ต้นสนไซเปรส อายุ 1,000 ปี กำลังใกล้ตายในยุคของเรา

เหล่า ต้นสนไซเปรส หนองน้ำยืนหยัดราวกับผู้พิทักษ์ตลอดประวัติศาสตร์หลายพันปี ปัจจุบัน สนเหล่านั้นกำลังสอนเราให้เรียนรู้บางสิ่งเกี่ยวกับอนาคตของเรา

อากาศแจ่มใสของวันหนึ่งในเดือนธันวาคม เดวิด สตาห์ล ยืนเหยียบบันไดที่พาดกับต้น สนไซเปรส หนองน้ำ (bald cypress) ขนาดลำต้นพอๆกับความสูงของเขา แล้วสตาห์ลก็ใช้สว่านเจาะเนื้อไม้ค่อยๆ เจาะผ่านเวลาเข้าไป

ที่ความลึก 2.5 เซนติเมตรแรก เขาย้อนเวลากลับไปถึงช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พอพ้นระยะห้า เซนติเมตรก็ไปถึงกำเนิดสหรัฐอเมริกา ภายใน 12 เซนติเมตร สตาห์ล นักรุกขกาลวิทยา (dendrochronologist) จากมหาวิทยาลัยอาร์คันซอ ก็เจาะเวลามาถึงยุคการเดินทางสู่โลกใหม่ของโคลัมบัส

เมื่อเสร็จสิ้นการเจาะเอาตัวอย่างแกนขนาดเท่าแท่งดินสอออกมา สตาห์ลก็ได้จำนวนวงปีมามากพอจะประเมินว่า สนไซเปรสตะปุ่มตะป่ำต้นนี้ผุดจาก ชั้นดินชุ่มน้ำในช่วงนักรบครูเสดยาตราทัพไปยังเยรูซาเลมเมื่อราวหนึ่งพันปีก่อน แต่ส่วนที่สตาห์ลเลือกพูดถึง เป็นเสี้ยวขนาดหนึ่งเซนติเมตรใกล้กับเปลือกไม้ หรือจากราวปี 1900 ถึง 1935 พอถึงปลายยุคที่ว่านั้น สนไซเปรสหนองน้ำโบราณในสหรัฐอเมริกาถูกตัดโค่นไปแล้วถึงราวร้อยละ 90 สตาห์ลบอก

สนไซเปรสหนองน้ำยืนต้นอารักขาชายฝั่งทะเลสาบแห่งหนึ่งทางตอนกลางของฟลอริดา พายุลูกแล้วลูกเล่าที่ทำให้สนเหล่านี้มีรูปทรงบิดเบี้ยว น่าจะมีส่วนช่วยให้พวกมันรอดพ้นจากคมเลื่อยของคนตัดไม้ ทวีปอเมริกาเหนือเหลือป่าสนไซเปรสโบราณอยู่เพียงน้อยนิด
สนไซเปรสยืนต้นตายตามแนวห้วยแจ็กคีย์สครีกในเมืองลีแลนด์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา หลังเผชิญพายุเฮอร์ริเคน ระดับทะเลที่สูงขึ้น และการขุดลอกท้องน้ำ การเกษตรและการพัฒนาทำให้ป่าชุ่มน้ำหลายล้านไร่เหือดแห้งไปในศตวรรษที่ยี่สิบ ตอนนี้ การรุกล้ำของน้ำเค็มยิ่งซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายลง

สถานที่แห่งนี้คือหย่อมป่าที่ถูกมองข้ามตามแนวแม่น้ำแบล็กในรัฐนอร์ทแคโรไลนาซึ่งมีต้นไม้เก่าแก่ที่สุด เท่าที่ทราบในแถบตะวันออกของเทือกเขาร็อกกี อันที่จริง สนไซเปรสหนองน้ำเป็นไม้ที่ขยายพันธุ์โดยอาศัยเพศชนิดเก่าแก่ที่สุดเป็นอันดับห้าของโลก ต้นที่สตาห์ลเพิ่งเจาะตัวอย่างแกนออกมายังโตไม่ถึงครึ่งชีวิตเลย สนไซเปรสต้นหนึ่งที่เขาค้นพบที่นี่เมื่อปี 2017 มีอายุย้อนกลับไปถึงอย่างน้อย 605 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งเท่ากับว่ามันมีอายุมากกว่า 2,600 ปี และสตาห์ลยังพบต้นที่โบราณพอๆ กันอีกหลายต้นในละแวกใกล้เคียง

