โครงการสำรวจ แอมะซอน จากต้นน้ำถึงมหาสมุทร เปลี่ยนความเข้าใจเดิมสู่ความรู้ใหม่

โครงการสำรวจ แอมะซอน จากต้นน้ำถึงมหาสมุทร เปลี่ยนความเข้าใจเดิมสู่ความรู้ใหม่

500 ปีที่ผ่านมา คนนอกเข้าใจป่าฝนผืนใหญ่ที่สุดในโลกคลาดเคลื่อน เรื่องนี้กำลังเปลี่ยนไปแล้วในที่สุด

เรื่องราวที่มาของชื่อแอมะซอนเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ปี ค.ศ. 1542  ฟรันซิสโก เด โอเรยานา ภาวนาขอให้หลุดพ้นจากโลกสีเขียวที่โอบล้อมคณะสำรวจของเขาที่กำลังเผชิญสถานการณ์ย่ำแย่ เรือสองลำของชาวสเปนกลุ่มนี้ ซึ่งมีลูกเรือหิวโซอยู่ไม่ถึง 50 คน ล่องจวนถึงสิ่งที่ลูกเรือหวังว่าจะเป็นทางรอดของพวกเขา หลังใช้เวลาเจ็ดเดือนฟันฝ่าแควสาขาน้อยใหญ่ชุดหนึ่ง โดยเริ่มจากเชิงเทือกเขาแอนดีส ท้ายที่สุด พวกเขาก็มาถึงแม่น้ำสายใหญ่ที่สุดเท่าที่ใครคนใดในหมู่พวกเขาเคยเห็น และโอเรยานาก็หวังว่ามันจะพาพวกเขาไปถึงมหาสมุทรแอตแลนติกในไม่ช้า

ผู้ร่วมเดินทางไปกับเขาด้วยคือ กัสปาร์ เด การ์บาฆัล ภารดาคณะโดมินิกัน ซึ่งบันทึกปูมเดินเรืออย่างละเอียดเอาไว้ นักบวชผู้นี้ถ่ายทอดความอัศจรรย์ใจของชาวยุโรปต่อวัฒนธรรมขั้นสูงต่าง ๆ ที่พวกเขาพานพบ เช่น หมู่บ้านมีผู้อยู่อาศัยหนาแน่นตามริมแม่น้ำ รวมถึงแห่งหนึ่งที่ทอดยาวหลายกิโลเมตร ระหว่างทางบางชุมชนให้การต้อนรับอย่างเอื้อเฟื้อ เลี้ยงอาหารพวกเขาด้วยมันสำปะหลัง เผือก ข้าวโพด และเต่า

ในป่าที่นํ้าหลากท่วมจากแม่นํ้าฮิวเนกรู ซึ่งเป็นแควสาขาหนึ่งของแม่นํ้าแอมะซอน ผู้นำทางชื่อ โรแบร์โต อับดิอัส โกเมสดา ซิลวา ชี้ไปที่รอยระดับนํ้าที่อยู่สูงขึ้นไปบนรากพอนขนาดยักษ์ของต้นนุ่น ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ที่อาจเติบโตได้สูงถึง 60 เมตร

แต่ในวันเดือนมิถุนายนดังกล่าว ขณะยังอยู่ห่างเกือบ 1,000 กิโลเมตรจากปลายแม่น้ำสายมหึมานั้น พวกเขาถูกโจมตีโดยกองทัพนักรบที่นำโดยกลุ่มผู้หญิงดุร้าย “ผู้ต่อสู้อย่างกล้าหาญจนพวกผู้ชายพื้นเมืองไม่กล้าหันหลังหนี” การ์บาฆัล ผู้รอดชีวิตจากการปะทะครั้งนั้นพร้อมลูกธนูปักสีข้างดอกหนึ่ง เปรียบเทียบสตรีกลุ่มนี้กับนักรบหญิงแอมะซอนในตำนานกรีก บันทึกการเดินทางครั้งนั้นของเขา ซึ่งเป็นการเดินทางฝ่าทวีปอเมริกาใต้ครั้งแรกโดยชาวยุโรป ต่อมาจะถูกทางการสเปนลงความเห็นว่าเป็นเพียงเรื่องเพ้อฝัน กระนั้น คำเรียก “แอมะซอน” ซึ่งแม้จะไม่เหมาะสมเพียงใดก็กลายเป็นคำใช้ระบุถึงภูมิภาคอันกว้างใหญ่ไพศาลและซับซ้อนนี้ นับแต่นั้นมา แอมะซอนได้ถูกนิยามด้วยตำนานและความเชื่อมากมายที่เพิ่งได้รับการคลี่คลายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยนักโบราณคดีอย่างผมและนักวิทยาศาสตร์อื่น ๆ

