เกาะอัคนี: บทเรียนของผู้คนที่อาศัยอยู่ร่วมกับ ‘ภูเขาไฟ’ หมู่เกาะคะแนรี

ธารลาวาที่กวาดทำลายส่วนหนึ่งของเกาะลาปัลมา
สร้างความตื่นตระหนกแก่ผู้อยู่อาศัยใน หมู่เกาะคะแนรี ของสเปน
และกลายเป็นบทเรียนว่าด้วยการใช้ชีวิตอยู่กับความพิโรธของภูเขาไฟ

อากาศข้างหน้าเป็นริ้วระยับด้วยความร้อน เมื่อฉันเข้าใกล้ทางเข้าสู่แดนบาดาล ขณะกระแสลมคำราม ลั่นในหู ฉันค่อยๆ เดินตามรอยเท้าของออกตาวีโอ เฟร์นานเดซ โลเรนโซ ผู้เป็นไกด์ของฉัน ตัดข้ามภูมิทัศน์ ไหม้ดำบนเกาะลาปัลมาใน หมู่เกาะคะแนรี ของสเปน

“นี่เกือบจะไกลสุดเท่าที่เราจะเข้าไปได้แล้วครับ” เขากล่าวขึ้นมาทันใด โดยหยุดอยู่ห่างไม่กี่เมตรจากเป้าหมายของเรา นั่นคือปากถ้ำภูเขาไฟอันน่าพรั่นพรึงที่เรียกว่า อุโมงค์ลาวา (lava tube) เราเขยิบเข้าไปอีก สองสามก้าวไปทางปากถ้ำ ซึ่งบริษัทโดรนเอกชนรายหนึ่งวัดอุณหภูมิเมื่อไม่นานมานี้ได้ที่ 170 องศาเซลเซียส หรือร้อนพอจะอบขนมปังได้ เฟร์นานเดซ โลเรนโซ รองประธานสมาพันธ์ถ้ำวิทยาคะแนรี เฝ้าติดตามการเย็นตัวลงช้าๆ ของถ้ำนี้อย่างใกล้ชิด เขาหวังว่าจะสามารถเข้าไปได้ในท้ายที่สุด เพื่อรวบรวมเบาะแสเกี่ยวกับการปะทุของภูเขาไฟที่ส่งผลทำลายล้างรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของกลุ่มเกาะแห่งนี้ในรอบ 500 ปี

เมื่อรอยแยกเปิดออกบนสันภูเขาไฟกุมเบรบีเอฆา บนเกาะลาปัลมา เมื่อเดือนกันยายน ปี 2021 นำไปสู่ การปะทุที่มีอำนาจทำลายล้างรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งบนหมู่เกาะคะแนรีในรอบ 500 ปี น้ำพุลาวาพวยพุ่งสูงเกือบ 600 เมตร มวลหินหนืดกระจายไปตกห่างหลายร้อยเมตรจากปล่องภูเขาไฟที่เพิ่งก่อตัวขึ้น

เป็นเวลาเกือบ 86 วัน เริ่มจากวันที่ 19 กันยายน ปี 2021 หินหนืดทะลักจากรอยแยกสูงขึ้นไปบน สันภูเขาไฟกุมเบรบีเอฆา คืบคลานลงเนินลาดในรูปธารน้ำน้อยใหญ่เรืองแสงที่แตกแขนงออกแล้ววกกลับมาร้อยรวมกันใหม่เหมือนรูปแบบของธารประสานสาย (braided stream) ภูเขาไฟไม่ได้คร่าชีวิตใครโดยตรง แต่การปะทุพ่นลาวาออกมามากกว่า 200 ล้านลูกบาศก์เมตร และก่อให้เกิดกรวยภูเขาไฟเป็นเถ้าและหินสูงกว่า 200 เมตรตรงที่เรายืนอยู่ตอนนี้ เพียงหนึ่งปีก่อน บริเวณนี้ของเกาะเป็นป่าสนเขียวชอุ่ม มีบ้านเรือนตั้งอยู่กระจัดกระจาย ตอนนี้มีเพียงส่วนที่อยู่สูงสุด เช่น กิ่งก้านต้นไม้ส่วนบน ยอดเสาไฟถนน สันหลังคา โผล่ให้เห็นเหนือกองทรายสีดำเม็ดหยาบ ด้วยกำลังตะลึงกับฉากน่าสะพรึงตรงหน้า ฉันเกือบไม่ได้ยินคำแนะนำของเฟร์นานเดซ โลเรนโซ ที่บอกให้เดินหน้าปีนขึ้นไป เสียงเขาอู้อี้อยู่หลังหน้ากากกันแก๊สพิษ แต่แล้วน้ำเสียงเขาก็เปลี่ยนไป