ข้อมูลจากแกนตัวอย่างของต้นไม้เหล่านี้ รวมทั้งจากสนไซเปรสหนองน้ำอื่นๆ ในแถบตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ กอปรกันเป็นบันทึกเกี่ยวกับความชื้นในดินที่เก็บต่อเนื่องยาวนานและแม่นยำที่สุดชุดหนึ่งในวงการวิทยาศาสตร์ ความแห้งแล้งต่อเนื่องหลายทศวรรษ ตลอดจนช่วงชื้นแฉะที่เรียกกันว่า ช่วงเวลาฝนชุก (pluvial) จารึกไว้ชัดเจนในวงปีของพวกมันถึงขั้นระบุปีที่แน่นอนได้

เดวิด สตาห์ล ผู้เชี่ยวชาญด้านวงปีต้นไม้ เจาะตัวอย่างแกนจากสนไซเปรสต้นหนึ่งที่อุทยานแห่งชาติคองการี ในรัฐเซาท์แคโรไลนา วงปีของต้นสนไซเปรสหนองน้ำให้ข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศที่เชื่อถือได้มากที่สุดแหล่งหนึ่ง โดยบอกให้รู้ว่าปีไหนน้ำมาก ปีไหนฝนแล้ง ตลอดกว่าสองพันปีที่ผ่านมา
แซค เวสต์ เจ้าหน้าที่บริหารทรัพยากรที่ดิน เดินลุยน้ำในป่าไซเปรสหนองน้ำหย่อมหนึ่งที่ป่าสงวนแม่น้ำแบล็ก ขององค์กรเนเจอร์คอนเซอร์แวนซีในรัฐนอร์ทแคโรไลนา ซึ่งเป็นบ้านของต้นไม้เก่าแก่ที่สุดในโลกจำนวนหนึ่ง

ขณะที่ต้นไม้โบราณเหล่านี้เปรียบเหมือนหน้าต่างที่เปิดสู่สภาพภูมิอากาศในอดีต พี่น้องของพวกมันที่อยู่ใกล้แนวชายฝั่งมากกว่า กำลังให้บทเรียนสำคัญไม่แพ้กันแก่เราว่าด้วยอนาคตของสภาพภูมิอากาศ แม้สนไซเปรสหนองน้ำจะอยู่ในกลุ่มต้นไม้เดนตายที่สุดในโลก ทนทานต่อสภาวะเลวร้ายสุดขีดสารพัด แต่ตอนนี้ป่าสนไซเปรสกำลังล้มตายลงขนานใหญ่ตลอดแนวชายฝั่งจากรัฐเดลาแวร์ถึงเทกซัส ทิ้งเพียงโครงขาวโพลนเหมือนกระดูกไว้เบื้องหลัง

ป่าตายซาก (ghost forest) เหล่านี้อาจเป็นสัญญาณชัดเจนที่สุดที่เรามีซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะระดับน้ำสูงขึ้นชนิดไม่หยุดหย่อน จนดันน้ำเค็มรุกล้ำลึกเข้าไปถึงพื้นที่ที่เคยเป็นระบบนิเวศน้ำจืด แม้สนไซเปรสหนองน้ำจะทนทานน้ำเค็มได้มากกว่าพวกต้นแอช โอ๊ก และไม้ชนิดอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในถิ่นที่เป็นป่าชุ่มน้ำ

ตัวอย่างแกนจากสนไซเปรสในแม่น้ำแบล็ก เผยให้เห็นแถบวงปีทั้งหนาและบางที่สัมพันธ์กับช่วงฝนชุกและช่วงฝนแล้งตลอดหลายศตวรรษอย่างแม่นยำ รูสามรูทางขวาสุดบ่งถึงวงปีที่ตรงกับ ค.ศ. 500
สนไซเปรสหนองน้ำเป็นชนิดพันธุ์ไม้ที่ขยายพันธุ์โดยอาศัยเพศเก่าแก่ที่สุดเป็นอันดับห้าเท่าที่ทราบ ต้นตัวอย่างในแม่น้ำแบล็กต้นนี้ไม่ได้เป็นต้นสูงที่สุดหรือสวยงามที่สุด แต่มีอายุย้อนหลังไปอย่างน้อย 605 ปีก่อนคริสตกาล สตาห์ลเชื่อว่า กระทั่งต้นเก่าแก่กว่านี้ยังมีชีวิตอยู่ตามสายน้ำที่ไหลผ่านหนองน้ำ คู่ควรที่จะได้รับการคุ้มครอง

