ในเดือนกรกฎาคม ปี 2019 ลอนดอนเริ่มเดินหน้าฟื้นฟูธรรมชาติและพื้นที่สีเขียวของเมืองอย่างเป็นทางการในฐานะ “เมืองอุทยานแห่งชาติ” (National Park City) แห่งแรกของโลก มีการจัดเทศกาลเฉลิมฉลองกลางแจ้งถึง 8 วัน พร้อมกันกับการลงนามของนายกเทศมนตรีลอนดอน องค์กรต่าง ๆ และประชาชนทั่วไปในกฎบัตรเมืองอุทยานแห่งชาติลอนดอน
เมืองอุทยานแห่งชาติ คือการเคลื่อนไหวของประชาชนทั่วไปในการรณรงค์ให้ชาวเมืองหันมาให้ความสำคัญกับธรรมชาติ ด้วยการลงมือปฏิบัติคนละเล็กละน้อย เช่น การทำสวน การปลูกต้นไม้ในระเบียงบ้าน ภายใต้แนวคิดที่จะทำให้เมืองมีพื้นที่สีเขียวมากขึ้นและทำให้ชาวเมืองมีสุขภาพดีขึ้น
จุดเริ่มต้นมาจากคำถามของแดเนียล เรเวน-เอลลิสัน (Daniel Raven-Ellison) นักภูมิศาสตร์ และนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ในปี 2013 ว่า “ถ้าเราทำให้เมืองลอนดอนกลายเป็นเมืองอุทยานแห่งชาติจะเป็นอย่างไร” จากข้อสงสัยของเรเวน-เอลลิสันว่าทำไมภูมิทัศน์เมืองถึงไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นอุทยานแห่งชาติได้
แคมเปญนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในงานอีเวนท์ใหญ่ที่เซาท์แบงค์เซ็นเตอร์ ปี 2015 มีจำนวนผู้เข้าร่วม 600 คน ผลสำรวจจากโพลอิสระพบว่าชาวเมืองลอนดอน 9 ใน 10 เห็นด้วยกับการทำให้ลอนดอนเป็นเมืองอุทยานแห่งชาติ
หลังจากนั้นจึงมีการระดมทุนและร่างข้อเสนอจัดตั้งโครงการร่วมกันระหว่างประชาชนทั่วไปและองค์กรต่าง ๆ ทำให้มีการหารือเพิ่มเติมตามมา การเคลื่อนไหวนี้เติบโตขึ้นจนนำไปสู่การเรียกร้องของประชาชนทั่วทั้งลอนดอนให้นักการเมืองท้องถิ่นสนับสนุนข้อเสนอดังกล่าว
นักรณรงค์ทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาการสนับสนุนที่ได้รับเอาไว้ ทั้งเขียนอีเมล จัดงานอีเว้นท์ต่าง ๆ และปราศัย ที่สำคัญคือการจัดประชุมแบบเปิดเป็นสาธารณะ ณ ใจกลางกรุงลอนดอนเป็นประจำ เพื่อให้แคมเปญยิ่งกว้างขวางออกไป จนกระทั่งท้ายปี 2017 นักการเมืองกว่า 1,000 คนจากพรรคการเมืองหลักแต่ละพรรคก็ให้การสนับสนุนแคมเปญนี้
หัวใจสำคัญของการเป็นเมืองอุทยานแห่งชาติ คือการฟื้นฟูและขยายพื้นที่สีเขียวภายในเมือง เพราะพื้นที่สีเขียวเป็นสิ่งที่สำคัญต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจของมนุษย์เราเอง อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พืชและสัตว์ต่าง ๆ ในพื้นที่ไปในตัวด้วย ดังที่เนฟดีป เดออล (Navdeep Deol) ประธานกรรมการมูลนิธิเมืองอุทยานแห่งชาติ (National Park City Foundation) กล่าวว่า ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ “จำเป็นต้องมี” ไม่ใช่แค่ “ถ้ามีก็ดี”
