บทเรียนจากป่าน้ำท่วมถึง และ “ชาวแม่น้ำ” แห่งแอมะซอน เปลี่ยนมุมมองนักนิเวศวิทยา

บทเรียนจากป่าน้ำท่วมถึง นักนิเวศวิทยาชาวบราซิลเรียนรู้สิ่งที่เขาไม่เคยรู้มาก่อน จาก ฮีเบย์รินญู หรือ “ชาวแม่น้ำ” แห่งแอมะซอน

ในการทำงานของผมท่ามกลางที่ลุ่มน้ำท่วมถึงของบราซิล ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างเทือกเขาแอนดีสกับทะเล ทำให้ผมฉุกคิดถึงปลาอะราปัยมา หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า ปิรารูคู จากคำภาษาพื้นเมืองที่แปลว่า “ปลา” และ “สีแดง”

อะราปัยมามีหัวสีเขียวอมเทา แต่มีเกล็ดสีแดงกระจายทั่วส่วนท้ายของลำตัว และจะเป็นสีแดงสดเมื่อพร้อมผสมพันธุ์มากที่สุด ผมเล่าเรื่องน่าทึ่งเกี่ยวกับปลาชนิดนี้ให้คุณฟังได้มากมาย ตัวอย่างเช่นมันหายใจเอาอากาศ และต้องโผล่ขึ้นมาฮุบอากาศจนน้ำกระเซ็น เกล็ดขนาดมหึมานั้นแข็งแกร่งราวกับเกราะ หนังนำมาตัดเย็บเป็นกระเป๋าถือ และรองเท้าราคาแพง เนื้อไร้กระดูกหนักได้ถึง 68 กิโลกรัม มันเป็นปลาน้ำจืดมีเกล็ดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก 

ในฤดูฝน นํ้าท่วมในที่ลุ่มซึ่งอาจสูงถึง 12 เมตร สามารถทำให้ต้นไม้ใหญ่ที่สุดในอามาโซเนียอย่างต้นอาราบา จมอยู่ใต้นํ้าเช่นในภาพนี้ เมื่อถึงฤดูแล้ง ลิงและนกในช่วงทำรังจะกลับมาอาศัยอยู่ตามกิ่งก้านซึ่งเคยจมอยู่ใต้นํ้า

ถ้าผมสามารถพาคุณเดินทางผ่านภูมิภาคนี้ไปยังสถานที่ที่ถ่ายภาพในหน้านี้ ที่ซึ่งผมเรียนรู้ว่าเรื่องราวของปลาอะราปัยอาจเป็นต้นแบบของดินแดนอามาโซเนีย (Amazonia) ที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงได้ เราจะใช้เรือในการเดินทาง เราจำเป็นต้องใช้เรือ เพราะใน วาร์เซีย หรือป่าที่ลุ่มของลุ่มน้ำนี้ เส้นทางคมนาคมคือทางน้ำ และฝนตามฤดูกาลยกระดับผิวน้ำขึ้นสูงจนถ้าเป็นที่อื่นถือเป็นหายนะ น้ำท่วม 9 เมตร หรือท่วม 12 เมตร เป็นเรื่องปกติ แนวเขตลำธารและทะเลสาบจมหายไปใต้น้ำสูงและโผล่ขึ้นมาใหม่เมื่อน้ำลด ก็เป็นเรื่องปกติเช่นกัน ลองนึกภาพต้น ซูเมามา หรือต้นนุ่น ต้นไม้สัญลักษณ์สำคัญของลุ่มน้ำนี้ ที่มีปลาแหวว่ายลอดผ่านกิ่งก้านซึ่งเพียงไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้นเป็นที่เกาะของนกจับคอน

