ประเทศไทยอยู่ตรงไหน? พายเรือ-เก็บขยะ-วิกฤตสายน้ำ ในมุมมอง ‘ปริญญา เทวานฤมิตรกุล’

มองสายน้ำ วิถีชีวิต และธรรมชาติริมฝั่ง ผ่านกิจกรรมพายเรือคายักที่ทำให้อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของสิ่งแวดล้อมรอบสายน้ำถูกพูดถึงไปพร้อมๆกัน

คุณคิดถึงสายน้ำครั้งสุดท้ายเมื่อไร?

วันนี้ เมื่อวาน เดือนก่อน หรือหลายปีที่ผ่านมาจากประสบการณ์ท่องเที่ยว?

คนไทยเชื่อมโยงกับน้ำอย่างไม่ต้องสงสัย เราดื่ม เราใช้ เรามีน้ำไว้เพาะปลูก น้ำเป็นที่อยู่ของแหล่งอาหาร ขณะเดียวกันน้ำก็ยังเป็นความหมายสำคัญในหลายพิธีกรรมตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ถึงเช่นนั้นวิถีชีวิตสมัยใหม่ก็ทำให้เราลงลืมความผูกพันกับน้ำในความหมายเชิงลึก อนุญาตแค่เพียงการบริโภคและสันทนาการเพียงเท่านั้น

ผศ.ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ก็ไม่ต่างกัน เขาเป็นอาจารย์กฎหมาย ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดชีวิตการทำงานเขาคุ้นเคยกับการสอนกฎหมาย วิจารณ์การเมือง ขับเคลื่อนสังคม ฯลฯ จนกระทั่งไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขาต้องการสื่อสารกับสังคมผ่านสายน้ำ จนเป็นที่มาของกิจกรรมพายเรือคายักเพื่อเก็บขยะ

“ชีวิตผมเองก็ผูกพันกับสายน้ำ และวันหนึ่งผมก็อยากรู้จักสายน้ำที่ผมผูกพันให้มากขึ้น และใช้กิจกรรมพายเรือเพื่อไปสำรวจทำความรู้จักกับคลองบางเกิด นั่นเพราะแม่น้ำไม่ใช่แค่น้ำ หรือการเป็นคลองระบายน้ำขนาดใหญ่ แต่น้ำเกี่ยวพันกับชีวิต อาชีพ อธิบายถึงความเป็นไปของชุมชน” เขาพูดถึงเมื่อครั้งจุดเริ่มต้นกิจกรรมพายเรือสำรวจคลองที่เชื่อมกับแม่น้ำบางปะกง เมื่อปี 2559

ขณะที่ในงานเสวนา “เมืองไทยกับวิกฤตของสายน้ำ” โดย National Geographic ฉบับภาษาไทย ร่วมกับ บ้านและสวน Explorers Club ที่งานบ้านและสวนแฟร์ select 2023 อาจารย์ปริญญา ก็ยังชี้ชวนให้เห็นถึงเรื่องราวของ วิถีชีวิตของคนไทยที่ผู้โยงอยู่กับสายน้ำ กระทั่งความเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลมาจากปรากฎการณ์โลกร้อนและการรุกล้ำของเมืองและพฤติกรรมของมนุษย์

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา อาจารย์ปริญญา คือคีย์แมนคนสำคัญของการจัดกิจกรรม  “พายเรือเพื่อบางปะกง” โดยใช้เวลาจัด 8 วัน ในการพายเรือเก็บขยะในแม่น้ำ บริเวณเส้นแม่น้ำบางปะกงไปจนถึงปากอ่าวไทย รวมระยะทางทั้งสิ้น 240 กิโลเมตร สามารถเก็บขยะได้ทั้งสิ้นราว 3.5 ตัน

“เราอยากมาชวนให้คนในสังคมรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นกับสายน้ำของพวกเราโดยใช้หลักทำน้อยแต่ได้มากนั่นคือการพายเรือสำรวจ การพายเรือคายักทำให้เราสัมผัสกับธรรมชาติที่เป็นจริง ระหว่างพายเรือก็อาศัยวัด อาศัยชุมชนเป็นที่นอน วัดเป็นที่สาธารณะ ไปขอนอน ก็นอนทุกที่ และการร่วมกับวัดคือการร่วมชุมชนในการสื่อสารถึงสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในสายน้ำ”

