ตะลุย “แอนตาร์กติกา” พายคายัค ก่อนน้ำแข็งขั้วโลกละลาย

 เส้นทางการผจญภัยจากผืนสมุทรสู่แผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกา

นอกจากทวีปแอนตาร์กติกาจะเป็นสถานที่ที่รวบรวมน้ำแข็งทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็น หิมะ ธารน้ำแข็ง หรือภูเขาน้ำแข็งเอาไว้ด้วยกันแล้ว พื้นที่ของทวีปแห่งนี้ยังมีชายฝั่งอันแห้งแล้งที่ถูกคลื่นน้ำทะเลอุณหภูมิเย็นจัดเคลื่อนตัวเข้ากระทบ และมีสัตว์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากจนน่าตกใจ

ทว่า ในปัจจุบันนี้ แอนตาร์กติกากลับต้องเผชิญกับความเปราะบางที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากสภาพภูมิอากาศของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป

บรรดานักเดินทางต่างมุ่งหน้าไปยังแอนตาร์กติกาเพื่อสำรวจผลกระทบจากความเปราะบางซึ่งเกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในพื้นที่ และความสามารถในการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่ต้องอาศัยอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมซึ่งยากต่อการดำรงชีวิต

 

การเดินทางไปยังแอนตาร์กติกานั้นใช้เวลาหลายชั่วโมง นักเดินทางจะได้เห็นภูเขาน้ำแข็งขนาดมหึมาลูกแล้วลูกเล่าในขณะที่พายเรือผ่านไปตามทาง และเมื่อมองลงไปยังผืนน้ำก็จะพบกับรอยเท้าของนกเพนกวินบนแผ่นน้ำแข็ง ผู้ที่ต้องการจะเข้าใกล้บริเวณที่อยู่อาศัยของนกเพนกวินสามารถเลือกพายเรือคายักผ่านก้อนน้ำแข็งที่ลอยไปมาเพื่อไปยังนีโคฮาร์เบอร์ (Neko Harbour) หรือเลือกนั่งเรือยางของ Zodiac เข้าฝั่งเพื่อรอชมเพนกวินอาเดลี (Adélie penguin) เดินเตาะแตะออกจากรังไปลงน้ำแล้วว่ายกลับขึ้นมาได้

 

เพนกวินเหล่านั้นอาจจะปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและอาศัยอยู่ในพื้นที่ของแอนตาร์กติกาได้ดีกว่าสัตว์ชนิดอื่น ๆ เพราะพวกมันสามารถผสมพันธุ์ ทำรัง และเลี้ยงลูกน้อยในรังที่สร้างขึ้นจากก้อนหินบนผืนดินอันสุดแสนจะแห้งแล้งได้ สัตว์บางชนิดอย่างเช่น นกกาน้ำตาสีฟ้า (blue-eyed shag) นั้นไม่เคยอพยพย้ายถิ่นไปไหน แต่กลับเปลี่ยนพฤติกรรมในการหาอาหารเป็นการดำน้ำลึกแทนการบินโฉบไปมา ในทวีปแอนตาร์กติกามีนกสกัว (sku), นกนางนวล, นกอัลบาทรอส (albatross), นกจมูกหลอดยักษ์ (petrel) และนกชนิดอื่น ๆ อาศัยอยู่มากมาย แต่กลับไม่มีนกชนิดใดมีชื่อเสียงโด่งดังได้มากเท่ากับนกเพนกวิน

 

การปีนเขาระยะสั้น ๆ ข้ามทุ่งหิมะขาวโพลนที่กว้างสุดลูกหูลูกตาทำให้นักเดินทางเข้าไปเฝ้ามองฝูงนกเพนกวิน เช่น ฝูงเพนกวินเจนทู (gentoo penguin) นับร้อยตัวที่สร้างรังจากก้อนหินขึ้นในนีโคฮาร์เบอร์ ได้ในระยะที่ใกล้ขึ้น ในขณะที่เพนกวินตัวหนึ่งทำหน้าที่เฝ้ารัง นกตัวอื่น ๆ ในฝูงจะมุ่งหน้าไปยังทะเลเพื่อออกล่าหาปลา โดยพวกมันจะหยุดยืนบนก้อนน้ำแข็งเป็นระยะเพื่อพักหรือเพื่อหนีเอาตัวรอดจากบรรดานักล่า

 

ภูเขาบราวน์บลัฟ (Brown Bluff) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณปลายคาบสมุทรทาบาริน (Tabarin Peninsula) คือจุดแรกที่นักเดินทางส่วนใหญ่ก้าวลงสู่ผืนแผ่นดินทวีปแอนตาร์กติกา และได้พบกับเพนกวินอาเดลีราว 20,000 คู่ที่กำลังสร้างรังใต้ผาหินภูเขาไฟอันสูงชันขึ้นจากเศษหินตามขอบภูเขา รวมไปถึงฝูงเพนกวินเจนทูอีกหลายร้อยตัวซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณใกล้ ๆ กัน

 

นกเพนกวินแต่ละตัวมักจะกระโดดขึ้นไปบนยอดหินก้อนใหญ่เพื่อสำรวจตรวจตราอาณานิคม จากนั้นเมื่อมีนกหนึ่งตัวเริ่มร้องส่งเสียงดังขึ้น นกเพนกวินตัวอื่น ๆ ในฝูงก็จะเริ่มส่งเสียงร้องต่อกันเป็นทอด ๆ คล้ายกับว่าพวกมันร้องประสานเสียงกัน หลักจากนั้นบรรดานกที่อยู่บนยอดหินจะกระโดดลงมาด้านล่างอย่างคล่องแคล่ว ก่อนจะเดินเตาะแตะกลับไปหาคู่ของพวกมันที่รออยู่ไม่ไกล

 

ในช่วงกลางฤดูร้อนระหว่างเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์นั้นเป็นช่วงที่อุณหภูมิในทวีปใต้สุดของโลกพุ่งขึ้นสูงที่สุด ท้องฟ้าเหนือแอนตาร์กติกาจึงสว่างไสวอยู่เกือบตลอดเวลาเนื่องจากดวงอาทิตย์แทบจะไม่ตกไปจากฟากฟ้า ในช่วงสิ้นสุดของวัน ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนตัวลงใต้เส้นขอบฟ้าเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น มันจึงส่องแสงสีทองและชมพูไปทั่วทวีปจนย้อมให้ผืนน้ำแข็งส่องสว่างออกมาเป็นสีโทนอุ่นที่สวยงาม

 

ภาพลาง ๆ ของผู้ที่เดินทางมาเยี่ยมชมทวีปแอนตาร์กติกาอาจปรากฏขึ้นระหว่างภูเขาน้ำแข็งสองลูกที่ตั้งอยู่ห่างไกลออกไป ในบางครั้งภาพที่เห็นอาจเป็นภาพเรือสำราญลำใหญ่ซึ่งมีผู้โดยสารประมาณ 150 ถึง 200 คน และในบางครั้งภาพที่เห็นก็อาจจะเป็นภาพเรือใบซึ่งมีผู้โดยสารอยู่เพียงไม่กี่สิบคนเท่านั้น

 

เรื่องและภาพถ่าย แมตต์ ดูไทล์ (Matt Dutile)

แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ


อ่านเพิ่มเติม ทำความรู้จักกับทวีปแอนตาร์กติกา

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.