รอบๆ แม่น้ำจูรูอา หนึ่งในลำน้ำสาขาหลายสายที่คดเคี้ยวผ่านลุ่มน้ำนี้ก่อนไหลลงสู่แอมะซอน บ้านเรือนสร้างอยู่บนเสาสูง ชาวบ้านในท้องถิ่นเดินทางโดยเรือแคนู ซึ่งมักติดตั้งเครื่องยนต์นอกลำเรือไว้ด้วย เรือยนต์ขนาดใหญ่กว่าบรรทุกสินค้า เชื้อเพลิง และผู้โดยสารซึ่งนำเปลขึ้นเรือมาด้วยสำหรับผูกนอน เรือ ไฮเลีย เรือทำงานที่สถาบันจูรูอา ของเราใช้เดินทางไปยังพื้นที่วิจัยต่างๆ ยังเป็นสำนักงานเคลื่อนที่ ครัว และที่นอนหลับ (ใช้เปลเช่นเคย) ของเราด้วย ดังนั้น เราจึงกำหนดพื้นที่ผูกเปลให้คุณ แล้วเราก็ออกเดินทางจากกาเราวารี เมืองริมแม่น้ำที่มีสนามบินเล็กๆ ซึ่งคุณนั่งเครื่องบินมาลงได้ เรือ ไฮเลีย ใช้เวลาประมาณสามวันแล่นขึ้นไปตามแม่น้ำจูรูอาที่คดเคี้ยวมายังจุดที่เราทอดสมอ แต่เรายังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนพาหนะ คราวนี้เป็นเรือแคนู จากนั้นพายขึ้นไปตามลำน้ำอีกสองสามชั่วโมงจนกระทั่ง เห็นบ้านสีสดใสและทางเดินไม้กระดานก่อนอย่างอื่น และในที่สุดก็ถึงท่าเทียบเรือหลักที่เซาไฮมุงดู

ผมจบปริญญาเอกด้านชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยรัฐบาลกลางแห่งฮิวกรังจีดูนอร์ชี แต่ในวาร์เซีย เซาไฮมุงดู และชุมชนใกล้เคียงอื่นๆ เป็นมหาวิทยาลัยที่แท้จริงของผม เช่นเดียวกับตัวอย่างสัตว์ขนาดใหญ่อื่นๆ ที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ปลาอะราปัยมาเกือบสูญพันธุ์ไปจากที่นี่อันเป็นถิ่นอาศัยดั้งเดิมของมัน แต่เพราะ ฮีเบย์รินญู หรือชาวแม่น้ำแห่งจูรูอานี่เองที่สอนให้ผมรู้วิธีที่พวกเขานำปลาขนาดใหญ่ของพวกเขากลับมาจากขอบเหว ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นบทเรียนสำหรับทั้งภูมิภาคอามาโซเนีย และอาจรวมถึงอนาคตของความหลากหลายทางชีวภาพบนโลกใบนี้ด้วยทุกวันนี้ คนทำงานด้านการอนุรักษ์อย่างพวกเรามีชีวิตอยู่กับความโศกเศร้ามากเกินไป และรอบๆ จูรูอา ผมมองเห็นวัฏจักรแห่งความเกื้อกูลน้อยนักในซอกมุมที่ตกอยู่ในอันตรายแห่งนี้ของโลก นั่นคือผู้คนค้ำจุนธรรมชาติ ธรรมชาติค้ำจุนผู้คน ประกายแห่งความหวัง

วัฏจักรขึ้นลงของน้ำคือชีพจรหล่อเลี้ยงชีวิตในภูมิภาคนี้ “เหมือนหัวใจ” ดังคำกล่าวของนักนิเวศวิทยาชาวบราซิล โจเอา กัมปุช-ซิลวา ซึ่งถ่ายภาพนี้ในแม่น้ำฮิวเนโกร

มสวดภาวนาทุกวันว่า ต้องมีสักวันที่ผมได้รู้จักอามาโซเนีย “ผมอยากทำงานที่นั่นตอนโต” ผมเขียนไว้อย่างนั้น เมื่อปี 1992 ตอนอายุเก้าขวบ แม่ให้หนังสือผมเล่มหนึ่งเกี่ยวกับสัตว์ป่าในอามาโซเนีย ซึ่งห่างจากบ้านของเราที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของบราซิลมาก ผมตกหลุมรักมันตั้งแต่ตอนนั้น ยี่สิบห้าปีต่อมา คำประกาศของเด็กประถมสามคนนั้น กลายเป็นคำนำในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของผมเกี่ยวกับปลาอะราปัยมาแห่งอามาโซเนีย 

