จังหวะชีวิตที่หายไปและลมหายใจที่เปลี่ยนแปลง ณ ทะเลสาบสงขลา

รู้จัก ทะเลสาบสงขลา ลากูนแห่งเดียวของไทย ในมิติธรรมชาติวิทยากับความน่ากังวลถึงสิ่งมีชีวิตที่หายไปและระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลง

ยังไม่มีใครพิสูจน์ได้อย่างแท้จริงว่า ทะเลสาบสงขลา ถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อใด ร้อย พัน หรือหมื่นปีมาแล้ว สำหรับรูปธรรมที่ปรากฏให้เห็น และเป็นอยู่ของทะเลสาบสงขลาในวันนี้ แต่มีการค้นพบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของผู้คนรอบทะเลสาบสงขลามาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงการสร้างชุมชนเมืองท่าที่รุ่งเรือง

ที่นี่คือทะเลสาบแห่งเดียวของประเทศไทย ที่มีเนื้อที่ครอบคลุมถึง 3 จังหวัดคือสงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช พื้นที่ทั้งหมด 1,040 ตร.กม. จุน้ำได้ 1,600 ล้านลูกบาศก์เมตร ความยาวจากเหนือสุดถึงใต้สุด 77 กิโลเมตร เป็นทะเลสาบแบบลากูนแห่งเดียวของประเทศไทย ที่มีน้ำจืดจากลำคลองหลายสิบสายไหลลงสู่ทะเลสาบ และมีน้ำเค็มจากทะเลอ่าวไทยไหลเข้ามาผสานทำให้มีลักษณะเป็นระบบทะเลสาบแบบลากูนขนาดใหญ่

ลากูน คือ แหล่งน้ำตื้นที่แยกจากทะเลโดยการขวางกั้นของตะกอนและเนินทราย ทะเลสาบสงขลาเป็นหนึ่งใน 117 แห่งทั่วโลก เป็น “ทะเลสาบสามน้ำ” คือ มีทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็มผสานผสมปะปนกันอยู่ตลอดเวลา ในฤดูแล้งที่มีน้ำจืดไหลลงสู่ทะเลสาบน้อย มีน้ำเค็มจากในทะเลไหลเข้ามามาก น้ำในทะเลสาบจะกลายเป็นสามน้ำคือ ตอนบนเป็นน้ำจืด ตอนกลางเป็นน้ำกร่อย และตอนล่างเป็นน้ำเค็ม กายภาพ ทะเลสาบสงขลา แบ่งออกเป็น 4 ส่วนที่เรียกว่า ทะเลน้อย ทะเลหลวง ทะเลสาบสงขลาตอนกลาง และทะเลสาบสงขลาตอนล่าง

เครือข่ายสายน้ำที่โยงใยชีวิต

สายน้ำลำปำ เป็นอีกหนึ่งลำคลองสำคัญที่ไหลลงสู่ทะเลสาบ ‘ลำปำ’ เป็นชื่อของปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง ซึ่งมีโคตรเหง้าเผ่าพงศ์อยู่ในสายน้ำแห่งนี้มาตั้งแต่อดีตกาล แต่วันนี้มันเหลือเพียงแค่ชื่อไร้ตัวตน ร้างวิญญาณ ลำปำ คือปลาในวงศ์เดียวกันกับปลากะแหทอง  ปลาตะเพียนหางแดง ปลาตะเพียนทอง ปลาเลียนไฟ คนภาคกลางเรียก กระแห ตะเพียนหางแดง หรือกระแหทอง เป็นปลาที่มีรูปร่างป้อมสั้น ลำตัวแบน  หัวเล็ก จะงอยปากสั้นทู่ นัยน์ตา-ปากเล็ก  มีหนวดสั้น 2 คู่ เกล็ดมีขนาดใหญ่ ครีบหางใหญ่ ปลายเป็นแฉกลึก กระโดงหลังสูงกว้าง ไม่เพียงแค่นั้น ปลาชนิดอื่นๆเช่น ปลาช่อน ปลาลำปำ ปลาชะโอน ปลาขะแหยง ปลาชะโด ปลาพรม ปลาตุ่ม ปลาตือ ปลาแรด ปลากราย….ฯลฯ ก็มีพบที่นี่ด้วย

