การลักลอบขุดดินที่เขาแดง เขาน้อย กำลังทำลายมรดก 1,400 ปีที่สงขลา

การลักลอบขุดดินที่เขาแดง เขาน้อย กำลังทำลายมรดก 1,400 ปีที่สงขลา

การเสียโอกาสทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของสงขลา กับลักลอบขุดดินรอบโบราณสถาน หัวเขาแดง เขาน้อย

ช่วงต้นปี 2565 ข่าวเรื่องการลักลอบขุดดินบริเวณโบราณสถาน หัวเขาแดง และเขาน้อย อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ถูกนำเสนอในสื่อมากมาย ทำให้เสียงของกลุ่มประชาชนและนักวิชาการที่ออกมาเคลื่อนไหว “ปกป้องหัวเขาแดง” #Save_Singora ดังขึ้นเรื่อยๆ เป็นข่าวร้ายที่ย้อนแย้งกับเจตนารมณ์ของจังหวัดที่ประกาศผลักดันสงขลาให้เป็นเมืองมรดกโลก ซึ่งถ้าว่ากันตามมรดกทางวัฒนธรรมทั้งด้วยโบราณคดีและวิถีชีวิต สงขลานับว่ามีศักยภาพมาก แต่หากยังคงมีการทำลายพื้นที่ใกล้โบราณสถานอย่างอุกอาจ สองความเคลื่อนไหวนี้ก็สวนทางกันสิ้นเชิง

สงขลา, ประมงพื้นบ้าน
วิถีประมงพื้นบ้านของชาวหัวเขา เมื่อมองจากป้อมปืนหมายเลข 8 บนหัวเขาแดง ภาพโดย นายแพทย์รังสิต ทองสมัคร์

เขาแดง เขาน้อย หลักกิโลเมตรที่ 1 ของประวัติศาสตร์สงขลา

 คนอาจมองเห็นว่าบริเวณหัวเขาแดงเป็นซากดินเก่า แต่ที่นี่คือโบราณสถานอายุ 1,400 ปี ซึ่งก่อร่างขึ้นในสมัยศรีวิชัย ก่อนที่จะเกิดชื่อตามการเรียกขานของนักเดินเรือชาวเปอร์เชียซึ่งมาทำการค้าสมัยอยุธยา โดยเรียกเมืองท่าซึ่งตั้งอยู่เชิงเขาแดงว่า “ซิงกอรา – Singora”  ชื่อ “สิงหนคร” และชื่อจังหวัดสงขลาก็ผันมาตาม Singora

หัวเขาแดง, โบราณสถาน, สงขลา
โบราณสถานป้อมปืนหมายเลข 8 สร้างขึ้นโดยวิสัยทัศน์สุลต่านสุไลมาน เจ้าเมืองสงขลา ให้เป็นเมืองป้อมปราการบนภูเขาที่สังเกตการณ์ทั้งการค้าและข้าศึกได้ ภาพโดย นายแพทย์รังสิต ทองสมัคร์

ก่อนการย้ายเมืองสงขลาไปอยู่ฝั่งบ่อยางในปัจจุบัน สุลต่านสุไลมาน เจ้าเมืองคนสำคัญของสงขลามองเห็นชัยภูมิซึ่งเป็นภูเขาอยู่ปากอ่าวทางเข้าทะเลสาบสงขลา จึงสร้างเมืองบนภูเขาล้อมด้วยป้อมปืนใหญ่คอยสังเกตการณ์และป้องกันเมือง มองลงไปยังเห็นท่าเรือที่เป็นจุดศูนย์กลางการค้าและคมนาคมมาจนถึงปัจจุบัน ตลาดหัวแดงยังคงเป็นตลาดใหญ่ที่ผู้คนมาแลกเปลี่ยนสินค้าจากทั่วประเทศ แพขนานยนต์ยังรับส่งผู้คนที่สัญจรไปมาในย่านนี้