จะว่าไปส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับปลาอะราปัยมา แต่ที่จริงวิทยานิพนธ์ของผม เช่นเดียวกับงานทุกอย่างที่ผมทำตั้งแต่นั้นมา เป็นเรื่องเกี่ยวกับฮีเบย์รินญูซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกับปลาอะราปัย ปลาเหล่านี้อาศัยอยู่ในทวีปนี้มานานมาก พวกมันหายใจเอาอากาศเพราะเมื่อหลายล้านปีก่อนพวกมันวิวัฒน์ขึ้นในทะเลสาบตื้นๆ ที่มีออกซิเจนน้อย ซึ่งตอนนั้นครอบคลุมบริเวณที่ปัจจุบันคือลุ่มน้ำแอมะซอน เรามีหลักฐานทางโบราณคดีที่ชี้ว่า คนในภูมิภาคนี้กินปลาอะราปัยมามานานก่อนชาวยุโรปจะเข้ามารุกราน และปลาอะราปัยมาก็ปรากฏอยู่ในจักรวาลวิทยาของชนพื้นเมืองบางเผ่า มันยังคงเป็นปลาที่มีคุณค่ามหาศาลทั้งในเชิงวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ ปลาอะราปัยมาเป็นส่วนสำคัญของอาหารท้องถิ่น และครอบครัวชาวประมงหลายรุ่นพึ่งพารายได้จากการขายเนื้อและหนังของมันเสมอมา

ปลาอะราปัยมายังเป็นอาหารยอดนิยมในพื้นที่อื่นๆ ของบราซิลด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยผลักดันให้มันใกล้สูญพันธุ์ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา เมืองต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกอามาโซเนียมีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเมื่อถึงทศวรรษ 1990 ขณะเรือประมงพาณิชย์ที่มีเทคโนโลยีทันสมัยจากภายนอกเข้ามาจับปลาในลำน้ำต่างๆ  ของจูรูอามากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของภัตตาคารและครัวเรือน ทุกคนก็เห็นได้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นกับจำนวนปลาที่จับได้ ในทะเลสาบหลายแห่งที่เคยทำหน้าที่เป็นแหล่งอนุบาลลูกปลาและแหล่งจับปลา ไม่มีปลาอะราปัยมาเหลืออยู่เลย

เงาสะท้อนของคนนำทาง ดโจโกร คายาโป ที่กำลังจับเต่าแม่น้ำจุดเหลือง ชัดเจนอย่างน่าประหลาดในผืนน้ำราบเรียบของแม่น้ำอีรีรีประเทศบราซิล แม้โครงการของชุมชนและกฎหมายต่อต้านการลักลอบล่าสัตว์ในปัจจุบันจะคุ้มครองเต่าและไข่เต่าในหลายพื้นที่ของอามาโซเนีย ชนพื้นเมืองก็ได้รับอนุญาตให้ล่าสัตว์เพื่อการดำรงชีพ

สำหรับหมู่บ้านฮีเบย์รินญูหลายแห่ง การประมงที่ล่มสลายหมายถึงหายนะของทั้งชุมชน ครอบครัวสูญเสียทั้งรายได้และแหล่งโปรตีนในแต่ละวัน การจับปลาเกินขนาดทำให้ปลาสำหรับบริโภคที่มีขนาดเล็กกว่าหมดไปเช่นเดียวกัน ยังมีอย่างอื่นอีกที่ชาวฮีเบย์รินญูช่วยให้ผมเห็น เมื่อผมเริ่มใช้เวลาอยู่ในวาร์เซีย พวกเขาไม่คิดว่าตนเองหรือวัฒนธรรมของตนยากจน และบอกว่าโลกธรรมชาติรอบตัวช่วยสร้างชีวิตที่พวกเขาอยากเห็นลูกๆ เติบโตขึ้น และบางทีการยึดถือแนวคิดเช่นนั้นอาจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

