ขั้วโลกใต้ละลาย ทำเจอ มัมมี่เพนกวิน 5,000 ปี ผลจากโลกร้อน

การค้นพบ มัมมี่เพนกวิน ต้องเล่าย้อนไปในช่วงปี 2016 สตีฟ เอ็มสลีย์ (Steve Emslie) ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนา ได้เดินทางไปเยือนพื้นที่ทางตอนใต้ของแอนตาร์กติกา (ขั้วโลกใต้) ที่มีชื่อว่าแหลมอิริซาร์ (Cape Irizar)

เขาพบเข้ากับ “ซากเพนกวิน” จำนวนมากถูกแช่แข็งไว้ แต่สิ่งที่ทำให้เขาสับสนก็คือ พื้นที่แห่งนี้ไม่มีเพนกวินอาศัยอยู่ อย่างน้อยก็นับพันปีแล้ว ความสงสัยนี้ทำให้เขาเก็บรวบรวมตัวอย่างเท่าที่จะหาได้จากซากศพที่ยังดูสดใหม่เหล่านี้ เพื่อนำกลับมาวิเคราะห์ในห้องทดลองต่อไป

จากการศึกษาที่ได้เผยแพร่ในวารสาร ‘Geology’ เอ็มสลีย์ ได้ระบุอายุชิ้นส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกระดูก เปลือกไข่ และตัวอย่างผิวหนังด้วยเรดิโอคาร์บอน ผลที่ได้เผยให้เห็นว่า ซากเหล่านั้นมีอายุตั้งแต่หลายร้อยจนถึงหลายพันปี โดยตัวที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุ 5,000 ปี และตัวที่อายุน้อยที่สุดอยู่ที่ราว 800 ปี

“ตลอดหลายปีที่ผ่านมาในการทำวิจัยที่แอนตาร์กติกา ผมไม่เคยเห็นสถานที่แบบนี้มาก่อน” ศาสตราจารย์เอ็มสลีย์กล่าว กลับกลายเป็นว่าพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นอาณานิคมของเพนกวินสายพันธุ์อาเดลี (Adélie penguin) มาก่อน แล้วก็ล่มสลายลงไปในภายหลักด้วยเหตุผลที่ยังไม่ชัดเจน

ความหนาวเย็นทำให้ศพเหล่านี้กลายเป็นมัมมี่ตามธรรมชาติ ด้วยอุณหภูมิที่ต่ำกว่าศูนย์ ส่งผลให้จุลินทรีย์ไม่สามารถย่อยสลายศพได้ พวกมันจึงยังดู ‘สดใหม่’ การวิเคราะห์ของเอ็มสลีย์ระบุว่า พื้นที่แห่งนี้อาจมีฝูงเพนกวินเข้ามาอยู่อาศัย 3 ระลอกด้วยด้วยกัน ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ 2,750-5,145 ปีก่อน ครั้งที่สองเมื่อ 1,375-2,340 ปีก่อน และครั้งสุดท้ายคือ 800-1,100 ปีที่แล้ว

แต่ทำไมพวกมันไม่อาศัยอยู่ถาวรและอะไรที่กวาดล้างเพนกวินเหล่านี้? เอ็มสลีย์เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับปริมาณน้ำแข็งและอุณหภูมิที่สูงขึ้น โดยปกติในฤดูหนาว เพนกวินจะทำรังบนแผ่นน้ำแข็งในทะลที่อยู่รอบ ๆ พื้นที่บก และเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน น้ำแข็งจะละลาย ทำให้เพนกวินย้ายการทำรังไปอยู่บนบก

แต่ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาอุณหภูมิโลกมีการเพิ่มขึ้นและลดเป็นช่วง ๆ ทำให้เกิดการอพยพเคลื่อนย้ายของฝูงเพนกวินไปตามระดับน้ำแข็งรอบ ๆ สิ่งนี้อาจเป็นเหตุว่าทำไมถึงมีซากเพนกวินในที่ที่ไม่เคยเจอได้

เอ็มสลีย์กล่าวว่าการค้นพบซากอาณานิคมนี้เป็นเครื่องเตือนใจว่า เพนกวินได้เคลื่อนตัวไปทั่วทวีปแอนตาร์ติกามานานนับพันปีแล้ว โดยย้ายจากแหลมหนึ่งไปอีกแหลมหนึ่งตามช่วงเวลาที่เพิ่มขึ้นและลงของแผ่นน้ำแข็งในทะเล แต่น่าเศร้าที่ตอนนี้ถิ่นที่อยู่ของมันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วกว่าที่เคย

การที่น้ำแข็งละลายเร็วขึ้นทุกปีจากภาวะโลกร้อนสร้างผลกระทบให้กับเพนกวินหลายล้านตัวที่อาศัยอยู่ในแอนตาร์กติกา ไม่ใช่แค่เพนกวินอาเดลีเท่านั้นแต่ยังรวมถึงเพนกวินจักรพรรดิ และสายพันธุ์อื่น ๆ ด้วย เพราะพวกมันอาศัยแผ่นน้ำแข็งในการดำรงชีวิต

ในรายงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ชี้ให้เห็นว่าลูกเพนกวินนับหมื่นอาจจมน้ำตายเพราะแผ่นน้ำแข็งแตกออกทำให้รังจมลงสู่ความหนาวเย็นและมืดมิดอย่างรวดเร็ว

ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นได้เผยให้เห็นซากเพนกวินที่ถูกเก็บไว้อย่างยาวนาน โดยพื้นที่ของแหลมอิริซาร์มีสูงขึ้นกว่า 2°C นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 จนกลายเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ร้อนเร็วขึ้นที่สุดในโลก

ทีมวิจัยหวังว่าจะได้เรียนรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นได้มากกว่าเกี่ยวกับการขยายพันธุ์ของเพนกวินอาเดลี

“มันน่าเศร้าที่เกิดอะไรขึ้นที่นั่น” เอ็มสลีย์บอก

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

Photograph by Steven D. Emslie; Ancient Adélie penguin colony revealed by snowmelt at Cape Irizar, Ross Sea, Antarctica. Geology 2020;; 49 (2): 145–149.

ที่มา

https://pubs.geoscienceworld.org/gsa/geology/article/49/2/145/590932/Ancient-Adelie-penguin-colony-revealed-by-snowmelt

https://www.livescience.com/ancient-penguin-mummies-antarctica.html

https://www.iflscience.com/mummified-penguins-from-5000-years-ago-emerge-from-antarcticas-snow-71182

https://www.smithsonianmag.com/smart-news/scientist-unearths-colony-mummified-penguins-antarctica-180975965

อ่านเพิ่มเติม ลูกเพนกวิน นับ 10,000 ตัว อาจตายหมดแล้ว ผลจากน้ำแข็งละลายได้กวาดล้าง “บ้าน” จนจมน้ำตาย- หรือถ้ารอด พวกมันก็ต้องหนาวตายอยู่ดี

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.