ดร.จเร สุวรรณชาต รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (ด้านสถาปัตย์) บอกว่า พื้นที่บริเวณเขาหัวแดงมีความเฉพาะมากตรงที่ความเป็นปากอ่าว บรรพบุรุษฝั่งหัวเขาแดงจึงเลือกวางป้อมปืนไว้บนเขา สถาปัตยกรรมของป้อมปืนรับเทคโนโลยีมาจากยุโรป ซึ่งใช้หินในการก่อสร้าง ดร.จเรเคยจัดประชุมวิชาการ เชิญคนต่างชาติมาดูสถาปัตยกรรมป้อมโบราณที่หัวเขาแดง ก็ยังประทับใจในเอกลักษณ์ ถึงกับบอกว่าสามารถผลักดันเป็นมรดกโลกได้เลย

ป้อมปืน, หัวเขาแดง, โบราณสถาน, สงขลา
ป้อมปืนที่เขาหัวแดงใช้หินในการก่อสร้าง ต่างจากป้อมปืนโบราณที่เชียงใหม่และนครราชสีมาซึ่งใช้อิฐก่อสร้าง ภาพโดย นายแพทย์รังสิต ทองสมัคร์

ดร.จเร ย้ำว่ามรดกโลกของฝั่งบ่อยาง (อำเภอเมือง) คือ Living Heritage หรือวัฒนธรรมที่มีชีวิต ส่วนฝั่งเขาหัวแดงคือด้านโบราณคดี และเป็น Cultural Heritage คือแหล่งวัฒนธรรมที่อาศัยภูมิทัศน์ แหล่งที่ตั้ง กับตัวสถาปัตยกรรม นี่คือภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม

“หัวเขาแดงอายุ 1,400 ปี จะเป็นหลักกม.ที่ 1 ของประวัติศาสตร์สงขลา และโบราณสถานเป็นประจักษ์พยานที่สำคัญที่สุด ในการยืนยันว่าที่นี่เคยเป็นแหล่งความเจริญก็คือที่เจดีย์เขาน้อย”

ความเฉพาะตัวของภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม

 อาณาจักรศรีวิชัย (ราว 1,300 – 1,400 ปีที่แล้ว) รุ่งเรืองขึ้นบนเกาะสุมาตรา อินโดนิเซีย ครอบครองพื้นที่แหลมมลายู รวมเกาะชวาและภาคใต้ของไทยเข้าไปด้วย ศิลปะสมัยศรีวิชัยได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนามหายาน มีการพบพระพุทธรูปสมัยศรีวิชัยในหลายจังหวัดแถบภาคใต้ แต่สำหรับสถาปัตยกรรมแล้ว นับว่าพบน้อยมากในประเทศไทย

หัวเขาแดง, โบราณสถาน, สงขลา, โบราณสถานเจดีย์เขาน้อย
โบราณสถานเจดีย์เขาน้อย ศิลปะช่างสมัยศรีวิชัย พุทธศตวรรษที่ 13 – 14 ซึ่งเหลือแต่ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้าง x ยาว 20 เมตร ภาพโดย นายแพทย์รังสิต ทองสมัคร์

เจดีย์เขาน้อย คือเจดีย์เก่าแก่สมัยศรีวิชัย เท่าที่พบอีกแห่งก็คือเจดีย์พระธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับเจดีย์ในเกาะชวามาก อาจารย์บุญเลิศ จันทระ อาจารย์สถาบันทักษิณคดี มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยทักษิณ เล่าถึงการมีอยู่ของสถาปัตยกรรมที่ไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรม สืบสาวราวเรื่องไปได้ไกลถึงเส้นทางประวัติศาสตร์ของชาวสงขลา มะละกา และชวา การขุดพบสุสานของทั้งเจ้าเมือง และชาวต่างชาติในอดีตที่เดินทางมาทำการค้าในแถบนี้ ล้วนเป็นเรื่องราวที่นำมาต่อยอดเป็นการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ได้ทั้งหมด หากมีการวางแผนและเชื่อมต่อทุกอย่างให้เป็นภาพใหญ่ พื้นที่หัวเขาแดงและเจดีย์เขาน้อย ก็จะไม่ใช่เพียงซากโบราณที่คนผ่านไปมาโดยไม่รู้มูลค่า

ทัศนียภาพอันสวยสงบเมื่อมองจากป้อมปืนหมายเลข 9 หนึ่งในป้อมเมืองเก่าของสงขลา ภาพโดย นายแพทย์รังสิต ทองสมัคร์