พวกเขาพูดคุยกับผมที่นอกชาน เหล่าผู้นำชาวบ้านนั่งอยู่ด้วยกันบนทางเดินไม้กระดาน สอนผมเกี่ยวกับชีวิตของพวกเขา แม้ผมจะเป็นชาวบราซิล แต่เมื่อมายังอามาโซเนียครั้งแรก ผมกลายเป็นชาวต่างชาติไปเลย ผมได้รับการศึกษาในระบบที่บรรยากาศเต็มไปด้วยการแข่งขันกันสูงมากของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ตอนนี้ ผมต้องพูดกับชาวบ้านที่ผมเพิ่งพบหน้าว่า “ขอบคุณครับที่ยืนกรานให้ผมใช้ห้องนอนของคุณในคืนนี้ ขณะที่คุณย้ายเปลออกมานอกชาน แต่อย่าเลยครับ ช่วยบอกหน่อยครับว่า ผมจะแขวนเปลของผมได้ตรงไหน” ผมไม่เคยได้รับความเอื้ออาทรเช่นนี้มาก่อน ผมต้องหัดใช้ชีวิตให้ช้าลง สงบจิตสงบใจ และแค่รับฟัง และเป็นชาวฮีเบย์รินญูนี่เองที่ทำให้ผมรู้เรื่องราวเบื้องหลังและรายละเอียดของข้อตกลงที่มีประสิทธิภาพเมื่อสองทศวรรษก่อน ซึ่งเปลี่ยนแปลงการจับปลาอะราปัยมาไปอย่างสิ้นเชิงทั่วทั้งวาร์เซียที่เรานักวิทยาศาสตร์เรียกว่า จูรูอากลาง หรือที่ราบน้ำท่วมถึงในแอมะซอนครอบคลุมพื้นที่กว่า 15,000 ตารางกิโลเมตร

สลอทขึ้นชื่อเรื่องความเชื่องช้าบนพื้นดิน แต่ว่ายน้ำได้คล่องแคล่ว สลอทคอสีน้ำตาลในทะเลสาบอากาฮาตูบาตัวนี้ใช้ชีวิตในฤดูน้ำหลากและฤดูแล้งเหมือนสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก กัมปุช-ซิลวาบอกว่า ผู้คนในภูมิภาคนี้ก็ต้องทำอย่างนั้น “พวกเขาใช้ชีวิตบนบกครึ่งปี และในน้ำครึ่งปีครับ” เขากล่าว

ย้อนหลังไปเมื่อปี 1999 สถาบันมามีเราอาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อช่วยออกกฎกติกาใหม่ๆ ซึ่งบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน ผลก็คือ ห้ามเรือของคนภายนอกเข้าพื้นที่ส่วนใหญ่ของทะเลสาบชุมชน พื้นที่สองสามแห่งยังคงเปิดให้จับปลาเป็นเกมกีฬาและพาณิชย์ได้ แต่ในทะเลสาบที่ได้รับความคุ้มครอง ชาวบ้านสร้างป้อมยามลอยน้ำสำหรับเข้าเวรเป็นกะ พวกเขามักถืออาวุธปืนลูกซองเพื่อป้องกันผู้ลักลอบเข้ามาจับปลา ชาวประมงท้องถิ่นเห็นพ้องด้วยกับการจำกัดจำนวนปลาที่พวกเขาจับได้อย่างเข้มงวด โดยปัจจุบันอนุญาตให้จับปลาอย่างขนานใหญ่เพียงปีละครั้งและกินเวลาห้าวัน 

ผมรู้ว่าพวกเราหลายคนคุ้นเคยดีกับข้อตกลงจำกัดการจับปลาและล่าสัตว์เพื่อการอนุรักษ์ แต่สิ่งที่ดึงดูดให้ผมเข้ามายังชุมชนจูรูอากลาง คือแนวทางที่แผนการอนุรักษ์หรือโมเดลอะราปัยมายึดถือการแบ่งปันปลาที่จับได้กับชุมชนเป็นหัวใจของความตกลง ไม่ใช่เหตุบังเอิญที่ผู้นำชาวบ้านบางคนของจูรูอามาจากครอบครัวคนกรีดยางในแอมะซอน ญาติของพวกเขาเข้าร่วมการประท้วงซึ่งเมื่อครึ่งศตวรรษก่อนเริ่มรวมตัวจัดตั้งกลุ่มคนกรีดยางขึ้นมา พวกเขาทำให้นานาชาติหันมาสนใจป่าฝนที่ถูกคุกคาม เพราะต้นไม้ที่พวกเขาพึ่งพากำลังถูกแผ้วถางเพื่อเปิดทางให้การเลี้ยงปศุสัตว์ และสภาพการทำงานเยี่ยงทาสที่คนกรีดยางส่วนใหญ่ต้องประสบ

