ป่าบำบัด : เยียวยาจิตใจด้วยพลังจากธรรมชาติ

ปัจจุบันนี้ มีเส้นทาง “ ป่าบำบัด ” ที่ผ่านการรับรองจากสมาคมธรรมชาติและป่าบำบัด (ANFT) เกือบ 24 แห่งทั่วโลกที่พร้อมจะพาผู้เยี่ยมชมทุกคนออกไปเชื่อมต่อกับธรรมชาติ สัมผัสพลังแห่งการเยียวยา และสำรวจจิตใจไปพร้อมกับเรียนรู้พืชพรรณตามเส้นทาง

ป่าบำบัด – การเดินเล่นท่ามกลางธรรมชาติเป็นกิจกรรมที่ดีต่อทั้งร่างกายและจิตใจ ผลงานวิจัยจากวารสาร International Journal of Biometeorology และ International Journal of Environmental Research and Public Health (IJERPH) เผยว่า การใช้เวลาในธรรมชาติสามารถลดความเหนื่อยล้าทางจิตใจ ความฉุนเฉียว ความเครียด และระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลลงได้

“ธรรมชาติสำคัญต่อสุขภาพของเราในหลาย ๆ ด้าน” แพทย์หญิง เมลิสสา เล็ม (Melissa Lem) กล่าว เธอเป็นผู้อำนวยการโครงการ PaRx โครงการในแคนาดาที่มีจุดประสงค์ในการส่งเสริมให้แพทย์เขียนใบสั่งให้คนไข้ออกไปใช้เวลากับธรรมชาติเป็นทางเลือกเสริมแทนการจ่ายยาเพียงอย่างเดียว เธออธิบายว่า “คำแนะนำมาตรฐานของเราคือ การใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติอย่างน้อย 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และใช้เวลาอย่างน้อย 20 นาทีในการออกไปแต่ละครั้ง”

ดังนั้น การที่เมืองหลายเมืองและสวนอีกหลายแห่งเริ่มสร้างเส้นทางป่าบำบัดจึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะผู้ใช้บริการจะสามารถดื่มด่ำธรรมชาติพร้อมเปิดประสาทสัมผัสทั้งหมดในขณะที่เดินไปตามเส้นทางสั้น ๆ เหล่านั้นด้วยตัวเองได้ ปัจจุบันนี้เส้นทางป่าบำบัดมากกว่า 12 แห่งที่ถูกออกแบบโดยองค์กรต่าง ๆ เช่น สมาคมธรรมชาติและป่าบำบัด (Association of Nature and Forest Therapy: ANFT) และสถาบันระดับโลกอย่างสถาบันป่าบำบัดและการเชื่อมโยงกับธรรมชาติ (Global Institute of Forest Therapy and Nature Connection: GIFT) ถูกสร้างขึ้นและเปิดใช้บริการในประเทศสหรัฐอเมริกา คอสตาริกา สโลวีเนีย และแคนาดา

ร่วมหาเหตุผลว่าเพราะเหตุใด เราจึงควรบำบัดร่างกายและจิตใจด้วยการทำป่าบำบัด ไปด้วยกันได้ในบทความนี้

บ่อน้ำเวสเทิร์นบรุ๊คตั้งอยู่ในร่มเงาเทือกเขาลองแรนจ์ในอุทยานแห่งชาติ Gros Morne ของแคนาดา ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายจุดหมายปลายทางที่มีเส้นทางป่าบำบัดที่ได้รับการรับรอง ภาพถ่ายโดย MICHAEL S. LEWIS, Nat Geo Image Collection

ป่าบำบัดรักษาเราได้อย่างไร

โดยปกติแล้ว เส้นทางป่าบำบัดซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากชินรินโยคุ (Shinrin-yoku) หรือการอาบป่าตามศาสตร์ญี่ปุ่นจะมีระยะทางเริ่มต้นประมาณ 1.6 กิโลเมตร ทางเดินส่วนใหญ่จะเป็นพื้นหญ้าหรือดินลูกรังที่ไม่ได้ลาดยาง เพื่อให้ผู้เยี่ยมชมสัมผัสถึงความแตกต่างระหว่างธรรมชาติและสภาพแวดล้อมแบบเมืองได้ด้วยรูปลักษณ์และพื้นสัมผัส อย่างไรก็ดี เส้นทางทั้งหมดจะเป็นพื้นเรียบเพื่อให้สะดวกต่อการเดิน แต่ก็อาจจะมีทางชันบ้างเล็กน้อยในบางแห่ง นอกจากนี้ตามเส้นทางป่าบำบัดจะมีทางไปแหล่งน้ำ และมีพืชพรรณนานาชนิดตลอดการเดิน

