อปลุกจิตสำนึกเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมระหว่างตระเวนเดินทางไป ทั่วลุ่มน้ำคงคากับคณะสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก
“ถ้ามีใครสักคนทำให้เกาะน้อยใหญ่เหล่านี้ผนึกกำลังกัน พวกเขาจะทำได้มากกว่านี้และรับมือกับปัญหา ได้ดีกว่านี้มาก พฤติกรรมจะเปลี่ยนครับ” ดูเบย์บอก
การทำความสะอาดขยะพลาสติกในลุ่มน้ำจะส่งผลดีที่เห็นได้ทันทีต่อคนในพื้นที่ ต่างจากความพยายามแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ การต่อสู้ดิ้นรนนี้บางทีดูเหมือนเป็นการเข็นครกขึ้นภูเขาชนิดไม่รู้จบ แต่ก็สำคัญมากในเวลาเดียวกัน หากเราไม่อยากให้โลกไปถึงจุดที่ไม่อาจหวนคืน
เรื่อง ลอรา พาร์กเกอร์
ภาพถ่าย ซารา ฮิลตัน
ติดตามสารคดี พลาสติกหลากล้น คงคามหานที ฉบับสมบูรณ์ ได้ที่นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนเมษายน 2565
สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/543178