เป้าหมายสำคัญของลอนดอนคือการทำให้พื้นที่ 50 เปอร์เซ็นต์ของเมืองเป็นพื้นที่สีเขียวภายในปี 2050 ด้วยการเปลี่ยนพื้นที่สีเทา ซึ่งหมายถึงสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว ปัจจุบัน ลอนดอนมีจำนวนต้นไม้พอ ๆ กับจำนวนคนที่อาศัยอยู่ในเมืองเอง พื้นที่ 47 เปอร์เซ็นต์หรือเกือบครึ่งของเมืองก็เป็นพื้นที่สีเขียว และพื้นที่สีฟ้า ซึ่งหมายถึงแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำต่าง ๆ ทำให้ลอนดอนจัดว่าเป็นเมืองหนึ่งที่มีพื้นที่สีเขียวมากที่สุดในโลก 1 ใน 3 เป็นพื้นที่เปิด ส่วนอีก 14 เปอร์เซ็นต์มาจากพื้นที่สวนในบ้านของผู้คนในเมืองเอง
การจะเปลี่ยนลอนดอนทั้งเมืองให้เป็นเมืองอุทยานแห่งชาติได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกทาง ทั้งรัฐที่ให้ความสำคัญกับแคมเปญเป็นอย่างจริงจัง โดยให้เงินลงทุนเพิ่มพื้นที่ป่า และให้เงินสนับสนุนชุมชนต่าง ๆ ในการปลูกต้นไม้ นอกจากนี้ก็ยังมีองค์กรต่าง ๆ กว่า 250 องค์กรเข้ามามีส่วนร่วมทำให้แคมเปญนี้เกิดขึ้นจริงได้
ที่สำคัญคือชาวลอนดอนเองที่ช่วยกันคนละไม้คนละมือในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่เมือง เริ่มต้นจากในบ้านของตัวเอง ซึ่งไม่ใช่แค่การเพิ่มต้นไม้ใบหญ้าเพียงแต่ในสวนอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นการแทรกสีเขียวเข้าไปในทุกพื้นที่ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น การปลูกไม้เลื้อยตามรั้วและกำแพง การปลูกต้นไม้ในระเบียงและบนหลังคา
นอกจากนี้การแบ่งปันเรื่องราวอันน่าประทับใจของธรรมชาติในเมืองก็เป็นการปลุกสำนึกให้คนอื่น ๆ หันมาให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวได้อีกทางหนึ่ง อย่างที่รัสเซล กอลต์ (Russell Galt) ผู้อำนวยการขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (the International Union for Conservation of Nature) หรือ IUCN กล่าวไว้ว่า ความกระตือรือร้นและการมีส่วนร่วมของสาธารณชนในเรื่องธรรมชาติเป็นสิ่งสำคัญมาก จากกรณีที่เรเวน-เอลลิสันสามารถทำให้ผู้คนในลอนดอน แม้กระทั่งคนที่ไม่เคยมีส่วนร่วมในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมเลย มีความกระตือรือร้นในการฟื้นฟูธรรมชาติขึ้นมา
แน่นอนว่าบนเส้นทางการเป็นเมืองอุทยานแห่งชาติ ลอนดอนก็ต้องเผชิญกับความท้าทายไม่น้อย อย่างแรกคือในปี 2040 คาดว่าประชากรในลอนดอนจะเพิ่มจำนวนขึ้นมากกว่าเดิมถึง 2 ล้านคน ทำให้ต้องปลูกบ้านเพิ่มกว่าหลายพันหลัง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องอนุรักษ์ธรรมชาติไปด้วย แนวทางแก้ไขวิธีหนึ่งคือบริษัทก่อสร้างที่อยู่อาศัยจะต้องคำนึงถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติในกระบวนการออกแบบเสมอ เช่น การแบ่งสัดส่วนเนื้อที่ไว้สำหรับเป็นพื้นที่สีเขียวภายในหมู่บ้านจัดสรร