กาลเวลาผันผ่าน มนุษย์ล่ามันมากเกินไป จ้องเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว โดยมิคำนึงถึงผลที่จะตามมา แหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของมันได้รับผลกระทบอันเลวร้าย รวมทั้งยังมีลำคลองอีกหลายสายที่เชื่อมโยงติดต่อกันคล้ายใยแมงมุม เช่น คลองบ้านสวน คลองบ้านแร่ คลองท่าโพธิ์ คลองควนกุฏ คลองน้ำเชี่ยว และคลองหัววัง ซึ่งลำคลองทุกสายไหลสู่คลองลำปำ ก่อนจะไหลต่อลงทะเลสาบสงขลา โดยรูปธรรมและสัจธรรม ลำปำจึงเป็นทางผ่านที่ชอกช้ำยิ่งนัก ตามวันเวลาและการกระทำที่ผ่านมา

เรื่องจริงอันน่าเศร้าที่ได้ยินจากคนในพื้นที่ เกิดขึ้นเมื่อสิบกว่าปีก่อน เมื่อเทศบาลเมืองพัทลุง มีมติให้สร้างบ่อทิ้งขยะขนาดใหญ่ขึ้นที่นี่ โดยเอาขยะจากทั่วจังหวัดพัทลุง และบางส่วนในจังหวัดสงขลา รวมกันแล้ววันละกว่า 300 ตัน มาทิ้งที่ลำปำ ทำให้น้ำเริ่มเน่าเสีย ปลาเริ่มไม่โต และทยอยตาย ชาวบ้านเลี้ยงปลาในกระชังไม่ได้ และไม่สามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ได้ดังเช่นในอดีตอีกต่อไป

คนเรามักจะคิดๆง่ายๆตื้นๆกับธรรมชาติผู้ยิ่งใหญ่เสมอ สายธารแห่งลำปำมิใช่เป็นเพียงแค่คลองธรรมดาสายหนึ่ง แต่มันคือชีวิต คือจิตวิญญาณ คือประวัติศาสตร์ของเมืองพัทลุงและ ทะเลสาบสงขลา ที่เคียงคู่อยู่ด้วยกันมาเนิ่นนานนับหลายร้อยปี

ถ้อยคำที่หายไปสะท้อนวิถีที่เปลี่ยนแปลง

ทุกวันนี้การหาสัตว์น้ำเพื่อยังชีพจึงต้องขยายวงกว้างออกไปทางปากอ่าวลำปำไกลออกไปเรื่อยๆ ด้วยความหวังที่จะได้ปลามาเป็นกับข้าว เหลือบางส่วนก็นำไปขาย ยามสายๆ หากคุณมีโอกาสเดินทางผ่านตามถนนที่รายรอบลำปำ โดยเฉพาะเส้นที่มุ่งไปทะเลน้อย ภาพที่ปรากฏตามริมทาง จะเห็นชาวบ้านขึงตาข่ายตามแนวยาวริมถนน เป็นแถวเป็นแนว หลังจากที่ออกเรือไปหาปลาตั้งแต่ตี 4 มันเป็นอาชีพแห่งวงศ์วานของพวกเขามาเนิ่นนาน เป็นชีวิตที่พออยู่พอกิน และมันเป็นเช่นนี้เสมอมาแต่อดีต ต่างกันตรงที่ว่า ยิ่งนานวัน จำนวนปลายิ่งลดน้อยถอยลง เพราะคนมากขึ้น

