World Update: ความโลภของมนุษย์ทำ ดินเสื่อมโทรม ร้อยละ 40

รายงานยูเอ็นเผย มนุษย์ทำให้ ดินเสื่อมโทรม ลงอย่างที่สุดถึงร้อยละ 40 ทั่วโลกเนื่องจาก ‘ความโลภที่ไม่รู้จักพอ’ 

ตามรายงาน Global Land Outlook ฉบับที่ 2 จากอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย (UNCCD) ระบุว่าผืนดินทั่วโลกมีคุณค่าลดลงกว่าร้อยละ 40 นั่นหมายความว่าแผ่น ดินเสื่อมโทรม ลง มีความอุดมสมบูรณ์ลดลง เก็บคาร์บอนได้น้อยลง สุขภาพโดยรวมลดลง และรองรับการเพาะปลูกหรือสิ่งมีชีวิตได้น้อยลง

คณะทำงานใช้เวลากว่า 5 ปีในการสำรวจภูมิประเทศต่างๆ โดยรายงานระบุว่าการเพาะปลูกเป็นสาเหตุใหญ่และใช้พื้นที่มากที่สุดของปัจจัยทั้งหมด ผืนดินกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่เกษตรกรรมของโลกถูกควบคุมโดย ’ธุรกิจ’ ทำฟาร์มเพียงร้อยละ 1 ในขณะที่ฟาร์มกว่าร้อยละ 80 ที่เหลือ ถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่เพียง 0.02 ตารางกิโลเมตร 

การผลิตอาหารบนผืน ดินเสื่อมโทรม ลงจะยากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากดินจะหมดสภาพอย่างรวดเร็วและจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพไม่ว่าจะพืชหรือสัตว์ และทำให้วิกฤตสภาพอากาศรุนแรงขึ้นเนื่องจากโลกถูกลดการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนลง หากปราศจากการแก้ไข ภายในปี 2050 พื้นที่รวมขนาด 16 ล้านตารางกิโลเมตรหรือมีขนาดเท่าทวีปอเมริกาใต้จะกลายเป็นผืนดินที่เสื่อมโทรม

นอกจากนี้การบริโภคอื่นๆ เช่นเสื้อผ้าก็มีส่วนในการสร้างความเสื่อมโทรมเช่นกันเพราะผืนดินถูกใช้ไปกับการปลูกพืชเพื่อเอาเส้นใยไปทอผ้าเป็นแฟชั่นที่ใส่ครู่เดียวแล้วโยนทิ้ง ความต้องการที่ไม่เคยถูกเติมเต็มทำให้โลกยากจะแบกรับไหว ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายเรียกร้องให้มีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

“เราไม่สามารถคิดถึงที่ดินแบบสมมติได้อีกต่อไป” อิบราฮิม เธียว (Ibrahim Thiaw) เลขาธิการของ UNCCD กล่าว “เราไม่สามารถคิดต่อไปได้ว่าจะมีที่ดินเพียงพอ มีน้ำ มีป่าไม้ และพื้นที่ชุ่มน้ำเพียงพอ เพียงพอที่จะถูกทำลายต่อไป เพียงพอที่จะตอบสนองต่อความโลภที่ไม่รู้จักพอของเรา นั่นก็คือการใช้ผืนดินสำหรับอาหาร เส้นใย และอาหารสัตว์” 

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความหวังในการฟื้นฟู หากมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วนและจริงจังจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและผู้คนทั่วไป “ความเสื่อมโทรมของที่ดินส่งผลกระทบต่ออาหาร น้ำ คาร์บอน และความหลากหลายทางชีวภาพ มันคือการลดจีดีพี ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ลดการเข้าถึงน้ำสะอาด และเป็นความแห้งแล้งที่เลวร้าย” เธียวกล่าว

UNCCD ระบุว่างบประมาณเพียง 1.6 ล้านดอลลาร์ (52.8 ล้านบาท) ก็จะสามารถฟื้นฟูพื้นที่ที่มีขนาดเท่าสหรัฐอเมริกาได้แล้ว ซึ่งเป็นเงินเพียงเล็กน้อยของงบประมาณ 7 แสนล้านดอลลาร์ที่หลายรัฐบาลใช้ไปกับการอุดหนุนการเกษตรแบบเดิมๆ ที่ถางป่าเพื่อเพาะปลูกและการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แน่นอนว่ารัฐบาลต้องจัดการอย่างแข็งขัน ไม่ใช่แค่เพียงการให้คำมั่นสัญญา และผู้คนทั่วไปก็สามารถสร้างความแตกต่างได้เช่นกัน

“เราทุกคนในฐานะผู้บริโภคจะต้องตระหนักถึงความจริงที่ว่า เราสามารถทำอะไรได้บ้าง” เธียวระบุ “ไม่ใช่แค่การซื้อเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับสิ่งที่เรากินด้วย เมื่อคุณนึกถึงความจริงที่ว่าผู้คนในประเทศร่ำรวยทิ้งอาหารมากกว่า 100 กิโลกรัมต่อคน คุณก็สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของคุณได้” เขาเสริมพร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า “มันเป็นเรื่องของสิ่งที่เราสวมใส่ด้วยเช่นกัน การตัดสินใจในแต่ละวันของล้วนมีผลกับผืนแผ่นดิน”

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

อ่านรายงาน Global Land Outlook ฉบับเต็มได้ที่ https://www.unccd.int/resources/global-land-outlook/glo2

ที่มา

https://www.bbc.com/news/science-environment-61221666?fbclid=IwAR2LxWv0lfsYaGZY829kMt9QmZdfUvn_nkwR1tFgQnxDgINuAc8U9ftj5J0

https://www.theguardian.com/environment/2022/apr/27/united-nations-40-per-cent-planet-land-degraded

https://earth.org/human-activities-have-degraded-40-of-land-on-earth-un-reports/


อ่านเพิ่มเติม วัตถุที่มนุษย์สร้างมีน้ำหนักเท่าสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลกแล้ว

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.