ป่าดงพงไพรแสนพิเศษ เขตสงวนฯ ใหญ่สุดที่ ” โมซัมบิก “

เพื่อช่วยปกปักรักษาเขตสงวนสัตว์ป่าขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ โมซัมบิก ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในความสำเร็จที่ได้มา

โมซัมบิก – โจอานา ลีคอนเด ยืนบนสันทรายที่บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์เชมัมโบ ชุดกระโปรงสีมรกตของเธอเปียกชุ่ม หยาดน้ำฝนตกกระทบเท้า เธอหันหน้าเข้าหาแท่นบูชา ซึ่งเป็นต้นเบาบับอายุน้อย มีผ้าขาวพันรอบลำต้นอวบใหญ่อันศักดิ์สิทธิ์ และกล่าวนำสวดภาวนาให้ผู้มาร่วมแสวงบุญ ดวงอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้า ส่งกลุ่มผู้สักการะเข้าสู่ค่ำคืนที่จะ มีการร้องรำทำเพลง และสวดภาวนาร่วมกัน

ผู้สักการะกลุ่มนี้มาร่วมพิธี ชอนเด-ชอนเด ในนีอัสซา (Niassa) ซึ่งเป็นพื้นที่คุ้มครองทางตอนเหนือ ของโมซัมบิก พวกเขาวางของเซ่นไหว้เป็นอาหารและเงินที่โคนต้นเบาบับ แล้วท่องบทสวดชอนเด เพื่ออ้อนวอนเหล่าบรรพบุรุษให้อำนวยความสุข สุขภาพที่ดี และความอุดมสมบูรณ์ เบาบับถือเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ หรือประตู สู่ภพภูมิเหนือธรรมชาติที่ผู้คนมารวมตัวกันปลุกวิญญาณบรรพบุรุษ ความเชื่อพื้นบ้านปกป้องต้นไม้เหล่านี้จาก คมขวานของคนตัดไม้

ช้างป่าในนีอัสซาเผชิญการสูญเสียระดับหายนะในทศวรรษ 2010 เมื่อองค์กรอาชญกรรมล็อกเป้าโขลงช้างขนาดใหญ่ที่สุดในแอฟริกาตะวันออกเพื่อล่าเอางา จำนวนช้างที่นี่ฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ ตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา
นีอัสซาลบล้างความเชื่อที่ว่า พื้นที่คุ้มครองของแอฟริกาคือสวนอีเดนที่ปราศจากร่องรอยของมนุษย์ ผู้คนที่นี่เก็บอาหารจากผืนป่าและอยู่ร่วมกับสัตว์ป่ามาหลายพันปีแล้ว พวกเขาไม่ได้เผชิญกับการพลัดถิ่นเมื่อเขตสงวนได้รับการจัดตั้งขึ้น และหลายคนยังช่วยรักษาป่าอนุรักษ์ผืนนี้ที่ประกอบด้วยแม่น้ำประสานสาย และเขาโดดสูงตระหง่าน

คนเก็บของป่าล่าสัตว์ ชาวไร่ชาวนา ผู้ปกครองสังคมชนเผ่า คือผู้คนที่เรียกภูมิภาคนี้ว่าบ้านมาตลอดหลายพันปี แต่การตกเป็นเมืองขึ้นนานหลายศตวรรษ และสงครามกลางเมืองเมื่อไม่นานมานี้ ส่งผลให้ชุมชมต่างๆ ในนีอัสซาเผชิญความยากจนสุดขั้ว หากป่าดงงดงามผืนนี้และแผ่นดินที่บรรพบุรุษของผู้คนที่นี่อาศัยอยู่มาหลาย ชั่วคนจะได้รับการปกปักรักษาและทะนุบำรุงเพื่ออนาคต ชาวบ้านก็ควรได้อานิสงส์โดยตรงจากความพยายาม เพื่อการอนุรักษ์และการท่องเที่ยวด้วย

นีอัสซาซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าสวิตเซอร์แลนด์ด้วยพื้นที่ 42,000 ตารางกิโลเมตร ได้รับการจัดตั้งเป็นเขตสงวนสำหรับล่าสัตว์เมื่อปี 1954 และกำหนดให้เป็นพื้นที่คุ้มครองแห่งชาติในปี 1999 ที่นี่เป็นบ้านของเหล่า “ดารา” แห่งแอฟริกาตะวันออก เช่น ช้าง ควายป่า สิงโต หมาป่าแอฟริกา ตลอดจนสัตว์แปลกตาอย่างม้าลายแกรนท์ อิมพาลาจอห์นสตัน และวิลเดอบีสต์นีอัสซา ที่ราบแผ่ไพศาลของที่นี่ถักร้อยด้วยหย่อมป่าละเมาะ ป่าไม้ ที่ราบ น้ำท่วมถึง และมีเขาโดดแกรนิตหรือหินโผล่อยู่ประปราย