ไม่เพียงสถานที่ แต่ประวัติศาสตร์ยังคงสานต่อมาในชีวิตของคนสงขลา เมื่อพุทธศาสนามหายานเลือนหาย ศาสนาอิสลามเข้ามาแทนที่ ผสมผสานด้วยพุทธเถรวาท และความเชื่อเทพเจ้าในแบบจีน ซึ่งอยู่ร่วมกันอย่างสอดคล้องกลมกลืน ถึงตอนนี้ สุลต่านสุไลมาน ที่ชาวมุสลิมสงขลาเรียกว่า “โต๊ะหุม” และที่ชาวพุทธหรือชาวสงขลาเชื้อสายจีนเรียกขานกันว่า “ทวดหุม”  ก็เป็นที่เคารพนับถือมาตลอด มีประเพณีไหว้โต๊ะหุมที่ทุกศาสนาพร้อมใจกับทำบุญในแบบของตัวเอง ทำให้เห็นบทบาทของเจ้าเมืองเก่าผู้ยังคงมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของชาวสงขลา อาจารย์บุญเลิศ ย้ำถึงสังคมพหุวัฒนธรรมของชาวสงขลาที่ไม่มีใครเหมือน “ระบบความสัมพันธ์ของพุทธและมุสลิม เป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมที่เราพุทธและมุสลิมอยู่กับอย่างสันติ”

โบราณสถานเจดีย์เขาน้อย, หัวเขาแดง, สงขลา
โบราณสถานป้อมปืนหมายเลข 9 บนหัวเขาแดง ซึ่งขึ้นไม่ง่าย เนื่องจากยังไม่ได้สร้างทางขึ้นอย่างเป็นทางการ เพราะต้องวางแผนก่อสร้างให้รอบคอบ แต่ขณะเดียวกัน กลับมีผู้บุกรุกมาไถทางขึ้นเพื่อไปลักลอบขุดดินเป็นเส้นทางยาว 1.5 กม. โดยไม่คิดถึงผลกระทบใดๆ ที่จะมีต่อโบราณสถาน ภาพโดย นายแพทย์รังสิต ทองสมัคร์

หากไม่สนใจประวัติศาสตร์ อาจมีน้อยคนที่รู้ข้อมูลนี้ คนหัวเขาแดงเองที่เติบโตวิ่งเล่นอยู่แถวนี้ ก็เคยชินจนไม่เห็นความสำคัญ ไม่ซิ ภูเขาที่เต็มไปด้วยทรัพยากร พวกเขารู้ถึงมูลค่า แต่ไม่ใช่คุณค่าที่มากกว่าเพื่อประโยชน์ส่วนตน

“ผมเป็นคนหัวเขาแดง บ้านอยู่ตรงข้ามสุสาน ณ สงขลา ผมวิ่งเล่นแถวนั้นแต่เด็ก ผมเคยคิดว่ามันแค่ซากอิฐเก่าๆ บ้านผมตอนนี้จุดเกิดเหตุอยู่บนหัวผมเลย” คุณเอกพล ฤทธิ์โต ชาวสิงหนครยอมรับว่าเขาก็เป็นอีกคนหนึ่งที่คิดจะซื้อที่ดินตรงทางขึ้นเขา เขามองว่าชุมชนที่ซื้อที่ชายเขาก็เท่ากับปิดทางขึ้น เก็บไว้เฉพาะสำหรับตนใช้ประโยชน์พื้นที่บนเขาได้เลย “แค่ซื้อที่ชายเขาก็เท่ากับปิดกั้นทางขึ้นเขาได้ทั้งลูก” แต่เมื่อนานไป ความเปลี่ยนแปลงที่เขาเห็นมาตลอด ก็ทำให้เขาคิดใหม่ มูลค่าจากการสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวจะมหาศาลเลี้ยงได้ทั้งจังหวัด “ทุนที่สงขลามีคือธรรมชาติและวัฒนธรรม ไม่ต้องปรุงแต่งมาก เพียงแค่สะกิดดินออกก็เห็นเลย”