ปัญหาอีกประการก็คือมลพิษทางอากาศ คิงส์คอลเลจลอนดอนระบุว่ามีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากปัญหาดังกล่าวกว่า 9,000 คนทุกปี อีกทั้งลอนดอนก็มีระดับก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์สูงกว่ามาตรฐานที่กฎหมายสหภาพยุโรปกำหนด แนวทางการแก้ไขปัญหาคือการปลูกพืชแนวดิ่งตามกำแพงหรืออาคารในบริเวณถนนที่มีการจราจรมาก เพื่อให้พืชช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และดูดซับมลพิษ
จะเห็นได้ว่าพื้นที่สีเขียวมีประโยชน์หลากหลาย ทั้งช่วยลดมลพิษทางอากาศและทางน้ำ ลดอัตราการเกิดน้ำท่วม ลดปรากฏการณ์เกาะความร้อนเมือง ทำให้เมืองเย็นลง ซึ่งถือเป็นการช่วยประหยัดพลังงานได้ทางหนึ่ง
ที่สำคัญพื้นที่สีเขียวก็มีประโยชน์นานัปการต่อสุขภาวะของมนุษย์ทั้งทางกายและทางใจ งานวิจัยหลายชิ้นระบุว่าพื้นที่สีเขียวช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคอ้วน ความเครียด โรคทางจิตเวชต่าง ๆ และลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทำให้ประชากรมีอายุที่ยืนยาวขึ้นนั่นเอง
งานวิจัยชิ้นหนึ่งของเดนมาร์กพบว่าการได้สัมผัสกับพื้นที่เขียว รวมถึงพื้นที่สีเขียวในเมืองตั้งแต่วัยเด็ก จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคทางจิตเวชในช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ได้ งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งของญี่ปุ่นระบุว่าการใช้เวลาอยู่ในธรรมชาติประมาณ 1-2 ชั่วโมงจะช่วยให้ร่างกายมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงขึ้น งานวิจัยอื่น ๆ เกี่ยวกับประโยชน์ของพื้นที่สีเขียวก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน คือพื้นที่สีเขียวสามารถลดความเครียดและอัตราการเสียชีวิตได้ อีกทั้งยังช่วยเรื่องพัฒนาการทางสติปัญญาในเด็กด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น พื้นที่สีเขียวก็ยังช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้กับเมือง เห็นได้ชัดจากกรณีของลอนดอน การปลูกพืชผักผลไม้ที่เป็นอาหารของสัตว์พื้นถิ่นไว้ตามบ้านหรือสวนสาธารณะจะช่วยให้สัตว์ตัวเล็ก ๆ อย่างเม่นหรือตัวตุ่นออกมาวิ่งเล่นในเมืองให้คนพบเห็นได้มากขึ้น การปลูกพืชไว้บนหลังคาก็ยังเป็นการสร้างระบบนิเวศขนาดย่อมให้กับนกและแมลงอีกด้วย ดังนั้น ลอนดอนจึงไม่ใช่แค่เมืองของประชากรกว่า 9 ล้านคนเท่านั้น แต่ยังเป็นบ้านของทั้งพืชและสัตว์อีกมากมายกว่า 15,000 สายพันธุ์ด้วย การทำให้เมืองเป็นที่ที่ทุกชีวิตสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำให้เกิดขึ้น
ความสำเร็จของลอนดอนถือว่าเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้เมืองอื่น ๆ ทั่วโลกได้ยึดเป็นแบบอย่างในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับภูมิทัศน์เมือง