ลองคลิกภาพดาวเทียมของแอมะซอน คุณอาจตกเป็นเหยื่อความเชื่อผิด ๆ ว่า มันคือป่าดงดิบบริสุทธิ์ เพราะดูเหมือนเปลือกสีเขียวที่ประกอบด้วยต้นไม้ 344,000 ล้านต้น ปกคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในครึ่งซีกเหนือของทวีปอเมริกาใต้  หากซูมเข้าไป คุณจะพบเขาวงกตของหุบเขาแม่น้ำ แม่น้ำน้อยใหญ่และแควสาขามากกว่า 6,200 สาย ระบายน้ำลงสู่พื้นที่ขนาดใกล้เคียงกับอาณาเขต 48 รัฐติดต่อกันของผืนแผ่นดินใหญ่สหรัฐอเมริกา เป็นป่าฝนหรือป่าดิบชื้นเขตร้อนผืนใหญ่ที่สุดและมีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก ราวร้อยละสิบของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ทั้งหมดของโลกอาศัยอยู่ที่นั่น แอมะซอนให้ที่พักพิงแก่พืชมีเมล็ด 40,000 ชนิด ปลา 2,400 ชนิด นก 1,300 ชนิด และผีเสื้อ 1,500 ชนิด จึงดูเหมือนว่าสถานที่เยี่ยงนี้น่าจะปลอดจากการรุกล้ำของมนุษย์เป็นส่วนใหญ่ แต่นี่เป็นหนึ่งในความเข้าใจผิดหลายประการที่คงอยู่มายาวนานซึ่งนักวิทยาศาสตร์พยายามหักล้างอย่างเป็นระบบตลอดสี่ทศวรรษที่ผ่านมา

เพราะหลักฐานอย่างศิลปะบนผนังหิน เครื่องมือหิน และเศษซากสิ่งอื่น ๆ ที่พบในพื้นที่ห่างไกลของโคลอมเบียและบราซิล ทำให้เรารู้ว่า มีมนุษย์อาศัยในลุ่มน้ำแอมะซอนย้อนหลังไปไกลอย่างน้อย 13,000 ปีมาแล้ว ชาวแอมะซอนโบราณวาดภาพสิ่งมีชีวิตสมัยไพลโตซีน รวมถึงช้างมาสโตดอนและสลอทยักษ์ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่ชาวยุโรปโบราณเขียนภาพช้างแมมมอทและแรดขนยาว ล่วงถึงปี 1492 นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า ภูมิภาคนี้เป็นบ้านของประชากรมากถึง 10 ล้านคน

ภาพเขียนสีบนผนังหินในอุทยานแห่งชาติชิริบิเกเตของโคลอมเบีย แสดงภาพเสือจากัวร์สัตว์ฟันแทะขนาดใหญ่ที่เรียกว่า ปากา และปลาปิรันยา ที่ผ่านมามีการค้นพบภาพเขียนมากกว่า 75,000 ภาพในภูมิภาคนี้ที่แสดงฉากต่าง ๆ ในแอมะซอนยุคก่อนประวัติศาสตร์

เหตุใดจึงมีผู้คนมากมายเหลือเกินที่เข้าใจภูมิภาคแอมะซอนคลาดเคลื่อนมายาวนานเพียงนั้น ในช่วงหลายศตวรรษหลังการเดินทางของโอเรยานา ความพยายามของโปรตุเกสที่จะตั้งอาณานิคม ณ ใจกลางแอมะซอน และสูบทรัพยากรต่าง ๆ จากพื้นที่ ทำลายล้างประชากรดั้งเดิมจนเกือบหมดสิ้น เชื่อกันว่า ไข้ทรพิษและโรคอื่น ๆ ที่ชาวยุโรปนำเข้าไป กวาดล้างชนพื้นเมืองหายไปถึงร้อยละ 90 และการกวาดต้อนผู้คนเพื่อนำไปเป็นทาสก็กดดันผลักไสผู้รอดชีวิตส่วนใหญ่ให้หนีไปอยู่ตามซอกมุมลึกเข้าไปในแผ่นดิน เปลี่ยนวิถีชีวิตของเกษตรกรที่ตั้งถิ่นฐานอยู่กับที่ให้กลายเป็นนักเก็บของป่าล่าสัตว์กึ่งเร่ร่อน ดังนั้น ในศตวรรษที่สิบแปด เมื่อนักธรรมชาติวิทยาชาวยุโรปคนแรก ๆ มาถึง พวกเขาจึงพบพื้นที่กว้างใหญ่ในสภาพปกคลุมด้วยพืชพรรณไม้รกชัฎซึ่งมีคนอาศัยอยู่น้อยนิด และทึกทักเองว่าเป็นเช่นนั้นมาโดยตลอด

