แม่น้ำเปลี่ยนทิศและน้ำกัดเซาะ สาเหตุหลักที่ทำให้ยอดเขาเอเวอเรสต์สูงขึ้นทุกปี

“ทำไมยอดเขาเอเวอเรสต์ ถึงสูงขึ้นเรื่อย ๆ 

นักธรณีวิทยาพบคำตอบที่ไม่มีใครคาดคิด ‘เอเวอเรสต์สูงขึ้นได้เพราะแม่น้ำ’ 

เอเวอเรสต์ เป็นหนึ่งในยอดเขาที่สูงที่สุดของโลกโดยมีความสูงจากระดับน้ำทะเล 8,848.86 เมตร ตามประวัติศาสตร์ทางธรณีวิทยาแล้ว เอเวอเรสต์เริ่มต้นตัวเองเมื่อประมาณ 40 ถึง 50 ล้านปีก่อนเมื่อแผ่นดินบนเปลือกโลกสองแผ่นซึ่งได้แก่ แผ่นเปลือกโลกอินเดีย และ แผ่นเปลือกโลกยูเรเชีย ชนกันอย่างช้า ๆ

สิ่งนี้ส่งผลให้ยอดเขาสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในเวลาหลายล้านปีที่ผ่านมา เมื่อมาถึงปัจจุบันกระบวนการดังกล่าวก็ทำให้เอเวอเรสต์สูงที่สุดในเทือกเขาหิมาลัย แต่สิ่งที่แปลกประหลาดก็คือในมุมมองนักธรณีวิทยาแล้ว มันสูงผิดปกติ หรือพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า ‘มันสูงขึ้นอย่างไม่สมเหตุสมผล’

“เมื่อพิจารณาถึงความสม่ำเสมอของโครงสร้างทางธรณีวิทยาในเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งทำให้ยอดเขาสูงขึ้นได้พร้อมกับความแปรปรวนในระดับเล็กของพื้นที่ และสภาพภูมิอากาศกับกระบวนการกัดเซาะที่ค่อนข้างสม่ำเสมอแล้ว” อดัม สมิธ (Adam Smith) นักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน กล่าว “ยอดเขานี้สูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น” 

ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ยอดเขาแต่ละยอดในเทือกเขาเดียวกันนั้นจะสูงต่างกันไม่เกิน 50 ถึง 100 เมตรเท่านั้น ทว่าเอเวอเรสต์กลับสูงกว่ายอดเขาเคทูใกล้เคียงถึง 250 เมตร นอกจากนี้การวัดด้วยจีพีเอสล่าสุดยังแสดงให้เห็นว่าเอเวอเรสต์กำลังเติบโตขึ้นในอัตรา 0.08 นิ้ว (2 มิลลิเมตร) ต่อปี แทนที่จะเป็น 0.04 นิ้ว (1 มิลลิเมตร) ตามที่ทฤษฏีคาดไว้

ความผิดปกติของมันทำให้นักวิทยาศาสตร์สับสนมาอย่างยาวนานว่า ‘อะไรทำให้ยอดเขาเอเวอเรสต์สูงกว่ายอดเขาอื่น และสูงขึ้นเป็นมิลลิเมตรทุกปี?’ ตามรายงานใหม่ที่เผยแพร่บนวารสาร Nature Geoscience เผยให้เห็นคำตอบที่คาดไม่ถึงนั่นคือ เป็นเพราะแม่น้ำกัดเซาะจนทำให้เอเวอเรสต์สูงผิดปกติ

“การศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันของระบบแม่น้ำ สามารถส่งผลกระทบในวงกว้างต่อภูมิประเทศได้อย่างไร” จิน-เก็น ได (Jin-Gen Dai) ศาสตราจารย์ด้านธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยธรณีวิทยาจีนในปักกิ่ง หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว 