เป้าหมายอันยิ่งใหญ่ของมูลนิธิเมืองอุทยานแห่งชาติก็คือการตั้งเมืองอุทยานแห่งชาติแห่งอื่น ๆ อีกอย่างน้อย 25 เมือง ภายในปี 2025 ทางมูลนิธิเองก็ได้ปรึกษาหารือกับเมืองอื่น ๆ ในอังกฤษ รวมถึงเมืองใหญ่ในประเทศต่าง ๆ เพื่อช่วยให้เมืองเหล่านั้นได้เป็นเมืองอุทยานแห่งชาติด้วย
จนกระทั่งในปี 2021 เราก็ได้มีเมืองอุทยานแห่งชาติแห่งที่ 2 ของโลก นั่นก็คือเมืองแอดิเลด หนึ่งในเมืองที่ขึ้นชื่อว่าน่าอยู่ที่สุดในประเทศออสเตรเลีย การที่เมืองนี้ได้ชื่อว่าเป็น “เมืองอุทยานแห่งชาติ” ก็เป็นการกระตุ้นให้ผู้คนหันมาสนใจสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
เมืองที่เราอยู่เองก็สามารถเป็นเมืองอุทยานแห่งชาติได้เหมือนกับลอนดอนและแอดิเลด เริ่มต้นจากการหาข้อมูล ทำความรู้จักการเป็นเมืองอุทยานแห่งชาติ สร้างแคมเปญเพื่อเปิดโอกาสให้คนที่มีความสนใจได้มาทำงานร่วมกัน และสำรวจความเป็นไปได้ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง
ที่สำคัญคือการสร้างเรื่องเล่าเพื่อดึงดูดให้ภาครัฐและสาธารณชนให้ความสนใจแคมเปญดังกล่าว จากนั้นจึงร่างข้อเสนอในการเป็นเมืองอุทยานแห่งชาติ เพื่อขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ
การจะเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเมืองอุทยานแห่งชาติได้ เมืองนั้นจะต้องมีผลงานในเชิงประจักษ์เพื่อยืนยันว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนในการเป็นเมืองอุทยานแห่งชาติ และต้องปฏิบัติตามข้อตกลงที่กำหนดเพื่อเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวไปกับเมืองอุทยานแห่งชาติแห่งอื่น ๆ
ในช่วงปี 2023 เนฟดีปก็ได้ไปสำรวจพื้นที่ต่าง ๆ ในลอนดอนที่เขาไม่เคยไป และพบว่ายังมีอีกหลายสิ่งที่เขาต้องทำ ทั้งทำความรู้จักกลุ่มคนที่ทำกิจกรรมเชิงธรรมชาติรูปแบบอื่น ๆ การจัดกิจกรรมและงานอีเวนท์ต่าง ๆ เพื่อให้การเคลื่อนไหวยังคงเดินหน้าต่อไป ทั้งยังต้องรักษาการสนับสนุนจากองค์กรและภาคส่วนต่าง ๆ เอาไว้ให้มั่นคงอีกด้วย
เนฟดีปกล่าวว่า ปี 2024 เป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นมาก เพราะมูลนิธิเมืองอุทยานแห่งชาติจะให้การสนับสนุนเมืองต่าง ๆ ที่ได้รับการเสนอชื่อ ให้ได้เป็นเมืองอุทยานแห่งชาติต่อไป ได้แก่ เบรดา คาร์ดิฟฟ์ ชัททานูกา กลาสโกลว์ ร็อตเตอร์ดัม และเซาท์แฮมตัน ซึ่งก็เป็นที่น่าจับตามองว่าเราจะได้มีเมืองอุทยานแห่งชาติแห่งที่สาม ที่สี่ และที่ต่อ ๆ ไปอีกเป็นทึ่ไหน
ระหว่างนั้นเราก็อาจจะต้องหันมามองเมืองในประเทศของเราเอง ว่ามีศักยภาพในการพัฒนาเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้อีกมากแค่ไหน เพื่อให้ผู้คนและธรรมชาติได้เชื่อมต่อกันอย่างใกล้ชิดมากกว่าที่เคยเป็น
เรื่อง เรื่อง สโรชิณีย์ นิสสัยสุข
โครงการสหกิจศึกษา กองบรรณาธิการ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย
แหล่งอ้างอิง