ภาวะประชากรลดลงดังกล่าวส่งผลให้ถิ่นฐานนิคมขนาดใหญ่ที่การ์บาฆัลบรรยายไว้ ซึ่งสร้างจากไม้และฟาง (ในแอมะซอนไม่มีหินมากพอสำหรับงานก่อสร้าง) ผุพังไปในสภาพแวดล้อมของเขตร้อนชื้น เนินดินขนาดใหญ่ที่มนุษย์สร้างขึ้นถูกระบุว่าเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และจำนวนภาษามากมายหลายหลากในภูมิภาคก็ได้รับการอธิบายว่า เป็นผลจากคลื่นผู้อพยพหลายระลอกที่หลั่งไหลเข้าสู่ป่าฝนแห่งนี้จากที่อื่น ๆ ในทวีป ล่วงถึงปลายศตวรรษที่สิบเก้า และจุดสูงสุดของการค้ายางพารา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการก่อความรุนแรงอย่างสุดขั้วต่อชนพื้นเมือง นักมานุษยวิทยาก็อธิบายสังคมพื้นเมืองอย่างผิด ๆ ว่า เป็นกลุ่มชนเผ่าเร่ร่อนขนาดเล็กที่สืบเชื้อสายจากพวกเก็บของป่าล่าสัตว์ แนวคิดเช่นนั้นกลายเป็นที่ยอมรับหนักแน่นมากขึ้นในศตวรรษที่ยี่สิบ และยังคงกำหนดภาพจำที่คนนอกจำนวนมากรับรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชนพื้นเมืองแอมะซอน

ผู้จาริกแสวงบุญในเครื่องแต่งกายเป็น อูกูกู มนุษย์หมีในนิทานปรัมปรา ป่ายปีนธารนํ้าแข็งเหนือหุบเขาซินาการา ในช่วงเทศกาลกอยเยอร์รีตี

นี่คือมุมมองที่แพร่หลายอยู่ตอนผมเรียนจบมหาวิทยาลัยในทศวรรษ 1980 แต่แล้วผมก็ได้พบกับนักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันสองคนที่ทำงานอยู่กับกลุ่มชนพื้นเมืองในแอมะซอนตะวันออก แดร์เรลล์ โพซีย์ เล่าให้ผมฟังถึงวิธีที่เขาติดตามบันทึกชาวเผ่าคายาโปปลูก “เกาะป่า” ตามพื้นที่ทุ่งหญ้าสะวันนา ระหว่างพวกเขาออกล่าสัตว์และเก็บผลไม้กับถั่วเปลือกแข็ง ส่วนวิลเลียม บาเลก็บรรยายถึงวิถีที่ชาวเผ่าคาอาปอร์ใช้ไฟหล่อเลี้ยงการเจริญเติบโตของสวนปาล์ม เห็นได้ชัดว่าชนทั้งสองกลุ่มกำลังดัดแปลงภูมิประเทศให้เหมาะกับความต้องการของตน แนวคิดนี้นำผมไปสู่เส้นทางอาชีพที่มุ่งแสวงหาคำตอบใหม่ ๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์แอมะซอน

