กระเช้าภูกระดึง – เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ได้ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ที่ จ.หนองบัวลำภู ซึ่งเกิดประเด็นร้อนแรงขึ้น เมื่อพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่า
“ได้เสนอของบกลางจำนวน 28 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจ้างสำรวจออกแบบก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง”
พร้อมกับเน้นย้ำว่าเป็นแค่การเสนอเท่านั้น ยังไม่ใช่การขออนุมัติก่อสร้าง และยังต้องมีการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม ทำให้ประเด็นนี้กลับมาเป็นที่พูดคุยอีกครั้ง
ขณะเดียวกัน พล.อ. ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี และนายภูริวัจน์ โชติพรัตน์ นายอำเภอภูกระดึง ให้ข้อมูลไปในทางเดียวกันว่าผู้คนจำนวน 99% เห็นด้วยกับการก่อสร้าง ซึ่งหวังและรอมาอย่างยาวนานไม่ว่าจะเป็นลูกหาบ ร้านค้าต่าง ๆ ทั้งในและบนอุทยานแห่งชาติภูกระดึง
โดยกล่าวว่าปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวลดลงทุกปี และยิ่งกว่านั้นคือมีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตทุกปี ทำให้เกิดความยากลำบากในการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บหรือผู้เสียชีวิต
รวมทั้งลูกหาบซึ่งทำหน้าที่ช่วยนักท่องเที่ยวแบกกระเป๋าหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ มีอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ และไม่มีคนรุ่นใหม่เข้ามาเพิ่ม ทำให้อาชีพนี้อาจหายไปตามกาลเวลา ดังนั้นกระเช้าขึ้นภูกระดึงจึงเป็นความหวังที่จะดึงการท่องเที่ยวกลับมา
“นักท่องเที่ยวลดลงทุกปี ทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่ไม่ค่อยดี ชาวบ้านที่หวังพึ่งการเกษตร วันนี้สินค้าพืชผลทางการเกษตรก็มีมูลค่าลดลง สินค้าทางการเกษตรตกต่ำ ทำให้ประชาชนบางส่วนอพยพไปทำงานในกรุงเทพฯ คน อ.ภูกระดึงอยากมีรายได้จากการท่องเที่ยวฟื้นกลับมา” นายอำเภอระบุ (อ้างอิงจากมติชน)
โครงการกระเช้าขึ้นภูกระดึงนั้นถูกเสนอและผลักดันกันมาหลายยุคหลายสมัย โดยเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2547 ขณะที่ ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยในช่วงเวลานั้น ซึ่งได้สั่งให้มีการศึกษาการสร้างกระเช้าไฟฟ้า โดยพยายามไม่ให้มีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ตัดต้นไม้ พร้อมกับสร้างพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่า
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ก็ไม่เกิดขึ้น แม้จะมีการนำเสนออีกครั้งในรัฐบาลของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ก็ไม่สำเร็จเช่นเดียวกัน จนกระทั่งถึงปัจจุบันที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้ง โดยเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐ
“ตอนนี้มีความเป็นไปได้ที่โครงการดังกล่าวจะเกิดขึ้นอีกครั้ง ทุกคนในที่ประชุมที่คิดเรื่องนี้ทุกคนเห็นชอบหมด” พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าว “มีองค์กรเพียงองค์กรเดียวที่ไม่เห็นชอบแต่ไม่เคยมาเข้าประชุมเลย เป็นเหมือนเอ็นจีโอ แต่ภาพใหญ่เขาแฮปปี้หมด การสร้างกระเช้ามีการกำหนดแนวเขตก่อสร้างชัดเจน หากเกิดอุบัติเหตุอะไรขึ้นสามารถลงได้ด้วยกระเช้าง่ายขึ้น และจุดที่ขึ้นลงกระเช้าไม่ได้รบกวนทางเดินแต่จะมีสถานีให้ขึ้นได้” (อ้างอิงจากเนชั่น)
ทางพล.อ. ธนะศักดิ์ เสริมว่า ต้องมีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจน เนื่องจากภูกระดึงเป็นที่ตั้งของป่าหลายชนิดไม่ว่าจะเป็น ป่าดิบเขา, ป่าดิบแห้งแล้ง, ป่าสนเขา, ป่าเต็งรัง, ป่าผสมผลัดใบ และทุ่งหญ้าเขตร้อน ขณะเดียวกันก็เป็นที่อยู่ของพืชหายากที่มีเฉพาะในประเทศไทย และสัตว์ป่าอีกมากมาย รวมถึงสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งเช่น นกกระทาดงแข้งเขียว
ทว่า องค์กรอนุรักษ์กังวลว่า หากมีการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงและมีนักท่องเที่ยวมานับแสนคนต่อปี อาจสร้างผลกระทบที่มองไม่เห็นให้กับสิ่งแวดล้อมได้ นอกจากคนแล้วยังต้องมีการเปลี่ยนพื้นที่บางแห่งให้กลายเป็นสถานีขึ้นกระเช้าตามจุดต่าง ๆ
เมื่อปี พ.ศ. 2559 ทางสมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อนเคยได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง โดยระบุว่าจะเป็นการทำลายพื้นที่อนุรักษ์ป่าและแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของชาติ ขณะที่ปัจจุบัน อรยุพา สังขะมาน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรก็ได้ให้ความเห็นด้วยเช่นกันว่า การก่อสร้างทางวิศวกรรมนั้นไม่น่ากังวลเนื่องจากเทคโนโลยีมาไกลมากแล้ว
แต่ประเทศที่น่าเป็นห่วงคือการจัดการในช่วงก่อสร้าง หากองค์กรไม่มีการบริหารจัดการให้ดี คนงานอาจเข้าไปสร้างผลกระทบต่อสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อมได้ รวมถึงปริมาณนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจะมีปัญหารบกวนสิ่งแวดล้อมและขยะตามมา
หากโครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงสำเร็จ ทางภาครัฐเชื่อว่าจะมีเกิดการท่องเที่ยวเป็นเงินมูลค่าไม่น้อยกว่า 7 หมื่นล้านบาทต่อปี
ที่มา
https://www.matichon.co.th/region/news_4316463
https://www.nationtv.tv/news/378491234
https://thestandard.co/phu-kradueng-cable-car/
https://www.thaipbs.or.th/news/content/334615