นักเล่าเรื่อง รูปสัญลักษณ์ หมื่นปี แห่งแอมะซอน

การเดินทางอันท้าทายไปยังแหล่ง รูปสัญลักษณ์ ภาพเขียนบนผนังหินจำนวนมากที่สุดในทวีปอเมริกา เป็นจุดเริ่มต้นโครงการสำรวจระยะเวลาสองปีเลียบไปตามแม่น้ำแอมะซอน จากเทือกเขาแอนดีส ไปยังมหาสมุทรแอตแลนติก

รูปสัญลักษณ์ – ผู้เป็นหมอผีแนะนำว่า เพื่อรับประกันการกลับออกมาอย่างปลอดภัยและเอาใจภูตผีวิญญาณ เราควรเซ่นไหว้ด้วยยาสูบ ซึ่งชนพื้นเมืองในแอมะซอนหลายกลุ่มถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่เชิงผาหินทรายในอุทยานธรรมชาติแห่งชาติเซร์ราเนียเดชิริบิเกเตของโคลอมเบีย นักโบราณคดี การ์โลส กัสตัญโญ-อูริเบ แจกจ่ายซิการ์มวนอวบอ้วน เราสูบกันอย่างเอาจริงเอาจัง พ่นควันโขมงรอบตัว ทาบฝ่ามือบนหิน และกล่าวบอกเจตนาของเราอย่างจริงใจ เพื่อเสริมความมั่นใจ กัสตัญโญ-อูริเบพ่นควันใส่กระหม่อมพวกเราทีละคน

เสร็จพิธีแล้วเราจึงเริ่มออกสำรวจได้

ผมมากับทีมเล็กๆ ที่รวมถึงกัสตัญโญ-อูริเบกับเฟร์นันโด ตรูฆิโย นักชีววิทยาทางน้ำและนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก พร้อมด้วยนักไต่เขาและผู้ชำนาญการป่าดงชาวโคลอมเบียจำนวนหนึ่ง เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่หลงทางในพงไพรไร้ทางเดิน ซึ่งเป็นเขตหวงห้ามสำหรับคนทั่วไป เราเป็นทีมสำรวจทีมที่เก้าเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้สำรวจอุทยานขนาดใหญ่ที่สุดของโคลอมเบีย ที่ปกปักภูมิทัศน์ตระการตาด้วยป่าฝนหนาทึบ ภูเขายอดราบสูงตระหง่านที่เรียกกันว่า เตปูอี (tepui) และภาพเขียนบนผนังหินกว่า 75,000 ภาพ ที่วาดด้วยเหล็กออกไซด์สีแดงเลือด เรียกว่า ฮีมาไทต์ หรือแร่เหล็กแดง

รูปสัญลักษณ์ (pictograph) หรือเรื่องเล่าด้วยรูปภาพเก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบในทวีปอเมริกานี่เองที่ผมตั้งใจจะมาดู เหล่านักเล่าเรื่องรุ่นแรกของแอมะซอนวาดรูปส่ำสัตว์และพืชพรรณท้องถิ่น ผู้คน และลวดลายเรขาคณิตไว้ตามผนังหินสูงชัน เสือจากัวร์เป็นหนึ่งในแม่ลายที่พบได้บ่อยที่สุด ผมเป็นช่างภาพ แต่ปกติแล้วงานที่ได้รับมอบหมายจะนำพาไปอยู่ใต้น้ำ แล้วทำไมถึงมาป่ายปีนขุนเขาในป่าฝนห่างไกลเยี่ยงนี้ คำตอบคือเพื่อจะมาดูเต่า จระเข้เคแมน งูอนาคอนดา และปลา

ชิริบิเกเต พื้นที่คุ้มครองขนาดใหญ่ที่สุดในโคลอมเบีย มีสิ่งโดดเด่นคือ เตปูอี หรือภูเขายอดราบที่ผุดตระหง่านกลาง ป่าฝน อุทยานนี้เป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ภาพวาดสัตว์น้ำมีชีวิตชีวาอายุเก่าแก่นับหมื่นปีเหล่านี้ เป็นหลักฐานบ่งชี้ความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างมนุษย์กับสายน้ำแอมะซอน ระบบนิเวศน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตลอดระยะเวลาสองปี ผมจะบันทึกภาพภูมิภาคนี้ โดยเลาะเลียบไปตามแม่น้ำสายนี้ จากพื้นที่สูงบนเทือกเขาลงไปจนถึงมหาสมุทรไกลออกไป อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจแอมะซอนเพื่อโลกที่ยั่งยืนของโรเล็กซ์และเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก (National Geographic and Rolex Perpetual Planet Amazon Expedition) ขณะเริ่มต้นการเดินทางครั้งนี้ ผมตั้งใจจะทำความเข้าใจให้ได้มากที่สุดว่า กลุ่มชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ผู้ลึกลับเหล่านี้มีประสบการณ์อย่างไรกับโลกภาคท้องน้ำของที่นี่