เกือบสี่ทศวรรษต่อมา นักวิจัยพบหลักฐานใหม่ ๆ อย่างหลากล้น ต้นไม้บอกเล่าเรื่องราวส่วนหนึ่ง จากการสำรวจป่าฝนแห่งนี้ เราพบว่า ครึ่งหนึ่งของต้นไม้ในแอมะซอนมาจากต้นไม้เพียง 299 ชนิด ต้นไม้ที่เรียกกันว่าชนิดพันธุ์เด่นยิ่งยวด (hyperdominant species) เหล่านี้มีประโยชน์เป็นพิเศษต่อมนุษย์ ในจำนวนนี้รวมถึงปาล์มอาซาอี ยางพารา ถั่วลิสงบราซิลนัต และโกโก้ เรามักพบต้นไม้เหล่านี้อย่างชุกชุมใกล้แหล่งโบราณคดียุคก่อนโคลัมบัส ซึ่งชี้ให้เห็นถึงแนวทางปฏิบัติที่สืบทอดกันมายาวนานของชนพื้นเมืองในการดูแลจัดการผืนป่าแอมะซอน

ชาวแอมะซอนยุคแรก ๆ ไม่ได้ดูแลจัดการแค่ต้นไม้ แต่รวมถึงดินด้วย นักวิทยาศาสตร์สังเกตเห็นว่าชนพื้นเมืองปลูกพืชไร่ในแปลงที่เรียกกันว่า แทร์ราเปรตา หรือดินดำ ซึ่งเป็นดินผสมถ่านกับอินทรียวัตถุ และมักมีชิ้นส่วนเซรามิกแตกหักปะปนอยู่ด้วย แปลงเพาะปลูกลักษณะนี้ไม่เพียงมีอุดมสมบูรณ์สูง แต่ยังคงสภาพเช่นนั้นยาวนานหลายศตวรรษโดยใช้ปุ๋ยเพียงน้อยนิดหรือไม่ใช้เลย นักโบราณคดีพบแทร์ราเปรตาทั่วภูมิภาคแอมะซอน และระบุอายุบางแห่งย้อนไปได้ถึง 5,000 ปี

โลมาสีชมพูท่องผืนป่านํ้าหลากท่วมในท้องนํ้าเจือแทนนินจากเปลือกไม้ของแม่นํ้าฮิวเนกรู ในฐานะผู้ล่าอันดับสูงสุด โลมาเหล่านี้กินปลากว่า 50 ชนิด นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าขนแข็ง ๆ บนจะงอยปากช่วยให้พวกมันรับรู้การสัมผัส เมื่อหากินเต่า ปู และกุ้งตามดินโคลน

แล้วเรื่องเมืองแอมะซอนต่าง ๆ ที่การ์บาฆัลและชาวยุโรปรุ่นบุกเบิกคนอื่น ๆ บรรยายไว้เล่า ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2008 ไมเคิล เฮกเกนเบอร์เกอร์ เพื่อนร่วมงานของผม ถูกวิพากษ์วิจารณ์เมื่อเขาเสนอความเห็นว่าพบวิถีชีวิตแบบเมืองอย่างกว้างขวางในแอมะซอน แล้วเทคโนโลยีไลดาร์ก็ถือกำเนิดขึ้น ระบบสแกนด้วยเลเซอร์นี้ช่วยให้เรามองทะลุเรือนยอดหนาแน่นของป่าฝนลงไปเห็นว่า สังคมยุคแรก ๆ ปรับแต่งผืนแผ่นดินอย่างไร ช่วงทำงานอยู่ในโบลิเวีย เมื่อปี 2019 เพื่อนร่วมงามของผมใช้ไลดาร์สร้างแผนที่ของนิคมเมืองอันซับซ้อนต่าง ๆ ของวัฒนธรรมกาซาราเบที่ดำรงอยู่ระหว่าง ค.ศ. 500 ถึง 1400 นิคมเหล่านี้เชื่อมต่อถึงกันด้วยทางยกระดับยาวหลายกิโลเมตร มีคูคลอง อ่างเก็บน้ำ และพีระมิดดินรวมอยู่ด้วย ไลดาร์เผยให้เห็นนิคมขนาดใหญ่และซับซ้อนราวหนึ่งพันแห่งทั่วภูมิภาคแอมะซอน ส่งผลให้เกิดการทบทวนและเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ที่แสดงให้เราเห็นว่า เช่นเดียวกับในยุโรปและเอเชีย วัฒนธรรมแอมะซอนไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว แต่มีอยู่หลากหลาย

งานของผมตอนนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก มุ่งเน้นการทำงานกับชุมชนพื้นเมืองเพื่อสำรวจดินแดนของพวกเขาด้วยไลดาร์ โดยฉพาะส่วนที่อยู่ใกล้พื้นที่เสียหายจากการตัดไม้ทำลายป่าหรือถูกคุกคาม การค้นพบแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ ทำให้เราสามารถขอรับการปกป้องที่เข้มงวดขึ้นจากรัฐบาลบราซิล ความหวังก็คือการใช้โบราณคดีเป็นเครื่องมือสร้างปราการป้องกันการบุกรุกป่าฝนผืนนี้