เอมอส คลิฟฟอร์ด (Amos Clifford) ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารระดับสูงสุดของสมาคม ANFT กล่าวว่า “สิ่งสำคัญที่สุดคือ เส้นทางของป่าบำบัดควรจะมอบประสบการณ์ที่ผ่อนคลายให้กับผู้มาใช้บริการ เสียงจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากเช่นกัน ดังนั้น เส้นทางแบบนี้จึงไม่เหมาะที่จะสร้างข้างทางด่วน”

เส้นทางป่าบำบัดที่ได้รับการรับรองจะมีสื่อต่าง ๆ เช่น ป้าย โบรชัวร์ หรือแอปพลิเคชัน คอยแนะนำให้ผู้ที่มาใช้บริการสูดหายใจเข้าลึก ๆ ฟังเสียงน้ำ สัมผัสต้นไม้ หรือหลับตาลง เบ็น พอร์ชัก (Ben Porchuk) ผู้ก่อตั้งสถาบัน GIFT ได้ให้คำอธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า “ปกติเวลาที่ผู้คนมาสถานที่แบบนี้ พวกเขามักจะเดินกันอย่างกระฉับกระเฉงเหมือนมาเพื่อออกกำลังกาย หรือไม่ก็มาเพื่อชี้นกดูไม้ประสาทสัมผัสอื่น ๆ ของพวกเขาจึงมักจะเปิดได้ไม่ครบ การหลับตาจะเป็นการเปิดให้ประสาทสัมผัสที่เหลือเริ่มทำงาน ”

นอกจากนี้ คำแนะนำที่ได้รับจะครอบคลุมไปถึงข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมรอบตัวและความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจของผู้ใช้บริการ ยกตัวอย่างเช่น เส้นทางสำหรับป่าบำบัดในอุทยานหุบเขารูจ (Rouge Valley Park) เมืองมาร์แคม ในรัฐออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา ตามทางเดินของสถานที่นี้จะมีป้ายที่บอกว่า ต้นสนจะปล่อยไฟทอนไซด์ (Phytoncide) น้ำมันหอมระเหยจากธรรมชาติซึ่งมีกลิ่นที่ทำให้รู้สึกสงบ หรือป้ายที่บอกให้ทราบว่า หากนำใบของพืชตระกูลสนที่เขียวชอุ่มอยู่ตลอดปี อย่างต้นสน ต้นสปรูซ ต้นอีสเทิร์นเฮมล็อก ไปชงเป็นชาจะให้วิตามินซีสูงมาก

เล็มเล่าว่าในตอนแรกเธอก็สงสัยว่าป่าบำบัดกับการการออกไปใช้เวลาข้างนอกต่างกันอย่างไร “ฉันคิดว่า ฉันใช้เวลามากมายไปกับการเดินป่าและการวิ่ง แล้วป่าบำบัดจะต่างจากกิจกรรมพวกนี้อย่างไร แต่พอได้ลองทำแล้ว ฉันประหลาดใจมากที่พบว่าตัวเองผ่อนคลายและรู้สึกเชื่อมโยงกับธรรมชาติขนาดไหน”

น้ำ La Mina ไหลลงมาจากโขดหินในอุทยานแห่งชาติ El Yunque ของเปอร์โตริโก มูลนิธิอุทยานแห่งชาติกำลังร่วมมือกับผู้นำชุมชนเพื่อสร้างเส้นทางป่าบำบัดที่ได้รับการรับรองแห่งแรกในภูมิภาคนี้ ภาพถ่ายโดย RAUL TOUZON, Nat Geo Image Collection

เส้นทางสู่การร้อยเรียงผู้คนเข้าหาธรรมชาติ

นับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา สมาคมธรรมชาติและป่าบำบัด (ANFT) ได้รับรองเส้นทางป่าบำบัดถึง 20 แห่งทั่วโลก ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่อเมริกาไปจนถึงอังกฤษ และจากนอร์เวย์ไปจนถึงนิวซีแลนด์ เมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา ทางสมาคมได้รับคำขอใบรับรองเส้นทางใหม่ถึง 40 รายการจากกลุ่มต่าง ๆ ที่ต้องการให้เส้นทางหรือโปรแกรมป่าบำบัดของตนได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีการเปิดเส้นทางสำหรับเดินบำบัดความยาวประมาณ 1.6 กิโลเมตรขึ้นในอุทยานแมคเกรเกอร์ พอยท์ (MacGregor Point Provincial Park) ตามแนวทะเลสาบฮูรอน (Lake Huron) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐออนแทริโอ จอห์น ฟอสเตอร์ (John Foster) โฆษกประจำกลุ่มการเคลื่อนไหวระดับโลก Health Parks Healthy People ผู้มีส่วนช่วยในการสร้างเส้นทางนี้ขึ้นกล่าวว่า “เส้นทางป่าบำบัดแห่งนี้เป็นทางเลือกใหม่ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนได้เชื่อมต่อกับธรรมชาติ เพราะที่นี่มีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติสวยงามและหลากหลาย” นอกจากนี้ ตลอดเส้นทางยังมีป้ายที่ติดไว้เชิญชวนให้ผู้มาเยี่ยมชม หายใจเข้าลึก ๆ ฟังเสียงธรรมชาติ และสังเกตสิ่งรอบกายโดยอาจจะทำได้ด้วยการหาจุดที่ต้องการ หยุดความเคลื่อนไหว แล้วนั่งมองสิ่งต่าง ๆ อย่างสงบ