“จากการพายเรือเก็บขยะ เราพบความจริงที่ว่า ประเภทขยะที่เราพบมากที่สุด คือ ขวดพลาสติก กล่องโฟม และถุงขยะตามบ้านเรือนที่ทิ้งลงแม่น้ำ ขยะจำนวนหนึ่งที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเจอตามลำน้ำได้ หนึ่งนั้นมีแกลลอนและกระป๋องยาฆ่าแมลง ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ของสารเคมีอันตรายโดยเฉพาะแต่กลับลงมาอยู่ในลำน้ำได้อย่างง่ายดาย”

“สิ่งที่น่ากังวลในการพบขยะประเภทนี้คือ การแสดงว่าข้าวปลาอาหารที่เรากินมีแต่ของพวกนี้ น้ำที่เราเปิดก๊อกมา ก็มาจากแม่น้ำ ลองคิดดูมันมีสารพิษขนาดไหน แม้กระบวนการผลิตน้ำประปาจะช่วยได้บางส่วน แต่สารเคมีที่ตกค้างมันก็น่าเป็นห่วง สิ่งนี้คือสิ่งที่ทีมเราอยากจะบอก เราแค่ทำบ้านให้สวย ไม่พอ เพราะทุกอย่างที่เราที่เราใช้มาจากธรรมชาติ แล้วน้ำเป็นตัวพาธรรมชาติให้มีชีวิต เพราะน้ำก็จะไหลลงตกสู่ทะเล สู่แหล่งน้ำ และน้ำจากทะเลก็ระเหยมาเป็นก้อนเมฆ เป็นฝนที่ตกสู่โลกใหม่ ที่คือวัฏจักรธรรมชาติ”

ว่ากันว่า ขยะร้อยละ 80 ในอ่าวไทยมาจากแม่น้ำ 5 สาย คือ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำเพชรบุรี

ถึงวันนี้อาจารย์ปริญญา พายเรือสำรวจแม่น้ำ มากกว่า 5 สายในประเทศไทย เฝ้ามองมันก่อนลงสู่อ่าวไทย ซึ่งผลจากการสำรวจก็ทำให้เขายืนยันได้ว่า ต่อให้เราอยู่บ้านที่แสนสบาย เปิดแอร์ให้เย็นฉ่ำ นั่นก็เพียงความสุขแค่เพียงชั่วคราว เพราะวิกฤตสิ่งแวดล้อมได้เกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติขยะในสายน้ำ ปรากฎการณ์โลกร้อนทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นในทุกๆปี ซึ่งถ้าไม่ทำอะไรเลยปรากฏการณ์ที่ว่าก็จะส่งให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เกิดภัยพิบัติ และนำไปสู่สถานการณ์ที่ถูกวิเคราะห์กันมากว่าน้ำจะท่วมโลก และแน่นอนรวมถึงประเทศไทย

“สิ่งที่มันเจอคือสิ่งที่มันลอยได้ ผมเจอขยะที่เจอเลยเป็นขวดพลาสติกเป็นหลัก กระป๋องแป้งเด็ก ผ้าอ้อมเด็ก กระป๋องเบียร์ เครื่องดื่มชูกำลัง และนอกจากขยะแล้วผมยัง เห็นปรากฎการณ์โลกร้อนด้วยตา นั่นคือการกัดเซาะทางชายฝั่ง อย่างวัดหงษ์ทอง เป็นวัดเก่าแก่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2526 บริเวณพื้นที่ริมฝั่งอ่าวไทยที่มีพื้นที่ป่าชายเลน ตำบลคลองสอง จังหวัดฉะเชิงเทรา ปัจจุบันมีอายุกว่า 40 ปีแล้ว ตั้งอยู่กลางทะเล ซึ่งครั้งหนึ่งเคยตั้งบนบก”