ขณะที่ภาพประวัติศาสตร์ฉบับแก้ไขใหม่กำลังปรากฏขึ้น นักวิชาการยังคงค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ในโลกธรรมชาติ โดยเฉลี่ยแล้ว สิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ใหม่ๆ ในแอมะซอนจะได้รับการจำแนกทางวิทยาศาสตร์หนึ่งชนิดทุกวันเว้นวัน 

เนวาร์โดเอาซานกาเต ยอดเขาสูงที่สุดในเทือกเขาแอนดีสทางใต้ของเปรู ตระหง่านเหนือนํ้าตกที่รับนํ้าจากธารนํ้าแข็งละลาย ชุมชนและระบบนิเวศห่างออกไปหลายร้อยกิโลเมตรทางปลายนํ้าต้องพึ่งพานํ้าจากธารแข็งละลายเป็นแหล่งนํ้าจืดหลัก

ด้วยเจตนารมณ์เช่นนี้ โครงการสำรวจแอมะซอนเพื่อโลกที่ยั่งยืนของโรเล็กซ์และเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก (National Geographic and Rolex Perpetual Planet Expedition) จึงถือกำเนิดขึ้น เพื่อสนับสนุนงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ 16 คน ในจำนวนนี้ 11 คนมาจากอเมริกาใต้ ซึ่งทำงานในแขนงวิชาแตกต่างกันอย่างหลากหลายกับผู้ร่วมงานท้องถิ่น ในพื้นที่ต่าง ๆ ตั้งแต่เทือกเขาแอนดีสไปจนถึงชายฝั่งแอตแลนติก คุณจะได้พบเรื่องราวการค้นพบของพวกเขาที่บันทึกภาพโดยช่างภาพ ทอมัส เพสแชก และผู้ช่วยของเขา ออตโต ไวต์เฮด ซึ่งในการไปเยือนพื้นที่วิจัยเหล่านั้น ได้เลาะเลียบไปตามเส้นทางตั้งแต่ต้นกำเนิดของแม่น้ำในธารน้ำแข็งบนเทือกเขาแอนดีส ไปจนถึงพวยน้ำจืดของมันที่ไหลรี่ลงสู่ทะเลแคริบเบียน

งานนี้นับว่าสำคัญอย่างยิ่ง นับจากผมเริ่มทำงานในแอมะซอนในบราซิลเมื่อปี 1986 เป็นต้นมา ผืนป่าร้อยละ 12 ถูกทำลายไป ส่วนใหญ่จากการทำไม้ผิดกฎหมาย ขณะเดียวกัน การทำเหมืองทองคำเถื่อนก็ลุกลามเกินควบคุมในหลายประเทศ และองค์กรอาชญากรรมก็ใช้เหมืองพวกนี้กับกิจกรรมผิดกฎหมายอื่น ๆ ในแอมะซอนมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อฟอกเงินจากการลักลอบค้ายาเสพติด บางครั้งบางครา อนาคตดูมืดมน แต่ผมมั่นใจว่า เราสามารถหาหนทางเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ได้ นักวิทยาศาสตร์และนักการเมืองมีอะไรต้องเรียนรู้อีกมากจากชนพื้นเมือง และแนวทางต่าง ๆ ที่พวกเขาใช้บริหารจัดการและปั้นแต่งระบบธรรมชาติอันซับซ้อนของแอมะซอนตลอดหลายสหัสวรรษ บทเรียนแรกที่ พวกเขาสอนเราได้ก็คือ หากหวังจะกำหนดอนาคตอันยั่งยืนให้กับแอมะซอน เราควรมองย้อนกลับไปยังอดีตของมัน  

เรื่อง เอดัวร์โด เนเบส

ภาพถ่าย  ทอมัส เพสแชก


บทความนี้นำเสนอโดยสมาคมเนชั่นแนล  จีโอกราฟฟิก ร่วมกับโรเล็กซ์ ภายใต้โครงการสำรวจแอมะซอนเพื่อโลกที่ยั่งยืนของโรเล็กซ์ และเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก

Recommend