ไนเจอร์ – เป็นเวลาหลายศตวรรษแล้ว ที่ผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ปกคลุมไปทั่วผืนแผ่นดินทางตอนใต้ของทะเลทรายสะฮาราที่อาบด้วยฝุ่นละอองและแสงแดดจ้า เหล่าต้นโลคัสต์บีน ไม้พุ่มต้นเล็ก รวมทั้งพุ่มไม้หนามและมะขามกระจัดกระจายเป็นกลุ่ม เทียบจากตอนนั้น สมัยที่ Ali Neino ยังเป็นเด็กชายในช่วง 1980 มีเพียงต้นไม้ยืนต้นโดดเดี่ยวบนผืนแผ่นดินของครอบครัว ที่ซึ่งเขามองเห็นท้องฟ้าได้ถ้วนทั่วถึงเส้นขอบฟ้า
“ตอนนั้นไม่มีพืชพรรณอะไรเลยอยู่แถวหมู่บ้านและทุ่งนา” Neino ในวัย 45 ปีเล่า “ไม่มีต้นไม้ ไม่มีพุ่มไม้ ไม่มีอะไรเลย”
หลายทศวรรษแห่งความแห้งแล้ง การถางหน้าดิน และความต้องการฟืน ทำให้ไนเจอร์แทบไม่มีต้นไม้เลย การทำฟาร์มแบบเร่งรัดเพื่อเลี้ยงปากท้องในประเทศที่ประชากรเพิ่มจำนวนรวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลกทำให้ต้นไม้ใหม่แทบจะไม่ได้หยั่งรากลงดินเลย มีความพยายามของรัฐบาลในการปลูกป่าในช่วง 1970 แต่ก็ล้มเหลว ต้นไม้กว่า 60 ล้านต้นถูกปลูกลงผืนดิน แต่ไม่ถึง 20% เท่านั้นที่รอดชีวิต
Neino ชี้ให้เห็นถึงต้นไม้ที่เติบโตขึ้นทุกที่ขณะออกเดินเล่นในที่ดินของครอบครัวนอกเขต Dan Saga ลำต้นอาเคเชียอาบแดดที่โผล่พ้นผืนดิน กิ่งก้านและใบไม้ร่วงเกลื่อนฝุ่นดินสีเหลือง มีต้นอาเคเชีย 5 ชนิดเติบโต มีไม้ผลและไม้พุ่มที่เรียกว่า ดูกิ
ในช่วง 35 ปีที่ผ่านมา ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ร้องขอให้นานาประเทศจริงจังกับการฟื้นฟูป่า ประเทศหนึ่งที่นับว่ายากจนที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในภูมิภาคอันเลวร้ายรุนแรงที่สุด กลับเป็นพื้นที่ให้กำเนิดต้นไม้ใหม่กว่า 200 ล้านต้นหรือมากกว่านั้นอย่างน่าประหลาดใจ ป่าไม้ได้รับการฟื้นฟูใหม่ด้วยความช่วยเหลือจากภายนอกเพียงเล็กน้อย แทบไม่มีเงินทุน และไม่ต้องขับผู้คนออกจากพื้นที่
พื้นที่ส่วนนี้ของไนเจอร์เปลี่ยนแปลงได้อย่างไร?
ทุกวันนี้อาจจะหาตัว Neino ที่บ้านได้ยากหน่อย เพราะเขามักจะทำหน้าที่ต้อนรับคณะผู้แทนจากหมู่บ้านอื่นๆ ที่ต้องการเรียนรู้เรื่องการฟื้นคืนผืนป่าในภูมิภาคแห่งนี้ หรือไม่ก็ออกเดินทางไปยัง Tahoua หรือ Agadez ในตอนกลางของไนเจอร์ เพื่อสอนเกษตรกรถึงวิธีการเหล่านี้ด้วยตัวเอง
สำหรับ Neino แล้ว การหวนกลับคืนมาของพรรณไม้ในไนเจอร์ตอนใต้เป็นกุญแจสำคัญสู่อนาคตประเทศ ประชากรในตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 25 ล้านคน กำลังจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในอีกสองทศวรรษข้างหน้า “วิธีเดียวที่จะตอบความต้องการด้านโภชนาการของประชากรไนเจอร์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องคือ การเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ” เขากล่าว
ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ประชากรของไนเจอร์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภัยแล้งที่เกิดขึ้นช่วงปลายทศวรรษ 60 นำไปสู่ความล้มเหลวในการเพาะปลูก และตามมาด้วยความอดอยาก แหล่งน้ำหายไป บ่อน้ำเหือดแห้ง เกษตรกรกักตุนพรรณไม้เพื่อการเกษตรมากขึ้นแม้ว่าดินจะแห้งหรือสูญเสียสารอาหารไปก็ตาม ครอบครัวที่สิ้นหวังหันหน้าไปหาสินทรัพย์สุดท้ายของภูมิภาค พวกเขาโค่นต้นไม้ที่เหลือเพื่อขายเป็นเชื้อเพลิงสำหรับปรุงอาหาร ทั้งเด็กและผู้หญิงออกเดินหลายชั่วโมงเพื่อเก็บไม้
