การอนุรักษ์ : ความหวังใหม่ในโกรองกอซา

การอนุรักษ์ : ความหวังใหม่ในโกรองกอซา

การอนุรักษ์: ความหวังใหม่ในโกรองกอซา

สัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติโกรองกอซาซึ่งล้มตายไปมากในช่วงสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อนานหลายปี กำลังฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง อนาคตของสัตว์ป่าเหล่านี้ขึ้นอยู่กับความพยายามใน การอนุรักษ์ ที่หยิบยื่นความหวังแก่ผู้คนในชุมชมที่อยู่รอบๆ

ามเช้าที่อบอุ่นปลายฤดูแล้งช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน เฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเหนือดงปาล์มในอุทยานแห่งชาติโกรองกอซา ประเทศโมซัมบิก

ไมก์ พิงโก นักบินผู้ช่ำชองซึ่งพื้นเพ เป็นคนซิมบับเว ควบคุมคันบังคับ  ลูอิส แวนวิก ผู้เชี่ยวชาญด้านการจับสัตว์ป่าจากแอฟริกาใต้ โน้มตัวออกไปทางขวาด้านท้ายของตัวเครื่อง ในมือถือปืนยาวบรรจุลูกดอกยาสลบ  คนที่นั่งข้างพิงโกคือ โดมินิก กอนซาลเวซ นักนิเวศวิทยาสาวชาวโมซัมบิกซึ่งทำงานเป็นผู้จัดการช้างป่าของอุทยาน

ปัจจุบัน โกรองกอซามีช้างป่าอาศัยอยู่กว่า 650 ตัวซึ่งนับว่าเพิ่มขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่ยุคสงครากลางเมืองในโมซัมบิก (ระหว่างปี 1977-1992) ซึ่งเป็นช่วงที่ช้างป่าถูกฆ่าเอางาและเนื้อเพื่อขายนำเงินไปซื้อปืนและเครื่องกระสุน เมื่อประชากรช้างฟื้นตัวขึ้น กอนซาลเวซจึงต้องการสวมปลอกคอจีพีเอสให้ช้างพังหรือช้างเพศเมียโตเต็มวัยตัวหนึ่งในแต่ละโขลงที่มีช้างพังเป็นจ่าโขลง

กอนซาลเวซเลือกช้างเป้าหมายจากโขลงที่วิ่งอยู่ในดงปาล์ม พิงโกลดเพดานบินของเฮลิคอปเตอร์ลงเท่าที่จะไม่ชนต้นไม้  ช้างสิบตัวซึ่งประกอบด้วยเพศเมียโตเต็มวัย ลูกเล็กๆอยู่ข้างตัว และช้างวัยรุ่นที่อยู่ไม่ห่างพากันวิ่งเตลิดหนีเสียงอึกทึกของใบพัด แวนวิกซึ่งถูกบีบให้ยิงจากระยะไกลกว่าปกติ ยิงลูกดอกใส่ก้นขวาของตัวเมียที่เลือกไว้จนได้

พิงโกนำเครื่องลงจอด แล้วอีกสองคนก็ปีนลงจากเครื่อง ลุยฝ่ากอหญ้าที่ถูกเหยียบย่ำไปยังช้างพังที่นอนสลบไสล ครู่ต่อมา ทีมงานภาคพื้นดินมาถึงพร้อมอุปกรณ์ขนาดใหญ่ขึ้น ผู้ช่วยเทคนิค และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าติดอาวุธ  กอนซาลเวซแยงแท่งไม้เล็กๆ เข้าไปถ่างปลายงวงไว้เพื่อให้ช้างหายใจสะดวก ช้างนอนตะแคงขวา  เริ่มกรนเสียงดัง  เจ้าหน้าที่คนหนึ่งเก็บตัวอย่างเลือดจากเส้นเลือดบนใบหูซ้าย  ขณะที่อีกคนหนึ่งช่วยแวนวิกคล้องปลอกคอลอดใต้คอ