เสือจากัวร์กระโจนใส่ปากา ขณะปลาปิรันยาว่ายวนอยู่ในภาพเขียนบนผนังหินชื่อ “ลาโอฮารัสกา” (“ใบไม้ปลิดปลิว”) ที่ผ่านมามีการค้นพบภาพเขียนบนผนังหินแล้วกว่า 75,000 ภาพในชิริบิเกเต จำนวนหนึ่งมีอายุถึง 20,000 ปี ทำให้ผลงานเหล่านี้เป็นภาพเขียนบนผนังหินเก่าแก่ที่สุดในทวีปอเมริกาเท่าที่ค้นพบ เสือจากัวร์ตัวใหญ่และเหล่าสัตว์น้ำเป็นแม่ลาย ที่พบได้ทั่วไป

การสำรวจของเราเริ่มต้นที่สนามบินเล็กๆของเมืองซานโฮเซเดลกวาเวียเรในภาคกลางตอนใต้ของโคลอมเบีย เราออกเดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ บินข้ามผืนผ้าปะติดปะต่อของทุ่งเลี้ยงสัตว์สลับกับที่ราบทุ่งหญ้า ท้ายที่สุด ป่าฝนเขียวขจี ไร้รอยต่อก็ทอดตัวให้เห็นที่เส้นขอบฟ้า เมื่อขุนเขาทิวแรกปรากฏขึ้น นักบินก็ลดระดับลง แล้วเราก็บินเลาะช่องหุบผาชันที่แคบมากจนผมแทบยื่นมือไปแตะหน้าผาได้ เราลงจอดบนพื้นหินขรุขระเป็นช่องเล็กมากจนแทบไม่พอดีกับเฮลิคอปเตอร์

พื้นที่ตรงนี้ดูงดงาม แต่อากาศเหมือนเรามาปักหลักบนเตาเผา เมื่อแดดเผาหินจนร้อน อากาศในเต็นท์ของเราก็ถูกอบจนร้อนทะลุ 37 องศาเซลเซียส ผมพยายามข่มตานอน อยากให้มีลมพัดสักกระผีก เหงื่อไหลกองเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำบนที่นอน

ในจักรวาลวิทยาของชนเผ่าติกูนา กลุ่มชนพื้นเมืองใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งในภูมิภาคแอมะซอน โลมาสีชมพูเป็นวิญญาณ ขี้เล่น และเป็นผู้พิทักษ์อาณาจักรท้องน้ำ แม่เฒ่า นูเรีย ปินโต และปัสโตรา เกร์เรโร เข้าร่วมพิธีกับนักเต้นระบำบวงสรวง สวมเครื่องแต่งกายเป็นโลมาที่ทำจากเปลือกของต้น ยันชามา

ต้นแม่น้ำสายสำคัญๆของอุทยานเป็นบ้านของชนพื้นเมืองเผ่าการิโฮนา, มูรุย-มุยนา และอูรูมิ ที่ไม่ติดต่อกับโลกภายนอกมาตั้งแต่เกิดเหตุเผชิญหน้าอันรุนแรงกับชาวสวนยางในศตวรรษที่สิบเก้าและยี่สิบ ครั้งหนึ่งระหว่างการสำรวจ เมื่อปี 2017 ตรูฆิโยตื่นขึ้นมาได้ยินเสียงใครบางคนเดินป้วนเปี้ยนอยู่ช่วงก่อนรุ่งสาง ความที่คิดว่าเป็นนักวิจัยอีกคนหนึ่ง เขาจึงนอนต่อ จนเช้าวันถัดมา ทีมนักวิทยาศาสตร์ค้นพบรอยเท้าเปล่าขนาดเล็กกว่าย่ำคู่ไปกับรอยรองเท้าบู๊ตของพวกเขา

เฮลิคอปเตอร์เป็นพาหนะจำเป็นในการเดินทางไปยังและภายในชิริบิเกเต ภูมิประเทศนี้มีความขรุขระหฤโหดและยาก จะเดินทางได้ด้วยเท้า เพื่อไปให้ถึงภาพเขียนบนผนังหินในบางจุดที่เข้าถึงยากที่สุด หมายถึงต้องโรยตัวลงจากหน้าผา หวดฟันพุ่มไม้ในป่าฝนหนาทึบ และรบรากับฝูงผึ้งที่ตามราวีอย่างไม่หยุดหย่อน

ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรถ้าชนพื้นเมืองจะมาดูภาพเขียนบนผนังหินเหมือนกับพวกเรา รูปสัญลักษณ์เหล่านั้นยังมีความหมายในกิจกรรมเชิงพิธีกรรมและจักรวาลวิทยาของพวกเขา กัสตัญโญ-อูริเบเคยพบหลุมก่อไฟเล็กๆ ข้างในมีกระดูกสัตว์กับสารสี กองอยู่ใต้ภาพเขียนจำนวนหนึ่ง ภาพเขียนเก่าแก่ที่สุดจำนวนหนึ่งหาอายุด้วยวิธีคาร์บอนกัมมันตรังสีได้ถึง 20,000 ปี แต่ที่อายุน้อยที่สุดมาจากทศวรรษ 1970 นี่เอง ซึ่งเป็นหลักฐานมีน้ำหนักที่แสดงว่า บางส่วนอาจเพิ่งวาดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้

กัสตัญโญ-อูริเบเป็นผู้จุดประกายให้โลกสนใจภาพเขียนบนผนังหินเหล่านี้ ซึ่งรวมเป็นแผงภาพเขียนมากกว่า 70 แผง ส่งให้อุทยานนี้ได้ชื่อว่าพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์แห่งภาพเขียนบนผนังหินในทวีปอเมริกา

นักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก และนักวิทยาศาสตร์ เฟร์นันโด ตรูฆิโย (ซ้ายสุด) กับลูกทีมช่วยกันตรวจสอบโลมาสีชมพู หรือ โบโต ซึ่งเป็นสัตว์ชนิดหลัก (keystone species) ในแม่น้ำแอมะซอนและแควสาขาต่างๆ การประเมินด้วยวิธีการที่ปลอดภัยช่วยให้มีข้อมูลสำคัญด้านสุขภาพไม่เฉพาะในกลุ่มประชากรโลมา แต่รวมถึงสุขภาวะของแม่น้ำด้วย

กัสตัญโญ-อูริเบไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์คนแรกที่ได้เห็น แต่เป็นริชาร์ด อีแวนส์ ชูลต์ส นักพฤกษศาสตร์พื้นบ้านจากฮาร์วาร์ดในทศวรรษ 1940 แต่เขาไม่รู้ตัวว่าอยู่ในวงล้อมของกรุภาพเขียนผนังหินจำนวนล้นหลามที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ข้อนี้เป็นที่ประจักษ์ต่อเมื่อกัสตัญโญ-อูริเบมาทำการค้นคว้าวิจัย เขาทุ่มเทชีวิตให้กับชิริบิเกเตและศิลปะของที่นี่ นอกจากตีพิมพ์ผลงานอธิบายภาพเขียนเหล่านี้โดยละเอียดเป็นครั้งแรก และเชื่อมโยงพวกมันกับจักรวาลวิทยาพื้นเมือง เขายังมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งอุทยานนี้เมื่อปี 1989 การขยายอาณาเขตเพิ่มในปี 2013 และ 2018 จนถึงการคัดเลือกให้เป็นแหล่งมรดกโลกของยูเนสโกเมื่อปี 2018

ผึ้งตอมเหงื่อ (sweat bee) กลุ้มรุมช่างภาพวิดีโอ ออตโต ไวต์เฮด ภายในไม่กี่นาที ผึ้งหลายร้อยตัวมารุมเกาะเขาเพื่อดูดกินสารอาหารในเหงื่อ บนเตปูอีในชิริบิเกเตมีผึ้งปราศจากเหล็กไนราว 12 ชนิดอยู่อย่างชุกชุม

ตลอดห้าวันในชิริบิเกเต เราเห็นรูปสัญลักษณ์หลายร้อยภาพ ทั้งหมดมีรายละเอียดประณีตบรรจง หากคำนึงถึงว่าผู้เป็นศิลปินสร้างผลงานเหล่านี้ด้วยขนนกและกิ่งไม้

