จอห์น แฟรงคลิน – เจค็อบ คีนิก กวาดกล้องสองตามองไปตามทุ่งน้ำแข็งรอบเรือใบของเรา เขากำลังมองหาหมีขั้วโลกที่สะกดรอย ตามเราตลอด 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา แต่ทั้งหมดที่เขามองเห็นคือผืนพรมสีเขียวอมฟ้าของกลุ่มก้อนน้ำแข็งสูงๆต่ำๆที่ทอดยาวจนจรดขอบฟ้า ในอ่าวแพสลีย์อันห่างไกลนี้ ลึกเข้าไปในอาร์กติกของแคนาดา ฤดูหนาวจะนำพาน้ำแข็งที่สามารถบดขยี้เรือได้เข้ามาไม่หยุดหย่อน ถ้าเรายังหาทางออกไม่ได้ในเวลาอันสั้น มันอาจกักเราไว้ที่นี่และทำลายเรือของเรา และอาจรวมถึงเราด้วย
ตอนนั้นเป็นปลายเดือนสิงหาคม เราหลบพายุรุนแรงอยู่ในอ่าว กว่าหนึ่งสัปดาห์แล้วที่ลมกระโชกแรงพัดพาน้ำแข็งทะเลหนาเกือบสองเมตรมาจากขั้วโลก บางก้อนขนาดเท่าโต๊ะปิกนิก บางก้อนใหญ่เท่าเรือที่แล่นในแม่น้ำ ชิ้นส่วนของโมเสกลอยน้ำเหล่านี้ผลุบโผล่อยู่รอบๆเรือ เสียดสีกันแกรกกรากและส่งเสียงฟู่ๆ ขณะละลายอย่างช้าๆพร้อมกับปล่อยฟองอากาศที่กักเก็บไว้ออกมา
แพน้ำแข็งเหล่านี้สักก้อนสามารถแทงทะลุตัวเรือไฟเบอร์กลาสของเราได้สบาย เราจึงผลัดกันเฝ้าระวังทั้งวันทั้งคืน คอยใช้ไม้ถ่อที่ชาวอินูอิตเรียกว่า ตุก ดันน้ำแข็งออกจากเรือ ขณะที่หนึ่งวันกลายเป็นสอง และสองกลายเป็นสาม น้ำแข็งก็ค่อยๆปิดทางออกช้าๆเหมือนคีมหนีบ ในวันที่เก้า เมื่อผมกับเจค็อบตื่นขึ้นมาและพบว่าน้ำที่อยู่ระหว่างแพน้ำแข็งเหล่านั้นจับตัวแข็ง ดูเหมือนว่าเราต้องติดอยู่ที่นี่ตลอดฤดูหนาวแน่แล้ว ผมรู้สึกเย็นวาบเข้าไปถึงในท้องพลางนึกสงสัยว่า แฟรงกลินจะรู้สึกแบบเดียวกันหรือไม่
ถ้าสถานการณ์ของเราไม่เร่งด่วนขนาดนี้ ความย้อนแย้งนี้คงเกือบน่าหัวเราะ เราห้าคนออกจากรัฐเมนด้วยเรือใบ โพลาร์ซัน ของผมเมื่อกว่าสองเดือนก่อน เพื่อตามรอยเส้นทางของนักสำรวจในตำนาน เซอร์จอห์น แฟรงกลิน เขาออกเรือจากอังกฤษเมื่อปี 1845 เพื่อค้นหานอร์ทเวสต์แพสเสจ (Northwest Passage) อันลึกลับ เส้นทางเดินเรือผ่านน่านน้ำหนาวเหน็บเป็นน้ำแข็งตอนบนของทวีปอเมริกาเหนือสายนี้จะเปิดเส้นทางการค้าใหม่ไปสู่ความมั่งคั่งของดินแดนตะวันออกไกล แต่เรือสองลำของแฟรงกลิน ได้แก่ เอเรบัส และ เทร์เรอร์ รวมถึงลูกเรือ 128 คนหายสาบสูญไป
สิ่งที่ไม่มีใครในตอนนั้นล่วงรู้ก็คือ เรือทั้งสองลำติดอยู่ในน้ำแข็ง ทำให้แฟรงกลินกับลูกเรือติดอยู่ในส่วนลึกของอาร์กติก ไม่มีใครรอดชีวิตออกมาบอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และไม่พบบันทึกลายลักษณ์อักษรใดๆที่บรรยายถึงชะตากรรมของพวกเขา ช่องว่างในบันทึกประวัติศาสตร์ที่เรียกรวมๆว่า “ปริศนาแฟรงกลิน” ทำให้เกิดการคาดเดาไปต่างๆ นานามากว่า 170 ปี และยังก่อให้เกิด “สาวกแฟรงกลิน” หรือกลุ่มคนที่หมกมุ่นกับการปะติดปะต่อเรื่องราวว่า นักเดินเรือชาวอังกฤษกว่าร้อยคนพยายามออกจากดินแดนรกร้างห่างไกลและโหดร้ายที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่างไร