กอนซาลเวซใช้ก้านไม้พันสำลีเก็บตัวอย่างน้ำลายจากปากช้างและจากทวารหนัก  แล้วใส่ลงในขวดปิดฝาสองใบ  เธอสวมถุงแขนพลาสติกยาวที่แขนซ้าย แล้วล้วงเข้าไปในทวารหนักของช้าง นำมูลสีเหลืองอมน้ำตาลเต็มไปด้วยเส้นใยออกมาเพื่อนำไปวิเคราะห์อาหารของช้าง

การอนุรักษ์
สุนัขป่าแอฟริกาหมดสิ้นไปจากโกรองกอซาในช่วงสงคราม  ความที่ประชากรเหยื่อเพิ่มขึ้นอย่างมาก อุทยานจึงจำเป็นต้องมีสัตว์ผู้ล่าพื้นถิ่น  ปัจจุบัน ฝูงสุนัขป่าจากแอฟริกาใต้จำนวน 14 ตัวที่ถูกปล่อยในปี 2018 ช่วยสร้างสมดุลให้แก่ระบบนิเวศในปัจจุบัน
การอนุรักษ์
โดมินิก กอนซาลเวซ นักนิเวศวิทยาสาวชาวโมซัมบิกและผู้รับทุนจากเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ดำเนินโครงการช้างในโกรองกอซา  นักวิทยาศาสตร์และผู้จัดการของอุทยานมีสัญชาติหลากหลาย แต่ชาวโมซัมบิกมีบทบาทนำมากขึ้นเรื่อยๆ  สถานที่แห่งนี้กำลังวิวัฒน์ไปสู่วิสัยทัศน์นำทางที่ว่า “อุทยานสิทธิมนุษยชน” เพื่อประโยชน์สุขของธรรมชาติและผู้คน ดูแลโดยชาวโมซัมบิกร่วมกับคนทั่วโลก

การเพิ่มขึ้นของประชากรช้างเป็นเพียงหนึ่งในข่าวน่ายินดีหลายเรื่องจากโกรองกอซา  สัตว์ขนาดใหญ่ส่วนใหญ่ รวมถึงสิงโต ควายป่าแอฟริกา ฮิปโป และวิลเดอบีสต์ในปัจจุบันมีจำนวนมากกว่าเมื่อปี 1994 ซึ่งเป็นช่วงสงครามยุติลงใหม่ๆมากนัก ในแวดวง การอนุรักษ์ ซึ่งดัชนีมากมายบ่งชี้ไปในทางมืดมนและสิ้นหวัง ความสำเร็จในระดับใหญ่ขนาดนี้นับว่าหาได้ยากยิ่ง

พอแวนวิกสวมปลอกคอเสร็จ และกอนซาลเวซเก็บตัวอย่างลงกล่องแล้วแวนวิกก็ฉีดยาถอนฤทธิ์ยาสลบเข้าไปในเส้นเลือดบนใบหู  แล้วทั้งทีมก็ถอยออกไปอยู่ในระยะปลอดภัย  การติดตามข้อมูลจากปลอกคอจะช่วยให้กอนซาลเวซและผู้ร่วมงานทราบถึงเส้นทางที่ช้างเดินในพื้นที่ และเตือนพวกเขาเมื่อโขลงช้างกำลังจะข้ามเขตอุทยานไปยังเรือกสวนไร่นาของเกษตรกรเพื่อที่จะได้หาทางป้องกันป้องกันพืชผล

นี่คืองานของโครงการฟื้นฟูโกรองกอซา(Gorongosa Restoration Project) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลโมซัมบิกและมูลนิธิเกรกอรี ซี. คาร์ในสหรัฐฯ ที่เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2004  การที่ช้าง ฮิปโป และสิงโตจะอยู่ดีมีสุขในเขตอุทยานนั้น คุณต้องแน่ใจว่ามนุษย์ที่อาศัยอยู่นอกเขตอุทยานควรได้อยู่ดีมีสุขเช่นกัน