เมื่อเดือนมกราคม ปี 2022 อุทยานพินเนเคิล (Pinnacle Park) ได้เปิดเส้นทางป่าบำบัดของตัวเองขึ้นในมณฑลแจ็กสันเคาน์ตี รัฐนอร์ทแคโรไลนา ประเทศอเมริกา ป้ายที่ติดไว้ตามทางเดินทำหน้าที่แนะนำให้ผู้มาใช้บริการหลับตาลง ฟังจังหวะของเสียงที่อยู่ใกล้และไกลออกไป หยุดเพื่อสำรวจกลิ่นรอบ ๆ ตัว และชมใบไม้ในลำธารไหลไปตามกระแสน้ำ

พืชพรรณอันเขียวชอุ่มของ El Yunque เป็นฉากที่เหมาะสำหรับป่าบำบัด ภาพถ่ายโดย RAUL TOUZON, Nat Geo Image Collection

มาร์ค เอลลิสัน (Mark Ellison) หนึ่งในผู้สร้างเส้นทางนี้กล่าวว่า “แม้ว่าอุทยานแห่งนี้จะขึ้นชื่อด้านการเดินป่าและการไต่เขาลูกต่าง ๆ ที่สูงถึง 762 เมตร แต่การเปิดให้บริการเส้นทางป่าบำบัดจะทำให้อุทยานแห่งนี้กลายเป็นที่นิยมในหมู่คนที่กำลังมองหาการเชื่อมต่อกับธรรมชาติที่มีความหมายและลึกซึ้ง” เอลลิสันกล่าวต่อว่า “มีคนที่สูญเสียคนที่รักติดต่อผมมาหลายคน พวกเขามักจะเลือกใช้ป่าบำบัดในการชื่นชมธรรมชาติไปพร้อมกับระลึกถึงคนที่จากไป”

เอลลิสันกล่าวเสริมอีกว่า “สำหรับคนอื่น ๆ ที่นี่เป็นสถานที่สำหรับการพักผ่อนจากโลกภายนอก ทุกวันนี้โลกของเราเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว และทุกอย่างเชื่อมถึงกันด้วยเทคโนโลยี เพราะฉะนั้น การออกมาเดินท่ามกลางธรรมชาติโดยที่ไม่มีอุปกรณ์ เครื่องมือ หรือสภาพแวดล้อมเช่นนั้นจึงสร้างประสบการณ์ที่ต่างไปจากเดิมให้พวกเขา”

นอกจากนั้นยังมีเส้นทางป่าบำบัดอื่น ๆ ที่เพิ่งเปิดอีกหลายแห่ง โดยแบ่งเป็นเส้นทางที่เปิดในอุทยานขนาดเล็ก เช่น อุทยานซิลเวอร์วูด (Silverwood Park) ในเมืองมินนีแอโพลิส รัฐมินนิโซตา และสวนรุกขชาติวอชิงตันพาร์ค (Washington Park Arboretum) ในเมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน เส้นทางที่เปิดในสถานที่ขนาดใหญ่ เช่น ป่าสงวนแห่งชาติเอลยุนเค (El Yunque National Forest) ในเปอร์โตริโก และอุทยานแห่งชาติโกรสมอร์น (Gros Morne National Park) ในของมณฑลนิวฟาวด์แลนด์ ประเทศแคนาดา เป็นต้น เส้นทางป่ากบำบัดอื่น ๆ ที่ได้รับการรับรองสามารถตรวจสอบได้ในรายชื่อบนเว็บไซต์ของสมาคม ANFT ส่วนสถาบัน GIFT นั้นมีกำหนดปล่อยรายชื่อเส้นทางเร็ว ๆ นี้

พอร์ชักกล่าวว่า “เส้นทางป่าบำบัดเหล่านี้อาจจะสร้างประโยชน์ให้กับอุทยานที่ตั้งของมันได้ เพราะยิ่งผู้คนรู้สึกเชื่อมโยงกับธรรมชาติผ่านกิจกรรมการบำบัดเท่าไร พวกเขาก็จะมีแนวโน้มที่จะเลือกสิ่งดี ๆ ให้กับตัวเอง และเลือกที่จะหันมาดูแลรักษาธรรมชาติรวมไปถึงมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์พื้นที่ของเส้นทางป่าบำบัดมากขึ้นเท่านั้น”