ตลอดหลายปีมานี้ ผมกลายเป็นสาวกแฟรงกลินคนหนึ่งด้วยเช่นกัน ผมอ่านหนังสือทั้งหมดที่หาได้เกี่ยวกับเรื่องนี้ และครุ่นคิดถึงคำถามที่ไร้คำตอบสารพัด เป็นต้นว่า แฟรงกลินถูกฝังที่ไหน ปูมเรือของเขาอยู่ที่ใด ชาวอินูอิตพยายามช่วยลูกเรือหรือเปล่า เป็นไปได้ไหมที่คนจำนวนหนึ่งอาจเกือบรอดชีวิตออกมาได้ สุดท้าย ผมไม่อาจต้านทานแรงกระตุ้นให้ออกหาคำตอบของคำถามเหล่านี้ด้วยตนเอง
ผมวางแผนปรับแต่งเรือ โพลาร์ซัน ของผมเพื่อแล่นใบในน่านน้ำเดียวกับเรือ เอเรบัส และ เทร์เรอร์ ทอดสมออยู่ที่ท่าเรือเดียวกันเพื่อดูว่าพวกเขาเห็นอะไร ผมยังหวังจะทำการเดินทางที่แฟรงกลิน ทำไม่สำเร็จให้ลุล่วงด้วย นั่นคือการแล่นเรือจากมหาสมุทรแอตแลนติกเข้าสู่โครงข่ายซับซ้อนเหมือนเขาวงกตของช่องแคบและอ่าวที่กอปรกันขึ้นเป็นนอร์ทเวสต์แพสเสจ และทะลุออกอีกฟากของทวีปที่นอกชายฝั่งอะแลสกา
ตอนนี้ หลังจากผ่านมาเกือบ 3,000 ไมล์ทะเล หรือราวครึ่งทาง การเดินทางเพื่อดื่มด่ำในปริศนาแฟรงกลินของผมกลายเป็นความจริงเกินไปหน่อยแล้ว ถ้า โพลาร์ซัน ติดอยู่ในน้ำแข็ง ผมอาจเสียเรือลำนี้ไป และต่อให้เราหาทางขึ้นฝั่งได้อย่างปลอดภัย การกู้ภัยที่นี่ก็ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ แล้วยังมีหมีขั้วโลกอีก
กว่าแฟรงกลินจะออกเดินทาง อังกฤษก็ค้นหานอร์ทเวสต์แพสเสจมาสามร้อยปีแล้ว การสำรวจแต่ละครั้งเขยิบขึ้นเหนือมากขึ้นทีละน้อย ทำให้เข็มทิศของนักเดินเรือหมุนติ้วเมื่อพวกเขาเข้าใกล้ทิศเหนือแม่เหล็ก เรือของพวกเขามักติดอยู่ในน้ำแข็งในช่วงฤดูหนาวของขั้วโลกที่มีแต่ความมืด คณะสำรวจที่ประสบชะตากรรมเลวร้ายมีไม่น้อย แต่ไม่มีคณะไหน น่ารันทดเท่าคณะของแฟรงกลิน ตามคำกล่าวอ้างของฝ่ายอังกฤษ นักล่าวาฬพบเรือ เอเรบัส และ เทร์เรอร์ ครั้งสุดท้าย นอกชายฝั่งกรีนแลนด์เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 1845 จากนั้นก็ไม่ได้ข่าวอีกเลย เงื่อนงำสำคัญปรากฏในอีก 14 ปีต่อมา คณะสำรวจเอกชนที่ภริยาหม้ายของแฟรงกลินว่าจ้างพบบันทึกซุกอยู่ในกระบอกโลหะที่วิกตอรีพอยต์ ซึ่งอยู่ตรงปลายเหนือสุดของเกาะคิงวิลเลียมของแคนาดา
บันทึกวิกตอรีพอยต์ ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกกันในเวลาต่อมา คือบันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษรสำคัญที่สุดที่ได้จาก คณะสำรวจของแฟรงกลิน บันทึกมีสองส่วนแยกกัน ส่วนแรกระบุเวลาคือเดือนพฤษภาคม ปี 1847 บอกว่าเรือ เอเรบัส และ เทร์เรอร์ ติดอยู่ในน้ำแข็งแปดเดือนก่อนหน้านั้น ห่างจากเกาะคิงวิลเลียมไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 15 ไมล์ทะเล และลงท้ายว่า “เซอร์จอห์น แฟรงกลิน บัญชาการสำรวจ ทุกอย่างราบรื่นดี”