คลองลำปำอาจเป็นเส้นชีวิตที่ตีบตันลงจากอ่าวลำปำเมื่อมองออกไปทางทะเลสาบสงขลา จะเห็นเกาะสี่ เกาะห้า  เป็นเกาะที่มีมูลค่าราคาแพงมากที่สุดในทะเลสาบสงขลา เพราะจากอดีตเป็นเกาะที่ได้รับสัมปทานรังนกจากรัฐบาล และเป็นที่ร่ำลือกันว่า รังนกของที่นี่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก ราคาค่าตัวจากเสมหะและสายเลือดของนกนางแอ่นบนเกาะแห่งนี้ จึงขึ้นไปอยู่ที่ 100,000บาทต่อกิโลกรัม

คนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์แบบเกื้อกูลพึ่งพากันมานานแสนนาน ซึ่งเรียกกันว่าเป็น ‘เกลอ’ ผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณต่างกัน ใครมีทรัพยากรอะไรก็นำมาแลกเปลี่ยน และร่วมกันสรรสร้างวัฒนธรรมซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กันตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เป็นที่รู้จักกันว่าเป็น ‘เกลอเขา-เกลอนา-เกลอเล’ แต่ปัจจุบันนี้เอาคำ 3 คำนี้ไปพูดให้คนรอบทะเลสาบฟัง ทุกคนคงส่ายหน้าอย่างงงงวย เพราะมันสูญหายไปนานแล้ว ทะเลน้อยเป็นบริเวณที่มีน้ำจืดมากที่สุด เป็นแหล่งกำเนิดของพืชน้ำมากมายหลายชนิด เช่น สาหร่ายหางกระรอก จอกหูหนู ต้นจูด ย่านลิเภา ฯลฯ ชาวบ้านบางคนเล่าให้ฟังว่าเมื่อก่อนพวกเขาใช้น้ำจากทะเลสาบ มาดื่มกิน ปลูกข้าว อาบน้ำ และหุงข้าวได้อย่างสนิทใจ

เมื่อชาวบ้านเริ่มหันมาเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ในพื้นที่นาข้าวรอบทะเลสาบสงขลามากขึ้นเรื่อยๆ ชาวนาที่เคยทำนาได้ข้าวได้ปีละ 2 ครั้ง ก็ทำนาไม่ได้อีกต่อไป เนื่องจากน้ำในทะเลสาบขาดอ็อกซิเจนจนเน่าเสีย ในสมัยนั้นเฉพาะที่อำเภอระโนดเพียงอำเภอเดียว พื้นที่การเลี้ยงกุ้งก็มีมากกว่า 20,000 ไร่ ไม่เพียงแค่นากุ้ง สิ่งที่ตามมาอย่างเช่น ร้านอาหาร คลับ บาร์ คาราโอเกะ ก็ผุดขึ้นมากมายราวกับดอกบัวในทะเลน้อย ปล่อยน้ำเสียไม่น้อยกว่า 35,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา

มาถึงวันนี้ ที่ดินราบโล่งแถวนั้นกลายเป็นเพียงพื้นดินว่างเปล่าปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น เพราะดินเสียไปแล้ว นัยหนึ่งมันคืออนุสาวรีย์แห่งความปวดแปลบ หลายคนเป็นเศรษฐีเพราะนากุ้ง แต่เพียงชั่วไม่กี่ปีต่อจากนั้น น้ำในทะเลสาบสงขลาบางส่วนเริ่มเน่า ในหน้าแล้งบางจุดมีค่าความเค็มพุ่งขึ้นไปสูงถึง 8.5 กรัมต่อลิตรก็เคยปรากฏมาแล้ว ยากที่จะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้

ความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลสาบสงขลา

ทะเลสาบสงขลาในอดีตเป็นแหล่งพักพิงและอาศัยของนกนานาชนิดกว่า 200 สายพันธุ์ ทั้งนกประจำถิ่น และนกอพยพตามฤดูกาล แหล่งใหญ่ที่นกเหล่านี้อาศัยอยู่คือทะเลน้อย และทะเลหลวง ซึ่งมีสรรพอาหารอย่างสมบูรณ์ รวมทั้งยังเป็นแหล่งน้ำจืด …องค์การยูเนสโกคัดเลือกให้ทะเลน้อยเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือ ‘แรมซาร์ไซต์’ แห่งแรกของประเทศไทย ทะเลน้อยเป็นแหล่งดูนกที่ขึ้นชื่อที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย

ทั้งนกประจำถิ่น นกอพยพตามฤดูกาล เช่น เหยี่ยวดำ นกซ่อมทะเลอกแดง นกที่อยู่ในสถานภาพถูกคุกคาม เช่น นกหัวโตมลายู นกตะกรุม เป็ดหัวดำ นกที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ เช่น นกกาบบัวที่มีการทำรังวางไข่ที่ทะเลน้อยเพียงแห่งเดียว นอกจากนี้ก็ยังมีนกที่พบเห็นทั่วไปเช่น นกอีโก้ง นกเป็ดน้ำ นกเป็ดแดง เป็ดคับแค นกพริก ฯลฯ กูรูดูนกยังแยกนกในทะเลสาบสงขลาออกได้เป็นวงศ์ต่างๆ คือวงศ์นกยาง คินกขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สำรวจพบ 15 ชนิด คือ นกยางไฟหัวดำ นกยางโทนใหญ่ นกกาบบัว นกกระสาแดง โดยเฉพาะนกยาง และนกกระสาแดงจะทำรังและอาศัยอยู่ในทะเลน้อยตลอดทั้งปีเป็นจำนวนมาก แต่ก็ลดจำนวนลงไปกว่าครึ่งแล้ว จากคุณภาพของน้ำที่เสื่อมโทรมลง รวมทั้งแหล่งอาหารที่ลดน้อยลง

วงศ์นกเป็ดน้ำปากแบน จะอพยพมาในฤดูหนาว นกเป็ดน้ำที่พบในทะเลน้อย เช่น นกเป็ดแดง เป็ดคับแค เป็ดลายนอกจากนี้ยังมี นกเป็ดผี มีลักษณะคล้ายนกเป็ดน้ำ ต่างกันตรงปลายปากแหลมว่ายน้ำและดำน้ำเก่ง  และรวดเร็วเหมือนหายตัวได้

วงศ์นกอัญชัญ นกน้ำวงศ์นี้จะมีขาและนิ้วยาว เหมาะสำหรับเดินหากินบนใบบัว และกอไม้น้ำได้เป็นอย่างดี ส่วนใหญ่เป็นนกประจำถิ่น เช่น นกอัญชัญคิ้วขาว นกกวัก นกอีลุ้ม นกอีล้ำ นกคู๊ท คือ นกอีแจว นกพริก วงศ์นกกาน้ำ นกกาน้ำสีดำรูปร่างคล้ายกา นิ้วเท้ามีพังผืดดำน้ำเก่งมาก มีทั้ง กาน้ำเล็กและ กาน้ำใหญ่ วงศ์นกตีนเทียน นกชายเลนชนิดนี้มีขายาวปากยาว มีสีเป็นขาวดำชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง เมืองไทยมีชนิดเดียว นอกจากนี้แล้วยังมีนกที่พบเสมอ เช่น เหยี่ยวแดง นกกระแตแต้แว้ด  นกนางนวลแกรบเคราขาว นกกระเต็นน้อย นกนางแอ่นบ้าน  นอกจากนกแล้ว ยังสำรวจพบสัตว์ ชนิดต่างๆ อีกไม่ต่ำกว่า 250ชนิด เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 13 ชนิด เช่น ลิงแสม และลิงลม สัตว์เลื้อยคลาน 25 ชนิด เช่น เต่า ปลาเสือ ตะพาบน้ำ จิ้งแหลน และงูชนิดต่างๆ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกเช่น กุ้ง ปู หอย…ฯลฯ