การขุดทำลายอย่างไม่เคยมีมาก่อน

“จังหวะที่เห็นพื้นที่บนหัวเขาแดง ผมอึ้งไปเลย ไม่สามารถบรรยายเป็นคำพูดได้” คุณพงศ์ธันว์ สำเภาเงิน ผู้อำนวยการ สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา คนเพชรบุรีกล่าว เขาเพิ่งมารับตำแหน่งที่สงขลาได้ไม่กี่เดือน เขาเคยรับมือกับผู้บุกรุก ทั้งการเชิญพระสงฆ์ออกจากพื้นที่โบราณสถาน การดำเนินคดีผู้ลักลอบขุดโบราณวัตถุ แต่ไม่เคยมีที่ไหนที่เขาเห็นว่า “เป็นการทำลายล้างอย่างกว้างใหญ่”

ภาพแสดงจุดเกิดเหตุลักลอบขุดดินในเขตโบราณสถาน ภาพจาก Facebook ของคุณพงศ์ธันว์ สำเภาเงิน ผู้อำนวยการ สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา

กรมศิลปากรกำลังตรวจสอบพื้นที่ เพื่อทำแผนสร้างจุดขึ้นลง ขยายพื้นที่ทางเข้าให้ผู้คนเข้าถึงได้ง่าย มีแผนทำให้สมเกียรติของประวัติศาสตร์ ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างสิ่งก่อสร้างที่เล็กที่สุด ใช้พื้นที่ให้น้อยที่สุด กระทบกับเขตโบราณสถานและชุมชนน้อยที่สุด แต่เมื่อขึ้นไปตรวจสอบกลับมีการลักลอบเอารถขุดไถเป็นทางขนาดใหญ่ เขาลงเขามาพร้อมกับความเต็มใจที่จะดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ได้รับเรื่อง ทำการสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดต่อไป รวมถึงอีกหลายๆ กรณีที่จะมีการตรวจสอบเพิ่มเติม

สองภาพนี้มีระยะทางห่างกันเพียง 40 เมตร ภาพโดย นายแพทย์รังสิต ทองสมัคร์

ส่วนพื้นที่ถัดออกไปบนเขาน้อยนั้น ห่างออกไปเพียงแค่ 40 เมตรจากเจดีย์เขาน้อย มีการขุดดินออกไปมหาศาล ผู้กระทำผิดอาจคิดว่าไม่ได้แตะต้องเจดีย์โบราณ เอาแต่ตักดินออกไปจนพื้นที่ใกล้เจดีย์ถูกตัดตรงเป็นแนวดิ่ง ทำให้เจดีย์เขาน้อยตั้งอยู่บนสภาพคล้ายริมหน้าผา เสี่ยงต่อดินถล่มและการทรุดทลายอย่างยิ่ง

ความเสียหายที่หายไปกับดิน

สำนักศิลปากรพื้นที่ 11 รายงานความเสียหายบริเวณหัวขาแดงประมาณ 5 ไร่ ปริมาณดินที่ขุดปรับออกไปประมาณ 20,400 ลูกบาศก์เมตร เฉพาะราคาดินคือ 4 ล้านบาท แต่มูลค่าความเสียหาย ไม่อาจคิดได้เพียงค่าขายดินคิวละเท่าไร

เขาน้อย, โบราณสถานเขาน้อย, สงขลา
ความเสียหายบริเวณโบราณสถานเขาน้อย ป่าไม้ที่หายไปกับดินคือมูลค่าทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเมือง ภาพโดย นายแพทย์รังสิต ทองสมัคร์

นอกจากความเสี่ยงต่อโบราณสถาน สิ่งที่หายไปกับดินคือต้นไม้ คือป่าที่ให้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ป่าอุ้มชูสิ่งมีชีวิตมากมาย กักเก็บน้ำใต้ดิน ลดอุณหภูมิพื้นที่ให้ร่มเย็น เป็นภูมิทัศน์ที่ดีสำหรับการอยู่อาศัย ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับการท่องเที่ยวและอสังหาริมทรัพย์

“การประเมินมูลค่าความเสียหายมีหลายแบบมาก เช่น มูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ ต้องดูว่ามีคนใช้ประโยชน์จากสิ่งนั้นยังไงบ้าง และมูลค่าทางจิตใจ ซึ่งเป็นมูลค่าที่เขาอยากให้สิ่งนั้นดำรงอยู่ เพราะสิ่งที่มีความสุข ความผูกพัน มีมูลค่าที่ยอมจ่ายด้วยทรัพยากรที่ตนมีอยู่ ทั้งเงิน แรงกาย เวลา” ดร.สินาด ตรีวรรณไชย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาสงขลานครินทร์ กล่าว