คนเก็บน้ำผึ้งป่า ลูอิส ไอเวเน ตอกลิ่มไม้ทำบันไดเข้าไปในลำต้นเบาบับต้นหนึ่ง เพื่อใช้ปีนขึ้นไปยังรังผึ้งที่อยู่สูงขึ้นไปบนฐานเรือนยอด ผึ้งจะสงบกว่าในตอนกลางคืน แต่เมื่อไม่มีเครื่องป้องกัน ไอเวเนจึงต้องทนโดนผึ้งต่อยหลายครั้ง ระหว่างตัดรวงผึ้งเพื่อนำกลับไปที่หมู่บ้าน
หลังการล่าน้ำผึ้งที่ประสบความสำเร็จ สัตว์อื่นๆ อย่างฮันนีแบดเจอร์ตัวนี้กับลูกน้อย จะมากินน้ำผึ้งในเศษรวงที่หลุดร่วง ฮันนีแบดเจอร์ชอบกินอาหารหวานฉ่ำพวกนี้สมชื่อ แต่การศึกษาด้วยกล้องดักถ่ายล่าสุดเผยว่า ลิงบาบูน พังพอน กระเล็น และนกเงือกมงกุฎ ก็มาร่วมวงกินด้วย

ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ผู้คนอยู่อาศัยและแลกเปลี่ยนค้าขายในภูมิภาคนี้ การดำรงอยู่ของพวกเขา ในยุคเริ่มแรกถูกบันทึกไว้ในรูปสิ่งประดิษฐ์ยุคหินและภาพวาดบนผ้าใบแกรนิต พวกเขาหากินจากป่าละเมาะและแม่น้ำ เก็บเนื้อสัตว์ป่า น้ำผึ้ง ผลไม้ ถั่ว ฟืน พืชสมุนไพร และจับปลา จากนั้นจึงเพิ่มการเพาะปลูกพืชไร่เข้ามา ในงานประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด ถั่วลิสง ถั่ว งา ข้าวฟ่าง หรือพืชที่ปลูกเพื่อขาย เช่น ยาสูบ

ปัจจุบัน ประชากรกว่า 60,000 คนที่อยู่ตามหมู่บ้านเล็ก ๆ ทั่วนีอัสซา ยังคงหากินจากผืนแผ่นดิน แม้ผู้ร่วมบริหารจัดการเขตสงวนซึ่งได้แก่ คณะบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์แห่งชาติโมซัมบิก หรือเอเอ็นเอซี และสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าจากสหรัฐฯ จะดูแลควบคุมการจับปลาและล่าสัตว์ โดยมีระบบใบอนุญาตที่จำกัดช่วงเวลา แหล่ง และวิธีการจับปลา การล่าสัตว์เพื่อนำเนื้อมาทำอาหาร หรือขายให้พ่อค้าท้องถิ่นก็เป็นสิ่งต้องห้ามแล้วในปัจจุบัน ชาวบ้านได้รับการส่งเสริมให้เลี้ยงเป็ด ไก่ และกระต่ายเพื่อเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือก

เอวเซบีโย ไวตี ผู้ถือกำเนิดในนีอัสซา เรียนรู้การแกะรอยและทักษะพรานป่าเพื่อยังชีพ ปัจจุบัน เขานำความชำนาญนี้มาประยุกต์ใช้กับบทบาทในฐานะคนงานภาคสนามเพื่อการอนุรักษ์ เขาติดตามสิงโตด้วยสัญญาณวิทยุ ดูแลกล้องดักถ่ายมากกว่าหนึ่งร้อยตัว และหาทางออกสำหรับ “สิงโตสร้างปัญหา” ตามที่ได้รับแจ้งจากชาวบ้าน
หมาป่าแอฟริกาจากฝูงอึมโปโปข่มขู่กันใกล้รังบนก้นแม่น้ำแห้งขอดซึ่งเป็นที่มาของชื่อฝูง เขตสงวนนีอัสซา เป็นพื้นที่คุ้มภัยสำหรับหมาป่าที่มีสถานะใกล้สูญพันธุ์เหล่านี้ จำนวนประชากรของพวกมันดูเหมือนจะคงที่โดยอยู่ที่ราว 350 ตัวกระจายอยู่ใน 30 ถึง 35 ฝูง