ทว่าพวกมันก็ไม่อาจอยู่รอดได้นาน เมื่อน้ำที่อยู่รอบๆมีความเข้มข้นของเกลือเกินสองส่วนต่อหนึ่งพันหรือพีพีที (part per thousand: ppt) มหาสมุทรแอตแลนติกอาจมีความเค็มมากกว่า 35 พีพีที และระดับมหาสมุทรก็กำลังสูงขึ้นตามแนวชายฝั่งทะเลตะวันออกอย่างรวดเร็วแซงหน้าเกือบทุกพื้นที่ในโลก ระดับทะเลในวิลมิงตัน เมืองท่าใหญ่สุดของรัฐนอร์ทแคไรไลนา สูงขึ้นแล้วราว 30 เซนติเมตรนับจากปี 1950 เป็นต้นมา และคาดว่าจะสูงขึ้นอีกอย่างน้อย 30 เซนติเมตรเมื่อล่วงถึงปี 2050

เวลานี้เหล่าต้นไม้ของแม่น้ำแบล็กยังไม่ถูกน้ำเค็มคุกคาม และตัวแม่น้ำเองยังเป็นสายน้ำสำคัญที่ไหลผ่านบึงน้ำ แต่ไกลออกไปทางปลายน้ำในลุ่มน้ำเคปเฟียร์ตอนล่าง มีป่าชุ่มน้ำที่กลายสภาพเป็นที่ลุ่มชื้นแฉะน้ำเค็มไปแล้วเกือบ 2,000 ไร่นับจากทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา เมื่อน้ำเค็มขึ้นทุกทีตามข้อมูลจากงานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ของมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโคไลนา วิทยาเขตวิลมิงตัน เมื่อค่าความเค็มเฉลี่ยต่อปีแตะถึงระดับ 2 พีพีที การแปรสภาพจากผืนป่าเป็นที่ลุ่มชื้นแฉะกลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง

นักวิทยาศาสตร์เคยคิดว่า มอทเหยี่ยวยักษ์เป็นพาหะถ่ายเรณูชนิดเดียวของกล้วยไม้ผีที่พบได้ยาก กระทั่งมีมอทชนิดอื่นๆ ที่ทำเช่นเดียวกันถูกบันทึกภาพไว้ได้ด้วยกล้องดักถ่ายที่เขตคุ้มครองบึงคอร์กสกรูว์ในรัฐฟลอริดา
นักวิจัยไม่ทราบว่าแน่ชัดว่า เหตุใดสนไซเปรสจึงมีรากอากาศที่เรียกว่า “หัวเข่า” ซึ่งเป็นโครงสร้างมีเนื้อไม้ ที่งอกตรงโคนต้น แต่รากในภาพนี้เป็นที่เกาะของเต่าสแนปปิงธรรมดาในแม่น้ำชะวานนีของฟลอริดา

วันฟ้าโปร่งอากาศเย็นสบายวันหนึ่งในฤดูใบไม้ร่วง นักสำรวจเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก แมก สโตน, สตาห์ล, และมัคคุเทศก์ท้องถิ่นชื่อ ชาร์ลส์ รอบบินส์ พายเรือคายักเข้าสู่ร่องน้ำซับซ้อนราวเขาวงกตของแม่น้ำแบล็ก ล่องไหลไปตามกระแสน้ำสีอำพัน เป้าหมายของพวกเขาคือการไปเยือนเหล่าต้นไม้อายุ 2,000 ปีที่สตาห์ลค้นพบเมื่อปี 2017 รวมทั้งค้นหาและเจาะตัวอย่างแกนจากต้นไม้ในท้องถิ่นอีกสามต้นที่สโตนพบเห็นระหว่างสำรวจทางอากาศเหนือพื้นที่ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า บึงพี่น้องสามสาว (Three Sisters Swamp)