“ปัจจัยหลักที่ทำให้เอเวอเรสต์สูงขึ้นยังคงเกิดจากการชนกันของแผ่นเปลือกโลก แต่การค้นพบของเราได้เพิ่มชิ้นส่วนใหม่ให้กับปริศนาที่ซับซ้อนนี้” 

ภูมิประเทศที่แปลกประหลาด

มันเป็นชิ้นส่วนที่ถูกมองข้ามมาเนิ่นนาน ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะหากคิดตามสามัญสำนึกแล้ว แม่น้ำที่ไหลตามเทือกเขากลับไปยกให้ภูเขาสูงขึ้นได้อย่างไร ทว่า ธรรมชาติกลับมีวิธีที่มนุษย์คาดไม่ถึง

ศาสตราจารย์ ได กล่าวไว้ว่า อันที่จริงแล้วความเชื่อมโยงระหว่างการกัดเซาะของแม่น้ำกับการยกตัวของยอดเขานั้นได้รับการบันทึกมาไว้อย่างดี และได้รับการศึกษาวิจัยในสถานที่ต่าง ๆ เช่นเทือกเขาแอลป์ แอนตาร์กติกา และที่ราบสูงโคโลราโด 

“โดยปกติแล้ว แม่น้ำและภูเขาจะเข้าสู่จุดสมดุลซึ่งการกัดเซาะและการยกตัวจะสมดุลกัน” เขา กล่าว แต่เมื่อแม่น้ำเปลี่ยนเส้นทางกะทันหัน “ทุกอย่างก็จะสั่นคลอนอย่างรุนแรง การเปลี่ยนแปลงกะทันหันนี้สามารถจุดชนวนการกัดเซาะอย่างรวดเร็ว ซึ่งในทางกลับกัน มันจะกระตุ้นให้ภูเขายกตัวขึ้นผ่านการดีดกลับแบบไอโซสแตติก” (isostatic rebound) 

ซึ่งต้องเข้าภูมิประเทศที่รกร้างนี้กันก่อน เทือกหิมาลัยนั้นเป็นเทือกเขาขนาดใหญ่ที่ข้ามผ่านหลายประเทศโดยมีแม่น้ำหลายสายที่ไหลผ่านแต่หลัก ๆ ก็คือแม่น้ำโคสี (Kosi River) และแม่น้ำอรุณ (Arun River) ซึ่งเป็นระบบแม่น้ำที่ไหลผ่านทั้งเนปาล จีน และอินเดีย

แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือความผิดปกติของโครงสร้างแม่น้ำอรุณ โดยปัจจุบันแม่น้ำนี้ไหลจากตะวันออกไปตะวันตกตามแนวเทือกเขาหิมาลัยตอนเหนือ จากนั้นก็ไหลลงสู่พื้นที่ขนาดใหญ่ทางเหนือของเอเวอเรสต์ ทว่ามันกลับเปลี่ยนทิศทางไปอย่างรวดเร็วลงสู่ทิศใต้ 

เราสามารถนึกถึงภาพแม่น้ำส่วนใหญ่ที่เห็นได้บนโลก ซึ่งมักจะไหลเป็นเส้นตรงและแตกแขนงออกไปราวกับกิ่งก้านของต้นไม้ กระนั้นแม่น้ำอรุณกลับไหลตรงมาแล้ว ‘หักมุม’ ไปทิศทางอื่นในทันที สิ่งนี้บ่งชี้ว่ามันน่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างเมื่อไม่นานมานี้ 

“ลักษณะเหล่านี้บ่งชี้ว่าส่วนบนและส่วนล่างของแม่น้ำ(แม่น้ำอรุณ)อาจไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบเดียวกันเสมอไป” ศาสตราจารย์ ได กล่าว “สิ่งนี้บ่งชี้ถึงการกักเก็บแม่น้ำในอดีต” 