การรณรงค์ของกลุ่มคนกรีดยางดำเนินไปด้วยความยากลำบาก บางครั้งเกิดเหตุรุนแรงขึ้น (ชิโก เมนเดส ผู้จัดการรณรงค์ที่มีชื่อเสียงที่สุด ถูกผู้เลี้ยงปศุสัตว์รายหนึ่งสังหารเมื่อปี 1988) แต่พวกเขาช่วยทำให้เกิด “พื้นที่สงวนที่ใช้ประโยชน์ได้” แห่งแรกของอามาโซเนีย หรือพื้นที่ป่าในความคุ้มครองของรัฐบาลซึ่งบริหารจัดการโดยคนที่อาศัยอยู่ที่นั่นและเพื่อประโยชน์ของคนเหล่านั้น นั่นคือแนวคิดเบื้องหลังโมเดลอะราปัยมา  ซึ่งถึงขณะนี้ได้ดอกผลที่ได้รับการบันทึกอย่างละเอียดและน่าประทับใจ นักวิจัยประเมินว่าหลายบริเวณในพื้นที่คุ้มครองมีปลาเพิ่มขึ้นเกือบ 600 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันใช้เวลาไม่นานก็จับได้หลายร้อยตัว ในหมู่บ้านที่สถาบันจูรูอาศึกษาและทำงานด้วย ครอบครัวและองค์กรฮีเบย์รินญูชื่อ สมาคมผู้ผลิตในชนบทแห่งกาเราวารี หรือเอเอสพีอาร์โอซี (Association of Rural Producers of Carauari: ASPROC) จะเป็นผู้แบ่งปันปลาที่จับได้

ปลากระเบนโมโตโร (Potamotrygon motoro) ซึ่งเป็นปลากระเบนน้ำจืดชนิดหนึ่ง แหวกว่ายอยู่ในบริเวณน้ำตื้นของเขตสงวนธรรมชาติโบโฮนาวี ประเทศโคลอมเบีย โอรีโนโก แม่น้ำสายหลักของโบโฮนาวี ไหลไปทางเหนือของแม่น้ำแอมะซอน แต่ในฤดูฝนแม่น้ำใหญ่สองสายนี้ไหลบ่าเข้าท่วมภูมิภาค ก่อนจะลดลงเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง

ไม่มีพ่อค้าคนกลางเอกชน ลองนึกถึงขนาดของปลาอะราปัยมาตัวเต็มวัยและเนื้อปลาหนัก 68 กิโลกรัม ปัจจุบันรายได้คงอยู่ในหมู่บ้าน โดยกลุ่มตัดสินใจว่าจะนำเงินไปใช้อย่างไร ทะเลสาบที่มีปลาอะราปัยมาจึงเปรียบเหมือนธนาคารชุมชน เราเห็นผลลัพธ์ทุกครั้งที่ไปเยือน ทั้งแผงเซลล์สุริยะใหม่ๆ บริการทางการแพทย์ เรือยนต์ องค์กรทางสังคม และความสุข

ละผมเชื่อว่า นี่คือวิธีฟื้นฟูและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของอามาโซเนีย โดยการยอมรับว่าผู้คนคือทรัพยากรธรรมชาติอย่างหนึ่ง