เราสัมผัสได้ถึงความสงบนิ่งของบึงแห่งนั้นได้อย่างชัดเจน รอบบินส์ผู้อาศัยอยู่ในวิลมิงตันมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ได้เห็นป่าตายซากหลายแห่งค่อยๆ คืบคลานขึ้นมาตามแม่น้ำเคปเฟียร์ ซ้ำเติมด้วยสามปัจจัยร่วมคือระดับทะเลที่สูงขึ้น การขุดลอกร่องน้ำเดินเรือด้วยเครื่องจักร และพายุ เฮอร์ริเคนที่เกิดขึ้นบ่อย

หมีดำฟลอริดาตัวหนึ่งพบเสาเหมาะให้ใช้เกาหลังต้นหนึ่งในเขตคุ้มครองบึงคอร์กสกรูว์ของสมาคมออดูบอน ซึ่งเป็นหนึ่งในป่าไซเปรสบริสุทธิ์ผืนสุดท้ายที่เหลืออยู่ในสหรัฐอเมริกา พื้นที่คุ้มครองที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 1954 แห่งนี้ เป็นบึงสนไซเปรสแห่งแรกๆ ที่ได้รับการยอมรับในฐานะถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า
ปลาดุกหัวแบนลอยตัวอยู่เหนือแพไข่ แม้ในยามที่แม่น้ำแบล็กโดยรอบกำลังลดระดับลง สนไซเปรสหนองน้ำและชนิดพันธุ์อื่นๆ ร่วมหนองน้ำเดียวกัน ทนทานต่อน้ำท่วมและความแห้งแล้ง นอกจากปลาดุกแล้ว แม่น้ำนี้ยังมีสัตว์อีกราว 30 ชนิดที่หายาก ใกล้หรือเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

ระหว่างทางไปยังเหล่าต้นไม้ของสโตน เรือของพวกเราถูกกลุ่มรากคล้ายหัวเข่า (knee root) ของสน ไซเปรสกีดขวางเข้าจนได้ บางรากสูงกว่าสามเมตร พวกเราตัดสินใจสละเรือคายัก แล้วลุยน้ำฝ่าโคลนที่คอยแต่จะดูดรองเท้าบูตไปให้ถึงตำแหน่งจีพีเอสคร่าวๆ บนแผนที่ของสโตน สตาห์ลเชื่อว่า เหตุผลหลักข้อหนึ่งที่ทำให้ให้ต้นไม้เก่าแก่ที่สุดอยู่รอดมาได้ ก็เพราะพวกมันมี “หน้าตาตะปุ่มตะป่ำ” จนทำให้ไม่มีค่าพอให้ตัดไปใช้งาน

ต้นไม้ที่พวกเขาพบก็อยู่ในข่ายนี้ พวกมันมีโคนอวบใหญ่และเป็นร่อง มีตาไม้ขนาดเท่าโต๊ะทำครัวงอกพราวไปหมด ยอดของต้นแรก แตกออกดูกระเซอะกระเซิง หลังถูกพายุรุนแรงกระหน่ำจนฉีกขาดและงอกใหม่อย่างสะเปะสะปะ ต้นที่สองมีลำต้น แตกออกเป็นสองลำชะลูดขึ้นไป 15 เมตร แล้วบิดเป็นเกลียวเกี่ยวกันเหมือนนกฟลามิงโกยักษ์

ลำต้นเหมือนโครงกระดูกของสนไซเปรสยืนตะคุ่มในแอ่งน้ำเค็มท่วมขังที่รุกคืบขึ้นไปตามแม่น้ำแซมพิต ในรัฐ เซาท์แคโรไลนา เป็นแนวโน้มที่กำลังลุกลามตามแนวชายฝั่งตะวันออกหรืออีสโคสต์เมื่อระดับทะเลสูงขึ้น นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า สหรัฐฯอาจสูญเสียป่าชุ่มน้ำชายฝั่งทั้งหมดภายในปี 2100
สัญญาณหนึ่งบ่งบอกถึงโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง เป็ดแดงท้องดำที่พบได้ทั่วไปในอเมริกากลาง กำลังเคลื่อนย้าย ขึ้นเหนือสู่เขตคุ้มครองบึงคอร์กสกรูว์ และทำรังในต้นสนไซเปรสเก่าที่อาจเคยใช้โดยนกหัวขวานใหญ่ปากสีงาช้างและนกแก้วแคโรไลนา