“ขึ้น ขึ้น ขึ้น ขึ้น” เขาบอก แต่ละคำยิ่งดังและเร่งเร้าขึ้น “เราจะโดนเผาแล้ว” กระแสลมเปลี่ยนเป็นลมกระโชกจากหุบเขาเบื้องล่าง ซึ่งอาจแผดเผาเราได้ด้วยอากาศร้อนเป็นไฟ พื้นดินร่วนไถลใต้ฝ่าเท้า ขณะฉันพยายามไต่ขึ้นด้านข้างลาดชันของกรวยภูเขาไฟ เพื่อหาที่ปักหลักที่ปลอดภัยขึ้นสำหรับสำรวจรอบๆ

ธารลาวาไหลบ่าลงลาดเขาราวกับแม่น้ำอยู่นานหลายเดือน และท่วมทับทุกสิ่งบนทางผ่าน บ้านเรือน ภัตตาคาร ร้านรวง โบสถ์วิหาร เรือกสวนไร่นา และโรงเรียน ซึ่งเคยตั้งอยู่บนพื้นที่ห้ากิโลเมตรครึ่งระหว่างภูเขาไฟลูกใหม่และทะเล ปัจจุบันทั้งหมดถูกฝังอยู่ในหิน

ลาปัลมามีประวัติการปะทุมายาวนาน แต่การกำเริบอย่างเกรี้ยวกราดของมันไม่จัดว่าอันตราย องค์ประกอบทางเคมีของลาวาทำให้มันไหลอืดหนืดเหมือนแม่น้ำ มากกว่าเป็นการปะทุแบบระเบิดรุนแรงที่ ก่อหายนะให้พื้นที่อื่น ๆ ของโลก การปะทุครั้งหลังสุดบนเกาะนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 1971 เมื่อหินหนืดพุ่งทะลักจากรอยแยกในภูมิภาคที่มีคนอาศัยอยู่เบาบางใกล้ชายฝั่งตอนใต้ ทำให้ได้เห็นการแสดงดอกไม้ไฟทางธรณีวิทยาที่ก่อความเสียหายน้อยมาก แต่นับจากนั้นมา ประชากรบนเกาะเพิ่มขึ้นโดยปัจจุบันมีผู้คนอาศัยอยู่กว่า 86,000 คนบนผืนดิน 700 ตารางกิโลเมตร ตอนภูเขาไฟลูกนี้ปะทุเมื่อปีที่แล้ว ลาวากลบกลืนสิ่งปลูกสร้างมากกว่า 2,800 หลัง พื้นที่เพาะปลูก 2,187 ไร่ และถนนหนทางกว่า 70 กิโลเมตร การบูรณะฟื้นฟูอันยากลำบากเป็นเวลาหลายปีรออยู่ข้างหน้า ซึ่งจะถูกขัดขวางจากความร้อนของหินหนืดที่ตกค้างอยู่ กับอนาคตทางเศรษฐกิจที่ไม่ชัดเจน