การอนุรักษ์
พื้นที่ 4,000 ตารางกิโลเมตรของโกรองกอซาซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของหุบเขาเกรตริฟต์ในแอฟริกา ประกอบด้วยลาดเขา  ป่าที่ราบสูง  หุบเขาลึกชัน  และพื้นที่ชุ่มน้ำ  ภูเขาโดดบันกา (Bunga inselberg) อันเป็นแกนโบราณของหินภูเขาไฟที่เหลืออยู่เมื่อหินโดยรอบที่อ่อนกว่าผุพังไป เสียดยอดเหนือผืนป่ากว้าง
การอนุรักษ์
หลังจากเพาะเลี้ยงและปรับตัวให้คุ้นชินในคอกล้อมรั้วอยู่สองสามปี  ม้าลายขึ้นรถพ่วงเพื่อเดินทางไปยังจุดปล่อยในอุทยานที่ซึ่งพวกมันจะพบอิสรภาพและอันตรายในป่า  ประชากรม้าลายในอุทยานถูกฆ่าเกือบหมดในช่วงสงคราม

อุทยานแห่งชาติโกรองกอซาซึ่งทอดตัวผ่านที่ราบน้ำท่วมถึงทางตอนใต้สุดของหุบเขาเกรตริฟต์ประกอบไปด้วยทุ่งหญ้าสะวันนา ผืนป่า พื้นที่ชุ่มน้ำ และแหล่งน้ำขนาดใหญ่ชื่อทะเลสาบอูเรมา ที่นี่เคยเป็นเขตสงวนสำหรับล่าสัตว์ที่บรรดาข้าหลวงประจำอาณานิคมชาวโปรตุเกสจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 1921 เพื่อความบันเทิงในทางกีฬาโดยโยกย้ายผู้คนในพื้นที่ออกไปในปี 1960 ตอนที่โกรองกอซาได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติครั้งแรก ที่นี่เป็นถิ่นอาศัยของช้างป่าประมาณ 2,200 ตัว สิงโต 200 ตัว และควายป่าแอฟริกา 14,000 ตัว ตลอดจนฮิปโปอิมพาลา ม้าลาย วิลเดอบีสต์ อีแลนด์ และสัตว์สัญลักษณ์ของแอฟริกาชนิดอื่นๆ

แต่ความไกลปีนเที่ยงของมันกลับนำพาหายนะมาให้ในช่วงสงครามกลางเมืองที่สร้างความย่อยยับยาวนาน 15 ปี ซึ่งเกิดขึ้นหลังโมซัมบิกได้รับเอกราชจากโปรตุเกสเมื่อปี 1975 โกรองกอซาเป็นที่หลบซ่อนของกองกำลังกบฏฝ่ายขวารีนาโม (RENAMO) หรือกองกำลังต่อต้านแห่งชาติโมซัมบิก  เมื่อกองทหารรัฐบาลรุกคืบสู่ฐานที่มั่นของกลุ่มกบฏ การต่อสู้ภาคพื้นดินก็เปิดฉากขึ้น  จรวดถล่มที่ทำการอุทยาน ทุ่งสะวันนากลายเป็นทุ่งสังหาร  นอกจากการฆ่าช้างแล้ว  ม้าลายและสัตว์ขนาดใหญ่อื่นๆ นับพันตัวถูกฆ่าเพื่อเป็นอาหารหรือความบันเทิง  การหยุดยิงทำให้สงครามยุติลงในปี 1992 แต่การลับลอบล่าสัตว์โดยพรานมืออาชีพยังดำเนินต่อไป และชาวบ้านในชุมชนโดยรอบก็วางกับดักสัตว์ทุกชนิดที่กินได้ที่ยังเหลืออยู่  ล่วงถึงต้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด อุทยานแห่งชาติโกรองกอซาก็พินาศย่อยยับ

จุดจบของวัฏจักรความสิ้นหวังและความสูญเสียเริ่มขึ้นในปี 2004 เมื่อประธานาธิบดีของโมซัมบิก โจอาคีน ชิสซาโน ไปเยือนมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเพื่อบรรยายตามคำเชิญของเศรษฐีหนุ่มใจบุญชาวอเมริกันชื่อ เกรก คาร์