ทะเลลสาบสงขลาในสมัยก่อน มีปลาน้ำจืด ชุกชุมมาก สำรวจพบไม่ต่ำกว่า 45 ชนิด เช่น ปลาช่อน ปลากระดี่ ปลาซิวส่วน ปลาที่น่าสนใจแต่พบตัวได้ยากกว่า เช่น ปลาปักเป้าน้ำจืด และ ปลาเสือพ่นน้ำ เป็นต้น”

ชาวบ้านอาวุโสคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า  …สมัยหนุ่มๆแกเอาเรือออกไปวางตาข่ายยาว 200 เมตร จะได้ปลาวันละไม่ต่ำกว่า 200 กิโลกรัม แต่เมื่อมาถึงวันนี้ วางข่ายไป 2,000 เมตร ได้ปลาไม่เกิน 3 กิโลกรัม สาเหตุที่ปลาลดลงอย่างที่รู้ๆ กันอยู่ และการปิดปากระวะ หรือทางเข้าทะเลสาบเล็กลง และการใช้เรืออวนมาจับลูกปลา เป็นจำนวนมาก สมัยก่อนปลาคันหลาว ปลาคางโค๊ะ ปลาตะลุมฯลฯ เยอะมากกินกันไม่หวาดไม่ไหว สิบกว่าปีแล้ว ที่ปลาพวกนี้หายไปหมดสิ้น ไม่มีใครพบเจอ ไม่มีใครจับได้ แสดงว่าพวกมันสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว ปัจจุบันนี้ชาวบ้านต้องกินปลาในกระชังที่เลี้ยงไว้เอง

สมัยก่อนที่คลองนางเรียมมีจระเข้ชุกชุม แต่ปัจจุบันจระเข้เหลือเพียงตำนานเท่านั้นเช่นเดียวกับ ‘ช้างน้ำ’ก็มีปรากฏในทะเลน้อยด้วย มีคนเคยงมพบกระดูกที่เป็นส่วนกรามของมันแล้วนำเอามาทำสากตำหมาก สองฝั่งคลองนางเรียมยังมีพันธุ์ไม้หลายชนิดปรากฏให้เห็น เช่น ย่านลิเพา ที่สมเด็จพระพันปีหลวงนำไปประดิษฐ์เป็นกระเป๋าถือของสตรี ต้นลำพู ต้นกุ่มน้ำ จิกพรุ เสม็ดขาว บัวสาย บัวลินจง พ้นจากคลองนางเรียมทางขวามือเป็นทุ่งโล่งมีหญ้าสั้นๆ ขึ้นเขียวขจี ชาวบ้านเรียกกันว่า ‘แหลมดิน’ ในเวลาน้ำลง สามารถจอดเรือแล้วขึ้นฝั่งไปเดินข้างบนได้เป็น ที่นี่จึงจุดดูนกน้ำและนกชายเลนได้เป็นอย่างดี มีนกเด่นๆ เช่น นกตีนเทียน นกช้อนหอยขาว นกหัวโตหลังจุดสีทอง และ นกแอ่นทุ่งใหญ่ ฯลฯ

ถ้าโชคดีอาจได้พบนกกาบบัว หรือ นกตะกรุม เดินหากินอยู่บ้าง อีกทั้งบางส่วนของแหลมดิน ชาวบ้านยังใช้เป็นที่เลี้ยง”ควายไล่ทุ่ง”ได้หลายฝูง ตอนเช้าปล่อยให้มันออกกินหญ้าบนแหลมดินตกเย็นก็ต้อนมันกลับเข้าคอก เป็นครรลองของชีวิตทั้งของคนเลี้ยงสัตว์ และสัตว์เลี้ยงของพวกเขาเช่นนี้มาเนิ่นนาน แต่อีกไม่นานจะไม่มีภาพเหล่านี้ให้เห็นอีกแล้ว