ว่าโดยรวม แม้ผู้คนไม่ได้ใช้ประโยชน์จากโบราณสถานและพื้นที่รอบข้างโดยตรง แต่ทรัพยากรเหล่านั้นคือ “โอกาส” การอนุรักษ์ก็เหมือนการลงทุนเพื่อเก็งกำไรไว้ก่อน เพราะการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จำเป็นต้องใช้ภูมิทัศน์ภาพรวมทั้งหมด มีมูลค่าเผื่อใช้ (option value) ในอนาคต การไถพื้นที่หายไปทำให้มูลค่าองค์รวมของพื้นที่เสียหาย เท่ากับการทำลายโอกาสในอนาคต

สิ่งที่ต้องทำต่อไป

ความผิดซึ่งเสร็จสิ้นแล้วในพื้นที่ซึ่งไม่มีกล้องวงจรปิด จึงไม่มีพยานและหลักฐาน ที่บ่งชี้ผู้กระทำผิด ไม่ปรากฏตัวผู้กระทำผิด แต่ก็ต้องทำการสืบสวนต่อไป เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด เพื่อลงโทษทั้งชดใช้ความเสียหายตามมูลค่าที่เกิดขึ้นกับโบราณสถาน เพื่อไม่ให้เป็นภาระภาษีของประชาชน ไปจนถึงการจำคุกหรือรอลงอาญา ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องใช้เวลา ในเบื้องต้น กรมศิลปากรจะตั้งรั้วจำกัดการเข้าถึง เพื่อป้องกันเหตุที่จะเกิดขึ้นอีก

หัวเขาแดง
ความงามในโบราณสถานป้อมปืนหมายเลข 9 บนหัวเขาแดง น่าหวั่นใจที่อีกด้านนั้นกลับมีการบุกรุกทำลาย ภาพโดย นายแพทย์รังสิต ทองสมัคร์

นอกจากเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว คนสงขลาซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวอิสระที่ติดตามเรื่องนี้มานาน ก็เริ่มสร้างการรับรู้ให้กว้างขึ้น “ถ้าไม่เอาชาวบ้านมาเป็นแนวร่วม  สิบปีก็ไม่มีทางเกิด เราต้องร่วมกับหน่วยงาน บรรจุเรื่องโบราณสถานสงขลาเข้าไปในการเรียนรู้ของเด็ก ให้เขาไปศึกษา ถ่ายภาพ บอกเล่าออกไป” คุณเอกพลย้ำ “ต้องคิดถึงคนจำนวนมาก ใช้กระบวนการเรียนรู้ ว่าจะทำยังไงให้พหุวัฒนธรรมเป็นมากกว่าคำพูด และออกมาเป็นการกระทำ”

เรื่อง อาศิรา พนาราม

ภาพ นายแพทย์รังสิต ทองสมัคร์

แหล่งข้อมูล

เสวนา “ปกป้องหัวเขาแดง #Save_Singora” 27 มีนาคม 2565 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดสงขลา

เผยแพร่โดย สื่อเถื่อนข่าว https://www.facebook.com/100066914075214/videos/736918800625679

https://www.facebook.com/pongdhans

https://scf.or.th/paper/27

https://nkr.mcu.ac.th/buddhasil/?p=100

 

นายแพทย์รังสิต ทองสมัคร์

มีงานอดิเรกคือการถ่ายภาพ ผู้ผูกพันกับหัวเขาแดง ยามต้องเดินทางด้วยแพขนานยนต์ สมัยเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ผ่านมาเขามีส่วนร่วมกับการเคลื่อนไหวทางสังคมโดยใช้ภาพถ่ายเป็นเครื่องมือ โดยไม่ต้องอาศัยถ้อยคำ ภาพก็เล่าเรื่องได้มากมาย


อ่านเพิ่มเติม เสาชิงช้า : ไขความลับ ขุดความหลัง 237 ปี

Recommend