ภาพเขียนเหล่านี้เป็นเพียงการบันทึกภาพสัตว์ต่างๆที่ศิลปินผู้วาดพบเจอหรือไม่ หรือมีนัยเพื่อบอกเล่าเรื่องราว   อันใด กัสตัญโญ-อูริเบคิดว่า ภาพเขียนเหล่านี้น่าจะวาดโดยเหล่าหมอผี และใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา สัตว์บางชนิดมีบทบาทสำคัญในจักรวาลวิทยาพื้นเมือง ด้วยการกินพืชพรรณศักดิ์สิทธิ์ หมอผีเผ่าบานีวาเชื่อว่า พวกเขาสามารถแปลงร่างเป็นเสือจากัวร์และพูดคุยกับวิญญาณได้ สำหรับชาวเผ่าติกูนา โลมาสีชมพูเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ตัวเอกในพิธีเต้นระบำบวงสรวงของพวกเขา และว่ากันว่าสถิตอยู่ในมาโลกา หรือโรงเรือนที่ก้นแม่น้ำ งูอนาคอนดามักถือกันว่าเป็นผู้สรรค์สร้างจักรวาล ตำนานของชนเผ่าเดซาโนเล่าถึงงูยักษ์ที่ปรากฏกายในแอมะซอน โดยมีบรรพบุรุษของมนุษยชาติทั้งมวลนั่งมาบนหลังด้วย

สมเสร็จอเมริกาใต้กินพืชน้ำและเดินใต้น้ำเหมือนพวกฮิปโป สมเสร็จวัยเยาว์จะมีลายแถบและลายจุดช่วยในการพรางตัว ลูกสมเสร็จกำพร้าตัวนี้ได้รับการช่วยเหลือเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ระหว่างมื้ออาหาร มันออกสำรวจพื้นที่ป่าและสุมทุม พุ่มไม้ได้ตามใจชอบที่ไร่ปศุสัตว์แห่งหนึ่งในเซร์ราเนียเดลามากาเรนาบ
แม่น้ำลำธารทอดไหลใสกระจ่างจากที่ราบสูงที่เต็มไปด้วยหิน ในเซร์ราเนียเดลามากาเรนา เทือกเขาทางตะวันตก เฉียงเหนือของชิริบิเกเต พืชเฉพาะถิ่นชื่อ Macarenia clavigera เปลี่ยนเป็นสีแดงเมื่อต้องแสงอาทิตย์ แต่จะเป็นสีเขียว คงเดิมเมื่ออยู่ในทางน้ำใต้ร่มเงา

เหล่าหมอผีน่าจะวาดภาพเพื่อสื่อสารกับสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติ เป็นการแสวงหาดุลยภาพระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติที่เหลือ ส่วนผมทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราว เพราะความสัมพันธ์ระหว่างเรากับความหลากหลายทางชีวภาพของโลกใบนี้จำเป็นต้องได้รับการทบทวนเพื่อเทียบเคียงกับมาตรฐานใหม่อย่างเร่งด่วน ความงดงามอันเป็นเอกลักษณ์ของโลกภาคท้องน้ำในแอมะซอนถูกคุกคามจากเขื่อน การทำเหมือง การทำประมงเกินขนาด มลพิษ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เราอาจไม่มีวันรู้ความหมายแท้จริงของภาพเขียนเหล่านี้ เว้นแต่วันหนึ่งข้างหน้าจะมีชนพื้นเมืองที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างตัดขาดโดดเดี่ยวออกมาติดต่อกับโลกภายนอก กระนั้น แม้จะไม่รู้ตัว ผมก็รู้สึกเชื่อมโยงลึกซึ้งกับภาพเขียนและศิลปินหมอผีเหล่านี้ ผมเชื่อว่าเราต่างพยายามบอกเล่าเรื่องราวคล้ายคลึงกัน ผมหวังว่าภาพถ่ายของผมจะยืนยงเหนือกาลเวลา แม้จะเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของที่พวกเขาทำได้ก็ยังดี

เรื่องและภาพถ่าย  ทอมัส เพสแชก

แปล อัครมุนี วรรณประไพ


บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการริเริ่มเพื่อโลกที่ยั่งยืนของโรเล็กซ์ (Rolex Perpetual Planet Initiative) ซึ่งร่วมมือกับสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ในโครงการสำรวจทางวิทยาศาสตร์เพื่อสำรวจ ศึกษา และบันทึกการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคที่มีความแตกต่างโดดเด่นหลายแห่งของโลก


ติดตามสารคดี นักเล่าเรื่องรุ่นแรกของแอมะซอน ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกรกฎาคม 2566

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/581775


อ่านเพิ่มเติม ภาพเขียนผนังถ้ำ บันทึกประวัติศาสตร์แห่งรากกำเนิดมนุษยชาติ

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.