ต้นสุดท้ายมีโพรงที่เคยเป็นที่อาศัยของหมีดำตัวสูงใหญ่ขนาดที่ข่วนลำต้นเป็นรอยสูงจากพื้นดินสองเมตร (ฝั่งตะวันออกของรัฐ นอร์ทแคโรไลนามีหมีดำขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอยู่จำนวนหนึ่ง) แม้ไม่สามารถเจาะตัวอย่างแกนจากต้นที่เป็นโพรงได้ สตาห์ลก็ประเมินว่า มันน่าจะอายุมากพอๆ กับอีกสองต้นที่อยู่มาอย่างน้อยหนึ่งพันปีแล้ว

“ต้นไม้แก่ๆน่าสนใจตรงนี้ละค่ะ” จูลี มอร์ นักชีววิทยาเกษียณจากองค์การบริหารปลาและสัตว์ป่าแห่งสหรัฐอเมริกา กล่าว เธอเป็นคนชี้เป้าให้สตาห์ลมายังแม่น้ำแบล็กตอนต้นทศวรรษ 1980 “พวกมันคงอายุไม่ยืนขนาดนี้ถ้ารับมือไม่ได้ ชนิดพันธุ์ต่างๆที่อยู่กับเรามานานจำเป็นต้องปรับตัวได้ค่ะ”

อัลลิเกเตอร์พันธุ์อเมริกันอาบแดดในดงต้นเตปูเลและสนไซเปรสในป่าแฟรนซิสบีดเลอร์ของสมาคมออดูบอนใน รัฐเซาท์แคโรไลนา บึงต่างๆที่เคยถูกมองว่าเป็นที่ดินไร้ประโยชน์ กลายเป็นสมบัติล้ำค่าของชาติในปัจจุบัน ตั้งแต่เป็นที่หลบภัยให้ชนิดพันธุ์หายาก ไปจนถึงมีส่วนช่วยควบคุมอุทกภัยและมลพิษในลุ่มน้ำต่างๆ

การปรับตัวเหล่านั้นหลายอย่างอาจมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับมนุษย์ในโลกที่ร้อนขึ้น แห้งแล้งขึ้น มีพายุถี่ขึ้น การศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า แม้แต่สนไซเปรสอายุน้อยๆ ก็สามารถทนทานต่อน้ำท่วมขังสูงสิบเมตรได้หลายเดือน ขณะที่ลำต้น รากคล้ายหัวเข่า และดินก้นบึงที่อยู่รอบๆ รากของมัน ดูดซับน้ำฝนที่มากับพายุและคาร์บอนไว้เหมือนฟองน้ำ

สตาห์ลชี้ให้ทุกคนเห็นว่า พวกมันสามารถมีชีวิตรอดจากภัยแล้งยืดเยื้อนานหลายทศวรรษได้ ส่วนคนอื่นๆ ระบุว่าสนไซเปรสมีส่วนช่วยเติมน้ำบาดาล หรือกระทั่งกรองสิ่งปนเปื้อนได้ ความทนทานน้ำเค็มสูงมักทำให้พวกมัน เป็นต้นไม้ในป่าตายซากกลุ่มท้ายๆ ที่จะล้มตาย แต่ความสามารถในการเอาชีวิตรอดจากพายุรุนแรงที่สุดบนโลก ได้ต่างหาก ที่ทำให้พวกมันพิเศษไม่เหมือนใครอย่างแท้จริง

เรื่อง โจเอล เค. บอร์น จูเนียร์

ภาพถ่าย แมก สโตน 

แปล อัครมุนี วรรณประไพ

ติดตามสารคดี ป่าตายซาก ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกันยายน 2566

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/587166


อ่านเพิ่มเติม พบกับ ต้นไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มากถึง 5,400 ปี สมญานาม ‘คุณปู่ผู้ยิ่งใหญ่’

ต้นไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.