รู้หรือไม่ ‘เจงกิสข่าน’ สังหารคนมากพอที่จะช่วยให้โลกเย็นลง จากภาวะโลกร้อน

การรุกรานเอเชียของเขาในช่วงปี ค.ศ. 1200 ทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศลดลงมหาศาล ในปริมาณที่เท่ากับการใช้น้ำมันเบนซินทั่วโลก

จากงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร The Holocene ซึ่งได้ศึกษาแกนน้ำแข็งแอนตาร์กติกา พบว่ามีการลดลงอย่างฉับพลันของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศประมาณ 3 ส่วนในล้านส่วน (ppm) โดยเกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1200 ถึง 1470 

สิ่งที่น่าประหลาดใจ คือช่วงเวลาดังกล่าวโลกเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้มนุษย์เสียชีวิตจำนวนมากอยู่ 4 ครั้งใหญ่ๆ ได้แก่ การยึดครองเอเชียของมองโกล (ประมาณปี 1200 ถึง 1380), กาฬโรคในยุโรป (1347 ถึง 1400), การพิชิตทวีปอเมริกา (1519 ถึง 1700) และการล่มสลายของราชวงศ์หมิงในประเทศจีน (1600 ถึง 1650)

เหตุการณ์ทั้งหมดนำไปสู่การเสียชีวิตในวงกว้าง นักวิจัยจึงสงสัยว่าทั้งสองสิ่งนี้คือ ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงกระทันหัน และมนุษย์เสียชีวิต มีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่ 

พวกเขาจึงสร้างฐานข้อมูลการใช้ที่ดินทั่วโลกตั้งแต่ ค.ศ. 800 จนถึงปัจจุบัน จากนั้นก็รวมแผนที่การเกษตรกรรมกับสถิติประชากร 

ผลลัพธ์นั้นน่าตกใจ ทีมวิจัยพบว่าการรุกรานเอเชียของมองโกลนั้นสร้างผลกระทบต่อระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมากที่สุดในทั้ง 4 เหตุการณ์ โดยลดลงไปราว 0.183 ppm หรือ 684 ล้านตัน ซึ่งเท่ากับปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินทั่วโลกในปี 2011 

หรืออีกนัยหนึ่ง เจงกิสข่านได้สังหารผู้คนจนทำให้โลกเย็นลง แต่เขาได้อย่างไร?

งานวิจัยได้แนะนำว่า ช่วงรุกรานนั้นได้ทำให้มนุษย์ตัดไม้ทำลายป่าน้อยลง เชื่อกันว่ากองทัพมองโกลสังหารผู้คนไปราว 1 ใน 10 ของประชากรโลกทั้งหมด 

ส่งผลให้มีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้นประมาณ 142,000 ตารางกิโลเมตร พืชพรรณเหล่านั้นได้งอกเงยขึ้นมาใหม่และดูดซับเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกไป

จูเลีย ปองกราตซ์ (Julia Pongratz) นักวิจัยจากแผนกนิเวศวิทยาโลกของสถาบันคาร์เนกี มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวว่า การเติบโตใหม่นี้สามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากเพียงพอที่จะสร้างความแตกต่าง ไม่เพียงเท่านั้น มันยังทำให้คาร์บอนลดลงด้วย 

“เราพบว่าในช่วงเหตุการณ์สั้น ๆ เช่น กาฬโรคและการล่มสลายของราชวงศ์หมิง การปลูกป่าขึ้นมาใหม่ไม่เพียงพอที่จะเอาชนะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากวัสดุที่เน่าเปื่อยในดินได้” ปองกราตซ์ อธิบาย

“แต่ในช่วงที่ยืดเยื้อยาวนาน เช่นการรุกรานของชาวมองโกลและการพิชิตทวีปอเมริกา มีเวลาเพียงพอสำหรับป่าไม้ที่จะเติบโตใหม่และดูดซับคาร์บอนจำนวนมหาศาล” 

เมื่อเทียบกันแล้ว กาฬโรคลดคาร์บอนในชั้นบรรยากาศลงเพียง 0.026 ppm ในขณะที่การพิชิตทวีปอเมริกาและการล่มสลายของราชวงศ์หมิง กำจัด 0.013 และ 0.048 ppm ตามลำดับ 

นักวิจัยเชื่อว่าเหตุผลที่เหตุการณ์อื่น ๆ ไม่ได้สร้างผลกระทบเท่ากับที่เจงกิสข่านทำก็เพราะว่า การเสียชีวิตไม่ได้กินเวลานานพอให้ต้นไม้เติบโต 

หลังการตายของโรคระบาด ราชวงศ์หมิงล่มสลาย หรือการพิชิตอเมริกา ผู้คนก็ฟื้นตัวขึ้นมาและกลับมาตัดไม้ทำลายป่าต่อไป 

“มีเพียงการรุกรานของมองโกลเท่านั้นที่สามารถชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากส่วนที่เหลือของโลกพร้อมกันได้” ปองกราตซ์ กล่าว

กระนั้น ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลงก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อสภาพอากาศทั้งโลกในอดีต ธรรมชาติยังคงดำเนินต่อไป แต่เจงกิสข่านได้ฝาก ‘รอยเท้าคาร์บอน’ ของเขาไว้ในแกนน้ำแข็งแอนตาร์กติกาแล้ว 

 

ที่มา

https://journals.sagepub.com/doi/10.1177/0959683610386981

https://news.mongabay.com/2011/01/how-genghis-khan-cooled-the-planet/

https://www.livescience.com/11739-wars-plagues-carbon-climate.html

https://www.iflscience.com/genghis-khan-killed-enough-people-to-cool-the-planet-71583

 

อ่านเพิ่มเติม : ป่าดงพงไพรแสนพิเศษ เขตสงวนฯ ใหญ่สุดที่ ” โมซัมบิก”

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.