เช้าวันหนึ่งของเดือนพฤศจิกายน บนถนนใกล้หมู่บ้านอึมบัมบา ชาวประมงเข็นจักรยานไปตลาดบนเส้นทางคลุ้งฝุ่นเส้นเดียวกับที่ชาวบ้านใช้ร่วมกันเป็นครั้งคราวกับผู้สัญจรสี่เท้า เช่น ช้าง สิงโต และแอนทิโลป หลังใช้เวลาหลายสัปดาห์ที่ค่ายห่างออกไป 15 กิโลเมตรทางปลายน้ำของแม่น้ำลูเกนดา ตะกร้าไม้ไผ่สาน บนจักรยานของพวกเขาเพียบแปล้ไปด้วยปลา นินกุ ซึ่งเป็นปลาบู่ชนิดหนึ่ง และ คัมปันโก ปลาดุกน้ำจืดอีกชนิด ที่พวกเขาดักจากแม่น้ำด้วยตาข่าย ปลาเหล่านี้ตากแห้งและรมควันมาแล้วเหนือกองไฟกลางแจ้งที่ค่าย วิธีถนอมอาหารนี้ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้นเป็นหลายสัปดาห์

สำหรับชาวเยา ปลาไม่ได้เป็นเพียงแหล่งโปรตีนหายาก แต่ยังมีค่าประหนึ่งเงินสด ชาวบ้านจะนำปลา มาแลกกับน้ำมันทำอาหาร ข้าวสาร และกระทั่งเสื้อผ้า ในตลาดท้องถิ่น อึมบัมบายังเชื่อมต่อกับเส้นทางการค้าโบราณที่พาดผ่านบริเวณนั้น เอื้อให้ชาวประมงขายปลาที่จับมาได้ส่วนหนึ่งให้พ่อค้าจากที่อื่นภายในเขตสงวนและเลยออกไป เบนวินโด นาปัวนา ผู้จัดการชุมชนที่ทำงานให้กับนีอัสสซาคาร์นิวอร์โปรเจกต์ หรือเอ็นซีพี (Niassa Carnivore Project: NCP) ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มเพื่อการอนุรักษ์ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2003 บอกว่า “ผู้คนพากันมาจาก กาโบเดลกาโด” จังหวัดทางตะวันออก “เรามีกระทั่งคนจากแทนซาเนียที่มาซื้อปลาพวกนี้ครับ” เขาเสริม

อาร์ดวาร์ก (aardvark) ที่แปลตรงตัวว่า หมูดิน โผล่จากโพรงหลังฟ้ามืดเพื่อออกหากินมดปลวก นีอัสซา มีวิศกรระบบนิเวศเหล่านี้อยู่มากมาย พวกมันใช้ความสามารถในการขุดอันทรงพลังเพื่อขุดโพรงน้อยใหญ่ที่สัตว์อื่นสามารถใช้อาศัยหรือหลบภัยได้
ผู้สักการะที่สถานศักดิ์สิทธิ์เชมัมโบนำอาหารมาเซ่นไหว้ลิงบาบูนที่เชื่อว่าเป็นบรรพบุรุษ ระหว่างการจาริกแสวงบุญเป็นเวลาหนึ่งวันในฤดูแล้ง สาวกจากทั่วนีอัสซาจะร่วมสวดภาวนาใต้โพรงต้นเบาบับเพื่อขอพรให้ มีความสุข สุขภาพที่ดี และความมั่งคั่ง

พื้นที่ส่วนใหญ่ของนีอัสซา หรือร้อยละ 72 ของที่ดิน ถูกจัดสรรให้เป็นพื้นที่สัมปทานล่าสัตว์เพื่อเกมกีฬา ซึ่งผู้ประกอบการเอกชนได้สัญญาเช่าสูงสุด 25 ปีพร้อมสิทธิต่ออายุได้ สัมปทานล่าสัตว์แต่ละผืนจะได้รับโควตาจำนวนสัตว์ชนิดต่างๆ เช่น ควายป่า เสือดาว สิงโต และแอนทิโลปที่อนุญาตให้ล่าได้ หลังจากถูกสังหารแล้ว ผู้ถือสัมปทานมักแจกซากให้ชาวบ้านนำเนื้อไปบริโภค พื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวแบบไม่ล่าสัตว์คิดเป็นสัดส่วน เพียงหนึ่งในสี่ของเขตสงวน และมีเพียงร้อยละหนึ่งที่กันไว้สำหรับการอนุรักษ์เป็นพิเศษโดยไม่อนุญาตให้ท่องเที่ยว การล่าสัตว์เป็นเกมกีฬาอัดฉีดเม็ดเงินมากกว่าสี่ในห้าของรายได้จากการท่องเที่ยวหลายล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีของเขตสงวน หลังรัฐบาลหักส่วนแบ่งไปแล้ว ชาวบ้านจะได้รับร้อยละ 20 ของรายได้ไปใช้จ่ายตามที่เห็นสมควร

เรื่อง ลีโอนี ฌูแบร์
ภาพถ่าย ทอมัส เพสแชก
แปล อัครมุนี วรรณประไพ

ติดตามสารคดี เยือนป่าดงพงไพรแสนพิเศษ ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกันยายน 2566

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/587166


อ่านเพิ่มเติม การอนุรักษ์ : ความหวังใหม่ในโกรองกอซา

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.