ไนเจอร์เป็นประเทศที่ปลูกทุกอย่างได้ยากแม้จะมีร่มเงาก็ตาม อุณหภูมิอากาศสูงสุดส่วนมากอยู่ที่ 100 องศาฟาเรนไฮต์ (ประมาณ 37.8 องศาเซลเซียส) และอุณหภูมิผิวดินที่ 140 องศาฟาเรนไฮต์ (60 องศาเซลเซียส) ทำให้ช่วงทศวรรษที่ 80 ประเทศเผชิญหน้ากับการล่มสลายของระบบนิเวศ แต่ขณะเดียวกันในเหตุการณ์คู่ขนาน กลุ่มชายที่เดินทางที่ออกไปทำงานต่างประเทศในช่วงฤดูแล้ง และกลับมาไม่ทันเวลาเคลียร์ผืนที่ดินก่อนถึงฤดูฝน พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องปลูกต้นไม้ไว้รอบๆ พวกเขาสังเกตเห็นเรื่องแปลกที่ว่า พืชผลที่ปลูกใกล้กับต้นไม้อายุน้อยจะเติบโตได้ดีกว่าและเร็วกว่า ปีต่อมาก็ยังเกิดขึ้นซ้ำเดิม ไม่นานนัก เกษตรกรรายอื่นก็เลิกเคลียร์ทุ่งบ้าง
ใบไม้ที่ร่วงหล่นทับถมและเก็บกักความชื้นให้กับผืนดิน การเติบโตของพืชพรรณช่วยป้องกันทรายที่ถูกพัดมาจากสะฮารา และปกป้องพืชผลทางการเกษตรจากลม “เหมือนกับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไปหมดเลย” Maimouna Moussa วัย 60 จาก Dan Saga เล่าถึงความทรงจำ เมื่อเข้าสู่ปีที่สอง ต้นไม้งอกใหม่เติบโตรวดเร็วจนเธอสามารถตัดแต่งกิ่งก้านมาทำเป็นฟืน และเมื่อเวลาผ่านไป การเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวฟ่างของเธอก็เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า
บอกเล่าปากต่อปาก
ห่างไกลออกไปอีก 80 กิโลเมตร ตั้งแต่ปี 1981 Rinaudo มิสชันนารีหนุ่มจากออสเตรเลีย พยายามปลูกต้นไม้ใน Maradi แม้จะไร้ประโยชน์ เขารู้ว่าต้นไม้ช่วยให้อากาศเย็นลงจากการปลดปล่อยความชื้น ให้ร่มเงา และช่วยเรื่องพืชผลทางการเกษตร แต่การปลูกต้นไม้จะต้องเสียภาษี และต้นไม้ใหม่ส่วนใญ่ตายก่อนที่รากจะไปถึงระดับน้ำที่อยู่ลึกหลายสิบฟุต เกษตรกรในท้องถิ่นที่เผชิญกับวิกฤตมักไม่ค่อยสนใจจะรอเวลาหลายปีกว่าสิ่งที่มีประโยชน์จะงอกเงย “พวกเขากังวลกับการเพาะปลูกอาหารมากกว่า” Rinaudo เล่า
อยู่มาวันหนึ่ง Rinaudo พบพุ่มไม้ในทะเลทราย ก้านใหม่พึ่งงอกออกมาจากตอไม้ที่ถูกตัด เขานึกอะไรบางอย่างออก “ผมเคยสังเกตเห็นต้นไม้งอกใหม่อีกครั้งมาก่อน” เขากล่าว “แต่ฉันก็เชื่อมโยงได้ว่า ตอไม้เหล่านี้สามารถเติบโตกลายเป็นต้นไม้อีกครั้ง”
Rinaudo ตระหนักได้ว่าวิธีการของเขานั้นผิดทั้งหมด เขาไม่ได้ต้องการเงินทุน แรงงาน หรือกล้าไม้มากมาย เขาไม่จำเป็นต้องต่อสู้กับสภาพอากาศ สิ่งที่เขาต้องทำก็แค่โน้มนาวเกษตรกรให้เชื่อในธรรมชาติ มนุษย์ต้องออกไปให้พ้นทาง “การต่อสู้ที่แท้จริงจบลงที่ความคิดของผู้คนเกี่ยวกับต้นไม้” เขากล่าว “ทุกสิ่งที่พวกเขาต้องการอยู่ใกล้แค่เอื้อม”
แนวทางการฟื้นฟูต้นไม้ตามธรรมชาตินี้ไม่มีอะไรใหม่ วิธีนี้ถูกลงมือทำในพื้นที่แห้งแล้งทั่วโลกมานานหลายศตวรรษ และเป็นวิธีที่เกษตรกรในไนเจอร์เคยทำในช่วงก่อนช่วงล่าอาณานิคม เขามอบอาหารให้ครอบครัวจำนวนหนึ่งแลกเปลี่ยนกับความตั้งใจวิธีการทดลองที่ให้ต้นไม้กลับมาฟื้นฟูตัวเอง ท่ามกลางความสงสัยของเกษตรกรคนอื่นๆ แต่ใช้เวลาเพียงไม่นาน หลายครอบครัวก็บอกว่า ผลผลิตดีกว่าเดิมอีก มีทั้งพืชอาหาร และกิ่งก้านที่ร่วงหล่นมาเป็นฟืน ผู้หญิงและเด็กไม่จำเป็นต้องออกเดินไปไกลๆ เพื่อหาฟืนอีกต่อไป