ส่วนที่สองเขียนเพิ่มเติมในเวลาไม่ถึงหนึ่งปีต่อมา บอกว่าพวกเขาสละเรือในเดือนเมษายน ปี 1848 โดยสูญเสียลูกเรือ 15 คนและเจ้าหน้าที่เก้านาย รวมถึงแฟรงกลิน ซึ่งเสียชีวิตหลังเขียนบันทึกส่วนแรกสองสัปดาห์ และลงท้ายว่า ลูกเรือที่เหลือ ซึ่งตอนนี้อยู่ภายใต้การบัญชาการของ แฟรนซิส รอว์ดอน ครอเซอร์ ตั้งใจจะเดินไปยังชุมชนใกล้ที่สุดที่มีสถานีการค้าของบริษัทฮัดสันส์เบย์ ซึ่งอยู่ห่างออกไป ทางใต้เกือบ 1,000 กิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม ชาวอังกฤษในลอนดอนมองเรื่องนี้ไปคนละทาง เมื่อปี 1854 ห้าปีก่อนพบบันทึกดังกล่าว ปรากฏเรื่องราวอีกเรื่อง จอห์น เร พ่อค้าขนสัตว์และนักสำรวจชาวสกอต เล่าว่า ตนพบชาวอินูอิตชื่อ อิน-นุก-ปู-จี-ยุก ซึ่งบอกว่ามี โคบลูนา (คนขาว) 35 ถึง 40 คนอดอาหารตายเมื่อหลายปีก่อนใกล้ปากแม่น้ำใหญ่แห่งหนึ่ง ชาวอินูอิตผู้นั้นให้เรดูวัตถุหลายสิบชิ้นที่เขาเก็บมาจากที่นั่น ซึ่งมีเหรียญที่แฟรงกลินได้รับเมื่อปี 1836 รวมอยู่ด้วย แต่อิน-นุก-ปู-จี-ยุกยังบรรยายภาพค่ายพักที่บ่งชี้ว่า ลูกเรือของแฟรงกลินถูกกดดันจนถึงจุดที่เรใช้คำว่า “ทางเลือกสุดท้ายที่น่าขนลุก” นั่นคือการพบร่างที่ถูกตัดอวัยวะ โดยชิ้นส่วนเหล่านั้นยังอยู่ในหม้อที่พวกเขาหุงหาอาหาร
ตอนที่เรเปิดเผยเรื่องขนพองสยองเกล้านี้ สาธารณชนอังกฤษซึ่งนำโดยคนสำคัญอย่างชาร์ลส์ ดิกเกนส์ ไม่ยอมเชื่อว่าลูกเรือกลายเป็นมนุษย์กินคนไปแล้ว “พฤติกรรมและตัวอย่างอันดีงามของคนเหล่านั้น และของผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของพวกเขา…มีน้ำหนักมากกว่า…คำพูดพล่อยๆของคนเถื่อนเพียงหยิบมือหนึ่ง” ดิกเกนส์เขียนไว้ อิทธิพลของนักเขียนชื่อดังทำให้ ชาวอังกฤษส่วนใหญ่เชื่อว่า ชาวอินูอิตต่างหากที่สังหารแฟรงกลินกับลูกเรือ ไม่ใช่สภาพแวดล้อมอันโหดร้าย ความไม่พร้อมของลูกเรือ หรือไม่ก็แค่เคราะห์ร้าย
ตอนพบซากเรือ เอเรบัส และ เทร์เรอร์ เมื่อปี 2014 และ 2016 ตามลำดับ สาวกแฟรงกลินส่วนใหญ่หันความสนใจไปยังสิ่งที่นักโบราณคดีจะเก็บกู้จากเรือทั้งสองลำ แต่ผมได้ยินเรื่องของชายคนหนึ่งชื่อ ทอม กรอสส์ ที่อาศัยอยู่ไกลสุดกู่ของดินแดนนอร์ทเวสต์เทร์ริทอรีส์ของแคนาดา ซึ่งยังคงค้นหาสิ่งที่เขาเชื่อว่าเป็นเหมือน “จอกศักดิ์สิทธิ์” ของปริศนานี้ นั่นคือหลุมฝังศพของเซอร์จอห์น แฟรงกลิน
ภาพถ่าย เรนัน ออซเติร์ก
แปล ศรรวริศา เมฆไพบูลย์
ติดตามสารคดี หมดหนทาง ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนสิงหาคม 2566
สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/584135