อุทยานแห่งชาติ Gros Morne ของแคนาดามีฟยอร์ดน้ำจืดที่ได้รับการปกป้องโดยหน้าผาสูง หาดทราย และเส้นทางบำบัดด้วยป่าไม้แห่งใหม่ ภาพถ่ายโดย DAVID DOUBILET, Nat Geo Image Collection

สถานการณ์ ป่าบำบัด ในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย แนวคิดและกิจกรรมเกี่ยวกับป่าบำบัดยังถือว่าเป็นสิ่งที่ค่อนข้างแปลกใหม่สำหรับผู้คนในสังคม เนื่องจากกิจกรรมยังเป็นที่รู้จักเฉพาะกลุ่มและยังไม่เป็นที่สนใจอย่างแพร่หลายมากนัก ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาหน่วยงานต่าง ๆ รวมไปถึงเจ้าของธุรกิจที่สนใจในด้านนี้ เช่น คุณทิพวัน ถือคำ เจ้าของกิจการ บ้านกลางทุ่งโฮมสเตย์ ที่จังหวัดกาญจนบุรี เพจ Forestory และบุคคลทั่วไปที่สนใจ ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับป่าบำบัดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบล็อกส่วนตัว เว็ปไซต์ หรือโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook และ YouTube เพื่อกระจายความรู้เกี่ยวกับแนวคิดนี้ พร้อมทั้งแบ่งปันและบอกเล่าประสบการณ์ที่ได้รับไปสู่คนอื่น ๆ ในสังคม กระแสของป่าบำบัดจึงเติบโตขึ้นในประเทศไทยอย่างช้า ๆ

ในปี 2020 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ร่วมกับคุณทิพวัน ถือคำ จัดกิจกรรมอาบป่า หนึ่งในการทำป่าบำบัดขึ้น ณ พื้นที่ป่าใกล้กับบ้านกลางทุ่งโฮมสเตย์ อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ ทาง National Geographic Thailand เองก็ได้เข้าร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนั้น และนำความรู้ที่ได้รับมาถ่ายทอดต่อผ่านบทความ (อาบป่า (Forest Bathing) : ฟื้นใจ ฟื้นกาย ด้วยสัมผัสจากธรรมชาติ) คุณทิพวันกล่าวว่า “การอาบป่า เราไม่จำเป็นต้องตั้งเป้าหมายว่าต้องเดินเท้าไปถึงจุดไหน สิ่งสำคัญคือเราเปิดรับสิ่งเร้าทั้งหมดหรือยัง และเมื่อเราใช้เวลาในป่าอย่างเป็นมิตร เราจะรับรู้ได้ถึงพลังการรักษาจากธรรมชาติ”

นอกจากโฮมสเตย์ของคุณทิพวันจะจัดกิจกรรมอาบป่าขึ้นสำหรับแขกผู้เข้าพักแล้ว ยังมีเพจ Forestory ที่จัดกิจกรรมป่าบำบัดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีคุณณิชา ศิรินันท์ เจ้าของเพจ ผู้เชี่ยวชาญด้านการอาบป่าซึ่งได้รับการรับรองจากสมาคม ANFT เป็นไกด์ผู้นำกิจกรรมป่าบำบัด สำหรับรายละเอียดและวันเวลาในการจัดกิจกรรมแต่ละรอบ สามารถติดตามได้ผ่านทางเพจ Forestory โดยตรง

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันนี้ผู้คนหันมาสนใจและเข้าร่วมกิจกรรมป่าบำบัดมากขึ้น และเมื่อผู้คนเหล่านั้นได้ลองมาเปิดประสบการณ์การเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ก็ได้นำเรื่องราวที่ประสบไปแบ่งปันบนโลกออนไลน์ ด้วยเหตุนี้ตามสื่อต่าง ๆ จึงเริ่มหันมาให้ความสนใจกิจกรรมป่าบำบัด จึงอาจกล่าวได้ว่า ทิศทางของกระแสป่าบำบัดในไทยมีแนวโน้มว่าจะเติบโตต่ออย่างต่อเนื่องในอนาคต

เรื่อง มาเรียม ซิดดีคี

แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ


อ่านเพิ่มเติม “หยุดงาน 1 วันแล้วไปเดินป่า” ใบสั่งยาแบบใหม่จากหมอ

การเดินเขาในอุทยานแห่งชาติกลาเซียร์ หรือในพื้นที่ธรรมชาติอื่นๆ ล้วนเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ
© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.