ช่วงปลาย 90 Rinaudo ออกเดินทางไปกว่า 100 หมู่บ้าน เพื่อบอกเล่าประสบการณ์ครั้งนี้ ไม่ช้าเกษตรกรก็เริ่มพูดเรื่องนี้ และการเคลื่อนไหวก็เริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง ขนาดที่ Dennis Garrity อดีตหัวหน้าศูนย์วนเกษตรโลกในโนโรบีมองว่า “เป็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านสิ่งแวดล้อมที่โดดเด่นที่สุดเท่าที่นึกออกในแอฟริกา”
เรื่องราวดีๆ แบบด่วนๆ
ทุกคนเห็นประโยชน์จากสิ่งนี้ ไม่ต้องออกตามหาฟืน ผู้หญิงสามารถทำยา น้ำมัน และสบู่จากต้นไม้เพื่อสร้างรายได้ ทรัพยากรที่ขาดแคลนในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาผลักดันให้เกิดความตึงเครียดระหว่างเกษตรกรและคนเลี้ยงสัตว์เร่ร่อน ตอนนี้ต้นไม้ใน Dan Saga กำลังดึงให้คนเลี้ยงสัตว์ผู้ชื่นชอบร่มเงาให้กลับมาที่นี่ ในขณะที่ปศุสัตว์ก็ให้ปุ๋ยคอกอย่างดีสำหรับเกษตรกรรม
พื้นที่อุดมสมบูรณ์ทางตอนใต้ของไนเจอร์ผลิตธัญพืชเพิ่มขึ้นอีกครึ่งล้านตันต่อปี ซึ่งเพียงพอสำหรับเลี้ยงคน 2.5 ล้านคน ในฟาร์มของครอบครัว Neino “การเก็บเกี่ยวลูกเดือยเพิ่มขึ้นอีกห้าเท่า” เขากล่าว ข้าวฟ่างกับถั่วก็ไปได้ดีเช่นกัน
“ก่อนหน้านี้เกษตรกรจะต้องหว่านพืชผล 2-3 ครั้งหลังจากที่แรงลมพัดพาทรายมาปกคลุมผืนดิน” Aichatou Amodou เกษตรกรวัย 50 ปีจาก Droum ในภูมิภาค Zinder เล่า ตอนนี้ “ฉันหว่านแค่ครั้งเดียวก็พอ” และ Saidou Mallam Habou เกษตรกรจากพื้นที่เดียวกันก็เล่าว่า “ฉันรู้สึกว่า ตอนนี้เราใช้พื้นที่การเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา”
อย่างที่เห็นว่า ไนเจอร์ยังคงเป็นประเทศที่ความมั่นคงทางอาหารอยู่ในระดับแย่ที่สุดในโลก การปลูกต้นไม้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูผู้คนแบบด่วนๆ ในประเทศที่อัตราการเพิ่มประชากรสูง แต่อย่างน้อยก็เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือได้
ในปี 2005 และ 2011 ภัยแล้งรุนแรงขึ้น Chris Reij นักนิเวศวิทยาชาวดัตช์ส่งทีมตรวจสอบข้อมูลอาหารในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในขณะที่ผู้ประกอบการรายย่อยต้องเผชิญหน้ากับปัญหา แต่ในเขตประชากรหนาแน่นที่ต้นไม้คืนชีพยังคงให้ผลผลิตเกินดุลหลายตัน เขาตีความได้ว่า ในที่ประชากรหนาแน่นต่ำ ผู้คนยังคงรู้สึกว่าทรัพยากรธรรมชาติมีอยู่อย่างเหลือเฟือ” พวกเขาขาดแรงจูงใจในการจัดการต้นไม้ ในขณะที่เกษตรกรมีความยืดหยุ่นมากกว่า
นั่นเป็นเหตุผลให้นักนิเวศวิทยาพยายามให้ประเทศต่างๆ คิดค้นสิ่งใหม่เช่นเดียวกันกับที่ไนเจอร์เคยทำ เช่น มูลนิธิศุภนิมิตที่ Rinaudo ทำงานอยู่ ได้ส่งเกษตรกรชาวเซเนกัลไปเรียนรู้ที่ไนเจอร์ และกลับมาฟื้นฟูป่าที่บ้านเกิดได้ถึง 150,000 เอเคอร์ “ปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดจากมือของเกษตรกรทั้งหมด” Rinaudo กล่าว
“ยังต้องมีความจำเป็นอะไรอีก? นี่เป็นเรื่องเร่งด่วนแล้ว” เขากล่าวต่อ “อะไรคือศักยภาพ? แน่นอนว่ามีมหาศาล”
เรื่อง Katarina Höije และ Craig Welch