การเด้งกลับ

ด้วยการสร้างแบบจำลองทางธรณีวิทยา และรวมเข้ากับข้อมูลภาคสนามอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก นักวิทยาศาสตร์ก็มองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้น พวกเขาพบว่าแม่น้ำอรุณที่อยู่ใกล้เคึยงถูกกระแสน้ำจากแม่น้ำอีกสายหนึ่งคือระบบแม่น้ำโคสี ‘กลืนกิน’ เอาไว้เมื่อประมาณ 89,000 ปีก่อน 

กล่าวคือ แม่น้ำดังกล่าวมีน้ำมากขึ้น มันจึงสามารถกัดเซาะหินที่อยู่ด้านล่างหุบเขาเอเวอเรสต์ได้มากขึ้น หินจำนวนหลายล้านตันค่อย ๆ ถูกซัดออกไป เมื่อมวลหินที่อยู่บนแผ่นเปลือกโลกสลายตัว มันก็ทำให้บริเวณดังกล่าว ‘เบาขึ้น’ และนั่นก็ทำให้เกิดกระบวนการทางธรณีวิทยาที่น่าประทับใจ 

โดยทั่วไปแล้วแผ่นเปลือกโลกสามารถ ‘โค้งงอ’ ได้หากมีวัตถุขนาดใหญ่วางอยู่บนนั้นเช่นแผ่นน้ำแข็งขนาดยักษ์กดไว้ เปลือกโลกก็จะลมลง เช่นเดียวกัน เทือกเขาหิมาลัยและยอดเขาเอเวอเรสต์ก็ได้กดแผ่นเปลือกโลกบริเวณนั้นลง แต่เมื่อแม่น้ำกัดเซาะหินที่มีมวลหลายล้านตันออกไป 

เปลือกโลกตรงพื้นที่ดังกล่าวก็จะ ‘เบา’ ขึ้น ชั้นแมนเทิลของโลกที่อยู่ด้านใต้จะเคลื่อนตัวเข้ามาแทนที่และ ‘ดัน’ ให้สิ่งที่อยู่ด้านบนลอยขึ้น กระบวนการนี้เรียกว่า การดีดกลับแบบไอโซสแตติก (isostatic rebound) หรือกล่าวอีกอย่างว่า แผ่นเปลือกโลกเด้งกลับ เอเวอเรสต์จึงสูงขึ้นผิดปกติ

“มันเหมือนกับการโยนสินค้าลงจากเรือ” สมิธ กล่าว “เรือจะเบาลงและลอยสูงขึ้นเล็กน้อย ในทำนองเดียวกันเมื่อเปลือกโลกบางลง ก็สามารถลอยสูงขึ้นได้เล็กน้อย” 

การศึกษาใหม่นี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการทำความเข้าใจว่าพื้นดินแข็งในภูมิภาคเหล่านี้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงเช่นการกัดเซาะอย่างไร และเป็นไปได้ว่าที่อาจมีผลกระทบในที่อื่น ๆ ด้วย ในตอนนี้เอเวอเรสต์จะยังคงสูงต่อไปและเป็นสัญลักษณะที่บ่งบอกถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ

“ในทางกายภาพแล้ว เอเวอเรสต์ถือเป็นจุดสูงสุดของโลก ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากความสูงของมัน” ศาสตราจารย์ ได กล่าว “ในเชิงวัฒนธรรม เอเวอเรสต์ก็ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวเชอร์ปาและชาวทิเบตในท้องถิ่น และในระดับโลกแล้ว เอเวอเรสต์เป็นสัญลักษณ์ของความท้าทายสูงสุดที่แสดงให้เห็นถึงความอดทยของมนุษย์ และแรงผลักดันของเราในการก้าวข้ามขีดจำกัดที่รับรู้ได้” 

“ในระยะเวลาอันยาวนานนี้” สมิธเสริม “มันแทบจะเหมือนกับว่าโลกกำลังหายใจ” 

สืบค้นและเรียบเรียง

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.nature.com

.https://www.smithsonianmag.com

https://www.nytimes.com

https://edition.cnn.com


อ่านเพิ่มเติม : ยอดเขาเอเวอเรสต์ สูงขึ้นประมาณสองฟุต

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.