แม้มีพลังทำลายล้าง แต่ภูเขาไฟคือโลหิตหล่อเลี้ยงชีวิตของคะแนรี ซึ่งเป็นกลุ่มเกาะกึ่งเขตร้อนห่างจากชายฝั่งแอฟริการาว 80 กิโลเมตร การปะทุในอดีตสลักเสลาผืนดินให้กลายเป็นมหรสพน่าตื่นตาทางธรรมชาติ ตั้งแต่ภูผาชายฝั่งสูงชันกว้างใหญ่ หาดทรายสีดำ จนถึงทิวเขาขนัดแน่นด้วยพืชพรรณซึ่งไม่พบในที่อื่นใด

ธารลาวาเรืองแสงจ้าไหลลงสู่มหาสมุทร ทำให้แนวชายฝั่งของลาปัลมาขยายกว้างขึ้น การปะทุก่อความเสียหาย ใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศในทะเลที่อยู่ใกล้เคียง แต่ชีวิตใหม่เริ่มเจริญงอกงามแล้วบนยอดกองหินใต้น้ำที่อุดมไปด้วยสารอาหาร

ตลอดหลายศตวรรษ ธารลาวาไปด้วยสารอาหารย่อยสลายกลายเป็นดินอุดมสมบูรณ์ เมื่อชาวคาสตีล เข้ามายึดครองหมู่เกาะนี้ในศตวรรษที่ 15 พวกเขาทำลายล้างประชากรชนพื้นเมือง และปรับแปลงที่ดินเป็นไร่อ้อย ซึ่งต่อมาหลีกทางให้กับพืชไร่ชนิดอื่น ก่อนการปะทุเมื่อปี 2021 ครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมของลาปัลมา มาจากกล้วยที่ปลูกเพื่อส่งออก

อะไรกันแน่ที่ขับเคลื่อนการปะทุของภูเขาไฟใน หมู่เกาะคะแนรี ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่พลังอัคนี ส่วนใหญ่มาจากพวยหินร้อนยิ่งยวดที่ดันตัวขึ้นมาจากชั้นลึกใต้ดินที่เรียกว่า เขตความร้อนสูง เมื่อแผ่นเปลือกโลกแอฟริกาเคลื่อนตัวช้าๆ ข้ามเขตฮอตสปอตนี้ ภูเขาไฟลูกใหม่ๆ และเกาะน้อยๆ ก็อุบัติขึ้น ลาปัลมาเป็นหนึ่งในเกาะอายุน้อยที่สุดและมีกิจกรรมภูเขาไฟมากที่สุดใน หมู่เกาะคะแนรี  ภูเขาไฟทางตอนเหนือของเกาะเงียบสงบลงแล้ว และในช่วง 150,000 ปีที่ผ่านมา การประทุบนเกาะลาปัลมาเกิดเฉพาะในพื้นที่ทางตอนใต้ที่ร้อนและแห้งแล้ง และถูกแบ่งเป็นสองส่วนโดยสันภูไฟเขากุมเบรบีเอฆา

ลาวาแผ่คลุมผิวดินเป็นผืนหนาในบางพื้นที่ แต่เว้นบ้านเรือนสองสามกระจุกที่สร้างอยู่บนบริเวณที่เรียกว่า กิปูกัส คำศัพท์ภาษาฮาวายที่ใช้เรียกเนินหินลาวารุ่นเก่าก่อนที่เหลือรอดอยู่กลางธารลาวาใหม่

หินหนืดดันตัวผ่านรอยแยกหรือจุดเปราะบางต่างๆ ของภูเขาไฟกุมเบรบีเอฆาเพื่อขึ้นสู่พื้นผิวดิน ไม่มีการปะทุครั้งใดดำเนินตามเส้นทางเดียวกัน ซึ่งเป็นกระบวนการที่เรียกว่า การประทุของภูเขาไฟชนิดเกิดขึ้นครั้งเดียว หมายความว่า นักวิทยาศาสตร์จะไม่มีทางรู้อย่างแน่ชัดว่า การปะทุครั้งต่อไปจะเกิดขึ้น ณ จุดใดเช่นที่การปะทุครั้งล่าสุดแสดงให้เห็น ข้อนี้เป็นความท้าทายใหญ่หลวงสำหรับการปกปักคุ้มภัยประชาชนหลายพันคนที่อาศัยอยู่บนเนินสันเขา และเนื่องจากภูเขาไฟหลับนิ่งอยู่นานถึงห้าสิบปี คนท้องถิ่นจำนวนมากจึงไม่เคยประจักษ์ในพลังอำนาจทางธรณีภาคเต็มรูปแบบบนเกาะของตน