……………………

ปัญหาความเสื่อมโทรมของทะเลสาบสงขลา มีมากมาย เพราะสะสมมาเนิ่นนานยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ สิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข แต่อย่างใด เช่นปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า ทำให้พื้นที่ป่าไม้ลดลง มีผลกระทบต่อระบบนิเวศ ควรเร่งอนุรักษ์ ฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ป่าผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชน นอกจากนี้ยังมีปัญหาสัดส่วนพื้นที่ป่าต่อพื้นที่ลุ่มน้ำต่ำในบางลุ่มน้ำสาขาต่างๆ

ปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นภูเขา มีการบุกรุกทำลายป่า และการทำการเกษตรโดยไม่มีมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสม คุณภาพน้ำในคลองอู่ตะเภา และบริเวณทะเลสาบสงขลาตอนล่าง คุณภาพเสื่อมโทรม ลงทุกวันเนื่องจากได้รับการปนเปื้อนจากน้ำทิ้งของชุมชน และโรงงาน ระบบบำบัดน้ำเสียที่ก่อสร้างแล้ว สามารถรองรับน้ำเสียได้ประมาณ 40,000 ลบ.ม./วัน แต่ระบบท่อยังไม่คลอบคลุมทั่วทั้งพื้นที่ นอกจากนี้น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมที่เกิดจากการแปรรูปอาหารและยางพารายังมีการลักลอบปล่อยกันอยู่ น้ำเสียจากการทำฟาร์มหมูส่วนใหญ่ยังไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย และปล่อยน้ำลงสู่ลำน้ำสาธารณะมาชั่วนาตาปี มีการบุกรุกป่าชายเลนและป่าพรุทั้งในจังหวัดพัทลุง นครศรีธรรมราช และจังหวัดสงขลา ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการทำนากุ้ง ควรเร่งอนุรักษ์ ฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนมีการรุกล้ำของน้ำเค็มในทะเลสาบสงขลา  ระยะทางของการรุกล้ำของน้ำเค็มมีระยะทางที่ไกลขึ้นๆเรื่อยๆ ปัจจุบันทะเลสาบสงขลามีความตื้นเขินมากขึ้น เนื่องจากมีการทับถมของตะกอนที่ถูกชะล้างของกระแสน้ำในรูปของตะกอนแขวนลอยจากพื้นที่ลุ่มน้ำโดยรอบอันเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญ

ทะเลสาบสงขลายังเป็นความทรงจำอันงดงามของบรรพบุรุษมาอย่างต่อเนื่อง เสมือนขุมทรัพย์ล้ำค่าที่กำเนิดมาพร้อมกับโลก มันอาจเป็นทะเลเปิดที่เป็นพื้นน้ำเดียวกันกับอ่าวไทย แล้วตะกอนที่ถมทับมาเนิ่นนานนับศตวรรษ  ก็ปรับแปรให้มันเป็นทะเลปิด จนมีรูปลักษณ์กลายเป็นทะเลสาบแห่งเดียวของประเทศไทย ที่ใหญ่ที่สุดในเอเซียอาคเนย์ หลายร้อยปีที่ผ่านพ้น ผู้คนตักตวงหาประโยชน์จากทะเลแห่งนี้มากมาย แต่ไม่ว่าจะเป็นทะเลสาบสงขลา หรือแม่น้ำ ลำคลอง ที่ไหน เมื่อถึงจุดๆ หนึ่งแห่งกาลเวลา มันย่อมเสื่อมทรุด และสิ้นลมหายใจ ไปในที่สุด

เรื่อง: เจนจบ ยิ่งสุมล

ภาพ: WHITEPOST GALLERY


อ่านเพิ่มเติม การลักลอบขุดดินที่เขาแดง เขาน้อย กำลังทำลายมรดก 1,400 ปีที่สงขลา

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.