อย่างประเด็นของขยะ จุดเริ่มต้นของขยะไม่ได้หมายถึงการทิ้งขยะของประชาชนเท่านั้น แต่ยังหมายถึง ขยะที่มาจากบนบก หรือหลุดลอดออกมาจากหลุมฝังกลบขยะ ขยะที่มาจากโรงงานอุตสาหกรรม ร้านค้า และโรงเรียน โดยที่ปลายทางท้ายที่สุดของขยะเหล่านี้คือปากอ่าวไทย หรือก็คือ ทะเลอันกว้างใหญ่ที่มีสิ่งมีชีวิตมากมายอาศัยอยู่ โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่แนวทางการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งกลับมามีปัจจัยใหม่ ทำให้ขยะกลับมามีจำนวนมากขึ้น

ถ้าถามว่าแม่สายไหนอาการหนักสุด? นักกฎหมายสายสำรวจธรรมชาติผู้นี้ตอบว่า แต่ละสายแตกต่างกัน

“อย่างแม่น้ำบางปะกง ผมมองว่า หนักในเรื่องสารเคมีจากการเพาะปลูก จากการทำการเกษตร ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยา คือแม่น้ำที่เราพบขยะมากที่สุด ส่วนแม่น้ำท่าจีน เราเห็นระบบนิเวศ 2 ฝั่ง เต็มไปด้วยการก่อสร้าง

ถึงเช่นนั้นถ้าลองให้คะแนน วิกฤตสายน้ำในประเทศไทยอยู่ในระดับไหน อาจารย์ปริญญา บอกว่า ยังอยู่ในระดับที่พอแก้ไขทัน แต่ถ้าถึงเช่นนั้นหากปล่อยไป เรื่อยๆ โดยไม่ทำอะไร ภายในระยะเวลา 5 ปี สถานการณ์ก็จะยกระดับไปถึงขนาดหมดหวังอย่างแน่นอน

“จากประสบการณ์ ผมพบว่าบ้านเมืองที่เจริญแล้ว เขาให้ความสำคัญกับสายน้ำมาก ยิ่งประเทศเจริญ แม่น้ำยิ่งสะอาด ขยะแทบไม่มี แต่สำหรับประเทศไทย ถ้าให้คะแนน ผมมองว่ายังอยู่ในระดับกลาง และเป็นประเทศวิกฤตที่ยังพอแก้ไขทัน แต่ถ้าปล่อยไปอีก 5 ปี หมดหวังอย่างแน่นอน”

“อย่าลืมว่า ธรรมชาติมีโอกาสในการฟื้นฟูตัวเอง ถึงน้ำจะเน่าเสีย แต่ฝนตกใหม่ก็จะเกิดขึ้น ดังนั้น อย่างแรกเราต้องหยุดการสร้างขยะใหม่ และสอง ร่วมกันฟื้นฟูพร้อมๆกับให้ธรรมชาติค่อยๆจัดการ ผมมีความหวังว่ามันจะเป็นจริงได้ เพราะหลังจากที่เราช่วยกันเก็บขยะ มันเริ่มดีขึ้น ธรรมชาติค่อยๆฟื้นฟูด้วยตัวมันเอง และแสดงให้เห็นว่าเรามาถูกทาง ก็แก้ไขได้”

แม่น้ำ ไม่ใช่แค่น้ำ ไม่ใช่แค่คลองขนาดใหญ่ที่ลำเลียงน้ำจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เช่นเดียวกับการมองน้ำตกต้องไม่ใช่มองแค่สายน้ำที่ร่วงลงมา

หากแต่ต้องมองไปถึงการเดินทางของมัน เมื่อน้ำไหลจากที่สูง ก็จะผ่านสิ่งต่างๆ ผ่านผู้คน ผ่านชุมชน ชีวิตความเป็นอยู่ เกิดวิถีชีวิตริมฝั่งน้ำ

เป็นวิถีชีวิตริมน้ำที่เราคุ้นเคยกันดี หากได้นึกถึง


อ่านเพิ่มเติม พายคายัคถ่ายภาพริมคลอง มองเมืองต่างมุม

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.