เกือบหนึ่งปีให้หลัง ครอบครัวจำนวนมากบนเกาะลาปัลมายังอยู่ในที่พักอาศัยชั่วคราว ระหว่างรอเงินชดเชย ทีรัฐบาลสเปนสัญญาไว้ รวมทั้งรอการตัดสินใจเกี่ยวกับกับบูรณะฟื้นฟูเมือง

ในฐานะส่วนหนึ่งของกลุ่มปฏิบัติการฉุกเฉินในสังกัดกองทัพสเปน อาร์มานโด ซาลาซาร์ สวมชุดป้องกัน ขณะเดินข้ามหินร้อนแผดเผา เพื่อช่วยนักวิทยาศาสตร์รวบรวมตัวอย่างลาวา ทีมงานยังเฝ้าติดตามระดับของก๊าซต่างๆ บันทึกการเกิดแผ่นดินไหว และอื่น ๆ เพื่อทำความเข้าใจการปะทุครั้งนี้ให้ดีขึ้น รวมทั้งแนวโน้มที่จะเกิดการระเบิดขึ้นอีกตามแนวสันภูเขาไฟกุมเบรบีเอฆา (ภาพถ่าย: อาร์ตูโร โรดริเกซ)

บางส่วนของธารลาวาใหม่มีแนวโน้มจะได้รับการสงวนไว้เป็นอุทยานแห่งชาติ เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ อันเจ็บปวดถึงรากฐานภูเขาไฟของเกาะ ขณะที่ส่วนอื่นๆ จะถูกปรับเพื่อใช้ประโยชน์ทางการเกษตรและ การก่อสร้างทันทีที่หินในชั้นลึกเย็นตัวลงแล้วอย่างสมบูรณ์ แต่ความท้าทายนั้นใหญ่หลวง ธารลาวาส่วนใหญ่อยู่ ในสภาพที่ชาวบ้านเรียกว่า มัลปาอีส หรือ “ที่ดินเลว” เพราะเต็มไปด้วยเศษหินหยักคมที่เลื่อนไถลใต้ฝ่าเท้า ขูดบาดเสื้อผ้าและผิวหนังได้ และพืชไร่ไม่สามารถงอกงามบนธารลาวาสดใหม่ จึงต้องขนดินมาจากแหล่งอื่น บนเกาะ

แม้จะอยู่ท่ามกลางความไม่อาจคาดเดาได้ของภูเขาไฟกุมเบรบีเอฆา ผู้คนส่วนหนึ่งมีความหวังว่า โศกนาฏกรรมนี้จะมอบบทเรียนสำหรับเหตุภูเขาไฟปะทุในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงในระบบเตือนภัยที่ใช้กันอยู่ จะช่วยลดความยุ่งยากซับซ้อนในการแก้ปัญหาของทางการ เช่น การออกคำสั่งให้อพยพออกจากพื้นที่ในระดับกว้างขวาง โดยเริ่มจากการสื่อสารอย่างถูกต้องเหมาะสมให้ประชาชนทราบถึงความเร่งด่วนของพิบัติภัยที่กำลังจะเกิดขึ้น

เรื่อง มายา ไว-ฮาส
ภาพถ่าย คาร์สเทน ปีเตอร์

ติดตามสารคดี เกาะอัคนี ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤศจิกายน 2565

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/562334


อ่านเพิ่มเติม ทำไมหลายคนเลือกสร้างบ้านใกล้ภูเขาไฟ?

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.