สมัยเรียนวิทยาศาสตร์การอนุรักษ์ ผมพบกับชุดความคิดที่ว่า ธรรมชาติในสถานที่ดิบเถื่อนและเปราะบางเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการปกป้องจากมนุษย์ เรามาเอาผู้คนออกไปกันเถอะ ผมได้ยินอย่างนั้น เรามาสร้างกำแพงเพื่อรักษาธรรมชาติให้คงความบริสุทธิ์กันเถอะ แต่อามาโซเนียที่ยังบริสุทธิ์และเปราะบางมีมนุษย์อาศัยอยู่มาอย่างน้อย 13,000 ปีแล้ว ผมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่ยืนกรานว่า แผนการใดก็ตามที่จะอนุรักษ์อามาโซเนีย ต้องเริ่มจากการรับฟังภูมิปัญญาท้องถิ่นและความต้องการของชุมชน แล้วนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจ เพราะถ้าสิ่งที่เราเรียกว่าการอนุรักษ์ไม่สามารถนำชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่ามาให้พวกเขา ถ้าอย่างนั้นแล้ว การอนุรักษ์ก็ไม่ต่างจากตรรกะวิบัติ

เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมเผ่าคายาโปคนอื่นๆ ยิดจาเร คายาโป สวมเครื่องประดับศีรษะขณะทำงานเป็นคนนำทางในแม่น้ำอีรีรี ประเทศบราซิล เขากระตุ้นปลาหมาป่าที่ลูกค้าตกได้ ก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ปลาน้ำจืดนักล่าชนิดนี้มีฟันแหลมคม นักกีฬาตกปลาจัดให้เป็นปลาที่ดุร้ายและท้าทาย

สถาบันจูรูอาทั้งศึกษาและทำงานกับชุมชนฮีเบย์รินญู บันทึกผลประโยชน์ที่ได้จากการอนุรักษ์โดยใช้ชุมชนเป็นฐานเพื่อผู้คนและธรรมชาติ แต่ความท้าทายก็มีมากมาย ตลาดไม่ได้ให้ผลตอบแทนแก่ชุมชนท้องถิ่นอย่างเป็นธรรม ถ้าอยากให้ต้นแบบนี้แพร่หลายออกไป เราจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนในระดับโลก อย่างเช่นเงินทุนจากรัฐบาลนานาชาติเพื่อรับประกันเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในสถานที่เช่นเซาไฮมุงดู สำหรับผู้คนที่ลงแรงเพื่อรักษาผืนแผ่นดินของพวกเขาให้มีสุขภาวะ เราจำเป็นต้องถามคำถามสำคัญว่า ถ้าโลกต้องการให้อามาโซเนียยั่งยืนจริง ๆ ใครจะเต็มใจจ่าย

ตอนผมมาอามาโซเนียครั้งแรกเมื่อ 16 ปีก่อน ลุ่มน้ำแห่งนี้และผู้คนที่นั่นทำให้ผมรู้สึกราวกับเป็นเด็ก หรือเป็นแก้วเปล่ารอน้ำมาเติมให้เต็ม ในเวลาส่วนใหญ่ โดยเฉพาะขณะขับเรือ ไฮเลีย ความรู้สึกนั้นอยู่กับผม นี่เป็นสถานที่โปรดของผมสำหรับใช้ความคิด เมื่อยืนอยู่หลังพวงมาลัยเรือ ใจผมจะขบคิดปัญหา และบางครั้งเรือแล่นช้าหรือแม่น้ำมีน้ำน้อย บนแม่น้ำสายนี้ คุณเร่งรีบไม่ได้ ฮีเบย์รินญูสอนผมให้อดทนและอ่อนน้อมถ่อมตน – ซินเทีย กอร์นีย์ สัมภาษณ์

ภาพถ่าย ทอมัส เพสแชก

เรื่อง โจเอา กัมปุช-ซิลวา

บทความนี้นำเสนอโดยสมาคมเนชั่นแนล  จีโอกราฟฟิก ร่วมกับโรเล็กซ์ ภายใต้โครงการสำรวจแอมะซอนเพื่อโลกที่ยั่งยืนของโรเล็กซ์ และเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก


โครงการสำรวจแอมะซอน จากต้นน้ำถึงมหาสมุทร เปลี่ยนความเข้าใจเดิมสู่ความรู้ใหม่

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.