ธรรมชาติบำบัด พลังบำบัดของธรรมชาติ
ธรรมชาติบำบัด : ธรรมชาติส่งผลต่อร่างกายและสมองของเราอย่างไร
เมื่อเราพาตัวเข้าใกล้ธรรมชาติขึ้นอีกอีกนิด ไม่วาจะเป็นผืนป่าบริสุทธิ์ หรือต้นไม้ในสวนหลังบ้าน เรากำลังช่วยให้สมองที่ตึงเครียดได้ผ่อนคลาย
“เป็นความจริงทางวิทยาศาสตร์ที่ว่าการดื่มด่ำกับทิวทัศน์ทางธรรมชาติอันตระการตาเป็นครั้งคราว…ส่งผลดีต่อสุขภาพและกำลังวังชาของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสุขภาพและกำลังของสติปัญญา” เฟรเดอริก ลอว์ โอล์มสเตด ภูมิสถาปนิก เรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียปกป้องป่าในหุบเขาโยเซมิทีจากการโหมพัฒนาเมื่อปี 1865 ตลอดเวลาที่ผ่านมา การศึกษามากมายที่ชี้ชัดว่าคำพูดของโอล์มสนั้น เป็นจริง
- เดวิด เสตรเยอร์ นักจิตวิทยากลุ่มการรู้คิด มหาวิทยาลัยยูทาห์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องความสนใจของมนุษย์เป็นพิเศษ และเป็นนักท่องไพร ไม่คุยโทรศัพท์หรือส่งข้อความขณะขับรถเพราะเขารู้ว่าสมองมีแนวโน้มจะทำผิดพลาดเมื่อทำหลายอย่างพร้อมกัน เขาวิจับพบว่าการใช้โทรศัพท์มือถือทำให้คนส่วนใหญ่ขับรถแย่ลงไม่ต่างจากการดื่มแอลกอฮอล์ เขารู้ว่าชีวิตสมัยใหม่ส่งผลกระทบกับผู้คนอย่างไร และรู้ด้วยว่ายาถอนพิษที่ได้ผลชะงัดคือ “ธรรมชาติ”
- สมองมนุษย์ไม่ใช่เครื่องจักรกลหนัก 1.4 กิโลกรัมที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย สมองเหนื่อยง่ายมาก เมื่อคนเราใช้ชีวิตช้าลง วางมือจากงานอันยุ่งเหยิงและดื่มด่ำกับธรรมชาติงดงามรอบตัว ไม่เพียงแต่ร่างกายที่ฟื้นตัว แต่สมองก็สดชื่นด้วย เสตรเยอร์พบว่านักศึกษาที่ออกตั้งแคมป์ท่องป่านานสามวัน แก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ได้ดีขึ้นร้อยละ 50 สามวันในป่าจึงเป็นการทำความสะอาดสมองลักษณะหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเราอยู่กับธรรมชาตินานพอ “ในวันที่สาม ประสาทสัมผัสของผมปรับตัวดีขึ้น ผมได้ยินเสียงและได้กลิ่นที่ไม่เคยสัมผัสได้มาก่อน ผมรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติมากขึ้น”
- ปัญหาสาธารณสุขระดับมหัพภาค เช่น โรคอ้วน ภาวะซึมเศร้า และสายตาสั้นที่เป็นกันอย่างแพร่หลายล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับการใช้เวลาในร่มอย่างชัดเจน ผลักดันให้สเตรเยอร์และนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆกลับมาให้ความสนใจกันอีกครั้งว่า ธรรมชาติส่งผลต่อร่างกายและสมองของเราอย่างไร ความก้าวหน้าทางประสาทวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาทำให้พวกเขาเริ่มตรวจวัดสิ่งที่เคยเป็นปริศนามืดมนได้ และผลการตรวจวัดสิ่งต่างๆ ตั้งแต่ฮอร์โมนเครียด อัตราการเต้นของหัวใจ คลื่นสมอง ไปจนถึงเครื่องหมายโปรตีน ก็บ่งชี้ว่า ยามที่เราใช้เวลาอยู่ในพื้นที่สีเขียว “มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้นในตัวเรา” ตามที่สเตรเยอร์อธิบายไว้
- ธรรมชาติยังอาจทำให้เรามีน้ำจิตน้ำใจกับตัวเองมากขึ้นด้วย เกรก แบรตแมน นักวิจัยจากสแตนฟอร์ด กับทีมงานสแกนสมองอาสาสมัคร 38 คนก่อนและหลังการเดินเป็นเวลา 90 นาที ทั้งในสวนขนาดใหญ่และถนนอันจอแจ ใจกลางเมืองแพโลแอลโต ในกลุ่มที่เดินท่องธรรมชาติพบว่า กิจกรรมทางไฟฟ้าลดลงบริเวณสมองกลีบหน้าผากส่วนหน้า ซึ่งทำงานเกี่ยวข้องกับการคิดวกวนจนเกิดอาการซึมเศร้า แต่กิจกรรมทางไฟฟ้าดังกล่าวไม่ลดลงในกลุ่มที่เดินกลางเมือง
- จากคำบอกเล่าของอาสาสมัครเองพบว่า ผู้เดินท่องธรรมชาติจะคิดโทษตัวเองน้อยลง แบรตแมนเชื่อว่า การใช้ชีวิตกลางแจ้งในสภาพแวดล้อมน่ารื่นรมย์ช่วยให้เราเลิกย้ำคิดกับปัญหา เขาบอกว่า ธรรมชาติอาจส่งอิทธิพลต่อ “วิธีจัดการความสนใจและการเลือกว่าจะสนใจอารมณ์เชิงลบของตัวเองหรือไม่อย่างไร”
- สตีเวน แคปแลน และทีมนักวิจัยพบว่า การเดิน 50 นาทีในสวนรุกขชาติช่วยพัฒนาทักษาะความสนใจในระดับสูง เช่น ความจำระยะสั้น ขณะที่การเดินริมถนนในเมืองไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ดังกล่าว “ลองนึกภาพการบำบัดที่ไม่มีผลข้างเคียง ทำได้ทันที และยังพัฒนากระบวนการคิดของเราได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายดูสิครับ…การบำบัดเช่นนั้นมีอยู่จริง เรียกว่า ‘การมีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติ'”
เรื่อง ฟลอเรนซ์ วิลเลียมส์
ภาพถ่าย ลูคัส ฟอเกลีย
เรียบเรียงจากเรื่อง “พลังเยียวยาของธรรมชาติ” เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนเมษายน 2559
อ่านเพิ่มเติม
มารู้จักกับเสือดำ, ไก่ฟ้าหลังเทา และเก้ง เหยื่อของการล่า
© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.