คาร์ซึ่งสร้างตัวจนร่ำรวยจากบริษัทเทคโนโลยีก่อตั้งองค์กรการกุศลชื่อ มูลนิธิคาร์ งานเขียนของ เอ็ดเวิร์ด โอ. วิลสัน ปลุกเร้าความสนใจเรื่องการอนุรักษ์ในตัวเขาอย่างแรงกล้า  ขณะเดียวกัน คาร์ยังหมกมุ่นกับการศึกษาสิทธิมนุษยชน  ตลอดจนแนวคิดของนักสิทธิมนุษยชนคนสำคัญๆ รวมถึง เนลสัน แมนเดลา  ในเวลาต่อมา เมื่อคาร์ทราบว่าแมนเดลา ซึ่งขณะนั้นเป็นประธานาธิบดีของแอฟริกาใต้ กำลังร่วมมือกับประธานาธิบดีของโมซัมบิก เพื่อก่อตั้ง “อุทยานสันติภาพ” ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติข้ามพรมแดนที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์สัตว์ป่าและประโยชน์ของคนในท้องถิ่น

สามปีต่อมา คาร์ลงนามในข้อตกลงระยะยาวกับรัฐบาลโมซัมบิก เขาไม่เพียงนำแหล่งเงินทุนและความเก่งกาจด้านการจัดการมาช่วยแก้ปัญหา แต่ยังรวมถึงวิสัยทัศน์ร่วมกันที่ว่าโกรองกอซาจะเป็น “อุทยานสิทธิมนุษยชน”  นั่นหมายถึงการสร้างผลประโยชน์ที่จับต้องได้ให้แก่คนท้องถิ่นรอบอุทยาน ทั้งด้านสาธารณสุขการศึกษา พืชไร่ การพัฒนาเศรษฐกิจ ตลอดจนการปกปักรักษาภูมิประเทศ แหล่งน้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพทุกรูปแบบ สมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟิก ก็สนับสนุนทุนการอนุรักษ์และวิทยาศาสตร์ภายในและรอบอุทยาน ตลอดจนการพัฒนาชุมชนและโครงการส่งเสริมสิทธิและการศึกษาของสตรี

การอนุรักษ์
สิงโตเพศผู้หนึ่งในสองตัวที่ได้ฉายาว่า “ท่าน ส.ว.” นอนสลบไสลเพื่อเปลี่ยนปลอกคอ ขณะที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า คูบาลัว โจคิม เฝ้าระวังช้างป่าและสิงโตตัวอื่น  สัตวแพทย์ฝึกหัด เมอร์เซีย แอนเจลา (ถือเสาอากาศ) และวิกตอเรีย แกรนต์ นักวิจัยชาวอเมริกัน จัดการฉีดวัคซีน

การบินนับจำนวนสัตว์ป่าในอุทยานครั้งล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2018 แสดงให้เห็นว่าสัตว์หลายชนิดเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควายป่าเพิ่มขึ้น กูดูเพิ่มขึ้น อิมพาลาเพิ่มขึ้นมาก นอกจากการปล่อยสุนัขป่าแอฟริกาคืนสู่ธรรมชาติแล้ว ประชากรม้าลาย วิลเดอบีสต์ และอีแลนด์ก็เพิ่มขึ้นด้วย การลาดตระเวนทั่วอาณาเขตโดยเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ทำให้การลักลอบล่าสัตว์ลดน้อยลงมาก  การนับจำนวนสัตว์ป่าครั้งล่าสุดชี้ว่า เป้าหมายของคาร์ยังอยู่อีกไกล แต่ถ้าโอกาสเป็นไปได้สูงสามารถเป็นจริงได้ ก็น่าเกิดขึ้นที่นี่ ในอุทยานแห่งชาติโกรองกอซา

เรื่อง            เดวิด ควาเมน

ภาพถ่าย   ชาร์ลี แฮมิลตัน เจมส์

                                                   

อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ใน นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนพฤษภาคม 2562


อ่านเพิ่มเติม

ภาพถ่ายสัตว์ป่าจาก ไมเคิล ‘นิก’ นิโคลส์ ผู้เปลี่ยนมุมมองที่เรามีต่อสัตว์ป่าไปตลอดกาล

Recommend